บรรยากาศแห่เทียนพรรษาในอดีตที่เชียงใหม่

วันเข้าพรรษา เริ่มในวันแรม 1 ค่ำเดือนแปดในปีปรกติ และเริ่มวันแรม 1 ค่ำเดือนแปดหลัง ในปีที่มีเดือนแปดสองหน ซึ่งเรียกว่า อธิกมาส วันแรม 1 ค่ำ เรียกว่า วันเข้าพรรษา พรรษาสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเรียกว่า ออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติให้พระภิกษุอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งตลอดช่วงฤดูฝน ห้ามเดินทางไปค้างแรมที่อื่น นอกจากในกรณีจำเป็นเป็นพิเศษ เรียกว่า อยู่จำพรรษา

ประเพณีแห่เทียนพรรษาเกิดจากความจำเป็นที่ว่าสมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้เช่นปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อพระภิกษุอยู่รวมกันมากๆเพื่อปฏิบัติกิจวัตร เช่น การสวดมนต์ตอนเช้ามืดและพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรม การบูชาพระรัตนตรัย ฯลฯ จำเป็นต้องใช้แสงสว่างจากเทียน

ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันนำเทียนมาถวาย ซึ่งช่วงต้นก็คงจะถวายเป็นเทียนเล็กๆธรรมดา ครั้นต่อมาก็ได้มีการมัดเทียนเล็กๆมารวมกันเป็นต้น คล้ายต้นกล้วยหรือลำไม้ไผ่ แล้วติดกับฐาน ที่เรียกกันว่า ต้นเทียน หรือ ต้นเทียนพรรษา และก็วิวัฒนาการมาเรื่อยๆจนเป็นเทียนพรรษาอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันของชาวพุทธทุกภูมิภาคในประเทศไทย ภาคเหนือเองก็ยังคงปฏิบัติประเพณีนี้สืบมาเช่นกัน



ประเพณีเข้าพรรษาในภาคเหนือนั้นจะมีความแตกต่างจากส่วนต่างๆ ในประเทศไทยอยู่บ้าง โดยวัน “เข้าวัสสา” หรือเข้าพรรณษาที่สะกดตามภาษาบาลีหรือตัวธรรมของล้านนา จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เหนือ (เดือน 8 กลาง) ชาวบ้านจะไปทำบุญแต่เช้าตรู่ เริ่มด้วยการ “ตานขันเข้า” คือ “ทานขันข้าว” หมายถึง การทำบุญให้ทานแด่พระสงฆ์ด้วยอาหารเป็นสำรับ ซึ่งส่วนใหญ่จะมุ่งหวังอุทิศส่วนกุศลข้ามภพข้ามภูมิไปหาเจ้าที่เจ้าทาง พระแม่นางธรณี หรือเทพยดา อันรักษาบ้านเรือน ตลอดจน“ผีต๋ายเก่าเน่าเมิน” คือดวงวิญญาณของญาติที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นต้น


บรรยากาศแห่เทียนพรรษาในอดีต ณ เชียงใหม่

หลังจากนั้นจะมีการ “ตานขันข้าวคนเฒ่า” โดยนำสำรับอาหารไปมอบแด่ผู้เฒ่าผู้แก่ตามระแวกบ้าน นัยยะว่าเป็นกตัญญุตาทานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ผู้เฒ่ารับทานนั้นแล้วก็ให้พรเป็นสิริมงคล จนบ่ายคล้อยจะพากันไปฟังพระธรรมเทศนาที่วัด แล้วช่วยจัดสถานที่สำหรับเป็นที่นอนให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะอยู่บำเพ็ญศีลภาวนาต่อไป นอกจากนี้ยังมีการฟังธรรมเทศนาทุกวันพระช่วงกลางวันตลอดพรรษาด้วย


บรรยากาศแห่เทียนพรรษาในอดีต ณ เชียงใหม่

อ้างอิง

  • กรมศิลปากร
  • EventPass เชียงใหม่

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง