ผ่านพ้นไปแล้วอย่างสวยงาม สำหรับงาน 4th Asia Pacific Feminist Forum (APFF) 2024 ซึ่งมีขึ้นที่โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ในช่วงระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2567 ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 600 คน จากหลากหลายประเทศทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ APFF เป็นงานประชุมเครือข่ายเฟมินิสต์และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตที่จัดขึ้นในทุกๆ 3 ปี โดยมีแม่งานคือ APWLD (Asia Pacific Forum on Women, Law and Development) องค์กรเฟมินิสต์ระดับภูมิภาคที่ทำงานด้านสิทธิสตรีมานานกว่า 30 ปี และมีเครือข่ายเฟมินิสต์กว่า 265 กลุ่ม
ในครั้งนี้ถือเป็นการจัดงาน APFF ครั้งที่ 4 โดยมีคอนเซปคือ “Feminist World-Building: Creative Energies, Collective Journeys” หรือ การสรรค์สร้างโลกเฟมินิสต์ด้วยการแลกเปลี่ยนอย่างสร้างสรรค์และร่วมกันเดินไปข้างหน้า โดยตลอดระยะ 3 วันที่มีการจัดงาน ก็มีกิจกรรมมากมายนับตั้งแต่การแสดงปาฐกถาของตัวแทนองค์กรเฟมินิสจากประเทศต่างๆ อาทิ ศรีลังกา, เนปาล, ทาจิกิสถาน, เกาหลีใต้, ฮ่องกง, ฟิลิปินส์, อินโดนีเซีย และฟิจิ โดยเนื้อของปาฐกถาได้อยู่ภายใต้ธีมสำคัญคือ Where We Are, Where We Want To Be และ How We Get There ซึ่งผู้แสดงปาฐกถาก็ได้กล่าวถึงเรื่องความเคลื่อนไหวของขบวนการเฟมินิสต์ในแต่ละประเทศ อุปสรรคและความสำเร็จของการทำงานเพื่อผลักดันประเด็นสิทธิสตรี ตลอดจนเรื่องการหาจังหวะหยุดพักเพื่อให้คนทำงานหรือนักกิจกรรมสามารถทำงานในพื้นที่ดังกล่าวได้ในระยะยาวและอย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมาคือกิจกรรมเวิร์คชอปโดยผู้เข้าร่วมจากแต่ละองค์กร/ประเทศต่างได้พกพาความรู้และวัสดุอุปกรณ์ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อจัดทำเวิร์คชอปให้แก่ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ เป็นจำนวนกว่า 40 รายการ โดยในแต่ละรายการจะมีประเด็น กิจกรรม และเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป เช่น กิจกรรมดูหนังเรื่อง “Militarism and Capitalism in West Papua” ซึ่งสะท้อนเรื่องราวปัญหาการถูกไล่ออกจากผืนป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชาวเวสต์ ปาปัว ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการเมืองการปกครองแบบทหารนิยมและทุนนิยม หรือกิจกรรม อ่านกลอนว่าด้วยอิสรภาพของสตรี “Women’s Freedom and Tajik Poetry” ที่นำโดยนักกิจกรรมประเทศทาจิกิสถาน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานสามารถเลือกเข้าร่วมทำกิจกรรมได้ตามความสมัครใจ
นอกจากกิจกรรมเวิร์คชอปแล้ว ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการทำงานเพื่อสิทธิสตรีขององค์กรหรือกลุ่มนักกิจกรรมจากประเทศต่างๆ รวมทั้งมีห้องสมุดเฟมินิสต์ หรือ “Feminist Library Corner” สำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้หรืองานสื่อสารต่างๆ มี “Feminist Bazzar” ที่คล้ายเป็นตลาดนัดที่องค์กรต่างๆ นำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาวางขายเพื่อการระดมทุน โดยมีตัวแทนองค์กรจากเชียงใหม่เข้าร่วมด้วย อาทิ Empower Foundation และ Can Do Bar และที่โดดเด่นที่สุดคือ “Really Really Free Market” ซึ่งเป็นตลาดที่ผู้เข้าร่วมสามารถนำสิ่งของมาทำการแลกเปลี่ยนกันโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
สำหรับบรรยากาศของงานในช่วงกลางคืนก็ได้มีไฮไลท์สำคัญที่เริ่มตั้งแต่กิจกรรม APFF Opening Night ในคืนวันที่ 11 กันยายน ซึ่งถือเป็นกิจกรรม Kick Off งาน APFF ที่ผู้เข้าร่วมจากประเทศต่างๆ จะได้มาพบปะกันก่อนเริ่มต้นทำกิจกรรมอย่างเป็นทางการ และกิจกรรม Solidarity Dinner คืนวันที่ 13 กันยายน อันเป็นคืนที่ผู้เข้าร่วมงานได้มาร่วมทานอาหารเย็นและรับชมการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์จากตัวแทนองค์กรและนักกิจกรรมเฟมินิสต์จากประเทศต่างๆ รวมถึงการแสดงของ “BAEBI BUTTER” แรปเปอร์หญิงจากเชียงใหม่ หนึ่งในสมาชิกวง “Triple Edge” ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับองค์กรเฟมินิสต์หรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน APFF ครั้งที่ 5 จำต้องรอต่อไปอีก 3 ปี โดยรายละเอียดและเงื่อนไขของการสมัครเข้าร่วมงาน (สำหรับองค์กรหรือผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเครือข่ายของ APWLD) จะทยอยประกาศผ่านทุกช่องทางการสื่อสารออนไลน์ของ APWLD และสำหรับนักศึกษาที่มีความสนใจก็สามารถสมัครเข้าเป็นอาสาสมัครได้ โดยที่เมื่อจบงานจะได้ประกาศนียบัตรจากทาง APWLD ด้วย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...