‘ชีวิตที่รัฐยัดเยียดนี่หรือที่เรียกว่าอภิสิทธิ์ชน’ พชร คำชำนาญ เปิดเหตุผล ทำไมต้องกำหนดพื้นที่คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ หลังสภาฯ มีมติไม่รับรองม.27 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ 

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีมติ ‘ไม่เห็นชอบ’ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตชาติพันธุ์ พ.ศ. … ในหมวด 5 มาตรา 27 วรรค 2 ว่าด้วยหลักการและเหตุผลการประกาศพื้นที่เขตคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับ กรรมาธิการเสียงข้างมาก และกลับไปใช้ข้อความเดิมตามของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ซึ่งมีนัยยะว่า พื้นที่คุ้มครองวิธีชีวิตชาติพันธุ์ยังคงต้องอยู่ภายใต้กฎหมายในพื้นที่นั้น

พชร คำชำนาญ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ภาคประชาชน ได้พูดถึงการอภิปรายในประเด็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อสนับสนุนมาตรา 27 ในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … จากกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางส่วนยังมีข้อกังขาต่อเรื่อง “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” 

พชร คำชำนาญ ได้ยกสถานการณ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ถูกทำให้ไร้ซึ่งสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ จนต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ความไม่มั่นคงในที่ดินและถิ่นอาศัย โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องรักษาไว้ซึ่งหลักการและเนื้อหาที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากได้ร่วมยกร่าง เพื่อยืนยันว่าแนวคิดเรื่องพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่ออภิสิทธิ์ชน 

พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า อากาศ รวมถึงชายทะเล หากพวกเขาสามารถเข้าถึงสิทธิในที่ดินได้ตามกฎหมายทั่วไปก็จะเพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงต่อชีวิต แต่กลุ่มชาติพันธุ์กลับถูกทำให้ไร้ซึ่งสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยกฎหมายหลายฉบับของหน่วยงานรัฐ ต้องดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ความไม่มั่นคงในที่ดินและถิ่นอาศัย จนไม่อาจมั่นใจว่าจะสามารถส่งทอดมรดกทางวัฒนธรรมสู่ลูกหลานได้หรือไม่ จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ถูกทำให้เป็น “กลุ่มเปราะบาง” ในสังคมไทย จากกฎหมายว่าด้วยป่าไม้-ที่ดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ชุมชนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมากที่อยู่อาศัย ทำกิน และสืบทอดที่ดินนั้นจากบรรพชน ต้องเผชิญกับการประกาศเขตที่ดินของรัฐทับซ้อนในภายหลังแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าผืนดินนั้นจะมีบ้านเรือน เรือกสวน ไร่นา หรือแม้กระทั่งหลุมฝังศพและสถานที่ประกอบพิธีกรรม แต่พื้นที่นั้นก็ได้ถูกพรากไปจากชุมชนตั้งแต่การเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซ้อนทับด้วยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หลายชุมชนถูกประกาศทับซ้อนด้วยกฎหมายป่าอนุรักษ์ทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามกฎหมายที่ออกมาในสมัยรัฐบาล คสช. ที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กฎหมายทับแล้วทับเล่าทับลงไปบนดินแดนของพวกเขา สถานการณ์นี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปกับประชาชนทุกคน พชรเชื่ออย่างยิ่งว่าพี่น้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทบทุกคนไม่เคยต้องเผชิญชะตากรรมแบบนี้และหากเป็นไปได้พี่น้องชาติพันธุ์ก็อยากจะอยู่ในที่ดินที่มีกฎหมายรองรับเหมือนพวกเราทุกคน 

“หากเราบอกว่า ‘ที่อยู่อาศัย’ คือหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิตของมนุษย์ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในขณะนี้คืออะไร คุณภาพชีวิตที่ถูกหน่วยงานรัฐยัดเยียดให้แบบนี้หรือ ที่เรียกว่าอภิสิทธิ์ชน”

ไร้ที่อยู่-ถูกขู่ดำเนินคดี นี่หรือคือรางวัลของผู้ดูแลป่า

พชรได้ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ใน 4 พื้นที่ เพื่อให้เห็นภาพปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบด้วย

  1. ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ลีซู บ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ถูกอุทยานแห่งชาติผาแดงประกาศทับซ้อนทั้งบ้านและที่ทำกิน ทำให้มีชาวบ้านถูกยึดที่ทำกินมากกว่า 100 แปลง นอกจากนั้นหัวหน้าอุทยานฯ ยังข่มขู่ คุกคาม พร้อมทั้งยืนยันว่าจะดำเนินคดีชาวบ้านให้ได้โดยไร้ซึ่งการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ และที่เลวร้ายกว่านั้น คือการกระทำอุกอาจที่เจ้าหน้าที่สนธิกำลังกันเข้าไปทำลายพืชผลที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวของชาวบ้านจนราบเป็นหน้ากลอง 
ภาพพืชผลที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวของชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำลาย
  1. ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาด จ.เชียงราย ที่ได้รับรางวัลด้านการจัดการป่าจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ป่าสงวนแห่งชาติบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ แล้วทำลายข้าวของในพื้นที่ไร่หมุนเวียน รวมถึงสิ่งที่เรียกว่า “มงาจื่อค้อ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับทำพิธีกรรมตามความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ และยังทำลายถังสำรองน้ำของชาวบ้าน 
ภาพข้าวของในพื้นที่ไร่หมุนเวียนและถังสำรองน้ำของชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำลาย
  1. กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ย หมู่เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ที่ถูกอุทยานแห่งชาติตะรุเตาประกาศทับลงไปทั้งที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย รวมถึงทะเลที่พวกเขาหากิน ก็ถูกทำให้เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลไปด้วย ท้ายที่สุดชาวบ้านก็ถูกอุทยานฯ ฟ้องร้องดำเนินคดี แล้วยังถูกอุทยานฯ สั่งห้ามหาปลาในบริเวณชายหาดซึ่งเป็นแหล่งหากินดั้งเดิมของเขาด้วย
ภาพจาก ประชาไท
  1. กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ที่ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานประกาศทับลงไปบนผืนดินที่ชื่อว่า ‘ใจแผ่นดิน’ จนพวกเขาต้องอพยพ ถูกเจ้าหน้าที่ไล่รื้อ เผาบ้าน และยุ้งข้าว การต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ต้องแลกมาด้วยชีวิตของแกนนำคนสำคัญอย่าง บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ และขณะนี้ยังมีพี่น้องบางกลอยมากถึง 28 คน ที่ถูกอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาหนัก ทั้งที่หลักฐานแวดล้อมมากมาย ต่างยืนยันได้ว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อยู่มาก่อนการประกาศเขตป่าของรัฐในทุกรูปแบบ

พชรกล่าวว่านี่เป็นเพียงไม่กี่กรณีจากทั้งหมดอีกกี่หมื่นกี่แสนกรณี ที่พี่น้องชาติพันธุ์ต้องถูกละเมิดสิทธิ เพียงเพราะเขาถูกบรรพบุรุษปลูกฝังให้ดูแลรักษาป่าและใช้ประโยชน์จากป่า เขากล้ายืนยันได้ว่าพี่น้องชาติพันธุ์คือกลุ่มคนที่ดูแลฐานทรัพยากรแทบทั้งหมดให้ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ถึงวันนี้ พชรตั้งคำถามต่อว่า นี่คือสิ่งที่กลุ่มชาติพันธุ์ควรได้รับเป็นรางวัลจากการดูแลป่าอย่างนั้นหรือ นี่คือรูปธรรมชัดเจนพอหรือยังที่จะกล่าวได้ว่า พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ตามร่างกฎหมายที่เรากำลังร่วมกันผลักดันอยู่นี้ ไม่ใช่เพื่ออภิสิทธิ์ชน เพราะนี่คือชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ก็เป็นคนไทยเหมือนพวกเราทุกคน แต่ต่างกันที่ เขาไม่เคยมีสิทธิเท่าเทียมกับคนทั่วไปอย่างน้อยก็ในด้านของสิทธิในที่ดิน  ที่ไม่ว่ากฎหมายที่ดิน-ป่าไม้ กี่ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในรัฐไทยขณะนี้ ก็ล้วนไม่เคยมีส่วนร่วมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางกลุ่มแรกๆ ที่จะได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัส

พชรยังกล่าวอีกว่า อยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรช่วยกันปรับมุมมองต่อกลุ่มชาติพันธุ์ และร่วมทำความเข้าใจว่าพวกเขาคือหนึ่งในกลุ่มเปราะบางในสังคมไทย ที่ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างยิ่ง ตามที่นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เคยได้ให้คำมั่นไว้เมื่อครั้งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70

มากไปกว่านั้นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ยังสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหมวดที่ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตราที่ 27 วรรค 4 ที่ระบุว่า มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น หรือเพื่อคุ้มครองหรืออำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ด้อยโอกาส ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม

ทั้งนี้ พชรยังได้ยืนยันว่า หากสมาชิกรัฐสภาเห็นตรงกันแล้ว การพิจารณา “ยกเว้น” หลักเกณฑ์บางประการของกฎหมายที่จะสร้างผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้มีสิทธิมีเสียงขึ้นมาบ้าง จึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะในขณะนี้ไม่มีกฎหมายใดเลย ที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ได้มีสิทธิ์ทัดเทียมกับผู้คนทั่วไปในด้านที่ดิน 

ถ้าเรายอมจำนนให้กฎหมายของหน่วยงานรัฐที่จำกัดสิทธิของประชาชนดำเนินต่อไป เราจะกล้าพูดได้อย่างไรว่ากฎหมายนี้คือกฎหมายคุ้มครองและสิ่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หากเราไม่สามารถ “คุ้มครอง” แผ่นดิน อันเป็นแหล่งหากิน ถิ่นอาศัย และแหล่งก่อเกิดของมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขาได้ 

นอกจากเขาจะไม่มีที่ยืนในสังคมไทยแล้ว พี่น้องชาติพันธุ์จะไม่มีแม้แต่แผ่นดิน บ้าน และแหล่งทำมาหากินเหมือนคนทั่วไป ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่ออภิสิทธิ์ชน แต่เพื่อให้คนเท่ากัน หากเรายังมองว่ากลุ่มชาติพันธุ์ก็คือคน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

slot deposit pulsa
Wanita Karawang Jackpot 800 Juta dari Mahjong Ways 2