เมื่อ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันผู้สูญหายสากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดกิจกรรม “Movies That Matter: ดูหนัง-ฟังเรื่องสิทธิมนุษยชน” พาหนังดอยบอยเข้าโรงหนังเนื่องในวันผู้สูญหายสากล โดยจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “ดอยบอย” ที่โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน
อัพเดตสถานการณ์อุ้มหาย: กฎหมายและความท้าทาย
ก่อนเข้าสู่การฉายภาพยนตร์ คณะผู้จัดงานได้เปิดเวทีเสวนา เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทรมานและอุ้มหาย โดย สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า นอกเหนือจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้สำเร็จ หลังจากผลักดันกันมานานกว่า 15 ปีแล้ว กสม. ยังมีการรายงานผลการตรวจสอบเรื่องบุคคลสูญหายในต่างประเทศ จำนวน 9 คน ซึ่งทาง กสม. เชื่อว่าบุคคลทั้ง 9 ถูกทำให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ยังไม่สามารถระบุตัวตนหรือหน่วยงานของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม กสม. ได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย เพื่อสืบสวนสอบสวนต่อไป รวมทั้งเสนอรัฐบาลให้ดำเนินการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ สุภัทราระบุว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานเรียบร้อยแล้ว และยังมีภารกิจอื่น ๆ ได้แก่ การทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี เสนอไปที่คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และเผยแพร่ต่อประชาชน รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน
ด้านนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการทำงานเกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาอุ้มหาย ซึ่งเมื่อประเทศไทยได้มีพันธกรณีดังกล่าวแล้ว ก็ต้องนำกฎหมายระหว่างประเทศนั้นมาปรับใช้ในประเทศไทย นำไปสู่การออก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
จุดเด่นของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 คือการระบุถึงความผิด 3 ฐาน ที่ชัดเจน คือฐานความผิดการกระทำทรมาน ฐานความผิดการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และฐานความผิดเรื่องการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรืออุ้มหาย รวมทั้งการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะการบันทึกหลักฐานขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปี ที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้ นรีลักษณ์มองว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความตระหนักในเรื่องการทรมานและการอุ้มหายพอสมควร และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นนี้ลดลง ทว่าก็ยังคงมีความท้าทายหลายข้อด้วยกัน
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า การอุ้มหายถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดข้อหนึ่ง เพราะไม่เพียงแต่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้สูญหายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัวของผู้สูญหาย และสังคมในวงกว้าง
นอกจากนี้ ปิยนุชยังแสดงความกังวลว่า แม้ทุกวันนี้จะมีกฎหมายที่ป้องกันและปราบปรามการอุ้มหาย แต่ข้อท้าทายคือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่รัฐ ในการปฏิบัติหน้าที่ และญาติพี่น้อง ครอบครัวของผู้สูญหาย ก็ยังคงต้องแบกรับภาระในการหาหลักฐานเอาผิดผู้กระทำด้วยตนเอง แทนที่จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ
ดังนั้น ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ปิยนุชจึงฝากความหวังไว้ว่า แอมเนสตี้เกิดขึ้นจากพลังของคนธรรมดาในการปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเพื่อนมนุษย์ เพราะฉะนั้น หลังจากชมภาพยนตร์ดอยบอย ก็ขอให้ผู้ชมได้ตั้งคำถาม และทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิม
ดอยบอย: ภาพสะท้อนการอุ้มหาย ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
ภาพยนตร์เรื่อง “ดอยบอย” เป็นผลงานการกำกับของนนทวัฒน์ นำเบญจพล เจ้าของผลงานสารคดีสะท้อนสังคม อาทิ “ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” “สายน้ำติดเชื้อ” และ “ดินไร้แดน” โดยผลงานชิ้นล่าสุดนี้ บอกเล่าเรื่องราวของ “ศร” เด็กหนุ่มชาวไทใหญ่ ที่เข้าไปพัวพันกับการอุ้มหายนักกิจกรรม รวมทั้งสะท้อนภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ พนักงานบริการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรมกับใครเลย
“มันต่อยอดมาจากเรื่องที่แล้ว คือดินไร้แดน เป็นเรื่องชาติพันธุ์ ที่ตอนไปเชียงใหม่ผมสงสัยว่าทำไมคนไทใหญ่ถึงมาอยู่กันเยอะ ผมไปเชียงใหม่บ่อยมาก แต่ไม่เคยสังเกตเห็นการมีอยู่ของพวกเขา เหมือนเป็นมนุษย์ล่องหนอยู่ในประเทศเราด้วย เรื่องนี้เราใช้เวลาเขียนบท 5 – 6 ปี แล้วในระหว่างที่ผมพัฒนาบทอยู่ มันก็มีเหตุการณ์ของวันเฉลิมเกิดขึ้นด้วย จริงๆ ผมก็เป็นเพื่อนกับวันเฉลิมเหมือนกัน ก็ตกใจแล้วก็เสียใจมากๆ แล้วก็อยากเล่าเรื่องนี้ใส่ลงไปในภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย” นนทวัฒน์เล่าถึงที่มาที่ไปของภาพยนตร์ดอยบอย
สำหรับนนทวัฒน์ ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการรวบรวมประเด็นที่เขาสนใจในช่วง 5 – 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีหลัง ที่ประเด็นทางสังคมมากมายถูกหยิบยกมาพูดด้วยเสียงของคนรุ่นใหม่ และถูกขับเคลื่อนออกมาเป็นรูปธรรมชัดเจน
และหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ก็ได้แก่ อวัช รัตนปิณฑะ นักแสดงนำผู้รับบทเป็น “ศร”
“ก่อนหน้านี้ผมก็รู้สึกว่าผมจะหยุดแสดงแล้ว แต่พอผมได้อ่านบทเรื่องนี้ มันเป็นความรู้สึกที่เราอยากจะถ่ายทอดเรื่องนี้ ตัวละครนี้ ประเด็นเรื่องการอุ้มหาย เรื่องของระบบที่มันไม่ยุติธรรม เรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์ เรื่องของสิทธิและเสียงของมนุษย์ มันคือประเด็นที่ผมสนใจ แล้วผมก็ร่วมต่อสู้มาตลอดตั้งแต่ที่มันเกิดการเปลี่ยนแปลง มีการประท้วง เรารู้สึกว่าเราใช้เสียงในที่ของเรามาโดยตลอด และในฐานะนักแสดง จะได้มาถ่ายทอดเรื่องราวเล่านี้ด้วย กับผู้กำกับที่มีความกล้าที่จะพูดเรื่องนี้สักที อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอันนี้ผมเลยรู้สึกว่า ผมต้องได้บทนี้ มันก็เลยเป็นจุดที่แบบว่า เอาวะ ต้องลุยให้ได้ ก็พร้อมอุทิศตัวเองทุกอย่าง เพื่อเปลี่ยนตัวเองไปเป็นศรในดอยบอย”
อวัชเข้าไปลงพื้นที่ใช้ชีวิตกับเพื่อนชาวไทใหญ่ และค้นคว้าเกี่ยวกับชีวิตของพนักงานบริการ เพื่อถ่ายทอดชีวิตของผู้คนเหล่านี้ให้สมจริงที่สุด ในฐานะนักแสดงที่ต้องการทำหน้าที่ของตัวเองในการเป็นกระบอกเสียงของผู้คนที่ไร้อำนาจในสังคม
“ที่ผ่านมา เราในฐานะนักแสดง เมื่อก่อนก็จะถูกบอกว่า อย่าพูดเรื่องการเมือง พูดแล้วเดี๋ยวจะโดนแบน เดี๋ยวไม่มีงาน แต่สุดท้ายวันนี้ผมก็รู้สึกว่า การที่ผมได้มาเล่นหนังเรื่องนี้ ผมทำในฐานะมนุษย์ที่ประกอบอาชีพเป็นนักแสดง และผมเชื่อว่า เรื่องการเมือง เรื่องอุ้มหาย เรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องที่เราทุกคน ในฐานะมนุษย์ ไม่ว่าอาชีพอะไร เรามีสิทธิที่จะพูด เราควรมีสิทธิที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นเสียงของคน ไม่ว่าจะในรูปแบบใด ในอาชีพใด คุณสามารถจะทำได้” อวัชกล่าว
เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะพูด
อย่างไรก็ตาม อาจจะเรียกได้ว่า ดอยบอยเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ที่บอกเล่าปัญหาการทรมานและการอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังจุดประกายให้เกิดการพูดคุยถกเถียงกันในสังคมอย่างแพร่หลาย ยิ่งไปกว่านั้น การเผยแพร่ภาพยนตร์ในระบบสตรีมมิง ที่กระจายไปทั่วโลก โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการเซ็นเซอร์ใดๆ ยังสร้างพลังให้ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถไปได้ไกลกว่าเดิม
“การลุกฮือของเด็กรุ่นใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์บางอย่างขึ้น พูดกันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ทำให้ผมคิดว่า เวลาทำหนังหรืองานศิลปะมันควรจะพูดกันตรงไปตรงมาบ้าง ไม่ต้องใช้สัญลักษณ์ ไม่ต้องตีความอะไรกันมากมายขนาดนั้น แล้วผมก็รู้สึกว่า พอมันออกฉายไป ก็ทำให้ผู้ชมตื่นเต้นและเกิดการถกเถียงมากมายในโลกออนไลน์ แล้วก็ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่ออกมาหลังจากนั้น ก็พยายามเล่า วิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบตรงไปตรงมาเพิ่มมากขึ้นในทางการตลาด ผู้คนเองก็ชอบหนังที่มันมีการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา มันแซ่บกว่า” นนทวัฒน์กล่าว
ด้านอวัชมองว่า ภาพยนตร์ดอยบอยเป็นเหมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์ และเป็นสื่อหนึ่งที่สามารถเข้าถึงคนที่ไม่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชน ให้ “ตาสว่าง” และตระหนักถึงประเด็นนี้มากขึ้น และเขาไม่รู้สึกกลัว หากวันหนึ่งจะถูกผู้มีอำนาจคุกคาม
“ผมก็ทำอาชีพตัวเองอยู่ แล้วก็แค่ถ่ายทอดเรื่องราวที่มันก็มีอยู่จริงในฐานะนักแสดง ทุกคนควรมีสิทธิที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูด การที่คุณไม่ให้พูด นั่นแปลว่าคุณกำลังใช้อำนาจของคุณในการกดทับให้เสียงของคนที่อยากจะพูดมันไม่มีเสียง มันยิ่งกลายเป็นว่า ยิ่งคุณกด ยิ่งคุณปิด ประชาชนเขายิ่งอยากพูด”
“สิ่งที่มันเป็นอดีตมันก็เป็นอดีต ถ้าคุณไม่ปรับตัวเข้าหาปัจจุบัน คุณก็จะค่อยๆ ล่มสลายลงไป เหมือนประโยคที่ตัวละครวุฒิบอก ระบบที่คุณรับใช้ วันหนึ่งมันก็จะหล่นลงมาทับคุณเอง ถ้าคุณไม่เรียนรู้จากมัน เพราะว่าสังคม คน กาลเวลา มันเปลี่ยนไปทุกวัน ถ้าคุณไม่ปรับตัว ไม่เปลี่ยนตัวตาม ทุกอย่างมันก็จะกลับไปที่ตัวคุณ ที่จะอยู่ยากขึ้น” อวัชกล่าว
อุ้มหาย “วันเฉลิม” เรื่องจริงนอกจอภาพยนตร์
“ทำไมคนที่อุ้มต้าร์ไม่ใจดีแบบในหนัง” คำพูดแรกของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมที่ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. 2563 หลังจากภาพยนตร์ดอยบอยจบลง
หลังจากที่น้องชายถูกทำให้หายตัวไปเมื่อ 4 ปีก่อน สิตานันปรากฏตัวในสื่อต่างๆ ในฐานะญาติของผู้สูญหาย ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เช่นเดียวกับครอบครัวนักกิจกรรมอีกหลายคนที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวไปอย่างไร้ร่องรอยและไม่ทราบชะตากรรม
“ตั้งแต่วันแรกที่น้องหายไป แล้วเราออกมาเรียกร้อง คนรอบข้างพูดทุกคนว่าระวังจะเจอเหมือนต้าร์ ไม่กลัวเหรอ ก็ทบทวนนานเหมือนกัน เราก็มานั่งคิดว่ามีบุคคลถูกอุ้มหายนอกราชอาณาจักรไทย 9 คน แล้วไม่มีการออกมาเรียกร้อง มันก็เลยเกิดเคสวันเฉลิมขึ้น เราก็เลยไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับครอบครัวใครอีก เราก็เลยตัดสินใจว่าเป็นไงเป็นกัน เพราะนั่นก็คือน้องเรา”
นับแต่นั้นมา คนธรรมดาอย่างสิตานันได้กลายเป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเธอในหลายด้าน แต่เธอก็ยืนยันว่า ไม่ควรต้องมีใคร “ถูกอุ้ม” เพียงเพราะแสดงออกทางการเมือง
“คนอย่างต้าร์มันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้าร์มันยอมสละ มันอยากเห็นประเทศไม่เป็นอย่างที่ผ่านมา นั่นคือต้าร์ค่ะ มันเป็นสิ่งที่เรายอมทุ่มทั้งชีวิตเพื่อออกมาเรียกร้องให้น้อง ก็ยังไม่รู้เลยนะว่าความยุติธรรมมันคืออะไร สำหรับเรา แต่เสียดายไหม เวลา 4 ปี เสียอะไรไปเยอะมาก ไม่เสียดาย เพราะเรามีความรู้สึกว่า เราพูดออกไป จะมีคนเกรงและไม่ทำกับใครอีก แล้วเราก็ยังไม่พอแค่นี้ การทำงานของเรา ถึงแม้ว่า 4 ปีมันจะนาน แต่เราอยากให้คนที่สั่งได้รับผลกรรม ไม่ใช่ลอยนวลพ้นผิด” สิตานันสรุป
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...