‘ห้วยซ้อวิทยาคมฯ’ ห้องเรียน 2 ระบบ แก้เด็กหลุดจากระบบด้วยการศึกษาที่ยืดหยุ่น

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก โรงเรียนประจำตำบล ตั้งอยู่ในอำเภอเชียงของ ห่างจากอำเภอเมืองเชียงราย 90 กิโลเมตร มีนักเรียนทั้งหมด 674 คน ที่มีความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรมและความสนใจ แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจก็ยังเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ซึ่งส่งผลกระทบกับนักเรียนด้วยเช่นกัน ความยากจนเรื้อรังของนักเรียนหลายครอบครัวต้องช่วยครอบครัวหารายได้มาจุนเจือ ทั้งการรับจ้างในภาคการเกษตร รวมถึงการรับจ้างทั่วไป

เงื่อนไขนี้เอง ทำให้นักเรียนหลายคนไม่สามารถเข้าเรียนในรูปแบบปกติได้ แต่ความสำคัญของการศึกษาที่ทำหน้าที่ขยับคุณภาพชีวิตที่ดียังคงจำเป็น โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงพัฒนาหลักสูตร ‘ห้องเรียน 2 ระบบ’ เมื่อปี 2564 ซึ่งมีที่มาที่ไปจากการสังเกตของ ‘หทัยชนก ถาแหล่ง’ ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ในเวลานั้น เธอเป็นที่ปรึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เห็นว่านักเรียนในชั้นคนหนึ่งขาดเรียนบ่อย เมื่อสืบสาวจึงพบว่าที่หายไปคือต้องไปหารายได้มาจุนเจือครอบครัว

“เขาต้องไปช่วยพ่อกรีดยางตอนกลางคืน พอตอนเช้าก็ไม่สามารถเรียนได้”

หทัยชนก ถาแหล่ง ครูผู้สอนวิชาคอมพิวเตอร์ ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

เหตุนี้เอง จึงได้มีนัดพูดคุยกับผู้ปกครองและตัวของนักเรียน เพื่อหาทางออกร่วมกันจนเกิดเป็นไอเดียให้นักเรียนคนดังกล่าวอัดคลิปวิดีโอในแต่ละวัน/แต่ละช่วง ที่ทำงาน เพื่อนำไปถอดบทเรียนด้วยวิธีการเล่ากระบวนการทำงานว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วงท้ายของเทอม เพื่อเทียบประสบการณ์ และตัดเกรดให้เด็กคนดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำห้องเรียน 2 ระบบ

ห้องเรียน 2 ระบบ คือ ห้องเรียนระบบที่ 1 คือ การเรียนการสอนตามปกติ ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ส่วนห้องเรียนระบบที่ 2 ที่โรงเรียนกำลังพัฒนาหลักสูตรอยู่นั้นเป็นการเรียนการสอนแบบเน้นกิจกรรม หาความรู้นอกห้องเรียน ไม่ต้องเข้าเรียนทุกวัน และนักเรียนที่อยู่ในหลักสูตรนี้สามารถทำงานไปด้วยระหว่างเรียน โดยสามารถนำการทำงานไปเทียบกับประสบการณ์และตัดเกรด ซึ่งใน 1 ภาคเรียนก็จะมีการประเมินผลโดยครูที่ปรึกษาในช่วง ต้นเทอม กลางเทอม และท้ายเทอม

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

ซึ่งพอเริ่มทดลองจากนักเรียนหนึ่งคน ภายหลังกลับพบว่านักเรียนหลายคนที่เริ่มหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งมีเหตุผลคล้ายคลึงกัน และยังค้นพบว่านอกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ นักเรียนหลายคนก็มองว่าการเรียนระบบปกติไม่ตอบโจทย์ ทำให้ขาดแรงจูงใจ ส่งผลให้ไม่สามารถจดจ่อกับการเรียน จนต้องออกจากการเรียน

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ได้นำข้อมูลนักเรียนรายบุคคลในช่วงอายุ 3-18 ปี ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 12,200,105 คน มาวิเคราะห์กับข้อมูลรายบุคคลซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่รวบรวมจากหน่วยงานผู้จัดการศึกษาทุกสังกัด รวม 21 สังกัด จำนวน 11,174,591 คน พบว่ามีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 3 – 18 ปี ที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,025,514 คน หรือร้อยละ 8.41 ในจำนวนนี้อยู่ในช่วงวัยการศึกษาภาคบังคับจำนวนทั้งสิ้น 394,039 คน และมีเด็กและเยาวชนเลข 0 หรือ ไม่มีสถานะทางทะเบียน จำนวน 94,244 คน โดยในจังหวัดเชียงรายมีเด็กหลุดออกนอกระบบถึง 24,081 คน มากเป็นอันดับ 9 ของประเทศ

ด้วยปัญหาและปัจจัยอันหลากหลายและสลับซับซ้อนที่ทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบจำนวนมากเช่นนี้ โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงเริ่มพัฒนาหลักสูตรการเรียน 2 ระบบ ให้มีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น มีการแต่งตั้งครูที่ปรึกษาในการติดตามการเรียน มีการออกแบบห้องเรียนออนไลน์ รวมไปถึงการออกแบบแบบการประเมินผลเป็น 3 ครั้ง แบ่งเป็นในช่วงต้นเทอมจะเป็นการชี้แจงแนวทางการประเมินผล ในช่วงกลางเทอมจะเป็นการติดตามภาระงานและชี้แจงงานที่จะต้องส่งในช่วงปลายภาคเรียน และในช่วงปลายภาคเรียนก็เป็นการนัดหมายเพื่อประเมินผลการเรียนรู้นอกห้องเรียน

ซิน สิทธา สุริยะคำ ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ นักเรียนชั้นปีที่ 5 โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ในระบบที่ 2 ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

“สามารถแบ่งเวลา ในการทำงานและการเรียนได้” เสียงของ ซิน สิทธา สุริยะคำ นักเรียนชั้นปีที่ 5 โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ ในห้องเรียน ระบบที่ 2  เขาเคยเรียนอยู่ในระบบ 1 ก่อนจะออกจากการเรียนเพื่อไปทำงานตอนอายุ 15 ปี และกลับมาเรียนอีกครั้งตอนอายุ 18 ในระบบ 2

ปัจจุบันห้องเรียน 2 ระบบ ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองพัฒนาและปรับปรุงอีกมากเพื่อให้ตอบโจทย์กับความต้องการของเด็กรวมไปถึงมาตรฐานของการศึกษา ด้วยเหตุนี้เอง ทางโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ จึงได้มีการทำงานร่วมกันกับโครงการห้องเรียนข้ามขอบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เข้ามาทำงานในการพัฒนาศักยภาพของครูในห้องเรียน 2 ระบบ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาอีกหนึ่งข้อท้าทายคือนักเรียนหลายคนมีปัญหาในการอ่านและการเขียนที่เป็นข้อจำกัดในการเรียนรูh ซึ่งปัจจุบันโครงการยังคงอยู่ขั้นตอนของการดำเนินโครงการ

นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทดลองการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นในการพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของเด็กที่หลุดออกนอกระบบภายใต้ข้อจำกัดที่มีเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นการตอกย้ำว่าห้องเรียนรูปแบบเดียวที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่ตอบโจทย์กับปัญหาที่หลากหลายของเด็ก เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้และหาประสบการณ์ที่กว้างมากกว่าแค่ในห้องเรียน

ภาพ: ห้องเรียนข้ามขอบ

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง