เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดกิจกรรมในโครงการอ่านเปิดโลก (ครั้งที่ 6) เกี่ยวกับการเปิดตัวหนังสือเรื่อง กลุ่มทุนการเมืองล้านนา: การเปลี่ยนทุนเศรษฐกิจและวัฒนธรรมให้เป็นทุนการเมือง โดย ผศ.ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้เขียนและผู้ดำเนินรายการ โดยมีวิทยากรสองท่านคือ ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ นักวิจัยอิสระ และ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชัยพงษ์ สำเนียง อธิบายถึงหนังสือเล่มนี้ที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในแง่ที่ศึกษาผ่านนักการเมืองหรือกลุ่มทุนในภาคเหนือ ปัญหาของการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมักไม่ค่อยสนใจกลุ่มทุนลักษณะต่าง ๆ ที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กัน สิ่งที่พยายามศึกษาคือการเกิดทุนในแบบต่าง ๆ ที่มีความเปลี่ยนแปลง ความเข้าใจที่ผ่านมาในเรื่องของทุนนิยมมันอาจจะเข้าใจได้ว่ามันเหมือนกันหมด งานชิ้นนี้พยายามชี้ให้เห็นลักษณะทุนนิยมที่มิใช่ทุนนิยมเสรีแต่เป็นทุนนิยมอุปถัมภ์ พยายามถกเถียงว่าทุนไม่ได้เกิดเป็นเส้นทางเดียว ทุนมีความเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่โดยตลอด อาจจะเปลี่ยนเป็นทุนวัฒนธรรมทุนการเมืองและสามารถเปลี่ยนเป็นทุกทางสัญลักษณ์ได้ ทุนจึงมีลักษณะที่ไม่หยุดนิ่งและสามารถปรับเปลี่ยนความหมายได้
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจึงไม่สามารถมองผ่านผู้กระทำการแบบเดียวได้ หรือกลุ่มคนกลุ่มเดียวได้ งานชิ้นนี้จึงทำให้เห็นปฏิบัติการของคนเล็กคนน้อยที่เข้ามาตอบสนองต่อทุนด้วย ดังนั้น จึงไม่สามารถอธิบายได้ว่าชาวนาคนจนหรือคนตัวเล็กตัวน้อยในชนบทโง่จนเจ็บ เพราะมันมีปฏิสัมพันธ์ภายใต้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันในหลายแบบ
การขยับชนชั้นเป็นเรื่องที่ยากหากขาดปัจจัยเรื่องทุนและเครือข่าย
ด้าน ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ ตั้งคำถามต่อหนังสือเล่มนี้ว่า หนังสือเล่มนี้ให้อะไรต่อสังคมบ้าง? ซึ่งเห็นจากหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่านายทุนภาคเหนือมักเป็นนายทุนที่อิงแอบอยู่กับรัฐ หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการตอบสังคมแบบหนึ่งก็คือทุนนิยมไทยมิใช่ทุนนิยมที่เสรี แต่เป็นทุนนิยมที่แอบอิง กลุ่มทุนการเมืองล้วนผูกพันธ์กับอำนาจรัฐผ่านวัฒนธรรมอุปถัมภ์ตลอดมา หากเราศึกษาทุนโดยที่ละเลยปฏิสัมพันธ์ของกลุ่มคนที่มีสัมพันธ์กับทุนจะทำให้เราไม่สามารถเข้าใจทุนได้ และไม่สามารถแก้ไขตรงนี้ได้ในทางการเมือง ความสัมพันธ์ต่างตอบแทนกันในระหว่างนักการเมืองและฐานเสียง นักธุรกิจการเกษตรมิได้มีแค่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับเกษตรกรเท่านั้น ตัวเกษตรกรเองก็เป็นฐานคะแนนให้กับนักธุรกิจเข้าสู่การเมืองอีกแง่หนึ่งด้วย ทุนต้องมีวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ามากำกับ เช่น วัฒนธรรมการเห็นหน้าค่าตา (พิธีต้อนรับต่าง ๆ) ในแง่นี้ชนบทจึงเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกันผลักดันให้ทุนและการเมืองต้องเปลี่ยนแปลง มีการต่อรองเพื่อให้เกิดกลไกเชิงสถาบันใหม่ ๆ เกิดชนชั้นกลางใหม่ที่มีชีวิตพึ่งพิงกับระบบตลาด ชาวนายืดหยุ่น ในปัจจุบัน ทุนเกื้อหนุนให้กับการเมืองน้อยลง เปิดพื้นที่ให้ทุนรูปแบบอื่น เช่น ทุนในรูปแบบอุดมการณ์เข้าสู่การเมือง ทุนเชิงสัญลักษณ์ เป็นต้น
การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคม การปฏิวัติ 2475 เปิดโอกาสให้กลุ่มคนต่าง ๆ เลื่อนสถานะทางสังคม ผ่านการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เจ้าในภาคเหนือสูญเสียสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ได้เข้ามาสู่การเลือกตั้ง โดยการใช้ทุนทางวัฒนธรรม นายทุนที่อิงแอบกับรัฐ เช่น สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ โรงบ่มยาสูบ ขายปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ การเลื่อนลำดับชั้นทางสังคมอาจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละคนในสังคมยังเหมือนเดิม
ในเชิงทฤษฎี ทุนมนุษย์ของรุ่นพ่อจะส่งผ่านลูกสองช่องทางคือ หนึ่ง การลงทุน (การศึกษา) กับสอง เครือข่ายทางสังคมของพ่อแม่ สองทางนี้จะมาเป็นตัวกำหนดรายได้ของรุ่นลูกและเลื่อนชั้นทางสังคมต่อไปได้ ก่อนการปฏิวัติ 2475 หรือหลังจากนั้น เราจะเห็นว่าระบบการศึกษาไม่ค่อยดีเท่าที่ควร พ่อแม่ที่สามารถลงทุนกับรุ่นลูกได้ในช่วงนั้นก็ต้องมีฐานะพอสมควร อย่างส่งไปเรียนต่างประเทศและกลับมาทำธุรกิจต่อจากครอบครัว ทำให้การเลื่อนชั้นทางสังคมต่ำ และยิ่งพ่อแม่ที่ไม่มีเครือข่ายทางสังคม การเลื่อนชั้นทางสังคมก็ยิ่งต่ำขึ้นไปอีก ดังนั้น คนที่เลื่อนสถานะทางสังคมขึ้นมาได้ แม้จะไม่ใช่คนที่มีทรัพยากรมากกว่าคนอื่นอยู่แล้วก็ล้วนแต่เป็นคนที่มีความใกล้ชิดกับชนชั้นนำมีเครือข่ายทางสังคมสูง คนที่ขยับขึ้นมาได้จึงมักมีโอกาสมากกว่าคนอื่นในสังคม
ศุภลักษณ์ ได้เสนอประเด็นที่ชวนคิดต่อคือ ทุนเปลี่ยนตัวเองไปตามยุคสมัยอย่างไรบ้าง รุ่นลูกหลานเหลนของนักการเมือง/พ่อเลี้ยง/ในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง? การเมืองท้องถิ่นเปลี่ยนไปอย่างไร ทำไมการปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย บทบาทของผู้หญิง ทุนมีลักษณะเฉพาะบางอย่างในท้องถิ่นที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน เช่น วัฒนธรรมการเห็นหน้าค่าตานำไปสู่วัฒนธรรมที่เกื้อหนุนทุนทำให้ทุนแต่ละท้องที่มีลักษณะเฉพาะของตนนั้นแตกต่างกันไหมในแต่ละภูมิภาค
ประชาธิปไตยคือความคิดเชิงซ้อนในความหมายและความเข้าใจของชาวบ้าน
อานันท์ กาญจนพันธุ์ ชี้ให้เห็นความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ว่า การศึกษาการเมืองท้องถิ่นล้านนาของหนังสือเล่มนี้คือทำให้เราเห็นว่ามันทลายความคิดที่ว่า 2475 มันสำคัญเฉพาะส่วนกลาง (กรุงเทพฯ) แต่มันยังกระจายเข้าไปในท้องถิ่น เกิดกลุ่มคนจำนวนมาก ความหมายของประชาธิปไตยในอดีตกับปัจจุบันมันต่างกันค่อนข้างมาก โดยมีประเด็นหลักที่จะเข้าความหมายของประชาธิปไตยก็คือท้องถิ่นนิยม ทั้งเรื่องการหาเสียงของนักการเมืองในท้องถิ่น ความสัมพันธ์และเครือข่ายของนักการเมืองแต่ละคน ความหมายของประชาธิปไตยจึงมีหลายความหมายมากอยู่ที่ว่านักการเมืองจะหยิบนำไปฉวยใช้อย่างไร และนำไปต่อยอดความหมายของประชาธิปไตยด้วยว่า ท้องถิ่นนิยมเป็นปฏิบัติการของนักการเมืองที่มีสายสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจของรัฐส่วนกลางนั้นไม่เหมือนกัน
ข้อสังเกตที่สำคัญคือ ทำให้เข้าใจเหตุการณ์ 2475 ที่กว้างออกไปว่ามันไม่ใช่คนกลุ่มเล็ก ๆ มันกระจายในกลุ่มพ่อค้า นักหนังสือพิมพ์ ชาวนาบางกลุ่ม (ปรากฏช่วงปี 2517-2518) ประชาธิปไตยมันไม่ได้ผูกขาดอยู่ที่ชนชั้นนำเพียงอย่างเดียว ประชาธิปไตยมันลงไปสู่ชาวนา ชาวนาก็ต้องการต่อรองกับเจ้าของที่ดิน ความเข้าใจความหมายของประชาธิปไตยที่มาคนละสายกันระหว่างสายเจ้าและท้องถิ่น การเมืองท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องทุนทางเศรษฐกิจมันคือนโยบาย นโยบายในที่นี้คือไม่ใช่นโยบายที่กำหนดจากพรรคการเมืองหรือรัฐบาล มันคือนโยบายจากข้างล่าง ชาวบ้านค่อนข้างมองประชาธิปไตยคล้าย ๆ กัน คือนโยบายที่ต้องมาจากท้องถิ่น ความหมายประชาธิปไตยไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยเสรีอย่างที่เราเข้าใจกัน
กระนั้น ประชาธิปไตยแบบภาคเหนือคือประชาธิปไตยแบบท้องถิ่นนิยม ถ้าดูจากปฏิบัติการของนักการเมืองและชาวบ้าน สำหรับชาวบ้านแล้วประชาธิปไตยมันหมายความว่าการเลือกตั้ง แต่ปฏิบัติการเบื้องหลังของประชาธิปไตยนั้นมีลักษณะเป็นท้องถิ่นนิยม ประชาธิปไตยจึงเป็นความคิดเชิงซ้อนในความหมายและในความเข้าใจของชาวบ้าน มันไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแบบสากล ชาวบ้านจึงเข้าใจประชาธิปไตยในหลายความหมาย
“การเลือกตั้งเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าไปต่อรองกับอำนาจท้องถิ่น พื้นที่การเลือกตั้งมันทำให้เกิดอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยม ชาวบ้านจึงมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เน้นท้องถิ่นนิยมเพื่อต่อรองกับอำนาจนิยม เพื่อให้ได้สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรในท้องถิ่นเอง”
ส่งท้าย การขยายพรมแดนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ
ชัยพงษ์ สำเนียง สรุปว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใจทุนในมิติต่าง ๆ ทำให้มิติเชิงมหภาคเพื่อเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของมัน ทำให้เห็นความสัมพันธ์อีกแง่หนึ่ง หนังสือเล่มนี้เป็นการเริ่มต้นที่จะทำความเข้าใจในส่วนอื่น ๆ มากขึ้น ตอบคำถามคุณศุภลักษณ์ ประเด็นหนึ่งคือในภูมิภาคต่าง ๆ การก่อตัวของทุนนิยมมันไม่ได้มีลักษณะที่เหมือนกันเสียทีเดียว มีงานศึกษาระบบเศรษฐกิจชุมชนจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่มีงานศึกษาการก่อตัวของระบบทุนนิยม ส่วนประเด็นของผู้หญิงนั้นมีบทบาทจัดการเรื่องหลังบ้านมากกว่าผู้ชาย การเมืองหลังบ้านจึงเป็นบทบาทของผู้หญิง และหลังบ้านก็เป็นส่วนสำคัญของการเมือง หนังสือเล่มนี้จึงมีอีกหลายประเด็นที่สามารถคิดต่อ และขยายออกไปในการศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจอีกค่อนข้างมาก
สามารถรับชมการบรรยายได้ที่ https://www.facebook.com/socialscinu/videos/936608818244021
เด็กหนุ่มผู้เกิดในชนบทนครสวรรค์ เติบโตในโรงเรียนประจำ และเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแถวหนองอ้อ สนใจประวัติศาสตร์ชาวบ้านและชนบทศึกษา ปัจจุบันใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ในภูมิภาคที่ไม่รู้ว่าเป็นภาคเหนือตอนล่างหรือกลางตอนบน