จนท.อุทยานฯผาแดง สนธิกำลังทำลาย พืชผลชุมชนลีซู ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ชาวบ้านร้อง ‘รังแกประชาชน’

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ รายงานว่า ในวันที่ 16 กันยายน 2567 เวลา 09.00 น. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติผาแดง พร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐจากหลายกลุ่มซึ่งไม่ทราบสังกัด จำนวนกว่า 10 คันรถ ได้สนธิกำลังเข้าตัดฟันพืชผลอาสินในแปลงเกษตรของชาวบ้านที่บ้านรินหลวง ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่มีการแจ้งหรือประกาศล่วงหน้าให้ทราบ ระหว่างการดำเนินการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ตรึงกำลังสังเกตการณ์ในพื้นที่ การกระทำดังกล่าวนี้ส่งผลให้พืชผลที่ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้รับความเสียหาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาวะทางการเงินของชาวบ้านเจ้าของแปลงที่ต้องกู้เงินเพื่อการลงทุนในการทำเกษตรกรรม

“เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องรังแกกันขนาดนี้เลยหรือ ชาวบ้านจะไม่อดตายกันหมดหรือ จะเอาอะไรไปใช้หนี้ พืชผลเสียหายหมด อันนี้แค่บางส่วนที่โดน ยังมีอีกจนถึงข้างบน ไม่ว่าจะเป็นถั่วดิน ข้าว มันสำปะหลัง ถูกทำลายหมดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านหน่อย เราไม่เหลืออะไรแล้ว ทั้ง ๆ ที่รับเงินเดือน กินภาษีจากประชาชน แต่มารังแกประชาชน ” ชาวบ้านกล่าว

ชุมชนบ้านรินหลวง หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่ทำกินและใช้ประโยชน์ในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งมีการประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดงในปี 2543 ครอบคลุมพื้นที่ 1,123 ตารางกิโลเมตร ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินที่ทางชุมชนบ้านรินหลวงใช้ประโยชน์อยู่ก่อน เมื่อปี 2555  มีชาวบ้านในชุมชนถูกดำเนินคดี จำคุก และยึดที่ดินทำกิน บางรายถูกยึดที่ทำกินและไม่สามารถกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งทางชุมชนไม่ได้ทราบถึงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และคำสั่งที่ชัดเจนของอุทยานแห่งชาติผาแดงที่ใช้ในการตรวจยึดที่ทำกิน หลังจากนั้น ทางชุมชนได้ถูกดำเนินการตรวจยึดที่ทำกินมาโดยต่อเนื่องจากคำสั่งนโยบายต่าง ๆ อาทิ ปี 2557 มีการตรวจยึดที่ทำกินของชุมชนจากคำสั่งคสช.ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ และการดำเนินโครงการปลูกป่าโดยหน่วยงานในพื้นที่ในบริเวณแปลงคดีที่ถูกยึดที่ทำกิน ซึ่งหลายพื้นที่ทับซ้อนกับที่ทำกินเดิมของชุมชน

โดยล่าสุดวันที่ 18 กันยายน 2567 เพจเฟซบุ๊ก อุทยานแห่งชาติผาแดง ได้มีการเผยแพร่ภาพการเตรียมกำลังพลและเอกสารว่าได้มีการสนธิกำลังดำเนินการยึดทำลายรื้อถอนพืชผลอาสินในแปลงคดีที่ได้ดำเนินการตรวจยึด ออกจากป่าต้นน้ำปิง ตามมาตรา 35 (3) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง บริเวณตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ทั้ง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือได้รวบรวม Timeline การเข้ามาของอุทยานฯตั้งแต่วันที่วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ทางชุมชนได้รับหนังสืออุทยานแห่งชาติผาแดง ที่ ทส 0926.602/ว365 เรื่อง ขอปิดประกาศอุทยานแห่งชาติผาแดง ห้ามบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแดง และห้ามเข้าไปในเขตป่าอุทยานแห่งชาติผาแดงบริเวณพื้นที่ที่ถูกตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีแล้ว (แปลงคดี) โดยระบุเหตุผลว่า “เป็นการป้องกันมิให้เกิดปัญหาบุกรุก แผ้วถาง ยึดถือ ครอบครองพื้นที่ และเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครอง ดูแลรักษา หรือบำรุงอุทยานแห่งชาติ”  อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จากประกาศของอุทยานแห่งชาติผาแดง  ส่งผลให้มีชาวบ้านในชุมชนไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ทำกินได้ 41 ราย เป็นชุมชนบ้านรินหลวง 26 ราย ชุมชนบ้านทุ่งดินดำ 15 ราย ซึ่งใน 41 รายนี้ มี 10 ราย ที่ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ใด ๆ ในแปลงทำกินได้ แม้บางรายเริ่มทำการเพาะปลูกไปแล้ว และบางรายเตรียมเพาะปลูกพืชผลอาสินไว้ในที่ทำกินแล้ว

วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ทางตัวแทนชุมชนได้รวมตัวเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อขอให้เร่งแก้ไขปัญหากรณีชุมชนไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้จากประกาศอุทยานแห่งชาติผาแดง และได้ประชุมหารือกับทางอุทยานแห่งชาติผาแดง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันเนื่องจากเป็นสถานการณ์เร่งด่วน โดยผลการประชุมหารือครั้งนั้น ได้ข้อสรุปว่า ทางอุทยานแห่งชาติผาแดงเสนอให้ทางชุมชนจัดทำข้อมูลแปลงทำกินของผู้ที่ได้รับผลกระทบ 10 ราย ที่ไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ เพื่อยืนยันว่าไม่มีพื้นที่แปลงอื่นที่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ และนัดหมายวันเพื่อติดตามความคืบหน้าต่อไป

วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ทางตัวแทนชุมชนและอุทยานแห่งชาติผาแดง ได้ประชุมติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว ณ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) โดยจากการเจรจา ยังไม่ได้ข้อยุติของแนวทางแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากแนวทางแก้ไขปัญหาของทางอุทยานแห่งชาติผาแดงไม่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

วันที่ 28 สิงหาคม  2567 มีหนังสือคำสั่งที่ 44/2567 จากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแดง มายังผู้ใหญ่บ้านรินหลวง มีคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลาย รื้อถอน พืชผลอาสิน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิม ออกไปให้พ้นจากเขตอุทยานแห่งชาติผาแดง หรือทำให้สิ่งนั้น ๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม

วันที่ 3 กันยายน 2567 ชาวบ้านชุมชนบ้านรินหลวงได้รวมตัวกันไปยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ดำรงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาชนเขต 6 จังหวัดเชียงใหม่ ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้เร่งแก้ไขปัญหากรณีชุมชนถูกบังคับรื้อถอนแปลงทำกินจากประกาศอุทยานแห่งชาติผาแดง ซึ่งหลังจากการยื่นหนังสือได้มีการเปิดประชุมหารือร่วมกันระหว่างชาวบ้านชุมชนบ้านรินหลวง และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 (เชียงใหม่) โดยมีสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวกลางในการเจรจา ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า เนื่องจากทางอุทยานแห่งชาติผาแดงไม่มีอำนาจในการตัดสินใจยุติคำสั่งหรือดำเนินการใด ๆ ในพื้นที่ ต้องอาศัยอำนาจตามคำสั่งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้ทางชุมชนดำเนินการติดตามการแก้ไขปัญหาที่กระทรวงทรัพยากรฯ 

วันที่ 8 กันยายน 2567 ชาวบ้านชุมชนบ้านรินหลวงได้ยื่นหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร โดยมีข้อเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการที่ดินฯ ลงพื้นที่ชุมชนบ้านรินหลวงเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหา และบรรจุกรณีบ้านรินหลวงเป็นวาระพิจารณาเร่งด่วนของ กมธ.ที่ดินฯ พร้อมตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อชี้แจงกรณีการตรวจยึดที่ดินตามนโยบายทวงคืนผืนป่า พร้อมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนโดยเร่งด่วน โดยชุมชนมีความประสงค์ให้อุทยานแห่งชาติผาแดงผ่อนผันให้ชุมชนสามารถทำกินได้ไปพลางระหว่างรอแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เนื่องจากได้ลงทุนในการทำเกษตรกรรมปีนี้ไปแล้ว

จากกฎหมายและนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติจากหลายรัฐบาลที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 ทำให้เกิดแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ หรือ แผนแม่บทป่าไม้ฯ มีการกำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ นำมาสู่การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายแย่งยึดที่ดินประชาชนเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างเข้มข้นและรุนแรงขึ้น

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง