ในวันที่ 24-25 ก.ย. 2567 ยังคงเป็นช่วงเวลาลุ้นระทึกของคนเชียงใหม่ ว่าสถานการณ์น้ำปิงที่ใกล้ล้นทะลักเข้าท่วมเมือง ว่าจะลดลงหรือหนักกว่าปี2565 หรือไม่ ล่าสุด สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ออกประกาศฉบับที่5 ระดับน้ำปิง P.1 สะพานนวรัฐ ได้ผ่านจุดสูงสุดที่ 4.45 เมตร เมื่อตี 5 ที่ผ่านมา แม้ระดับจะทรงตัวระยะหนึ่ง แต่ต้องเฝ้าระวังมวลน้ำระลอกใหม่
ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้นน้ำทางโซนเหนือของจังหวัด เผยฝนยังตกหนัก สวนทางกับประกาศของชลประทานที่บอกน้ำลดลงแล้ว ระดับน้ำจะไม่มากกว่าปี 2565
Ed Kantakhun ได้แจ้งว่า ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ยังคงเกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาในแม่น้ำปิง บริเวณบ้านโป่งอาง. ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ อย่างเร็วและแรง กระแสน้ำได้กัดเซาะตลิ่งจนทำให้ต้นมะเดื่อต้นใหญ่ที่อยู่ริมตลิ่งโค่นล้มเสียหาย ระดับน้ำสูง แต่ไหลผ่านลงไปข้างล่างเร็วมาก
ในขณะที่บริเวณบ้านห้วยเป้า ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มวลน้ำได้ไหลทะลักจากลำน้ำห้วยเป้า จนหลากท่วมนาข้าวซึ่งเป็นนาขั้นบันไดทำให้แผ่ขยายกลายเป็นน้ำตกเป็นวงกว้าง ดูคลิปเหตุการณ์น้ำท่วมบ้านห้วยเป้า ที่ลิงค์นี้ https://www.facebook.com/100005957718756/videos/1663863167518600
เช่นเดียวกับที่บ้านแม่ป๋าม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ก็เกิดฝนตกหนักและทำให้ระดับน้ำของลำน้ำป๋ามไหลแรงและเชี่ยวกราก เอ่อท่วมไร่นาชาวบ้านพังเสียหายเป็นวงกว้าง และกระแสน้ำแรงได้พัดรถกระบะที่พยายามขับฝ่าไปในสวน ลอยไปกับน้ำอย่างเร็ว โชคดีที่ไปติดกับกอหญ้าต้นไม้ โดยชุดกู้ภัยเหยี่ยวแดง ทต.แม่นะ นำเรือเข้าไปช่วยเหลือไว้ได้ทัน ซึ่งลำน้ำสาขานี้ ได้ไหลลงไปแม่น้ำปิงกันอย่างต่อเนื่อง
เพจ เมืองพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานว่า ที่บ้านป่าห้า ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ฝนยังตกต่อเนื่อง ทำให้กระแสน้ำป่าได้ไหลกัดเซาะถนนในหมู่บ้านพังเสียหาย
ในขณะที่ในอำเภอเวียงแหง แม่แตง และแม่ริม ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของจังหวัด ก็มีรายงานว่าฝนยังคงตกมาอย่างต่อเนื่องทั้งวัน และระดับน้ำปิงก็เริ่มหนุนสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้หลายหน่วยงานต้องออกมาเตรียมความพร้อมกัน และเตือนชุมชนริมน้ำปิงยกของขึ้นที่สูง หลังระดับแม่น้ำปิงสูงต่อเนื่อง
เทศบาลนครเชียงใหม่ ตั้งวอร์รูม (WAR ROOM)ติดตามระดับน้ำปิงแบบเรียลไทม์ ริมสะพานนวรัฐ เพื่อบริหารสถานการณ์น้ำเขตเมือง 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจุบันระดับน้ำปิงเพิ่มตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงค่ำคืนที่ผ่านมา โดยในช่วงเย็น ทุกหน่วยงานเร่งกรอกกระสอบทรายแจกจ่ายประชาชน หลังน้ำปิงใกล้ล้นตลิ่ง
ทางด้านชลประทานที่1 ได้ส่งเจ้าหน้าที่ประจำทุกประตูระบายน้ำและทุกจุดสำคัญในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อประเมินสถานการณ์ที่ต้องแจ้งเตือนประชาชนและเตรียมพร้อมผ่านผู้ใหญ่บ้านและกำนันในพื้นที่ให้เตรียมประชาชนให้พร้อมรับมือในกรณีที่เกิดวิกฤติและฉุกเฉิน
กรณีที่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ หรือสอบถามข้อมูล ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ได้เปิดศูนย์ CMFORCE : ศูนย์ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเฉพาะกิจเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยประชาชนสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข053-259116 (ในเวลาราชการ) 083-7043675 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม ประกาศเตือนวิกฤตแล้ว‼ เตือนภัยระดับ 5 ระดับอันตรายสูงสุด
โดยระบุว่า น้ำป่าออกจากพื้นที่ แม่ริม,แม่แรม,แม่สา ห้วยตึงเฒ่า ประกอบกับน้ำปิงขึ้นสูง 1.ขอให้ประชาชนตลอดแนวริมน้ำปิงทั้งสายปิดกั้นบ้านเรือนตนเอง ป้องกันทรัพย์สินจมน้ำ และให้อยู่ในที่ปลอดภัย เตรียมรับฝนอีกระลอก 2.ประชาชนที่อยู่ริมคลองรับน้ำจากห้วยตึงเฒ่าและน้ำสาที่เคยมีน้ำเอ่อท่วมสูง ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดนำกระสอบทรายปิดกั้นบ้านเรือน
ชลประทานที่1ออกประกาศฉบับที่ 2 สถานี P1 สะพานนวรัฐ อาจมีระดับน้ำสูงสุด 4.5 เมตร สำนักงานชลประทานที่ 1 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำที่สถานี P67 บ้านแม่แต อำเภอสันทราย จะมีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น และมวลน้ำดังกล่าวจะเคลื่อนตัวมาถึงที่สถานี P1 สะพานนวรัฐ โดยจะมีระดับสูงสุดประมาณที่ระดับ 4.5 เมตร ในวันที่ 25 กันยายน 2567 ในช่วงเวลา 03.00-05.00 น.
หลังจากนั้น น้ำเริ่มมีการเอ่อล้นในพื้นที่เขตเมืองกันมากขึ้น
19.45 น. ถ.เจริญเมือง สันป่าข่อย น้ำปิงเริ่มล้นจากท่อระบายน้ำเอ่อท่วมถนน
20:23 น. ที่จุด P.1(สะพานนวรัฐ) ระดับน้ำสูง 4.00 เมตรโดยประมาณ
20.45 น. น้ำปิงเริ่มท่วมถนน ชม – ลำพูน หน้าค่ายกาวิละ, การไฟฟ้าบ้านเด่น ถนนเจริญประเทศหน้ามงฟอร์ตประถม และมีการปิดสะพานเม็งรายไม่ให้ผ่าน
ต่อมา ชลประทานเชียงใหม่ที่1 ได้วิเคราะห์สถานการณ์ระดับน้ำที่อำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตงและอำเภอเชียงดาว พบว่า เมื่อช่วง 21:00 น. ที่ผ่านมามวลน้ำมีปริมาณลดลงจากเดิมที่มีอัตราการไหลอยู่ที่ 479 ลูกบาศก์เมตรเหลือที่ 477 ลูกบาศก์เมตรและยังลดลงต่อเนื่อง
โดยมีการประเมินว่าระดับน้ำจะลดลงประมาณ 13 เซนติเมตรโดยมวลน้ำก้อนจากเชียงดาว-แม่ริม-แม่แตง คาดการณ์ว่าจะเดินทางมาถึงในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ที่สถานีตรวจวัดระดับน้ำสะพานนวรัฐในช่วงเวลาประมาณ 02:00 น. ถึง 04:00 น. เช้ามืดวันที่ 25 กันยายน 2567 ซึ่งการประเมินว่าเมื่อน้ำมาถึงจะมีปริมาณผ่านที่สถานีนวรัฐที่ 511 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและจะถูกผลักดันออกที่ประตูน้ำท่าวังตาลในอัตราการไหลที่ 1200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งการผลักดันน้ำก้อนสุดท้ายนี้อาจจะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำปิงเกิดน้ำเอ่อล้นแต่จะไม่เสียหายมากเหมือนปี 2565 เนื่องจากปริมาณน้ำเป็นเพียงน้ำที่ไหลจากการระบายไม่ใช่การสะสมเหมือนหลายปีที่ผ่านมา
โดยพื้นที่ท้ายน้ำโดยเฉพาะท้ายประตูน้ำท่าวังตาลที่บางจุดลำน้ำมีลักษณะหน้าตัดแคบอาจจะทำให้มีน้ำเอ่อล้นในพื้นที่จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำขอให้เตรียมการขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูงและประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมตัวเองตลอดเวลาในค่ำคืนนี้ไปจนถึงเที่ยงวันวันพรุ่งนี้
เชียงใหม่ CM108 รายงานว่า สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ออกประกาศฉบับ3 คาดน้ำปิงจุด P.1 สะพานนวรัฐ จะมีระดับสูงสุดที่ประมาณ 4.32 เมตร ในช่วง 02.00-04.00 น. คืนนี้ 25 ก.ย. 67 ซึ่งจะลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 4.45 เมตรก่อนหน้านี้
ในขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ต้นน้ำเผยฝนยังตกหนัก สวนทางกับประกาศของชลประทานที่บอกน้ำลดลงแล้ว ระดับน้ำจะไม่มากกว่าปี 2565 โดยชาวบ้านในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น แม่ริม แม่แตง เชียงดาว เวียงแหง พร้าว ต่างพากันออกมาแสดงความเห็นขัดแย้งกับการแจ้งเตือนของชลประทานที่1 ที่บอกว่ามวลน้ำจะลดลง เพราะคนในพื้นที่รับรู้ว่า ทางโซนเหนือของเชียใหม่ ฝนกำลังตกหนักและนานมาก
Kankamon Khanpeng บอกว่า ต้องเตรียมรับมือนะครับที่พร้าว ตอนนี้ ก็ตกหนักทุกพื้นที่นะครับ อย่าชะล่าใจเลย
Marutić Tasanaprašić บอกว่า มวลน้ำใหญ่ยังมาไม่ถึง ผมว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะขึ้นชั่วโมงละ 5ซม จนถึงตี3 ณ ตอนนี้ยังขึ้นที่ 8 ซม ต่อเนื่อง ตั้งแต่ 6 โมงเย็น
ที’ ลมฟ้าอากาศ บอกว่า ยังไม่ลดง่ายๆนะครับ ลืมคำนวณ มวลน่้ำใหม่หรือเปล่า เพราะน้ำใหม่ตอนนี้กำลังลงมาจากเชียงดาว แม่แตง ปีนี้เมืองเชียงใหม่ไม่รอด ต้นน้ำเชียงดาวท่วมรอบ2 ในขณะที่น้ำด้านล่างเริ่มล้นตลิ่งแล้ว มีเวลาขนของขึ้นที่สูงก่อนน้ำจะเริ่มซึมตามท่อ และสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในอีก2ชั่วโมง ข้างหน้านี้
Adisak Suranggool บอกว่า หน่วยงานราชการไทย ชอบพูดให้ดูดี แต่ไม่พูดความจริง
21.20น. เพจรีวิวเชียงดาว รายงานว่า เชียงดาวฝนตกหนักอีกรอบ ระดับแม่น้ำปิงสูงขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่ลดลงมาเล็กน้อย บางพื้นที่กลับมาท่วมรอบสอง ผู้คนที่อยู่ริมน้ำ และพื้นที่แม่แตงลงไป เตรียมพร้อมรับมือกันด้วยนะครับ
อ้อ วรางคณา บอกว่า แม่แตงก็ตกมาทั้งคืน ยังไม่หยุด
เพจเชียงใหม่อะไรดี โพสต์ภาพจากบริเวณขัวแขก หน้ากาดหลวง และบอกเวลา 23.00 น. น้ำสูง 4.21 เมตร
23.00 น. ระดับน้ำปิงสถานี P1 (สะพานนวรัฐ ) | 4.21 ม. วิกฤติ 4.20 ม. เปิดสัญญาณไฟสีแดง!!
เวลา 00.00 น. ของวันที่ 25 ก.ย.ระดับน้ำวัดได้ 4.29 ม. (จุดวิกฤต 4.20 ม.)
ตี 1 : วัดได้ 4.35 ม.
ตี 2 วัดได้ 4.39 ม.
ตี 3 วัดได้ 4.41 ม.
ตี 4.วัดได้ 4.43 ม.
ตี 5 วัดได้ 4.45 ม.
6 โมงเช้า วัดได้ 4.45 ม.ระดับน้ำเริ่มทรงตัว
7 โมงเช้า วัดได้ 4.45 ม.ระดับน้ำเริ่มทรงตัว
อย่างไรตาม ก็มีการวิเคราะห์กันว่า ถึงแม้ว่าที่จุดวัดน้ำ P.1 ระดับทรงตัว 4.45 แต่สถานีP.67 บ้านแม่แต ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกหนึ่งชั่วโมงจาก 3.49 เพิ่ม 3.54 และ 3.62 ตามลำดับ(เวลา 6-7-8 โมงเช้า) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีฝนตกในพื้นที่อำเภอต้นน้ำกันอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่า ยังคงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากปริมาณที่ไหลมาได้เข้าท่วมพื้นที่ในเขตเมือง แผ่ขยายเป็นวงกว้าง นั่นหมายความว่า ชาวบ้านจะถูกน้ำท่วมขังอีกนาน ซึ่งในตอนนี้ น้ำปิงได้ไหลเอ่อท่วมในหลายพื้นที่ของตัวเมืองเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง
ชลประทานเชียงใหม่ ออกประกาศฉบับที่ 5 เผยยังเฝ้าระวัง เพราะฝนทางเหนือตกต่อเนื่อง
ล่าสุด สำนักงานชลประทานเชียงใหม่ ได้ออกประกาศ ฉบับที่ 5 สำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ออกประกาศฉบับที่5 ระดับน้ำปิง P.1 สะพานนวรัฐ ได้ผ่านจุดสูงสุดที่ 4.45 เมตร เมื่อตี 5 ที่ผ่านมา และระดับจะทรงตัวระยะหนึ่ง ก่อนจะสูงขึ้นอีกจากมวลน้ำระลอกใหม่ ที่มาจากพื้นที่อำเภอเชียงดาว และแม่แตง หลังเกิดฝนตกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประชาชนจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
แนะนำแผนที่เส้นทางการอพยพจากพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม
watercenter.scmc.cmu.ac.th ได้มีการออกแบบแผนที่มีดำเนินการวิเคราะห์หาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการกำหนดเส้นทางที่จะใช้ในการอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
นั้นได้ทำการแบ่งพื้นที่ที่ได้รับผลจากน้ำที่ไหลเข้าท่วมออกเป็นทั้งสิ้น 7 โซนหลักๆ ตามระดับความสูงของน้ำ ณ จุด P.1 สะพานนวรัตน์ ทำให้สามารถกำหนดลำดับการท่วมของน้ำเข้าสู่พื้นที่ได้ แล้ววิธี Network Analysis โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ เช่น พื้นที่น้ำท่วม เส้นทางการสัญจร สิ่งกีดขวางต่าง ๆ มาทำการวิเคราะห์พื้นที่เหมาะสมต่อการตั้งศูนย์อพยพ เส้นทางอพยพ รวมทั้งการแสดงจุดอันตรายในเส้นทางการอพยพ ช่องทางการสื่อสาร เกณฑ์การอพยพ สถานพยาบาลต่างๆ ในพื้นที่ และยังประกอบไปด้วยข้อมูลทิศทางการเดินรถ จำนวนช่องทาง ประเภทหรือชนิดของถนน ความเร็วที่กำหนด รวมไปถึงแยกไฟแดงและจุดห้ามกลับรถ เพื่อใช้เป็นข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการสั่งให้โปรแกรมประมวลผลของเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการกำหนดเส้นทางที่จะใช้ในการอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่นั้น
Som Supaparinya ได้แนะนำเอาไว้ว่า ในเมืองเชียงใหม่เช็คระดับน้ำได้จากที่นี่เลย https://watercenter.scmc.cmu.ac.th/cmflood/pole
แผนที่เส้นทางอพยพ https://watercenter.scmc.cmu.ac.th/cmflood/floodmap
หลักเตือนระดับน้ำท่วมเขตตัวเมืองเชียงใหม่
หลักเตือนระดับน้ำท่วมเพื่อการเตือนภัยสำหรับชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย จำนวน 300 หลัก เป็นหลักที่แสดงค่าระดับน้ำที่จะท่วมแต่ละพื้นที่ซึ่งหลักติดตั้งอยู่ หลักระดับน้ำท่วมเป็นเสาคอนกรีตสูง 1.40 เมตร ติดตั้งกระจายทั่วพื้นที่เคยเกิดน้ำท่วมในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ โดยที่เสาของหลักเขียนบอกค่าตัวเลขระดับน้ำต่างๆที่น้ำจะเข้าท่วมบนพื้นผิวโดยเปรียบเทียบกับค่าระดับน้ำที่สถานี P.1 เชิงสะพานนวรัฐ การใช้หลักเตือนระดับน้ำท่วมนั้น ให้รับฟังข่าวและผลการพยากรณ์ระดับน้ำปิงล่วงหน้าที่สถานีวัดน้ำ P.1 สะพานนวรัฐ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรายงานให้ทราบตลอดในช่วงการเกิดภาวะน้ำท่วม เมื่อทราบค่าระดับน้ำที่จะเกิดที่สถานีวัดน้ำดังกล่าวแล้วให้นำตัวเลขค่าระดับน้ำของแม่น้ำปิงนั้นมาเทียบกับตัวเลขที่อยู่ที่เสาแสดงระดับน้ำ ก็จะทราบความสูงของระดับน้ำที่จะท่วมบริเวณที่มีหลักวางอยู่ ทำให้ประชาชนสามารถวางแผนป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนได้ล่วงหน้าอย่างทันท่วงที
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ในเพจ Thon Thamrongnawasawat ไว้ว่า ในยุคที่โลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อย ภัยพิบัติจาก extreme weather เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อน ที่ใดๆ ที่เกิดผลกระทบในวันนี้ วันหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก ยากที่จะหนีรอด มีแต่จะถี่ขึ้น แรงขึ้น
เราไม่สามารถบันดาลให้ป่าบนเขากลับมาในพริบตา เราไม่อาจทำให้ก๊าซเรือนกระจกบนฟ้าลดลง (มีแต่เพิ่มกับเพิ่ม) เราอาจจะโวยวายอยากให้ภาครัฐยกระดับการป้องกันภัยพิบัติ แต่วันนั้นจะไม่มาถึงง่ายๆ มันจึงถึงเวลาที่เราต้องช่วยตัวเอง หลีกเลี่ยงการพาตัวเองเข้าไปอยู่อาศัย/ทำมาหากินในพื้นที่เสี่ยง นั่นคือคำตอบสำหรับคนที่ยังไม่ได้เข้าไป สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเรียบร้อยแล้ว ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงรอบด้าน เสี่ยงต่อชีวิต เสี่ยงต่อทรัพย์สิน ทำอย่างไรในการรับมือ ในการหนีภัยในเวลาฉุกเฉิน หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก โดนแล้วโดนอีก และจะโดนมากขึ้น บางครั้งอาจต้องตัดสินใจในทางเลือกสุดท้าย = ถอยทัพ ในปัจจุบันจนไปถึงอนาคต มูลค่าที่ดิน/อสังหาริมทรัพย์ จะไม่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เหมือนในอดีต ความเสี่ยงจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะการลงทุนเพื่อป้องกันภัยพิบัติต้องใช้เงิน และจะมีแต่มากขึ้นและมากขึ้น ที่ดินที่เสี่ยงน้อยกว่าคือคุ้มค่ากับการลงทุนและการอยู่อาศัยในระยะยาว หากไม่ได้อยู่บ้านเดิมเกาะแม่กินเหมือนผม ไม่ได้มีเงินเหลือมากมาย ต้องกู้มาเพื่อผ่อนบ้านเป็นสิบๆ ปี บางทีเช่าอาจได้เปรียบกว่าซื้อ หากเข้าใกล้วัยเกษียณ ฝันอยากหนีจากเมืองใหญ่ ไปอยู่ในชนบทแสนสบายอากาศดีมีความสุข จงแน่ใจว่าสถานที่คุณไปจะมีความสุขแน่ ไม่ใช่ไปเป็นผู้ประสบภัยในต่างจังหวัด ที่ไหนสบายไปอยู่ที่นั่น เช่าระยะสั้น ย้ายไปเรื่อยๆ อาจเป็นทางออกของยุคปัจจุบัน เก็บตังค์ไว้กับตัว ลดทรัพย์สินพะรุงพะรัง/การกู้หนี้ยืมสินในระยะยาว ลงทุนเล่นหุ้นอย่างรอบคอบ ศึกษาเรื่องความเสี่ยงจากภัยพิบัติจริงจัง นั่นคือสิ่งที่ผมบรรยายให้ CEO หลายท่านฟังเมื่อวานนี้ จึงนำมาบอกเพื่อนธรณ์ เซฟตัวเองก่อน เซฟเงินเซฟทรัพย์สินจาก extreme weather จากนั้นค่อยมองหาโอกาสในวิกฤต เตรียมพร้อมเข้าไปแต่อย่ากระโจน ธุรกิจสีเขียวไม่ง่ายอย่างที่คิด ทักษะชีวิตสำคัญสุดในยุคนี้คือ ใฝ่รู้และรอบคอบ หาตังค์เก่งอาจไม่สำคัญเท่าเก็บรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ให้รอดพ้นจากภัยโลกร้อน ความยากสุดของการใช้ชีวิตในยุคนี้ คือเรายังยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ แต่โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน เป็นกำลังใจให้เพื่อนธรณ์ทุกท่าน ใช้ชีวิตในยุค extreme ไม่มีอะไรง่ายเลยครับ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...