เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 คณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในสาย สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ มีการเขียนป้ายผ้าภายในมหาวิทยาลัยคัดค้านนโยบายการตัดงบตำแหน่งวิชาการขา 2 โดยไม่มีการรับฟังความเห็นจากคณาจารย์ โดยข้อความในป้ายผ้ามีเนื้อหาดังนี้ “บริหารยังไงตัดค่าตอบแทน” , “ผบรห เตะตัดขา 2 กันทำไม” , “เผด็จการมหาลัย” , “ก่อนจะตัดขา 2 ถามกันรึยัง” ก่อนที่สภามหาวิทยาลัยจะมีการลงมติกรณีดังกล่าวในวันพรุ่งนี้ (28 กันยายน 2567)
ทั้งนี้ เว็บไซต์ประชาไท รายงานว่า ผลการทำแบบสำรวจความเห็นคณาจารย์ทั่วมหาวิทยาลัย พบ คณาจารย์ 75 เปอร์เซ็นต์ ค้านการตัดเงินตอบแทนขา 2 ของมหาวิทยาลัย กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำแบบสอบถามความคิดเห็นของคณาจารย์มหาวิทยาลัยขึ้น ซึ่งมีผู้เข้ามาตอบแบบสอบถามเป็นจำนวนมากกว่า 200 คน แทบทุกคณะ ทั้งอาจารย์ในสายแพทยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เภสัชศาสตร์สถาปัตยกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ วิจิตรศิลป์ ฯลฯ ผลสำรวจปรากฏว่า คณาจารย์กว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการตัดเงินค่าตอบแทนขาสอง โดยเห็นว่าไม่เป็นธรรม ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และเป็นนโยบายที่ไม่เปิดรับฟังเสียงของคณาจารย์ โดยมีเพียง 12.5 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่เห็นด้วยกับนโยบาย และ 14 เปอร์เซ็นต์ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2 เรียกร้องให้นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ขอยับยั้งร่างประกาศเรื่องหลักเกณฑ์การได้รับเงินประจำตำแหน่งสายวิชาการ ซึ่งจะเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 28 ก.ย. 2567 ดังนี้
“ตามที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกร่างประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจําตําแหน่งสายวิชาการ หรือที่เรียกกันว่าค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสอง โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้คณาจารย์ที่มีตำแหน่งวิชาการ ต้องยื่นผลงานวิชาการทุกปี ซึ่งเพิ่มจากภาระงานเดิมที่ทำอยู่ และหากไม่สามารถยื่นผลงานวิชาการตามจำนวนและเวลาที่มหาวิทยาลัยกำหนด จะถูกหักค่าตอบแทนทางวิชาการในอัตราต่างๆต่อเนื่องกัน จนอาจถึงขั้นไม่จ่ายเงินค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสองเลยนั้น
กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์ ได้มีความกังวลต่อร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว และได้แสดงความคิดเห็นต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านช่องทางต่างๆมาโดยตลอด เช่น การทำจดหมายเปิดผนึกต่อนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 การจัดให้มีเวทีสาธารณะว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนประจำตำแหน่งขาสอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น ณ ห้องประชุมชั้นสอง อาคารสาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2567 โดยมีคณาจารย์จากคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยเข้าร่วมนำเสนอข้อคิดเห็น ตลอดจนการยื่นจดหมายถึงอธิการบดี และกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต่อรองอธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติพงษ์ ยอดมงคล ในวันที่ 16 กันยายน 2567 เพื่อนำข้อเสนอของคณาจารย์มหาวิทยาลัย ประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎว่าได้มีการนำข้อเสนอของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ได้ยื่นต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมพิจารณาแต่อย่างใด
ดังนั้น เพื่อให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย ได้รับฟังเสียงสะท้อนจากชุมชนมหาวิทยาลัย ต่อนโยบายที่จะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตการทำงานของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย ทางกลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้จัดให้มีการทำแบบสำรวจความคิดเห็นของคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่อร่างประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนผลงานวิชาการ (ขาที่ 2)ขึ้น และกระจายไปยังคณาจารย์ในทุกส่วนงาน ในระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีคณาจารย์จาก 21 คณะ/วิทยาลัยและ 1 ส่วนงาน จำนวน 203 คนร่วมแสดงความคิดเห็น โดยคณะที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมากที่สุด ได้แก่คณะมนุษยศาสตร์ (29 คน) และคณะวิทยาศาสตร์ (28 คน) รองลงมาได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ (25 คน) และคณะสังคมศาสตร์ (22 คน) ตลอดจนคณะอื่นๆทั้งหมดในมหาวิทยาลัยในจำนวนที่ลดหลั่นกันไป ผลการสำรวจพบว่า จำนวนคณาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยต่อร่างประกาศของมหาวิทยาลัยเรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนขาสองนั้น สูงถึง 150 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของคณาจารย์ที่ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วยนั้น มีจำนวน 25 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 ส่วนผู้ที่มีความคิดเห็นอื่นๆ ซึ่งได้แก่ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยนั้น มีจำนวน 28 หรือคิดเป็นร้อยละ 14 และมีคณาจารย์เสนอแนะเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆเป็นจำนวนถึง 203 คน อีกด้วย
คณาจารย์ส่วนใหญ่ มีความเห็นร่วมกันว่า กระบวนการร่างประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนผลงานวิชาการที่ออกมานี้ ขาดความโปร่งใส ปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาคมมหาวิทยาลัย ซึ่งขัดกับหลักธรรมาภิบาลของการบริหารงานมหาวิทยาลัย เป็นแนวนโยบายที่มุ่งเน้นการลงโทษ มากกว่าการสร้างแรงจูงใจ ซ้ำซ้อนกับเกณฑ์การจ้างงานและการขอตำแหน่งวิชาการที่มีอยู่แล้ว สร้างภาระงานที่หนักมากขึ้นให้กับคณาจารย์สายพนักงาน เพียงเพื่อตอบโจทย์การแข่งขันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างอาจารย์สายพนักงานกับอาจารย์สายข้าราชการ ตลอดจนเกณฑ์ที่ออกมานั้นก็มีลักษณะ one size fits all ซึ่งไม่สอดคล้องกับงานในสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิจิตรศิลป์
เสียงจากคณาจารย์ส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัย เห็นว่าฝ่ายบริหารควรยกเลิกหลักเกณ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนผลงานวิชาการที่ออกมาใหม่ หรือมิเช่นนั้น ก็ขยายระยะเวลาในการพิจารณาออกไปอย่างน้อย 1 ปี เพื่อเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาคมคณาจารย์ และนำความคิดเห็นจากคณาจารย์ไปปรับปรุงแนวนโยบายที่เหมาะสมต่อไป
ในฐานะที่สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีอำนาจและหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มีความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี และคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของคณาจารย์ทั้งหมดของมหาวิทยาลัย กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาเชียงใหม่ จึงใคร่ขอเรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยับยั้งการออกประกาศหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนผลงานวิชาการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาคมคณาจารย์ในมหาวิทยาลัย เปิดให้มีการสื่อสารโดยตรงระหว่างฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยและคณาจารย์ เพื่อให้นโยบายที่ออกมาซึ่งจะสร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางนั้น สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัย ในการสร้างสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำทางวิชาการ ที่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...