‘พีมูฟ’ ยื่นหนังสือถึง ‘กระทรวงทรัพยากรฯ’ ค้าน กม.ป่าอนุรักษ์ เหตุละเมิดสิทธิชุมชน จี้หยุดผลิตซ้ำอคติชาติพันธุ์

27 กันยายน 2567 ‘กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ หรือ ‘พีมูฟ’ (P-move) รายงานผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า วันนี้ (27 ก.ย. 67) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และ ร่าง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งจัดโดยกรมอุทยานฯ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพมหานคร เนื่องด้วยกลุ่มพีมูฟได้รับเชิญเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ในกรณีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

กลุ่มพีมูฟได้แสดงจุดยืนคัดค้านกฎหมายที่ออกมาในปี 2562 ตั้งแต่เริ่มต้น โดยระบุว่า กฎหมายนี้ถูกประกาศในช่วงที่รัฐบาล คสช. ดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีการใช้อำนาจรวมศูนย์ และไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรและที่ดิน อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวแทนของกรมอุทยานฯ จะพยายามโน้มน้าวให้ชาวบ้านเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทว่ากลุ่มพีมูฟไม่ยินยอม

‘พีมูฟ’ ค้าน 2 กฎหมายป่าอนุรักษ์ เหตุละเมิดสิทธิชุมชน

ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 09.40 น. ตัวแทนของพีมูฟได้ยื่นหนังสือถึง รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ผ่านทางกรมอุทยานฯ หลังจากยื่นหนังสือเสร็จสิ้น กรมอุทยานฯ ได้พยายามเชิญกลุ่มพีมูฟให้เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงและเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็น

อย่างไรก็ตาม จรัสศรี จันทร์อ้าย กรรมการบริหารพีมูฟ ได้ชี้แจงว่า ตั้งแต่ถูกประกาศในปี 2562 กลุ่มพีมูฟแสดงเจตจำนง ‘ไม่เห็นด้วย’ กับกฎหมายอยู่แล้ว เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวถูกประกาศในช่วงที่รัฐบาล คสช. ดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีการใช้อำนาจรวมศูนย์ และไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและที่ดิน จึงทำให้กลุ่มพีมูฟตัดสินใจไม่เข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ แม้ว่าตัวแทนกรมอุทยานฯ จะพยายามโน้มน้าวให้กลุ่มพีมูฟเข้าร่วมเพื่อบันทึกความคิดเห็น แต่กลุ่มพีมูฟก็ยังคงไม่ยินยอมที่จะเข้าร่วมในกระบวนการดังกล่าวต่อไป

หนังสือของพีมูฟระบุว่า มีหลายชุมชนที่ถูกประกาศอุทยานแห่งชาติทับไปแล้วโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของชุมชน และผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้ประจักษ์ชัดต่อสาธารณะ อาทิ กรณีอุทยานแห่งชาติผาแดง จ.เชียงใหม่ ได้ตรวจยึดพื้นที่และเข้าตัดฟันพืชผลอาสินของชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ลีซูบ้านรินหลวงและทุ่งดินดำ อ.เชียงดาว จ.เชียงราย จนเสียหายต่อทรัพย์สินและสร้างบาดแผลในจิตใจประชาชน รวมถึงกรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ก็เคยถูกไล่รื้อเผาทำลายบ้าน ถูกบีบบังคับให้ต้องอยู่อาศัยทำกินในแปลงที่ดินอพยพอย่างยากลำบาก และปัจจุบันชาวบ้าน 27 คนถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานดำเนินคดีอาญา 

กลุ่มพีมูฟกล่าวว่า ไม่สามารถยอมรับกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ได้ตั้งแต่หลักการและเหตุผล คือการเขียนกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้แก่ 

1. มาตรา 22 ที่ระบุว่า “การตรากฎหมายต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลิมิได้” ฉะนั้นการอ้างว่า “กฎหมายกำหนด” ก็ไม่อาจขัดต่อหลักการนี้ซึ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของปวงชนชาวไทยได้

2. มาตรา 28 ที่ระบุว่า “เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่กฎหมายของกรมอุทยานฯ กลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่เดินหน้าจับกุมและส่งชาวบ้านเข้าห้องขังได้ทันที เหมือนกรณีการจับกุมชาวบ้านบางกลอยเมื่อปี 2564

3. มาตรา 33 ที่ระบุว่า “การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือการค้นเคหสถานหรือที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ” แต่กฎหมายฉบับนี้กลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ สามารถเข้าเคหสถานเพื่อรื้อค้นหรือยึดทรัพย์สินของชาวบ้านได้โดยไม่ต้องมีหมายศาล แม้ในยามวิกาล

4. มาตรา 37 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบทอดมรดก” แต่ที่ดินที่ทำกินของชาวบ้านที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพชนนั้นจะได้รับการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้เพียง 20 ปี นี่คือการแย่งยึดที่ดินของประชาชนในคราบการอนุรักษ์

5. มาตรา 40 ที่ระบุว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ” แต่วิถีการดำรงชีวิตและอาชีพหลายอย่างจะถูกจำกัด โดยเฉพาะการทำเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และการเก็บหาของป่า

นอกจากนั้น ขณะนี้ในกระบวนการเตรียมการประกาศพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน กลุ่มพีมูฟยังพบว่า เกิดเหตุการณ์ที่เข้าใจการจำกัดสิทธิในการมีส่วนร่วมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนี้

1. ความไม่ชัดเจนเรื่องแนวเขตการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไม่สามารถชี้แจงข้อมูลแนวเขตให้ชุมชนเข้าใจได้ และพบว่าหลายครั้งมีความพยายามปรับแนวเขตเองโดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ให้เดินสำรวจและกันแนวเขตออก หรืออ้างว่าไม่สามารถกันแนวเขตได้ เนื่องจากจะกระทบต่อแผนการเพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25% ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

2. เกิดปฏิบัติการอันลุแก่อำนาจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้ สถานะของพื้นที่การเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติควรอยู่ภายใต้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 แต่การดำเนินการส่วนใหญ่พบว่า เจ้าหน้าอุทยานแห่งชาติกลับดำเนินการเสียเอง อาทิ การสนธิกำลังกันเข้าตรวจยึดไม้ในพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งชาวบ้านได้ทำประชาคมร่วมกันว่าจะนำไปใช้ซ่อมแซมโบสถ์หรือบ้านเรือน การเข้าไปในพื้นที่ชุมชนโดยไม่แจ้งผู้นำชุมชนและพักค้างแรมอยู่ในชุมชน การอ้างเหตุเข้าตรวจสอบพื้นที่โดยกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกป่า ทั้งหมดนี้ได้สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้าน กระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างปรกติสุขของชุมชน

3. ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการประกาศอุทยานแห่งชาติ พบว่ามีการให้ข้อมูลไม่รอบด้าน มีการชี้นำจากเจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านคล้อยตามและยอมรับแนวทางการประกาศอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ชุมชน โดยอ้างว่า พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 นั้นให้สิทธิชาวบ้านทำกินและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกกฎหมายแล้ว ทั้งที่ชาวบ้านและเครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันศึกษากฎหมายดังกล่าวและพบว่าเป็นการจำกัดสิทธิชุมชน สอดแทรกมาตรการการแย่งยึดที่ดินของชาวบ้านไว้ และในทุกเวทีเสียงเรียกร้องให้กันแนวเขตออกมักไม่ได้รับความสนใจ

4. ในกรณีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหลายคนแสดงกิริยาเหยียดหยามและไม่เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม เป็นอคติทางชาติพันธุ์ที่ถูกปลูกฝังอยู่ในมโนสำนึกของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่ ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่การไม่ยอมรับสิทธิและรูปแบบการจัดการทรัพยากรของชุมชน อาทิ การทำไร่หมุนเวียน การเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า และการเก็บหาของป่า เป็นต้น

5. การเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติ กระทบต่อสิทธิของชุมชนที่จะแสดงศักยภาพในการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ชุมชนไม่สามารถของบประมาณในการจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ป่าชุมชนของตนเองได้ หรือหากดำเนินการทำแนวกันไฟอาจมีความผิดทางกฎหมาย แสดงให้เห็นว่ากฎหมายนั้นสร้างข้อจำกัด มากกว่าเอื้ออำนวยให้เกิดการดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

กลุ่มพีมูฟได้ยืนยันคัดค้านกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กระบวนการยกร่างและผลักดันผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้กรมอุทยานฯ จะอ้างว่ากฎหมายมีความก้าวหน้า เปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ก็ไม่มีความชอบธรรมใด ๆ ในการอ้างให้ประชาชนยังต้องทุกข์ทนอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์โดยไม่กันพื้นที่ของชุมชนออก แม้จะปรากฏหลักฐานว่าชุมชนได้ตั้งถิ่นฐาน อยู่อาศัย และทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ก็ตาม ซึ่งเรายังจำได้ดีว่า ณ วันนั้นที่เราไปคัดค้านร่างกฎหมายอยู่ที่ สนช. พวกเราไม่มีแม้แต่โอกาสในการเข้าไปชี้แจงในชั้นการพิจารณาของ สนช. แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจหิ้วออกมาจากรัฐสภา ตัดขาดการมีส่วนร่วมของเราตั้งแต่ต้นทางในการผ่านกฎหมายตั้งแต่วันนั้น

กลุ่มพีมูฟจึงขอประกาศเจตนารมณ์และยื่นข้อเรียกร้องมายัง รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ดังนี้

1. เร่งคืนสิทธิ์ให้ชาวบ้านที่ถูกเขตป่าอนุรักษ์ประกาศทับโดยไม่มีส่วนร่วม โดยการเพิกถอนเขตป่าอนุรักษ์ออกจากชุมชน มิใช่การมาพยายามแก้ไขกฎหมายเล็กน้อยเพื่อโน้มน้าวให้ชาวบ้านยังต้องติดอยู่ในกรงขังของกรมอุทยานฯ ทั้งที่สิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ของชุมชนผู้บุกเบิกโดยแท้จริง

2. ยุติแผนการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมอย่างน้อย 4 พื้นที่ในฐานสมาชิกพีมูฟโดยทันทีจนกว่าจะสามารถกันพื้นที่การจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนออกจากพื้นที่การเตรียมการประกาศป่าอนุรักษ์ได้ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) จ.เชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จ.ลำปาง, อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก (เตรียมการ) จ.เชียงราย และอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก 

‘พีมูฟ’ แถลงย้ำ “หยุดขังคนในกรงอุทยานฯ” จี้ ‘อรรถพล’ หยุดด่าชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า

ถัดมาเวลา 09.48 น. กลุ่มพีมูฟได้อ่านแถลงการณ์ เรื่อง ‘หยุดขังคนในกรงอุทยานฯ หยุดด่าชาวบ้านตัดไม้ทำลายป่า’ โดยกล่าวว่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า คือกฎหมายที่เป็นมรดกจากยุครัฐบาลเผด็จการมาทุกยุคสมัย ใช้เป็นเครื่องมือในการยึดสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของประชาชนในเขตป่า และสร้างความชอบธรรมให้ตนที่กล่าวอ้างว่าเป็นนักอนุรักษ์ใช้อำนาจแสวงหาผลกำไร

จะมาเปิดรับฟังความเห็นอะไรในวันนี้ เพียงแก้ข้อความบางประการในหมวดการอนุญาตให้ประชาชนทำกินและเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคได้เพียง 20 ปี แม้จะอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินนั้นมาแต่บรรพชน แต่ยังอยู่ภายใต้กรอบจำกัดของโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า และจะมาเปิดรับฟังความเห็นอะไรในวันนี้ ในเมื่อ 5 ปีที่แล้วก่อนที่กฎหมายของคุณจะผ่านมาได้ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของรัฐบาลเผด็จการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เราได้ให้ความเห็นและแสดงการมีส่วนร่วมที่สุดแล้ว แต่กลับถูกพวกคุณปิดปาก เจ้าหน้าที่ตำรวจได้หิ้วเราออกมาจากสภาฯ แห่งนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายเผด็จการโดยแท้

เราไม่อาจยอมรับ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนสากล ตั้งแต่สิทธิในการประกอบอาชีพ การสืบทอดมรดก เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับกุมจะกระทำมิได้หากไม่มีหมายศาล การเข้าไปในเคหสถานโดยจากความยินยอม แต่การคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั้งหมดนี้ถูกยัดลงไปในกฎหมายของกรมอุทยานฯ และยกเว้นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำการอันป่าเถื่อนกับชาวบ้าน ทั้งการจับกุมดำเนินคดี การกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ การเข้าตรวจค้นแปลงเกษตรและบ้านเรือน จนไปถึงการตัดฟันพืชผลอาสินของชาวบ้านอย่างไร้มนุษยธรรม

ฉะนั้นวันนี้ เราขอประกาศจุดยืนไม่เข้าร่วมเวทีการรับฟังความเห็นการปรับแก้กฎหมายป่าอนุรักษ์ ไม่ต้องมาใช้การอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำกินเพียงชั่วคราวเพื่อโน้มน้าวพวกเรายอมอยู่ในกรงขังของกฎหมายและเข้าสู่กระบวนการแย่งยึดที่ดินของหน่วยงานในคราบนักอนุรักษ์

นอกจากนั้น เราขอประณามการสื่อสารของอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายอรรถพล เจริญชันษา ที่ช่างแสดงทัศนคติอันมืดบอดต่อการดำรงวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์และประชาชนบนพื้นที่สูง การกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่าสาเหตุน้ำป่าไหลหลากเกิดการการตัดไม้ทำลายป่า โดยไม่เคยเสาะเสวงหาข้อเท็จจริงว่าเหตุแห่งภัยพิบัตินั้นเกิดจากอะไรนั้นตอกย้ำให้ประชาชนยิ่งไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานภาครัฐในสังกัดกรมป่าอนุรักษ์ ซึ่งการแสดงความเห็นเช่นนี้เชื่อมโยงกับกรณีที่ชาวบ้านในเครือข่ายของเราอย่างชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์และน้ำป่าไหลหลาก แต่กลับถูกซ้ำเติมด้วยข้อกล่าวหาที่ผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์จากนักวิชาการบางคน เพจเฟซบุ๊กบางเพจ สื่อสาธารณะบางสื่อ และข้าราชการระดับสูงอย่างนายอรรถพล

เราขอเรียนต่อสาธารณชนว่า ชุมชนบ้านห้วยหินลาดในนั้นต่อสู้อย่างหนักกับการตัดไม้ทำลายป่าที่สนับสนุนโดยรัฐบาลไทย มีหน่วยงานรัฐในนามกรมป่าไม้เป็นเครื่องมือสำคัญ ชาวบ้านห้วยหินลาดในดูแลรักษาป่ามานานนับศตวรรษ ต่อสู้กับขบวนการตัดไม้ทำลายป่าที่สนับสนุนโดยรัฐจนป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ ฉะนั้นสังคมควรร่วมตั้งคำถามว่าใครกันแน่ที่ดูแลป่า และใครกันแน่ที่ทำลายป่า ในขณะที่คุณขึงขังกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินเขตป่าของชาวบ้าน คุณกลับไม่เคยแข็งขันกับการต่อสู้กลุ่มทุนทำเหมือง เขื่อน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในที่ดินของรัฐแม้เพียงครั้งเดียว หรือมาตรฐานการจัดการผู้ทำลายล้างมีผลบังคับใช้กับแค่คนจน ไม่รวมคนรวย

เราจึงขอเรียกร้องว่า จงหยุดผลิตซ้ำมายาคติที่กดขี่กลุ่มชาติพันธุ์ จงหยุดพฤติกรรมการกล่าวโทษเกษตรกรบนพื้นที่สูงเป็นเหตุแห่งปัญหา แล้วร่วมกันเดินหน้าตั้งคำถามต่อแนวคิดอนุรักษ์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถามดัง ๆ ต่อแนวคิดของ อรรถพล เจริญชันษา ว่านี่คือการอนุรักษ์จริง ๆ หรือเป็นเพียงการดำรงไว้ซึ่งอำนาจนิยมในเขตปกครองพิเศษของกรมอุทยานฯ เราขอเรียกร้องให้ทุกคนเคารพต่อสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติของพวกเราในฐานะผู้บุกเบิกและผู้ดูแลรักษา หาใช่ผู้ทำลายดังที่เขาหลอกลวง แล้วร่วมกันหยุดส่งต่อภาพมายาคติเลวร้ายต่อพวกเราเสียที

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง