“กฎหมายริดรอนสิทธิเรา” คุยกับแกนนำเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง หลังมติสภาฯ ตีตก “ชนเผ่าพื้นเมือง” ใน ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์

ภาพ: IMN

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หรือที่รู้จักในชื่อ ‘ร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ’ มีการพิจารณาในสภาฯ ในวาระ 2 โดย IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรมีมติเสียงข้างมากถอนร่าง “พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …” จากการพิจารณาในวาระขั้นสอง เพื่อกลับไปทบทวนใหม่ เลื่อนกฎหมายคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองฉบับแรกในไทยที่ใกล้คลอด ด้วยคะแนนเสียง 255 เสียง และไม่เห็นด้วย 137 เสียง 

ภายหลังที่สภาฯมีมติ 258 ต่อ 139 ไม่ลงคะแนน 1 และไม่ออกเสียง 2 ราย ตีตกคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ออกจากมาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …

จากกรณีดังกล่าว Lanner ได้พูดคุยกับ ปิ่นสุดา นามแก้ว แกนนำเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ที่เผยว่า ตนรู้สึกแย่ และเสียใจมาก ๆ หลังจากที่สภาผู้แทนฯ ได้มีมติถอดคำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” ออกจากร่าง พ.ร.บ. เนื่องจากตนและเครือข่ายนั้นร่วมกันผลักดันคำนี้ให้อยู่ในร่าง พ.ร.บ. ผ่านการรวบรวมรายชื่อ รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … 

ปิ่นสุดา นามแก้ว แกนนำเครือข่ายเด็กและเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง

การกระทำดังกล่าว ปิ่นสุดา มองว่าเป็นการไม่ยอมรับการมีตัวตนของกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองและรวมไปถึงการมองว่าชนเผ่าพื้นเมืองเป็น ‘ภัยต่อความมั่นคง’ ตนอยากให้มีการยอมรับตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองนั้นอยู่ในประเทศไทยมานานอยู่มาก่อนการมีกฎหมาย แต่ด้วยความที่ใช้ชีวิตอยู่กับป่าก็ทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองกลายเป็นผู้บุกรุกได้  

“กฎหมายริดรอนสิทธิเรา การเข้ามาของป่าของรัฐทำให้เราเสียสิทธิ มองว่าเราเป็นผู้บุกรุก มองเราเป็นอื่น”

ปิ่นสุดา ปิดท้ายว่า เนื่องจากคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ไม่เคยมีการบัญญัติคำนี้ทั้งในกฎหมายรวมไปถึงหลักสูตรการศึกษา ตนจึงต้องการให้มีการยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง และการคืนสิทธิให้กับชนเผ่าพื้นเมือง ปิ่นสุดา ยืนยันว่าตนนั้นเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและจะสร้างการสื่อสารให้สังคมเข้าใจต่อเรื่องนี้ให้มากขึ้น และยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง แต่เป็นแรงเสริมในการสร้างสังคมให้ดีขึ้น การเป็นชนเผ่าพื้นเมืองนั้นจะต้องมีวิถีชีวิต มีอัตลักษณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสวยงามไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคง โดยหลังจากนี้ก็จะมีการหารือใน คณะกรรมมาธิการฯ ว่าจะก้าวต่อไปยังไง ตนในฐานะแกนนำเยาวชนฯ ก็จะเกาะติดและสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้ได้มากเท่าที่จะทำได้

“เราจะสื่อสารให้มากขึ้น ให้สังคมเข้าใจคำว่าชนเผ่าพื้นเมืองและยอมรับว่านี่คือ สังคมพหุวัฒนธรรม”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง