ช่วงทศวรรษ 2530 ถึงกลางทศวรรษ 2540 เป็นช่วงเวลาที่การเมืองภาคประชาชนก่อตัวขึ้นมา และมีพลวัตอย่างมากโดยเฉพาะหลังปี 2535 จนถึงการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ช่วงเวลาดังกล่าวยังเป็นช่วงที่ระบบทุนกำลังขยายตัวลงสู่พื้นที่ชนบท นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่เกิดขึ้นจะไม่เพียงการต่อรองกับอำนาจเพื่อสิทธิของชาวบ้าน ชุมชน แต่ชาวบ้านกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของวิถีและการปรับตัวด้านชีวิต ที่ขยับเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนมูลค่าทรัพยากรโดยเฉพาะที่ดินและภาคการเกษตรให้กลายเป็นทุนในตลาด การศึกษาความเคลื่อนไหวภาคประชาชนในห้วงเวลาดังกล่าวมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโครงข่ายความสัมพันธ์ระหว่างเครือข่ายที่มิได้มีเพียงกลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบต่อวิถีชีวิตที่ลุกฮือกันขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีเครือข่ายกลุ่มนักพัฒนาเอกชน หรือ NGOs ที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและเครือข่ายของกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ ที่น่าสนใจคือวิถีของการเคลื่อนไหวเป็นปฏิบัติการทางสังคมที่สามารถผลิตสร้างเทคโนโลยีการต่อสู้เชิงกระบวนการแบบใหม่ขึ้น และแผ่ขยายเครือข่ายการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนไปได้อย่างไพศาล แม่แจ่มตกอยู่ในภาวะการแย่งชิงทรัพยากรอยู่สามระลอก คือ ระลอกที่หนึ่งการเปิดเหมืองแร่ลิกไนต์ที่บ้านนาฮ่อง ระลอกที่สองการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ที่บ้านบนนา และระลอกที่สามการเปิดป่าสัมปทานป่าสนบ้านวัดจันทร์ 

ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของประชาชนในการอนุรักษ์ป่าไม้ในลักษณะที่ต่างกัน ดังเช่น การเคลื่อนไหวของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อให้ยกเลิกสัมปทานทำไม้ กระแสการเคลื่อนไหวดังกล่าวเริ่มขึ้นจากประชาชนในหมู่บ้านเล็ก ๆ เขตภาคเหนือ ที่ได้รับผลกระทบจากการสัมปทานทำป่าไม้ในเขตต้นน้ำลำธาร กล่าวคือ การทำไม้ดังกล่าวมีผลทำให้น้ำในลำธารซึ่งใช้ในการเกษตรแห้งลงไม่เพียงพอต่อการทำเกษตร การตัดไม้และชักลากทำให้เกิดการพังทลายของหน้าดินไหลลงมาในลำธารและไร่นา ขยะจากการตัดไม้และเส้นทางชักลากได้ทำให้เหมืองฝายอันเป็นระบบชลประทานดั้งเดิมของหมู่บ้านได้พังทลายเสียหายหลายแห่ง กระแสการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ แม้จะต้องต่อสู้กับอิทธิพลในท้องถิ่นแต่ก็สามารถแผ่ขยายเติบโตจากหมู่บ้านหนึ่งไปสู่หมู่บ้านหนึ่ง และไปสู่พื้นที่ในภูมิภาคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน การเคลื่อนไหวลักษณะดังกล่าวได้เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในการปิดป่าสัมปทานของรัฐได้อย่างสำเร็จ (วิฑูร เพิ่มพงศาเจริญ, ม.ป.ป. : 23-24 )ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ อำเภอแม่แจ่ม อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง อำเภอแม่ใจ อำเภอเชียงคำ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และพื้นที่ในภูมิภาคอื่น 

กระนั้นแล้ว เมื่อกลับมาตั้งคำถามว่าเหตุใดแม่แจ่มจึงเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากผู้คนกระทั่งเป็นพื้นที่ภาคสนามในงานศึกษาเชิงวิจัยและพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มคนมากมาย เงื่อนไขการเผยตัวของแม่แจ่มประกอบขึ้นจากการขยับเข้าหากันของปฏิบัติการทางสังคม เช่น การสร้างให้ชุมชนที่ราบลุ่มน้ำแม่แจ่มเป็นภาพแทนของพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม และที่สำคัญปรากฏการณ์ทางสังคมในทศวรรษนี้ได้เปลี่ยนแม่แจ่มให้กลายเป็นสนามทางการเมืองว่าด้วยการช่วงชิงทรัพยากรระหว่างภาคประชาชนและอำนาจรัฐที่เหนือกว่า ความเป็นชุมชนถูกสั่นคลอนด้วยระบบทุนนิยมและกลไกของรัฐสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้กฎหมาย การปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในชีวิตประจำวัน และการแสวงหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เมื่อปัจจัยเหล่านี้กระทบต่อคนในชุมชนอย่างมากจึงเป็นเงื่อนไขของการลุกขึ้นต่อสู้ของคนในระดับชุมชนและท้องถิ่น

ปัญหาด้านสิทธิชุมชนและการจัดการทรัพยากรโดยเฉพาะการจัดการที่ดินทำกินและการกำหนดเขตป่าโดยรัฐ เป็นปัญหาที่สะสมมานับหลายทศวรรษตัวบทกฎหมายและการกำหนดเขตป่าโดยรัฐหลายระลอกทำให้เขตแนวพื้นที่ป่าแปรผันอาณาเขตไปตามการประกาศใช้กฎหมาย ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายประชากรและการตั้งถิ่นฐานของผู้คนต่างมีปัจจัยแวดล้อมอื่นเข้ามาประกอบด้วย ฉะนั้นจึงทำให้เกิดความซ้ำซ้อนระหว่างการกำหนดเขตแดนพื้นที่ป่า และการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของผู้คนที่อิงไปตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมือง การขีดเส้นกำหนดเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ในเขตป่าดังกล่าว ก่อให้เกิดการซ้อนทับพื้นที่ของชาวบ้านที่อยู่อาศัยทำกินแต่เดิมอย่างกว้างขวางเกิดเป็นปัญหายืดเยื้อมานาน (พฤกษ์ เถาถวิล (บรรณาธิการ), 2543: 51) ความเชื่อหลักของนักวิชาการป่าไม้ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในเรื่องสัมปทานตลอดมา คือ หากตัดไม้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการวนวัฒน์วิธี (Silviculture)[1] แบบเลือกตัดจะทำให้ป่ายังคงสมบูรณ์ แทบไม่มีความจำเป็นจะต้องปลูกขึ้นทดแทน เพราะไม้ที่เหลือยังไม่ได้ขนาดจะโตขึ้นทดแทนเมื่อถึงรอบตัดฟันครั้งต่อไป ส่วนไม้ที่สงวนไว้ไม่ตัดก็จะกลายเป็นไม้แม่ต่อไป ความเชื่อดังกล่าวถูกอ้างมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่ในทางปฏิบัติจะพบว่า ผู้สัมปทานจะเชื่อในเรื่องการค้าให้ได้กำไรสูงสุดมากกว่าเรื่องหลักวิชาการ พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่สำคัญทั่วประเทศจำนวน 519,953 ตารางกิโลเมตร ล้วนถูกบริษัทสัมปทานเข้าไปตัดฟันไม้อย่างเกินกำลังป่า เช่น โครงการแม่แจ่มตอนลุ่มน้ำแม่หยอด (ชม.15) ซึ่งในปี พ.ศ. 2529 เพียงปีเดียวได้ตัดไม้ออกถึง 6,000 ต้น (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2532: 40)

แม่แจ่มเรียกได้ว่าเป็นดินแดนแห่งหนึ่งที่อุดมด้วยสินแร่ พื้นที่ที่ทำเหมืองแร่ต่างๆ มักอยู่ใกล้ ๆ ลำห้วย เพื่ออาศัยน้ำในการทำเหมืองฉีด ในอำเภอแม่แจ่มมีเหมืองแร่เอกชนอยู่ 7 แห่ง เหมืองแร่ที่ใหญ่ที่สุดคือ เหมืองแร่ลิกไนต์บ้านนาฮ่อง ตำบลแม่ศึก ของบริษัท แหลมทองลิกไนต์ แต่ก็ยังมีเหมืองที่อยู่ในขั้นตอนการขอประทานบัตรและขั้นสำรวจอีกมาก การทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ส่งผลกระทบต่อป่าไม้และลักษณะทางนิเวศน์ป่าอย่างรุนแรง เนื่องจากต้องเปิดพื้นดินออกทั้งหมดและขุดลงไปเพื่อนำแร่ขึ้นมา ผลกระทบบางประการที่เกิดจากการทำเหมืองแร่ที่บ้านนาฮ่องขยายความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในวงกว้าง เช่น การสูญสียพื้นที่ป่า น้ำสาขาของห้วยแม่หละมาแห้งขอด มลภาวะทางอากาศและเสียงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน (สันติพงษ์ ช้างเผือก, 2536: 43)

ผลกระทบในทางนิเวศวิทยาที่เกิดขึ้นต่อชุมชนบริเวณป่าเป็นผลเสียหายมหาศาลที่มิอาจประเมินค่าได้ ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มการตัดไม้ได้ทำให้ดินพังทลายลงทับถมลำธารทำให้น้ำที่เคยสูง 150 เซนติเมตร เหลือเพียง 30 เซนติเมตรเท่านั้น สะพานไม้ที่ข้ามลำน้ำในหมู่บ้านถูกเศษปลายไม้จากการทำสัมปทานลอยติดยาวราว 70 เมตร ตลอดทั้งสองฝั่งน้ำเจาะคอสะพานขาด เศษไม้และการใช้ช้างลากซุงผ่านตามลำธารได้ทำให้ฝายกั้นน้ำพลังถึง 32 ลูก (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2532: 41) ปัญหาที่มาพร้อมกับสัมปทานพบว่า ป่าในพื้นที่ตำบลแม่ศึก ตำบลแม่นาจร และตำบลบ้านจันทร์ ถูกสัมปทานอย่างต่อเนื่องโดยบริษัททำไม้ต่างชาติ เช่น บริษัทบอมเบย์ บริษัทบอร์เนียว หลังปี 2516 บริษัทเชียงใหม่ทำไม้ จำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าทำสัมปทานไม้กระยาเลยในพื้นที่ป่าโครงการแม่แจ่ม ลุ่มน้ำแม่หยอด ประมาณ 776.16 ตารางกิโลเมตร อายุสัมปทานป่า 30 ปี (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2516 – 30 กันยายน 2546) (สันติพงษ์ ช้างเผือก, 2536: 45) ต้นมิถุนายน ปี 2531 ชาวบ้านนาฮ่องจัดประชุมชาวบ้านพร้อมจัดตั้งคณะกรรมการคัดค้านสัมปทานขึ้นทั้งหมด 4 ฝ่าย หนึ่งในสี่คือคณะกรรมการเผยแพร่หาสมาชิก เพราะเข้าใจว่าการคัดค้านครั้งนี้เป็นการปฏิเสธพลังจากภายนอกหรืออำนาจการจัดการโดยรัฐราชการเป็นครั้งแรก กำลังการคัดค้านจากชาวบ้านในชุมชนอาจไม่เพียงพอ น้ำแม่หยอดเป็นสาขาของน้ำแม่แจ่ม ไหลจากป่าต้นน้ำซีกตะวันออกของตำบลแม่ศึกไปสบกับน้ำแม่นายก่อนถึงบ้านนาฮ่อง จากนั้นไหลไปสบกับน้ำแม่แจ่มที่บ้านสบวาก ตำบลแม่นาจร ตลอดสองฝั่งไม่มีชุมชนใดใช้น้ำในการผลิตเพื่อการเกษตรนอกจากกลุ่มบ้าน ฝาย ทัพ ไร่ ที่มีฝายหลวงกั้นลำน้ำแม่แจ่มในช่วงที่ไหลผ่านตำบลช่างเคิ่ง ผลกระทบจากน้ำแม่หยอดที่กำลังถูกกระทำย่อมส่งผลถึงน้ำแม่แจ่มอย่างปฏิเสธไม่ได้ กลุ่มเหมืองฝายหรือกลุ่มบ้านฝาย ทัพ ไร่ คือแนวร่วมที่สนับสนุนการคัดค้านสัมปทานเหมืองบ้านนาฮ่องและสัมปทานป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่หยอดจนได้รับผลสำเร็จเด็ดขาดในปี 2532  (สันติพงษ์ ช้างเผือก, 2536: 46)

การพัฒนาเพิ่งจะเริ่มเข้ามาในแม่แจ่มราวต้นทศวรรษ 2520 เหมือนภาพฝันที่หอบมาจากแดนไกลเพื่อทำประโยชน์ให้กับชาวบ้าน คำว่า “ยากจน” ภายใต้การแผนงานคณะกรรมการบริหารโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ โครงการหลักคือโครงการพัฒนาป่าสนหรือแผนพัฒนาป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยมีองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เป็นผู้ดำเนินงาน การเชื่อมระหว่างแนวคิดการจัดการป่าแบบตะวันตกกับแนวคิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ จึงไม่ยากนักที่ขั้นตอนการเห็นชอบในระดับกระทรวงมีมติให้ คณะกรรมการบริหารโครงการฯ มีอำนาจกำหนดและสามารถกระทำตามโครงการและแผนงานของโครงการหลวงบ้านวัดจันทร์ได้ ความชอบธรรมทางกฎหมายของโครงการเกิดขึ้นพร้อมกับการรองรับรายงานการศึกษาของบริษัทการทำไม้ข้ามชาติอย่าง JAAKKO POYRY ประเทศฟินแลนด์กับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ไม้สนถูกล้มเพื่อทำทางชักลากที่พาดไปทั่วผืนป่าใหญ่ ที่นากลางป่ากำลังแปรสภาพเป็นโรงเลื่อย หนังสือคัดค้านโครงการทำไม้และการตั้งโรงเลื่อยในนามสภาตำบลบ้านจันทร์ที่ยื่นต่อรองผู้ว่าฯ ในปี 2532 นับเป็นครั้งแรกที่เรื่องของการทำไม้สนที่บ้านจันทร์ปรากฎต่อสายตาสาธารณะชนอีกทั้งข่าวการทำสัมปทานป่าในครั้งนี้ยังแพร่กระจายลงในหนังสือพิมพ์รายวันในท้องถิ่นฉบับหนึ่ง ลำห้วย 13 สายในพื้นที่โครงการทำไม้ไหลรวมกันเป็นลำน้ำแม่แจ่มในช่วงต้นน้ำ ลำน้ำแม่แจ่มเป็นสายน้ำสาขาย่อยอีกสายหนึ่งของลำน้ำปิงที่ไหลลงมาเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เพียงแต่พื้นที่แม่แจ่มเท่านั้น หากแต่ยังกระทบกับชาวบ้านในลุ่มน้ำที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับลำน้ำแม่แจ่ม (สันติพงษ์ ช้างเผือก, 2536: 49-51) ดังกรณีการเข้าร่วมปฏิบัติการเคลื่อนไหวของกลุ่มเหมืองฝายอำเภอฮอด และอำเภอจอมทอง จากกลุ่มเหมืองฝาย ทัพ ไร่ ขยายสู่บ้านต่างๆ เข้าสู่สภาตำบลช่างเคิ่งและตำบลท่าผา จากคณะสงฆ์สู่ศรัทธาวัดแต่ละหมู่บ้าน จากแกนนำครูสู่ชมรมครูและกลุ่มเด็กชมรมสมุนไพร จากแก่ฝายที่ฮอดสู่สภาตำบลหางดง อำเภอฮอด จากแก่ฝายจอมทองสู่พ่อหลวงและชาวบ้านแทบทุกคนในบ้านท่าข้ามเหนือ 

“จุดเริ่มต้นของกลุ่มฮักเมืองแจ๋ม เฮาต้องย้อนไปว่าในอดีตก๋านตี้ประชาชนจะได้ฮับผลกระทบอะหยังต่าง ๆ ปัจจุบันนี่ก็เหมือนกั๋นว่ามันมาจากรัฐหมด ซึ่งกลุ่มฮักเมืองแจ๋มมีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐมีแนวคิดตี้ว่าจะมาตัดป่าสนบ้านวัดจันทร์ พอนโยบายของรัฐออกมาจะอี้กลุ่มคนตี้จะฮู้กับก๋านเคลื่อนไหวก็คือองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs กลุ่มนี้ฮับฮู้ถึงก๋านเคลื่อนไหวนี้ก็เลยเอาเรื่องราวนี้มาขยายบอกกล่าวหื้อกับปี้น้องจาวบ้าน ตึงบ้านวัดจันทร์และชาวบ้านในตัวอำเภอแม่แจ่ม เมื่อป่าสนบ้านวัดจันทร์จะถูกตัดแล้วปี้น้องตางนั้นสู้บ่ไหวก็ส่งข่าวลงมาตางในตั๋วอำเภอแม่แจ่ม แล้วมีองค์กรภาคเอกชนเข้ามาประสานโดยเฉพาะตางท่านสุทัศน์ หรือตุ๊มี ทีนี้เฮาก่อปากั๋นขึ้นไปดูตี้ป่าสนวัดจันทร์ว่ามันจริงเท็จมอกใด อย่างตี้เปิ้นมาบอกว่าจะมีการตัดมีโฮงเลื่อยไม้ต่าง ๆ เครือข่ายจากตั๋วอำเภอแม่แจ่มก็ขึ้นไปดูโดยมีกลุ่มสามเณรวัดป่าแดด กลุ่มสมุนไพรอำเภอแม่แจ่ม กลุ่มผู้นำชุมชนอำเภอแม่แจ่ม โดยขึ้นไปดูเป๋นช่วง ๆ สลับกั๋นเป๋นครั้งคราว ทีนี้ก็ได้ข้อสรุปมาว่าตี้เปิ้นมาบอกมันเป๋นเรื่องจริง แล้วถ้ากำนี้เป๋นเรื่องจริงเฮาจะยะจะใด จากนั้นก็ได้ฮับแรงสนับสนุนจากกลุ่มฝาย ทับ ไร่ ซึ่งเป๋นกลุ่มตี้ไจ้ลำน้ำแม่แจ่มนักตี้สุดในอำเภอแม่แจ่ม เฮาก็มาประชุมกั๋นตี้วัดกู่ วันนั้นพระครูญาณกิตติคุณเจ้าคณะอำเภอเปิ้นหื้อความสนใจ๋ หื้อก๋ารสนับสนุน มีก๋านเชิญคณะสงฆ์ในอำเภอแม่แจ่มมาปรึกษาหารือร่วมกั๋น ได้มติฮ่วมกั๋นว่าเฮาต้องคัดค้าน โดยจะต้องรวมพลังในก๋านคัดค้านนี้” (อุทิศ สมบัติ, 6 กันยายน 2564)

คณะสงฆ์นำโดยเจ้าคณะอำเภอแม่แจ่ม ศรัทธาวัด แกนนำชาวบ้าน ครูและนักเรียนจากแม่แจ่ม กลุ่มผู้คนอันหลากหลายนี้รวมตัวกันในนาม กลุ่มฮักเมืองแจ๋ม เดินทางสู่ป่าสนบ้านจันทร์ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 เพื่อทำพิธีสืบชะตาป่าและบวชต้นไม้ร่วมกับพี่น้องปกาเกอะญอชาวบ้านจันทร์ พลังทางวัฒนธรรมในรูปแบบพิธีกรรมถูกนำกลับมาใช้ในปฏิบัติการทางสังคมครั้งนี้ ผ้าเหลืองถูกคลี่ห่มโคนสนแปลงแรกที่จะถูกตัดหลังจากพิธีสืบชะตา การสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นกับแม่แจ่มบ่งบอกได้ว่ารากเหง้าของปัญหาคือ การพัฒนาที่ไร้ทิศทาง ดังนั้นการยกระดับความเข้มข้นของปฏิบัติการทางสังคมของกลุ่มฮักเมืองแจ๋มด้วยการร่างกฎเกณฑ์พร้อมกับการเลือกตั้งคณะกรรมการตามหลักประชาธิปไตย ภารกิจที่สำคัญเป็นการหยุดยั้งโครงการทำไม้สนที่บ้านจันทร์ เริ่มต้นจากการตั้งเวทีไต่สวนสาธารณะ 2 ครั้ง ที่ตัวอำเภอแม่แจ่มและบ้านจันทร์ ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี พร้อมกับทำพิธีขอฝนและขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองป่าบ้านจันทร์ กิจกรรมเหล่านี้เกิดจากการสานความร่วมมือของคนในสายน้ำแม่แจ่มเพื่อรักษาป่าสนผืนนี้ไว้ (สันติพงษ์ ช้างเผือก, 2536: 52)

“เครือข่ายของกลุ่มฮักเมืองแจ๋มต๋อนนั้นบ่ได้ขึ้นตรงต่อเครือข่ายใด เป็นองค์กรตี้เกิดขึ้นโดยคนเมืองแจ๋ม ทำโดยคนเมืองแจ๋ม แล้วก็มีบุคลากรตี้เข้ามาร่วมในก๋ารทำกิจกรรมทุกสาขาอาชีพในอำเภอแม่แจ่ม บ่ว่าพระสงฆ์องค์เจ้า ป้อบ้านแม่บ้าน ผู้นำชุมชน มีบทบาทและเข้ามาบริหารจัดก๋าน มีคณะกรรมการในก๋านทำงาน แต่เวลาทำกิจกรรมเฮาจะเชิญทุกภาคส่วนเข้ามาหารือหาตางออกฮ่วมกั๋น เฮาจะบ่ทำอะหยังโดยบ่ได้ฮับฉันทมติจากหลายองค์ประกอบตี้เข้ามามีส่วนร่วมกับเฮา บางอย่างเฮาได้ข้อมูลมาจากองค์กรพัฒนาเอกชนอันนี้เฮาต้องยอมฮับว่าเขาได้จ่วยเหลือเฮาตรงนี้” (อุทิศ สมบัติ, 6 กันยายน 2564)

ภายใต้ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนจนก่อตัวขึ้นเป็นองค์กรของภาคประชาชนอย่างกลุ่มฮักเมืองแจ๋ม องค์ประกอบของการต่อสู้ของกลุ่มฮักเมืองแจ๋มก่อตัวขึ้นจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอย่างน้อยสี่กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง ปัญญาชนในท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายคณะสงฆ์ ครู และข้าราชการในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม กลุ่มที่สอง นักพัฒนาเอกชนและนักวิชาการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เฝ้ามองการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปัญหาด้านทรัพยากรอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในภาคเหนือตอนบน เช่น ชมรมเพื่อเชียงใหม่ ชมรมรักษ์แม่ปิง (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537: 132) ที่มีส่วนในการคัดค้านสัมปทานป่าสนบ้านวัดจันทร์ร่วมกับชาวบ้านในอำเภอแม่แจ่ม นอกจากนี้พบว่าเครือข่ายนักพัฒนาเอกชนเข้ามาปฏิบัติการในแม่แจ่มในทศวรรษ 2530 อย่างน้อยสี่โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาชาวเขาลุ่มน้ำแจ่ม (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537: 80) โครงการพัฒนาทรัพยากรบนที่สูงแบบผสมผสาน (ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศเนเธอร์แลนด์และองค์การนานาชาติแคร์) (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537: 84) โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537: 99)  มูลนิธิเพื่อเพื่อนมนุษย์ โรงเรียนบ้านแม่มะลอ ตำบลแม่นาจร (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537: 156)  กลุ่มที่สาม ชาวบ้านในพื้นที่บ้านวัดจันทร์ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาการเปิดสัมปทานป่าสนจากรัฐโดยตรง และกลุ่มที่สี่ เครือข่ายชาวบ้านในลุ่มน้ำแม่แจ่มที่ได้รับผลกระทบจากสัมปทานป่าสน เช่น ผลกระทบต่อระบบเหมืองฝายของชาวบ้านฝาย ทัพ ไร่ กลุ่มเหมืองฝายฮอด กลุ่มเหมืองฝายจอมทอง เป็นต้น มรดกความทรงจำการเคลื่อนไหวช่วงวิกฤตของป่าสนวัดจันทร์ยังถูกนำมาเล่าผ่านการเคลื่อนไหวของชาวปกาเกอะญอบ้านวัดจันทร์ เช่น เพลงเสน่ห์มูเส่คี (เสน่ห์ขุนน้ำแม่แจ่ม) โดย ทองดี ธุระวร เพลงปกากะญอ โดยวงคาราบาว อัลบัมช้างไห้ พ.ศ. 2536 รวมทั้งบันทึกความทรงจำของนักเขียนชาวปกาเกอะญอ นามปากกา “โถ่เรบอ”  หรือ สมศักดิ์ สุริยมณฑล เรื่อง โค้งผู้เฒ่าจามู นอกจากเอกสารทางวิชาการ ข่าวสารตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือเอกสารโดยรัฐ การสื่อสารผ่านภาษา บทกวี บันทึกความทรงจำ การสื่อสารเหล่านี้ได้เผยแพร่ภาพจำและแง่มุมทางสังคมเกี่ยวกับปัญหาสัมปทานป่าสนวัดจันทร์

“หลังจากตี้เฮาต่อสู้ตี้บ้านวัดจันทร์ ต่อสู้กับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เฮาเป๋นผู้ชนะ เขาก็หยุดแล้วล่าถอยปิ๊กไป ทีนี้กลุ่มฮักเมืองแจ๋มก็มาคิดต่อว่าในเมื่อเฮาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเฮาจะเดินต่อจะใด เมื่อก่อนเฮาต่อสู้กับรัฐทีนี้ในระยะที่สองเฮากลับมารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมภายในแม่แจ่มซึ่งเป็นคนแม่แจ่มโตยกั๋น บ่ว่าจะบุกรุกป่า ทำลายป่า ตัดไม้ มันก็ทำหื้อเฮามีมุมก๋านทำงานอยู่สองอย่าง หนึ่งเฮาต่อสู้กับรัฐ สองเฮามาต่อสู้กับตั๋วเก่า ก๋านต่อสู้กับรัฐมันบ่ปอยากเต้าใดเพราะว่ามันมีความชัดเจนมาก แต่เฮามาต่อสู้กับตั๋วเก่าเนี่ยมันค่อนข้างละเอียดอ่อน ในมุมมองหนึ่งเฮามาทำความเข้าใจ๋กับปี้น้องเฮาเรื่องก๋านบุกรุกทำลายสิ่งแวดล้อมมีความยุ่งยากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องปากท้องเป๋นเรื่องตี้สำคัญขนาด เฮารณรงค์ก็มีทั้งคนตี้เข้าใจ๋กับคนบ่เข้าใจ๋ อันนี้ก็เป็นสิ่งตี้เฮาทำความเข้าใจ๋มาตลอด กระแสในก๋านทำความเข้าใจ๋นี่เฮาจะไจ้ ‘สื่อ’ ถ้าในอดีตก็จะผ่านผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา เป็นกำลังสำคัญในก๋านประสานทำความเข้าใจ๋ฮ่วมกับชุมชน เฮาทำจะอี้มาเรื่อย ๆ” (อุทิศ สมบัติ, 6 กันยายน 2564)

การออกกฎหมายหรือระเบียบต่าง ๆ ได้สวมทับกรรมสิทธิ์ดั้งเดิมของชุมชนและดึงเอาอำนาจการจัดการป่าร่วมกันออกจากชุมชน ป่าที่เคยเป็นของชุมชนและอยู่กับชุมชนมาตลอดได้กลายเป็นของคนภายนอกที่เข้ามาตัดฟันและชักลากออกไปได้อย่างชอบธรรมตามกฎหมาย โดยที่ชาวบ้านได้แต่เฝ้ามองด้วยความรู้สึกเสมือนสมบัติของชุมชนถูกแย่งชิงไป (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2532: 126) การแก้ไขปัญหาการอนุรักษ์ป่าไม้จำเป็นต้องควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชนด้วย วิถีการดำรงชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมและการใช้สอยป่าไม้เพื่อประโยชน์อื่น ๆ ของพวกเขา ในตัวของมันเองไม่ได้มีลักษณะที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยาป่าไม้แต่อย่างใด แต่ในทางกลับกันถือเป็นการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ (วิฑูร เพิ่มพงศาเจริญ, 2532: 25)

นอกจากการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว กลุ่มฮักเมืองแจ๋มมีพันธกิจต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของคนแม่แจ่ม ที่เห็นได้ชัดคือการคัดค้านการเก็บค่าผ่านด่านดอยอินทนนท์ นอกจากนี้แล้วยังมีบทบาทเจรจากับเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือคนในกำกับของรัฐกรณีที่ชาวบ้านถูกจับกุมเรื่องการลักลอบตัดไม้ แม้ว่าการปฏิบัติตามกรอบกฎหมายจะเป็นสิ่งที่พลเมืองพึงจะกระทำตามอย่างเคร่งครัดหากแต่บางกรณีกฎหมายก็ไม่ได้เอื้อต่อสิทธิประโยชน์ของคนในพื้นที่ การไกล่เกลี่ยยอมความจึงขึ้นอยู่กับเจตนาของชาวบ้านด้วยว่าเขาตัดไม้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ถ้าเป็นการตัดเพื่อการดำรงชีพตามวิถีชีวิตก็พึงละเว้นได้ในบางกรณี ทว่าตัดไม้เพื่อส่งออกขายแก่นายทุนข้างนอกกลุ่มฮักเมืองแจ๋มก็ไม่เห็นด้วย บางครั้งการไม่เห็นด้วยก็อาจจะไปเชื่อมโยงกับผู้นำชุมชนเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดการทำงานก็มีชาวบ้านที่เริ่มเข้าใจสิ่งที่กลุ่มฮักเมืองแจ๋มทำ หรือแม้แต่เริ่มไม่เข้าใจสิ่งที่กลุ่มฮักเมืองแจ๋มทำก็มี (อุทิศ สมบัติ, 6 กันยายน 2564)

การปะทุของขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิชุมชนกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ในชนบทไทยช่วงทศวรรษ 2530 – 2540 ซึ่งแม่แจ่มเป็นหนึ่งในนั้นที่ทำให้เห็นการก่อตัวและเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชน สำนึกของชุมชนภายใต้บริบทนี้หล่อหลอมมาจากการประสบปัญหาของชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในแง่กฎหมายและปฏิบัติการเชิงอำนาจโดยรัฐ ปัจจัยหนุนที่ทำให้เกิดการเมืองภาคประชาชนในทศวรรษนี้คือการหลอมรวมการเคลื่อนไหวระหว่างภาคประชาชนและเครือข่ายภาคประชาสังคม ดังกรณีคัดค้านสัมปทานป่าสนบ้านวัดจันทร์เมื่อมองไปยังรูปแบบวิธีคิดแล้วจะเห็นได้ว่าเป้าหมายร่วมกันของเครือข่ายชาวบ้านและเครือข่ายนักพัฒนาชุมชนคือการยับยั้งการดำเนินโครงการสัมปทานป่าโดยรัฐ ชาวบ้านในพื้นที่ต้องการปกป้องสิทธิชุมชนของตนเองรวมถึงปัญหาอันส่งผลมายังการประกอบกิจกรรมทางการเกษตร ด้านนักพัฒนาเอกชนมีความรู้ทางวิชาการด้านการอนุรักษ์ประกอบกับมีเทคนิคการทำงานในรูปแบบองค์กรที่เป็นระบบ การประสานกันครั้งนี้จึงทำให้กลุ่มฮักเมืองแจ๋มก่อตัวขึ้นมาหรือที่ อุทิศ สมบัติ ให้คำนิยามว่ากลุ่มฮักเมืองแจ๋มเป็น “องค์กรชุมชนรูปแบบใหม่” กล่าวคือมีลักษณะต่างไปจากองค์กรในชุมชนเดิมอย่างเช่น กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน ที่อาศัยระบอบความสัมพันธ์แบบชุมชนเป็นการประกอบกิจกรรมทางสังคมตามเทศกาลหรือวาระสำคัญในชุมชน ซึ่งต่างไปจากองค์กรชุมชนรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะการจัดการเป็นระบบมากขึ้น มีการวางแบบแผนรูปแบบการเคลื่อนไหว สรุปผลการเคลื่อนไหวในแต่ละครั้ง

ชุมชนในแถบภาคเหนือซึ่งอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรดิน น้ำ ป่า แร่ธาตุ จึงเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐเข้ามากระทำต่อทรัพยากรในท้องถิ่น สัญญาณของความเปลี่ยนแปลงเริ่มปรากฎเมื่อแผนพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมได้ระบุให้ทรัพยากรในภาคเหนือเป็นแหล่งที่ควรแก่การพัฒนาเชิงทุนนิยม โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่หลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง เป็นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินการโดยรัฐกำหนดให้เป็นพื้นที่ตามแผนงานพัฒนาโดยเน้นตามสถิติของการพัฒนาเศรษฐกิจ การเร่งดำเนินการเพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เป็นฐานการผลิตทั้งทางการเกษตรและการอุตสาหกรรม ซึ่งได้กระทำไปอย่างรุนแรงและขาดเหตุผลอันชอบธรรมให้แก่ท้องถิ่นหลายเรื่อง (ประสาน ตังสิกบุตร, 2536: 109) การจัดการทรัพยากรจึงเป็นเรื่องที่ควรกลับมาทบทวนกันเสียใหม่ว่าจะทำความเข้าใจสิทธิชุมชนที่เคยมีมาแต่อดีตและนำภูมิปัญญานั้นมาปรับสร้างองค์ความรู้ในยุคที่ทรัพยากรท้องถิ่นถูกแย่งชิงไปได้อย่างไร องค์กรเอกชนโดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (NGOs) ได้เข้าศึกษาและประสานงานเชื่อมแนวคิดดังกล่าวผ่านการจัดกิจกรรมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้น หากจะศึกษาแนวคิดสิทธิชุมชนได้อย่างเป็นระบบจึงจำเป็นต้องศึกษาถึงการปรับตัวของชาวบ้านในเขตลุ่มน้ำ อันจะเป็นแนวทางทำให้เห็นการผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนในเขตลุ่มน้ำแต่ละแห่งที่มีต่อการปรับตัวอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ (ดิน น้ำ ป่า) ได้อย่างสมดุล (ประสาน ตังสิกบุตร, 2536: 111) หมู่บ้านหรือชุมชนในลุ่มน้ำประกอบกันเข้าหลายหมู่บ้านร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศน์ ดังจะพบกฎระเบียบของชุมชนเพื่อสร้างเงื่อนไขด้านการใช้ทรัพยากรในลุ่มน้ำย่อยของตนเอง เช่น การแบ่งประเภทป่าออกเป็นป่าเพื่อใช้สอย ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ป่าเหล่านี้มีข้อกำหนดต่างการออกไป ประสานกับภูมิปัญญาและความเชื่อของชุมชนซึ่งจะแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์หรือลักษณะพิธีกรรมร่วมของคนในชุมชนลุ่มน้ำ ซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดในบทที่ 3 เป็นที่น่าสังเกตว่า การกำหนดเขตหมู่บ้านของราชการไม่ได้เป็นตัวกำหนดการรวมตัวเพื่อสร้างกฎระเบียบในลุ่มน้ำ พบว่า หลายลุ่มน้ำมีหมู่บ้านหลายหมู่บ้านหรืออยู่ต่างอำเภอกันเสียด้วยซ้ำมารวมตัวกันเพื่อสร้างกฎระเบียบในลุ่มน้ำ ดังกรณี การคัดค้านสัมปทานป่าสนบ้านจันทร์ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อกลุ่มเหมืองฝาย ทัพ ไร่ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอแม่แจ่มเพียงเท่านั้น ชุมชนในเขตลุ่มน้ำเดียวกันอย่างกลุ่มเหมืองฝายอำเภอฮอด กลุ่มเหมืองฝายบ้านท่าข้าม อำเภอจอมทองก็เป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบภายในลุ่มน้ำแม่แจ่มเช่นเดียวกัน

การกำหนดระเบียบที่ชุมชนสร้างขึ้นโดยไม่ได้อิงกฎหมายการรักษาลุ่มน้ำที่ซับซ้อนของรัฐเข้ามาจัดการจัดการ ทำให้กฎระเบียบเหล่านี้ไม่มีขั้นตอนยุ่งยากการลดขั้นตอนที่ยุ่งยากตามระเบียบกฎหมายไทย อำนาจที่เกิดจากการสร้างขึ้นมาของชุมชนเพื่อรักษาชุมชนและสิ่งแวดล้อมจะเป็นอำนาจที่มีคุณค่ามีความยั่งยืนตราบใดที่ไม่มีอำนาจจากภายนอกเข้าไปกระทำ ชุมชนในลุ่มน้ำต่าง ๆ มีพื้นที่ไม่ใหญ่นัก การสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและกดดันให้โครงการพัฒนาของรัฐตามแนวทุนนิยมเสรียุติการดำเนินการและย้ายหน่วยผลิตออกนอกพื้นที่ได้อย่างทรงพลัง องค์กรประชาชนในลักษณะเครือข่ายลุ่มน้ำได้เป็นตัวประสานต่อและผลักดันให้กิจกรรมในลุ่มน้ำดำเนินต่อในลักษณะของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงการร้องขอให้รัฐทบทวนแนวทางการพัฒนาประเทศที่จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตของคนในลุ่มน้ำ การรวมตัวของชุมชนลุ่มน้ำเล็ก ๆ เป็นการบ่งบอกถึงการก้าวกลับไปใช้ชีวิตที่มีคุณค่าดั้งเดิม เป็นการค้นพบว่าแนวทางการพัฒนาที่เอาเศรษฐกิจนำอาจไม่ได้นำพาให้ชีวิตที่ดีในระยะยาวได้ เพราะสังคมชุมชนลุ่มน้ำเป็นสังคมจำลองในอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและทรัพยากร การคิดหาทางออกในการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมจะนำมาซึ่งความสมดุลระหว่างวิถีชีวิตผู้คนกับระบบนิเวศน์ได้

อ้างอิง

  • ทำเนียบองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนบน, สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2537.
  • ประสาน ตังสิกบุตร. ฟื้นฟูลุ่มน้ำโดยองค์กรประชาชน. ในเอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม’36 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2536 ณ สมาคม YMCA สันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่, 2536.
  • ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี. เราเรียนรู้อะไรบ้างจากการปิดป่า. ใน เอกสารประกอบการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา ครั้งที่ 1 “ปัญหาป่าไม้กับทางออกของชาวบ้าน” วันที่ 17-19 มีนาคม 2532 ณ โรงแรมเมธาวลัย ชะอำ, 2532.
  • พฤกษ์ เถาถวิล. เสียงเกษตรกร ปลดพันธนาการเกษตรกรรายย่อยปัญหาเกษตรภาคเหนือ บทวิเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายของเกษตรกร. สหพันธ์เกษตรภาคเหนือ, 2544.
  • ลดาวัลย์ พวงจิตร. วนวัฒนวิทยา: พื้นฐานการปลูกป่า. ภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพ : อักษรสยามการพิมพ์, 2550.
  • วิฑูร เพิ่มพงศาเจริญ. ปัญหาป่าไม้: ทางเลือกอย่ามองข้ามศักยภาพประชาชน. ใน เอกสารประกอบการประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา ครั้งที่ 1 “ปัญหาป่าไม้กับทางออกของชาวบ้าน” วันที่ 17-19 มีนาคม 2532 ณ โรงแรมเมธาวลัย ชะอำ, 2532.
  • สันติพงษ์ ช้างเผือก. ฟื้นฟูต้นน้ำภาคเหนือโดยองค์กรประชาชน. ใน เอกสารประกอบการสัมมนาสิ่งแวดล้อม’36 ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 18-19 กันยายน 2536 ณ สมาคม YMCA สันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่, 2536.

สัมภาษณ์

  • อุทิศ สมบัติ, 6 กันยายน 2564

[1] บทความนี้ดัดแปลงมาจากเนื้อหาบางส่วนของวิทยานิพนธ์เรื่อง การประกอบสร้างสังคมแม่แจ่ม พ.ศ. 2530-2563

[2] วนวัฒน์ หรือ วนวัฒนวิทยา คือการคืนผืนป่าในรูปแบบของการปลูกสวนป่าขึ้นมาใหม่ การฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมโดยกระบวนการเจริญทดแทนตามธรรมชาติ หรือการจัดการป่าสมบูรณ์ที่มีอยู่เดิมให้อำนวยผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม (ลดาวัลย์ พวงจิตร, 2550: 9)