เมษายน 20, 2024

    HRDF และตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ แถลงข่าวและยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกัน

    Share

    27/05/2022

    27 พฤษภาคม เวลา 13.30 น. ณ ศาลปกครองกลาง แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ตัวแทนมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา HRDF และตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ได้แถลงข่าวและยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกัน พร้อมแนบรายชื่อผู้สนับสนุนการฟ้องทั้งหมด 2,198 รายชื่อ​

    สืบเนื่องจากกรณี โครงการ “ม.33 เรารักกัน” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชย ให้แก่ภาคประชาชนฯ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ.2563โดยการเสนอของกระทรวงแรงงาน ได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 มีข้อกำหนดให้ผู้มีสิทธิตามโครงการฯเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่มี “สัญชาติไทย” เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ “ไม่มีสัญชาติไทย” ไม่มีสิทธิรับการช่วยเหลือเยียวยา แม้เป็นผู้ประกันตน และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเช่นเดียวกับผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทย ตัวแทนผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติจึงดำเนินการร้องเรียนความไม่เป็นธรรมกรณีโครงการ ม.33 เรารักกัน เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ภายหลัง ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” มิได้ขัดต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม ได้บัญญัติห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะความแตกต่างในเรื่อง “เชื้อชาติ” เท่านั้น มิได้หมายรวมถึง “สัญชาติ” ดังนั้น การที่โครงการฯ กำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิไว้ว่าต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นจึงมิได้มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะความแตกต่างในเชื้อชาติ แต่ทั้งนี้ ตัวแทนผู้ประกันตนฯ ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่าโครงการ ม.33 เรารักกัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564​

    ต่อมา 10 มกราคม 2565 ตัวแทนผู้ประกันตนฯ ได้รับแจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยแจ้งว่าโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เป็นโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี กรณีความรับผิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอื่น ด้วยเหตุนี้ตัวแทนผู้ประกันตนฯ จึงจะดำเนินการต่อไปโดยการยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ “ม.33 เรารักกัน” ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิตามโครงการฯที่ต้องมี “สัญชาติไทย” เท่านั้น เพื่อขอให้ศาลปกครอง ที่มีอำนาจอิสระ ตามแบบแม่บทประชาธิปไตย ในการพิจารณาและมีคำพิพากษาเพิกถอนการกระทำที่มีการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง และกฎหมายสิทธิมนุษยชนมนุษยชนระหว่างประเทศ เพื่อให้สร้างบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่ให้มีการเคารพหลักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างรากฐานหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มิยอมให้มีองค์กรหนึ่งองค์กรใดใช้อำนาจของรัฐ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) เพียงองค์กรเดียว​

    ทั้งนี้ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และตัวแทนกลุ่มแรงงานข้ามชาติและแรงงานไร้สัญชาติ ขอขอบคุณสื่อและมวลชนที่มาร่วมให้กำลังใจในการแถลงข่าวและยื่นฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ม.33 เรารักกันในครั้งนี้​



    #อย่าทิ้งให้แรงงานข้ามชาติเดียวดาย​
    #ม33เรารักกันแต่ฉันถูกลืม​
    #Lanner

    Related

    สงกรานต์เมียนมาในวันที่ดอกประดู่ไม่บาน

    เรื่อง: Lanner Burmaภาพ: วิศรุต แสนคำ /  ฮวาน (ไม่ใช่ชื่อจริง) /...

    ฝุ่นพิษข้ามแดนในห้วงยามที่ “ทุน” สยายปีก

    เรื่อง: กองบรรณาธิการ การเปลี่ยนเข้าสู่เศรษฐกิจทุนนิยมในนามของเสรีนิยมใหม่ สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้เอกชนเกิดแรงจูงใจเพื่อจะสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้อย่างเสรีโดยปราศจากการผูกขาดโดยรัฐ จนเมื่อมีการเปิดให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี จึงนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานของธุรกิจเพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล หนึ่งในปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ “ปัญหาหมอกควัน”...