เรื่องและภาพ: กองบรรณาธิการ
ความเข้าใจการปฏิวัติ 2475 ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต้องพิจารณาในแง่พลังทางภูมิปัญญาด้วย สิ่งที่เป็นตัวแทนทางภูมิปัญญาที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ‘วรรณกรรม’
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 ณ Museum of Broken Relationships จังหวัดเชียงใหม่ มีการเสวนาในหัวข้อ “It’s not my revolution” หรือแปลได้ว่า “มันไม่ใช่การปฏิวัติของฉัน” ดังนั้นคำถามต่อมาคือ แล้วมันเป็นการปฏิวัติของใคร? การบรรยายครั้งนี้ดำเนินโดย ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเฉพาะสมัยสงครามเย็น
ณัฐพลกล่าวเริ่มต้นว่า คำว่า ‘สะกด’ ในที่นี้ มีความหมายซ้อนสองชั้น คือการ ‘สะกดคำ’ (spelling) ที่เกี่ยวกับการบันทึก ความทรงจำ และการเขียนประวัติศาสตร์ และอีกนัยคือ การ ‘สะกดไว้’ (spell) หรือการควบคุม กักขัง และจำกัดความหมายของเหตุการณ์สำคัญอย่างการปฏิวัติ 2475 โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายที่สูญเสียอำนาจกับฝ่ายที่ได้รับอำนาจใหม่ ต่างมีมุมมองและความหมายของคำว่า ‘ปฏิวัติ’ ที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง
ดังนั้น ประโยค “It’s not my revolution” จึงไม่ใช่เพียงวาทกรรมปฏิเสธธรรมดา แต่คือการสะท้อนความรู้สึกของชนชั้นนำที่ไม่ยอมรับเหตุการณ์ 2475 ว่าเป็นของตนเอง ในขณะที่อีกฝ่ายกลับพยายามผลิตวรรณกรรมและสื่อเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ถึงประชาธิปไตยและความหมายของอำนาจของประชาชน
ณัฐพลกล่าวต่อว่า ช่วงก่อนเหตุการณ์ 2475 ผู้คนในสังคมไทยถูกจัดให้อยู่ในระบบที่มีลำดับชั้นและการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน สะท้อนผ่านงานวรรณกรรมสำคัญอย่าง ‘สี่แผ่นดิน’ ซึ่งเป็นวรรณกรรมแนว ‘แซะพาวเวอร์’ ต่อเหตุการณ์ 2475 ที่เขียนโดย หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้ซึ่งมีตำแหน่งในพระราชวงศ์ การเล่าเรื่องในวรรณกรรมชิ้นนี้ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบละครเวทีหรือภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังส่งผ่านแนวคิดที่ว่าชนชั้นสูงมีความเหนือกว่า และประชาชนทั่วไปเปรียบเสมือนเครื่องมือหรืออาวุธที่รอคำสั่ง โดยไม่มีอำนาจของตนเอง
Revolution ของใคร?
การเลือกใช้วรรณกรรมในยุคดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงความเชื่อทางสังคมที่ยึดถือความไม่เท่าเทียมและมีลำดับชั้น ภาพของ ‘แม่พลอย’ หรือบทเทียบใน ‘รามเกียรติ์’ ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องเล่า แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการแบ่งแยกระหว่างผู้ปกครองกับประชาชน ซึ่งล้วนเป็นรากฐานของการจัดการทางการเมืองและการปกครองในสมัยนั้น
การวิเคราะห์นี้ทำให้เห็นถึงความซับซ้อนของการใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องมือบอกเล่าแนวคิดที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในสังคมชนชั้นเก่า แม้ในสมัยใหม่อาจมีการต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ แต่ภาพสะท้อนนี้ยังคงเป็นบทเรียนเกี่ยวกับอำนาจและความไม่เท่าเทียมที่ปรากฏในหลายมิติของการเมืองไทย
เบน แอนเดอร์สัน นักวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้แบ่งยุคเก่ากับยุคใหม่และให้ความเห็นทางสังคมไทยผ่านวรรณกรรม ในหนังสือในกระจก: วรรณกรรมการเมืองสยามยุคอเมริกัน ไว้ว่า
“พายุใหญ่ทางการเมืองนั้น มักจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าจากเสียงฟ้าลั่นคำรามมาแต่ไกลของวรรณกรรม” (หน้า 9)
วรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยล้วนตีพิมพ์ก่อนการปฏิวัติรัฐประหารทั้งสิ้น เช่น ดอกไม้สด (บุพพา กุญชร) ตีพิมพ์เรื่อง ความผิดครั้งแรก ในปี 2473, ม.จ.อากาศดำเกิง ตีพิมพ์ ละครแห่งชีวิต ในปี 2472, กุหลาบ สายประดิษฐ์ ตีพิมพ์ สงครามชีวิต เมื่อต้นปี 2475 (สามารถอ่านแนวคิดและการวิเคราะห์เพิ่มเติมได้ใน ในกระจก: วรรณกรรมการเมืองสยามยุคอเมริกัน)
เหตุการณ์ 2475 การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและแนวคิดประชาธิปไตย ส่งผลให้ประชาชนเกิดวิสัยทัศน์ใหม่ ไม่เพียงแค่ด้านการเมือง แต่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม โดยคณะราษฎรได้จัดงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ และเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกชนชั้นมีส่วนร่วม เช่น การตั้งโรงเรียนสตรี การประกวดนางสาวสยาม และการผลิตสื่อการสอนที่เผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตย
แนวคิด ‘อำนาจของประชาชน’ ที่แสดงออกมาในช่วงหลังปฏิวัติ สะท้อนให้เห็นว่า แม้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมาพร้อมกับความปรารถนาสร้างความเท่าเทียม แต่ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในที่ว่างเปล่า ทว่าถูกผลักดันและวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อต่างๆ รวมถึงหนังสือและนิยายที่สะท้อนภาพของสังคมใหม่อย่างชัดเจน
วรรณกรรมฝ่ายหัวก้าวหน้ายังพยายามผลิตจินตภาพใหม่ของประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น เรื่องสั้น ‘ลาก่อนรัฐธรรมนูญ’ ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เล่าเรื่องชายหนุ่มผู้เสียชีวิตจากการต่อสู้กับกบฏนิยมเจ้าบวรเดช เขาตายอย่างภาคภูมิและฝากอนาคตของประเทศไว้กับคนรุ่นใหม่ เรื่องนี้ไม่เพียงแสดงความกล้าหาญ แต่ยังแสดงให้เห็นบทบาทของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
วรรณกรรมแนวแซะพาวเวอร์ กับอดีตที่ยากแท้จะหยั่งถึง
การเปลี่ยนผ่านระหว่างยุคเก่าและยุคใหม่ ถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียน ทั้งในรูปแบบสนับสนุนและต่อต้านการปฏิวัติ
อย่างไรก็ตาม ในวรรณกรรมการเมือง เราพบการประณามแนวคิด ‘Revolution’ ของชนชั้นนำที่มองว่าการกลับคืนสู่ประเพณีและเกียรติยศเก่าเป็นสิ่งสำคัญ ขณะเดียวกันฝ่ายประชาชนใช้วรรณกรรมเป็นเวทีแสดงความคิดเห็น
“It’s not my revolution – มันไม่ใช่การปฏิวัติของฉัน” สะท้อนมุมมองที่แตกต่างกันตามจุดยืนทางการเมือง
ณัฐพลกล่าวต่อว่า ผู้เขียนบางรายใช้สำนวนเสียดสีเพื่อวิจารณ์การตอบโต้ของชนชั้นนำที่สูญเสียอำนาจ พร้อมทั้งมีผลงานอย่าง ‘ลาก่อนรัฐธรรมนูญ’ หรือ ‘ความฝันของนักโทษการเมือง’ ที่แสดงถึงการต่อสู้ทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงสังคม
ขณะเดียวกัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเองก็ไม่อยู่เฉย หากแต่พยายามตอบโต้ผ่านงานเขียนเช่น สมุดปกขาว (บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจฯ) หรือ เบื้องหลังประวัติศาสตร์ ของ “แมลงหวี่” (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) ซึ่งเสนอว่าการเปลี่ยนแปลง 2475 คือหายนะ และการกลับมาของอำนาจเก่าหลังปี 2490 ต่างหากที่ทำให้เกิด ‘แสงสว่าง’ อีกครั้ง แนวคิดเหล่านี้ยังคงได้รับการเผยแพร่ซ้ำจนถึงปัจจุบัน
การตอบโต้ผ่านวรรณกรรมไม่เพียงเป็นการบอกเล่าอดีตหรือวิจารณ์ปัจจุบัน แต่ยังตั้งคำถามและชี้ให้เห็นความขัดแย้งในค่านิยมทางการเมืองและวัฒนธรรม สื่อที่มีทั้งด้านเสียดสีและสะท้อนความเจ็บปวดจากอดีต ช่วยให้เราเข้าใจรากฐานของการเมืองไทยในทุกมิติ
แนวคิดเก่าและใหม่ปะทะและผสมผสานกันในงานเขียนอย่างลึกซึ้ง ทำให้วรรณกรรมยุคนี้เป็นกระจกสะท้อนความต่อสู้ภายในจิตใจ ทั้งการโหยหาอดีตและความหวังในอนาคตที่เปลี่ยนแปลง
วรรณกรรม สงครามความทรงจำ และคนรุ่นใหม่
หลังการสิ้นสุดของคณะราษฎรในปี 2490 จึงเกิดการทบทวนและประณามแนวคิดของการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง ในด้านวรรณกรรมก็มีผลงานที่สะท้อนทั้งการเลื่อมใสและการวิจารณ์อำนาจเก่า
ณัฐพลชี้ให้เห็นว่า การย้อนอดีตไม่ใช่แค่การรำลึก แต่คือกระบวนการ Rewriting ทางการเมือง ที่ลบล้างความหมายของการปฏิวัติ ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูความทรงจำนี้ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ว่า แม้จะมีการต่อสู้และปะทะกันทางวัฒนธรรม การเมืองไทยยังคงอยู่ในกระบวนการเรียนรู้และตีความประวัติศาสตร์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านงานเขียนและบทวิจารณ์ที่ช่วยให้เราเห็นรากเหง้าของการต่อสู้ในสังคม เช่น การ์ตูน 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ที่ ‘สะอาด’ รังสรรค์ขึ้นมา แม้จะมีการโต้กลับจากฝั่งอนุรักษ์นิยมอย่างภาพยนตร์แอนิเมชันไทยอิงประวัติศาสตร์ ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ
ในช่วงท้ายของการบรรยาย ณัฐพล หันกลับมามองคนรุ่นใหม่ซึ่งกำลังตั้งคำถามกับอดีตอย่างจริงจัง วรรณกรรมร่วมสมัย เช่น นิยายวาย Boy Love เรื่อง ‘นวลตองต้องฤทัย ARN EXCLUSIVE’ บนความหมายที่ว่าเพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นบรรยากาศที่ทำให้สังคมถวิลหาความเท่าเทียม ความหลากหลายทางเพศ ณัฐพล ตั้งคำถามเพิ่มว่า ยังไม่เห็นวรรณกรรมของฟากฝั่งอนุรักษ์นิยมที่พูดเรื่องความรักความสัมพันธ์แบบชายรักชายหรือหญิงรักหญิงเลย ถ้ามีก็ยังคาดเดาไม่ออกว่าจะออกมาเป็นแบบไหนกันแน่?
ขณะเดียวกันบทความของเยาวชนในช่วงรำลึก 2475 ล้วนสะท้อนการรื้อถอนภาพจำเดิมของ ‘เจ้ากับไพร่’ การตั้งคำถามว่า ทำไมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบางแห่งหายไป ทำไมมีห้องประชุมชื่อบวรเดชในกองทัพ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การต่อสู้ทางความหมายยังไม่จบลง
ใครสะกด ใครถูกสะกด?
“คำว่า ‘สะกด’ ในที่นี้ นอกจากหมายถึงการสะกดคำเพื่อให้จำได้แล้ว ยังสื่อถึงการควบคุมที่ลึกซึ้งอีกด้วย”
ข้อความนี้ชูให้เห็นถึงความซับซ้อนของคำว่า ‘สะกด’ ที่ไม่เพียงแต่หมายถึงการจดจำหรือจารึกไว้ แต่ยังสะท้อนถึงการควบคุมอุดมการณ์และแนวคิดของประชาชนในสังคมการเมืองอีกด้วย การตีความนี้ทำให้เราเห็นว่าทุกคำที่ถูกถ่ายทอดผ่านวรรณกรรม
“อ่านแล้วอยากเป็นแม่พลอย ..แต่แม่พลอยอยู่ในระบบที่เราไม่มีทางเข้าไปถึง”
นี่คือพลังของวรรณกรรม ที่ไม่เพียงเล่าเรื่อง แต่ยัง ‘สะกด’ ให้เชื่อว่าโลกที่ไม่เท่าเทียมคือโลกที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“Who controls the past controls the future. He who controls the present controls the past.” อีกหนึ่งประโยคสุดคมคายของ George Orwell ที่แปลได้ว่า “ใครควบคุมอดีตได้ เขาย่อมควบคุมปัจจุบัน และใครควบคุมปัจจุบันได้ เขาย่อมควบคุมอนาคต”
เสวนานี้ จึงไม่เพียงพาเราย้อนกลับไปมองอดีต แต่ยังเตือนให้ตั้งคำถามต่อปัจจุบันว่า ใครเป็นผู้เล่าเรื่อง? ใครสะกดประวัติศาสตร์? และเราจะเป็นผู้อ่านแบบไหน ยอมถูกสะกด หรือแสวงหาความหมายใหม่?
ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย จึงมิใช่การปฏิวัติแบบผลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แต่สายธารของความเปลี่ยนแปลงย่อมหลั่งไหลไปกับสังคมตลอดเวลา อยู่ที่ว่าผู้มีอำนาจจะสอดรับความเปลี่ยนแปลงได้มากเพียงใด
รายการอ้างอิง
- นครินทร์ เมฆไตรรรัตน์. การปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2553.
- เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน. ในกระจก วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน. กรุงเทพฯ : อ่าน, 2553.
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...