เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : Department of Sociology and Anthropology, Chiangmai University
หมายเหตุ บทความนี้เรียบเรียบจากงานสัมมนาวิชาการ 60 ปี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “On All (อ่องออ) : สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ครบรส” ใน ปาฐกถา “สังคมวิทยา-มานุษยวิทยา เชียงใหม่ : ถึงไหน หรือไม่ถึงไหน ? เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2567 โดย ศาสตราจารย์ ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ และ ศาสตราจารย์ ดร.ยศ สันตสมบัติ ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ
“เราจะคิดถึงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่ได้อย่างไร หากไม่มีอาจารย์ยศและอาจารย์อานันท์”
อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวเริ่มต้น เธอกล่าวต่อว่า อาจารย์อานันท์คือผู้บุกเบิกผลงานด้านสิทธิชุมชนที่ใช้กันทั่วไปในระดับมหาวิทยาลัย และเป็นผู้พลักดันการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ส่วนอาจารย์ยศคือผู้บุกเบิกนิเวศวิทยาแนววัฒนธรรม การอนุรักษ์ในมุมมองแบบชาวบ้าน และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ความทรงจำของอานันท์ กาญจนพันธุ์ ต่อภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่
อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวว่า ผมเป็นอาจารย์รุ่นที่ 2 เพราะภาควิชาเปิดเมื่อปี 2507 ผมเข้ามาเป็นอาจารย์เมื่อปี 2519 จบด้านประวัติศาตร์ล้านนาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล อาจารย์สุเทพ สุนทรเภสัชชวนมาสอบที่ภาควิชานี้จึงได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ตอนมาปีแรกอาจารย์ยศยังเป็นนักศึกษาที่เข้ามาเรียนตั้งแต่ปี 2517 จำได้ว่าสอนอาจารย์เมื่อตอนปี 3 แต่จำไม่ได้ว่าสอน 1 หรือ 2 วิชา
ช่วงสิบปีแรกของการก่อตั้งภาควิชางานวิจัยในช่วงนั้นผมไม่รู้ แต่สิบปีที่สอง มันมีการวิจัยเกิดขึ้น ซึ่งงานวิจัยของเราช้ากว่าที่อื่นประมาณ 20 ปี ดังนั้นงานวิจัยของเราจึงสนใจเรื่องสถาบันต่างๆ อย่าง สถาบันครอบครัว และสนใจเรื่องปัญหาสังคม ซึ่งเป็นปัญหาว่าคนชั้นสูงมองว่าเป็นปัญหา และเราควรไปสงเคราะห์ เช่น ปัญหาโสเภณี ปัญหาวัยรุ่น ฯลฯ มันเป็นปัญหาที่รัฐสร้างขึ้นมาทั้งนั้น และตอนนั้นกำลังสนใจกันเรื่องประชากรศาสตร์ จึงมีการเก็บข้อมูลในเชิงสถิติเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี สิ่งที่ดีที่สุดคือเริ่มมีการวิจัยเป็นงานวิจัยขั้นพื้นฐาน สิ่งนี้ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ
ผมวิจัยครั้งแรกช่วงเข้ามาเป็นอาจารย์หนึ่งปีหรือสองปี ได้ทุนจากมูลนิธิฟอร์ดไปทำวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชาวเขา เป็นวิจัยแนวมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ ตอนที่ผมเข้ามาช่วงแรกพวกเราสอนกันแต่เรื่องสถิติกับประชากรและประวัติแนวคิดทฤษฎี เรียนแต่อะไรที่เก่า แนวคิดใหม่ๆ ไม่ได้เรียน ผมจึงขออาจารย์สุเทพเปิดวิชาทฤษฎีสมัยใหม่ สอนกับอาจารย์สุเทพสองคนซึ่งอาจารย์ยศก็เรียน หากไม่มีแนวคิดทฤษฎีในทางสังคมศาสตร์มันไปได้ไม่ไกลมาก คือมันจะกลายเป็นการพรรณากับข้อมูล ผมอยากจะยกระดับขึ้นไปเพื่อเห็นอะไรที่มันกว้างไปกว่านั้น แต่ผมก็ทำอะไรได้ไม่มาก
ตอนหลังมาผมพยายามพลักดันเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษา เปิดได้ช่วง 2530 คือหลักสูตรพัฒนาสังคมที่ผลักดันก็เพราะหากมีมหาบัณฑิตมันก็จะมีงานวิจัย พวกอาจารย์ทำวิจัยกันกลุ่มเดียวไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราก็ทำได้เพียงนำงานวิชาการของตะวันตกมาเล่า การทำงานวิจัยของนักศึกษาจึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิชาการที่ไม่ได้เพียงแค่อยู่ในตะวันตกเพียงฟากเดียว
“เวลานี้ พอเป็นวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นงานวิจัย ในภาควิชาเล็กๆ ของเรา มันไม่ใช่สิ่งที่เล็กๆ อีกต่อไปคำศัพท์ทุกคำศัพท์ แนวคิดทุกแนวคิด มันกลายมาเป็นสิ่งที่พูดและใช้กันทั่วไปในสังคมแล้ว”
เมื่อความคิดในวงการวิชาการมันได้กลายเป็นศัพท์แสงที่ผู้คนทั้งสังคมได้นำไปใช้แล้ว โลกมันจึงเปลี่ยนไป ความคิดทางสังคมมันก็เปลี่ยนตามมา คุณจะไปกดทับมัน มันทำไม่ได้อีกแล้วในตอนนี้ คนที่มีอำนาจออกมาพูดอะไร ผู้คนก็เห็นลิ้นไก่กันหมดแล้ว มันเป็นผลมาจากการทำงานวิจัยของหลักสูตร ความคิดจากการทำวิทยานิพนธ์มันได้กระจายออกไป ได้ออกไปสอนหนังสือ ออกไปพูด
อัจฉริยา กล่าวทวนว่า ช่วงเข้ามามาเรียนใหม่ อาจารย์อานันท์และอาจารย์ยศพูดว่า “คุณูปการของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาคือการผลิตคำใหม่ๆ ตอนนั้นนเรายังไม่เข้าใจ แต่มาเข้าใจตอนหลังว่า แนวคิดใหม่ อุดมการณ์ใหม่ มันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้”
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไปถึงไหนในมุมมองของยศ สันตสมบัติ
ยศ สันตสมบัติ กล่าวต่อว่า ผมสอนมา 42 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงมาค่อนข้างเยอะในสิ่งที่เราเรียกว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมทั้งสังคมศาสตร์ทั่วไปด้วย เราหยิบยืมกันไปกันมาในสาขาวิชาต่างๆ มันมีความหลากหลายของประเด็นและมุมมองมากขึ้น แต่ท่ามกลางความหลากหลายของสาขาวิชา สิ่งที่เป็นแก่นแกนของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามันมีอยู่เรื่องเดียว คือเรา ศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนมาตั้งแต่ปี 2519 กับอาจารย์อานันท์
ความสัมพันธ์ทางสังคมทุกอย่าง คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพราะฉะนั้นอำนาจคือหัวใจของการศึกษาทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
เราจะเข้าใจความสัมพันธ์ทางสังคมได้ คือต้องเข้าใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจ “พันธกิจของสิ่งที่เราเรียกว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มันเป็นการไขแสดงและมิติที่ซ้อนเร้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เพื่อรื้อสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ และการครอบงำทางวัฒนธรรม”
ประโยคเดียวมันครอบคลุมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั้งหมด เมื่อพูดแบบนี้แล้ว ในแง่หนึ่งเราทำอะไรไปบ้าง ผมเลยพยายามจะบอกถึงตัวบ่งชี้ถึง 5 อย่าง ในงานวิจัยที่เราทำจากมุมมองของผมเองคือ 1) การสะท้อนย้อนคิด (Reflectivity) คือการคิดอย่างมีบริบท ระหว่างตัวเราเองกับสังคมภายนอก สามารถคิดเป็นเชื่อมโยงเป็น ไม่ใช่คิดแบบสามัญสำนึกแต่เป็นการคิดโดยผ่าน Concept ในระดับปริญญาตรีเข้าใจตรงนี้ได้ ผมก็พอใจแล้ว
ระดับปริญญาโทที่ทำกันเยอะมากคือระดับที่ 2) การทำลายมายาคติ คือการไปรื้อวาทกรรมที่รัฐสร้างขึ้น เช่น ชาวบ้านทำลายป่า การวิจัยจึงเป็นการทำลายมายาคติที่ว่าชาวบ้านเขามีวิธีคิดของตัวเอง งานวิทยานิพนธ์พัฒนาสังคมร้อยกว่าเล่มมากกว่าครึ่งคืองานวิจัยที่ไปทำลายมายาคติตรงนี้
บางเล่มที่ขึ้นไปอีกระดับหนึ่งคือระดับที่ 3) การเปิดพื้นที่ทางสังคม นอกจากการทำลายมายาคติแล้ว ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อย คนชายขอบ คนด้อยสิทธิ คนไร้อำนาจ ให้มีที่ยืนในสังคม วิทยานิพนธ์ทั้งหมดมันอยู่ในสามระดับนี้ แต่งานทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามันก็ยังมีระดับที่ 4) การสร้างนโยบายทางเลือก เป็นอีกขั้นหนึ่งมันคือการนำเสนอนโยบายใหม่ ภาควิชาเราก็ทำ เป็นการนำเสนอ concept ใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในทางสังคม
ระดับสูงสุดเลยก็คือระดับที่ 5) การนำเสนอหลักการใหม่ให้กับสังคม สังคมวิทยาและมานุษยาเชียงใหม่ก็ทำเหมือนกัน เราไปถึงทั้ง 5 ระดับมาหมดแล้ว การนำเสนอหลักการใหม่ทางสังคมนี้ไม่ใช่ตะวันตก แต่มันคือมานุษยวิทยาไทยด้วยซ้ำ โลกมี American-Anthropology, England- Anthropology Feance-Anthropology, ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมี Thai-Anthropology มันก็จะถึงระดับที่ 6) Maturity (การเป็นส่วนหนึ่งของบางอย่าง) ส่วนเรื่องสิทธิชุมชนเป็นตัวอย่างหนึ่งในการนำเสนอหลักการใหม่ในทางสังคม ชาวบ้านเขามีวิธีคิดในการจัดการชุมชนผ่านจารีตประเพณี ซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่เรามายกระดับให้มันเป็นนามธรรม แล้วนำเสนอมาเป็นหลักการใหม่ให้กับสังคม
“เรามองประหนึ่งว่างานวิจัยที่พวกเราทำมันไม่ความแปลกใหม่อะไร แต่เมื่อเกิดจังหวะในทางประวัติศาตร์ (Historical Moment) สิ่งที่เราทำมันจะมีจังหวะเวลา เมื่อหน้าต่างทางประวัติศาสตร์มันเปิดออก มันจะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการเอาความรู้ทางวิชาการมาสร้างเป็นพลัง”
ตัวอย่างที่สำคัญคือเรื่องสิทธิชุมชน พวกเราทำช่วงทศวรรษที่ 2530 ทะเลาะกับหน่วยงานรัฐมาก็มากมาย แต่พอปี 2540 มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ Historical Moment มันเกิดขึ้น เราก็เอาสิทธิชุมชนไปใส่ในรัฐธรรมนูญ แปลง Concept มาเป็นมาตราในรัฐธรรมนูญ เดี่ยวนี้ คสช. อยากจะเอาออกจะแย่!!! แต่มันทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านเขารับความคิดเรื่องนี้ไปแล้ว สิทธิชุมชนมันมีมากกว่านั้น มันมีมิติของการต่อต้านการรุกรานจากภายนอก ผมอยากกลับไปทำอีกครั้ง เพื่อดูว่าชาวบ้านเขาตีความเรื่องสิทธิชุมชนเขาไปกันถึงไหนแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มันต้องอาศัยพลังในทางวิชาการ มันจึงต้องรอช่วงจังหวะในทางประวัติศาสตร์ แต่ในทางกลับกัน นักมานุษยวิทยารุ่นอาจารย์อานันท์เขาไปถึงกันแล้ว นักมานุษยวิทยารุ่นใหม่ไปถึงไหน และกำลังทำอะไรกันอยู่