สถานการณ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาด้านเหนือเข้าสู่ภาวะเฝ้าระวังขั้นสูง หลังตรวจพบสารหนูปนเปื้อนในลำน้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง เกินค่ามาตรฐานในหลายจุด โดยบางจุดพบสูงถึง 19 เท่า ขณะเดียวกันภาครัฐทั้งในระดับจังหวัด หน่วยงานวิชาการ และรัฐบาลกลางต่างเร่งลงพื้นที่ เก็บตัวอย่าง และจัดทำมาตรการตอบสนองอย่างเร่งด่วน
นักวิจัยพบสารหนูเกินมาตรฐานใน 8 จาก 9 จุด
เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้เก็บตัวอย่างน้ำจาก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก และแม่น้ำโขง รวม 9 จุด ในเขตอำเภอแม่สายและเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

ผลการตรวจวิเคราะห์เบื้องต้นโดยห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พบว่า มีสารหนูปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานใน 8 จาก 9 จุด โดยเฉพาะบริเวณคลองชลประทานบ้านเหมืองแดง และจุดที่แม่น้ำรวกไหลลงแม่น้ำโขงที่สามเหลี่ยมทองคำ พบสารหนูสูงถึง 0.18 และ 0.19 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ซึ่ง เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ถึง 18-19 เท่า
รายงานผลการตรวจสารหนูทั้ง 9 จุด ดังนี้
จุดตรวจ | พิกัด | ค่าสารหนู (mg/L) | สถานะ |
1 | น้ำสาย บ้านถ้ำผาจม-หัวฝาย อ.แม่สาย | 0.14 | เกินมาตรฐาน 14 เท่า |
2 | ลำเหมือง บ้านถ้ำผาจม-หัวฝาย อ.แม่สาย | <0.01 | ปกติ |
3 | น้ำสาย สะพานมิตรภาพที่ 1 อ.แม่สาย | 0.14 | เกินมาตรฐาน 14 เท่า |
4 | คลองชลประทาน บ้านเหมืองแดง อ.แม่สาย | 0.18 | เกินมาตรฐาน 18 เท่า |
5 | น้ำรวก บ้านเวียงหอม ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย | 0.12 | เกินมาตรฐาน 12 เท่า |
6 | น้ำสาย สะพานมิตรภาพ 2 อ.แม่สาย | 0.12 | เกินมาตรฐาน 12 เท่า |
7 | น้ำรวก บ้านสบรวก อ.เชียงแสน | 0.12 | เกินมาตรฐาน 12 เท่า |
8 | น้ำรวกไหลลงแม่น้ำโขง สามเหลี่ยมทองคำ | 0.19 | เกินมาตรฐาน 19 เท่า |
9 | แม่น้ำโขง เทศบาลเวียงเชียงแสน | 0.14 | เกินมาตรฐาน 14 เท่า |
ดร.สืบสกุล ระบุว่า ผลตรวจนี้เป็นการตรวจเบื้องต้น โดยจะมีการส่งตัวอย่างเข้าสู่การตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บมาตรฐานต่อไป พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าแหล่งต้นน้ำบางแห่งมีลักษณะโคลนตมที่อาจมาจากการเปิดหน้าดิน หรือกิจกรรมเหมืองแร่
หน่วยงานรัฐลงพื้นที่ซ้ำ เก็บตัวอย่างแม่น้ำสาย 3 จุดสำคัญ

จากการประชุมคณะทำงานฝ่ายปฏิบัติและตรวจสอบคุณภาพน้ำ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 ณ ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ซึ่งมี นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (สคพ.1) เข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำสายอย่างเร่งด่วน
ในวันที่ 2 พฤษภาคม สคพ.1 ได้ลงพื้นที่ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย, ฝ่ายปกครองอำเภอแม่สาย และนักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (สาขาวิชาสารสนเทศภูมิศาสตร์) เก็บตัวอย่างน้ำผิวดินจาก 3 จุดในแม่น้ำสาย ได้แก่
1.บ้านป่าซางงาม ม.6 ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย
2.สะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 2 ต.แม่สาย
3.บ้านหัวฝาย ต.แม่สาย
ตัวอย่างที่ได้จะถูกส่งไปยัง ศูนย์ปฏิบัติการวิเคราะห์มลพิษและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ เพื่อตรวจวิเคราะห์โลหะหนักในน้ำ คาดว่าจะทราบผลภายในสัปดาห์หน้า และจะแจ้งผลต่อประชาชนทันทีหากพบค่าที่เสี่ยงต่อสุขภาพ
รัฐบาลสั่งบูรณาการแก้ปัญหา เร่งประสานประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ในวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ VDO Conference เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก โดยมีหน่วยงานหลักเข้าร่วม เช่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมฯ สทนช. และกรมควบคุมมลพิษ พร้อมข้อสั่งการเร่งด่วน 6 ข้อ ได้แก่
1.ประสานประเทศเพื่อนบ้านผ่านกลไกความร่วมมือทุกระดับ เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษจากต้นน้ำ
2.ใช้กลไก “กลุ่มน้ำโขงเหนือ” บริหารจัดการปริมาณน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ
3.ใช้เทคโนโลยีดาวเทียม-ภูมิสารสนเทศ ติดตามความขุ่นและสารแขวนลอย
4.สื่อสารประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ลดความตื่นตระหนก
5.ตรวจสอบการปนเปื้อนในสัตว์น้ำ-ร่างกายมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
6.ประสานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ลดผลกระทบระยะยาวและเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ
สว.เตือนรัฐ อย่าซ้ำรอย “ห้วยคลิตี้” จี้ติดตั้งสถานีวัดคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์
คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา นำโดย นายไพบูลย์ ณะบุตรจอม และ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม เสนอให้รัฐบาลดำเนินการ 3 แนวทางหลัก ได้แก่
1.ติดตั้ง “สถานีตรวจวัดคุณภาพน้ำรายชั่วโมง” แบบเดียวกับระบบวัด PM2.5
2.เจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่อจำกัดหรือยุติกิจกรรมเหมืองแร่ที่ไม่ได้มาตรฐานในรัฐฉาน
3.สื่อสารข้อเท็จจริงกับประชาชนในพื้นที่ 122 กิโลเมตรที่แม่น้ำกกไหลผ่าน โดยเฉพาะการปรับระบบผลิตน้ำประปาหากพบสารปนเปื้อนรุนแรง
“รัฐบาลต้องกล้าบอกความจริงกับประชาชนว่าแม่น้ำกกปลอดภัยจริงหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะเผชิญความไม่ไว้วางใจและความเสียหายซ้ำซ้อนเหมือนกรณีห้วยคลิตี้ที่สารตะกั่วปนเปื้อนยาวนานถึง 30 ปี” นายชีวะภาพกล่าว
สทนช.ภาค 1 ขยับร่วมประชุมกองทัพ – เสนอใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาโลหะหนักในลำน้ำ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ภาค 1 ได้ร่วมประชุมกับหน่วยงานภาครัฐกว่า 15 แห่ง ณ กองกำลังผาเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อหาแนวทางจัดการภัยคุกคามด้านน้ำและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อำเภอแม่ฟ้าหลวง โดยเน้นย้ำการตรวจสอบการปนเปื้อนโลหะหนักในลำน้ำ การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง และเสนอการใช้แนวทาง “พื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำ” หรือ High Level Catchment (HLC) เพื่อรับมือกับน้ำหลากในฤดูฝน
สสจ.เชียงรายลงพื้นที่ตรวจน้ำประปาหมู่บ้านใน 6 จุด

ในอีกความเคลื่อนไหวสำคัญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ ณรงค์ ลือชา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นำทีมเจ้าหน้าที่อนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย และหน่วยงานท้องถิ่น ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำประปาหมู่บ้านใน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน รวม 6 จุด ได้แก่
อ.แม่สาย ใน 3 หมู่บ้านได้แก่ 1.บ้านสันมะนะ ม.5 ต.แม่สาย 2.บ้านป่าซางงาม ม.6 ต.เกาะช้าง และ 3.บ้านป่าแดง ม.5 ต.เกาะช้าง
อ.เชียงแสน 4.บ้านเวียงแก้ว ม.5 ต.ศรีดอนมูล 5.บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง
และ 6.บ้านวังลาว ม.4 ต.เวียง
การตรวจครั้งนี้เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคในพื้นที่เสี่ยงใกล้แม่น้ำสายและแม่น้ำรวก ซึ่งมีข้อกังวลเรื่องสารปนเปื้อนในระบบน้ำธรรมชาติ
เหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณเตือนว่าภัยเงียบจากมลพิษข้ามพรมแดนกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม การตรวจพบสารหนูระดับสูงไม่เพียงเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม แต่สะท้อนถึงความเปราะบางของระบบบริหารจัดการน้ำชายแดน ที่ต้องได้รับการแก้ไขแบบบูรณาการ ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ การเมือง และการทูต
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...