ชิงเมืองเชียงใหม่! 5 ผู้สมัครนายกเทศมนตรี แสดงวิสัยทัศน์บนเวที “วาระเชียงใหม่”

3 พฤษภาคม 2568 “วาระเชียงใหม่” จัดเวทีสาธารณะ วาระเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เพื่อเปิดวิสัยทัศน์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีผู้สมัครทั้ง 5 คน เข้าร่วมแสดงนโยบายและแนวทางบริหารท้องถิ่นต่อสาธารณชน

ในช่วงแรกเริ่มจากการแนะนำตัวโดย  การย์วิชญ์ วงษ์ทอง ผู้สมัครหมายเลข 4 จากพรรคก้าวอิสระ ชูนโยบาย “ก้าวอิสระ ก้าวล้ำนำสมัย ไม่ก้าวร้าว ก้าวไปด้วยกันเพื่อนครเชียงใหม่” มุ่งสร้างเมืองที่ทันสมัย โปร่งใส มีส่วนร่วม และคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ พร้อมเปิดรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ

ต่อมา ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ ผู้สมัครหมายเลข 1 จากทีมเพื่อเชียงใหม่ เสนอวิสัยทัศน์ “ร่วมมือร่วมใจ สร้างเชียงใหม่ให้น่าอยู่ น่าเที่ยว และน่าทำงาน” มุ่งเน้นเทศบาลเชิงรุก แก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับคุณภาพชีวิต และผลักดันเชียงใหม่เป็นเมืองสีเขียวตามมาตรฐานสากล

ธีรวุฒิ แก้วฟอง ผู้สมัครหมายเลข 2 จากพรรคประชาชน เสนอแนวทางบริหารเมืองที่ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกกลุ่มวัย ทั้งด้านอากาศปลอดภัย ระบบจัดการน้ำท่วม-ขยะ พื้นที่สาธารณะ ขนส่งมวลชน และเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของเทศบาลอย่างแท้จริง

ว่าที่ร้อยเอก ดร.จอห์นนพดล วศินสุนทร ผู้สมัครหมายเลข 5 ในนามอิสระ นำเสนอนโยบาย “เนรมิตนครล้านนา สร้างเมืองอัจฉริยะ วัฒนธรรมล้ำค่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เน้นการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่การรักษาอัตลักษณ์ล้านนา และส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เช่น ระบบขนส่ง EV และเส้นทางจักรยาน

ขณะที่  อัศนี บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครหมายเลข 3 จากกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม นำเสนอแนวทางสานต่อนโยบายที่ดำเนินการมากว่า 4 ปี อาทิ การพัฒนาคลองแม่ข่า ศูนย์สุขภาพ และศูนย์ออกแบบเมือง พร้อมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจและสาธารณภัย พร้อมพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นเมืองคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

ชิงเมืองเชียงใหม่! ผู้สมัครนายกฯ 5 คนงัดนโยบายพัฒนาเมือง

ด้าน อัศนี บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครหมายเลข 3 ตอบคำถามเกี่ยวกับกลุ่มเปราะบางและสังคมผู้สูงอายุ โดยชูแนวทางดูแลประชากรกว่า 30,000 คน เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยเอดส์ ด้วยการพัฒนาโครงสร้างด้านสาธารณสุข เช่น ศูนย์ฟอกไต, Wellness Center และการตรวจสุขภาพเชิงรุกในชุมชน พร้อมส่งเสริมอาชีพผู้สูงวัย พื้นที่ค้าขาย และกิจกรรมระหว่างรุ่น เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำ

“ถ้าเราสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา การฝึกอาชีพ ก็จะยิ่งเป็นการเติมเต็มความมั่นคงในชีวิต ทั้งผู้สูงอายุและครอบครัว เช่น การฝึกอาชีพให้ผู้สูงวัยมีงานทำที่เหมาะสม เพิ่มทางเลือกในการสร้างรายได้”

ว่าที่ร้อยเอก จอห์นนพดล วศินสุนทร  ผู้สมัครหมายเลข 5 ตอบคำถามการแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานว่า ต้องเรื่องเน้นความปลอดภัยและความสะอาดเป็นอันดับแรก โดยเสนอปรับปรุงถนน ติดตั้งป้ายสัญญาณและเสาไฟ รวมถึงยกระดับการบริหารภาครัฐโดยกระตุ้นข้าราชการให้ทำงานอย่างภาคภูมิ พร้อมใช้ภาคีเครือข่ายและสื่อในการขับเคลื่อนงาน เพื่อสร้างความโปร่งใสและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

“ถ้าผมเป็นนายกเทศมนตรี ผมไม่ทำงานคนเดียวครับ ผมจะเอาพวกนี้แหละมาเป็นทีม เอามาช่วยเรา เพราะว่าบางครั้งการทำงานในส่วนของราชการ มันทำคนเดียวไม่ได้หรอก มันต้องเป็นภาคีเครือข่ายมาช่วยกดดันนะ เพราะถ้าภาคีเครือข่ายมา สื่อมา ถ้าสื่อมาก็มีข้อมูลนะครับ ทุกภาคส่วนก็จะช่วยกัน ไม่มีเล่นสี ไม่มีแบ่งฝ่าย ไม่ต้องห่วงว่าทำนี้จะได้หน้ามั้ย พรรคไหนจะได้หน้ามั้ย”

การย์วิชญ์ วงษ์ทอง ผู้สมัครหมายเลข 4 ตอบคำถามเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ โดยเน้นการพัฒนาคลองแม่ข่าให้สะอาดและเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ พร้อมจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียและท่อระบายน้ำให้ครบวงจร ซึ่งอาจใช้งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท หากไม่สามารถทำได้ด้วยความร่วมมือ จำเป็นต้องใช้เทศบัญญัติบังคับให้คนริมคลองดูแลความสะอาด

“ผมเห็นคลองแม่ข่าตั้งแต่ผมตัวเล็กๆ ละ จนบัดนี้ก็ยังเป็นคลองแม่ข่าอยู่ บางช่วงก็สวย บางช่วงก็ไม่สวย บางช่วงก็เหม็น บางช่วงก็ไม่เหม็น ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อ ถ้าสุดท้ายแล้วแก้ไม่ได้จริงๆ แล้วเทศบาลต้องออกเทศบัญญัติบังคับให้ผู้ที่อยู่ 2 ฟากของแม่ข่าเนี่ย รักษาความสะอาดหน้าหลังบ้านตัวเอง ต้องบังคับครับ ถ้าใช้วิธีดีๆ ไม่ได้ ก็ต้องใช้เทศบัญญัตินี่ช่วยบังคับให้เขาเนี่ยช่วยกันทำให้คลองแม่ข่าสะอาด”

ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ ผู้สมัครหมายเลข 1 ตอบคำถามในประเด็นการใช้งบประมาณและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเสนอให้เปิดเผยกระบวนการใช้งบประมาณและส่งเสริมสภาชุมชน พร้อมจัดประชุมออนไลน์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ทุกขั้นตอน และเน้นพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั้งในด้านกายภาพและบุคลากร

“เราต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสร้างสรรค์ 2000 พันล้าน ต้องจ้างงานและมีส่วนที่เหลือ เราควรคำนึงถึงประชาชน เช่น พัฒนาถนน สาธารสุข ป้องกันโรค ตรวจสุขภาพพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ทั้งกายภาพ บุคลากรครู เราจะมีสภาชุมชนมีไลฟ์สดประชุม ต้องบูรณาการร่วมกันเชื่อมโยงคนเมืองเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม”

ธีรวุฒิ แก้วฟอง ผู้สมัครหมายเลข 2 ตอบประเด็นการใช้งบประมาณและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเสนอแนวทาง “participatory budgeting” หรือการจัดงบแบบมีส่วนร่วม เพื่อให้ประชาชนร่วมตัดสินใจและสะท้อนความต้องการอย่างแท้จริง พร้อมเน้นการออกแบบเมืองด้วยส่วนร่วม และพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้ใช้งานได้ตลอดปี

“งบประมาณที่เก็บเองและรัฐอุดหนุน รวมสี่ปีเกือบแปดพันล้าน เราต้องบริหารงบไปพัฒนาพื้นที่สาธารณะให้น่าเที่ยวทั้งปี ทำระบบวิเวศเมืองอย่างมีส่วนร่วม การตั้งงบมักจะมาจากข้าราชการประจำ มันควรมาจากการมีส่วนร่วมมากกว่า”

ดีเบตเข้ม 5 ประเด็นใหญ่: ผู้สูงอายุ–โครงสร้างพื้นฐาน–สิ่งแวดล้อม–งบประมาณ–การมีส่วนร่วม

ช่วงที่ 3 ของเวที เป็นการดีเบตที่ใช้คำถามจากประชาชนซึ่งส่งเข้ามาผ่านแคมเปญ “CEO บ้านฉัน” ของ ThaiPBS โดยผู้สมัครแต่ละคนจะต้องสุ่มจับฉลากเพื่อเลือกคู่ประชันจากผู้สมัครคนอื่น ทำให้การดีเบตเต็มไปด้วยสีสันและการตอบโต้เชิงนโยบายอย่างเข้มข้น

โดยคำถามที่ 1 พื้นที่สาธารณะปรับยังไงให้ใช้ง่าย? ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ ผู้สมัครหมายเลข 1 จากกลุ่มเพื่อเชียงใหม่ ได้เน้นถึงการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่รองรับทุกกลุ่มวัย โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดการปัญหานกพิราบที่ประตูท่าแพ พร้อมร่วมมือกับกลุ่มดูแลสัตว์ในการป้องกันโรคต่าง ๆ

ในขณะที่ การย์วิชญ์ วงษ์ทอง ผู้สมัครหมายเลข 4 ผู้สมัครจากพรรคก้าวอิสระเสนอให้พัฒนาลานข่วงประตูท่าแพเป็นแลนด์มาร์คที่สมบูรณ์ โดยการปรับพื้นที่เพื่อเปิดให้เป็นพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกวัย พร้อมทั้งยกระดับการศึกษาภาษาต่างประเทศในโรงเรียนเทศบาล

คำถามที่ 2 ยกระดับชุมชน ร่วมคิดร่วมทำมากกว่าน้ำไหลไฟสว่าง? ธีรวุฒิ แก้วฟอง ผู้สมัครหมายเลข 2 จากพรรคประชาชน กล่าวว่าเทศบาลต้องสนับสนุนให้ชุมชนมีโอกาสคิดและนำเสนอแผนการพัฒนาที่หลากหลาย โดยการจัดสรรทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน และพัฒนาพื้นฐานเช่น น้ำ ไฟ และการเดินทางที่สะดวกสบาย

ด้าน ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ ผู้สมัครหมายเลข 1 กล่าวว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมระบบขนส่งสะอาดจะช่วยยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เป็นที่น่าอยู่ น่าเที่ยว และน่าทำงาน พร้อมยืนยันว่าเมืองเชียงใหม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้หากมีการพัฒนาที่ยั่งยืน

คำถามที่ 3 ขนส่งที่ดีหน้าตาแบบไหน? อัศนี บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครหมายเลข 3 จากกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม เน้นถึงความจำเป็นในการสร้างระบบขนส่งมวลชนในเชียงใหม่ โดยการทำงานร่วมกับหลายฝ่ายเพื่อพัฒนาโครงข่ายขนส่งที่มีประสิทธิภาพ พร้อมการออกแบบให้มีฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับพื้นที่ต่าง ๆ ในเมือง

ขณะที่ ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ ผู้สมัครหมายเลข 1 เสนอให้ใช้รถ EV พลังงานสะอาด และพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อขนส่งให้สะดวก เช่น การสร้าง Community Malls ที่อาเขตและช้างเผือก เพื่อส่งเสริมการค้าขายและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

คำถามที่ 4 พื้นที่สาธารณะปรับยังไงให้ใช้ง่าย? ที่ การย์วิชญ์ วงษ์ทอง  ผู้สมัครหมายเลข 4 เสนอการจัดการปัญหานกพิราบที่ประตูท่าแพ โดยการย้ายที่อยู่อาศัยของนกพิราบไปยังสถานที่อื่น พร้อมพัฒนาโรงพยาบาลเทศบาลนครเชียงใหม่เพื่อให้บริการประชาชนได้สะดวกยิ่งขึ้น

ขณะที่ อัศนี บูรณุปกรณ์ ผู้สมัครหมายเลข 3 มองถึงการพัฒนาพื้นที่ส่วนกลางในเชียงใหม่ เช่น ประตูท่าแพ และสวนบวกหาด โดยการทำให้พื้นที่เหล่านี้ปลอดภัย ใช้งานง่าย และรองรับกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

และสุดท้ายคำถามที่ 5 ขนส่งสาธารณะคุณภาพดี เทศบาลควรจัดหาหรือไม่ ถ้ามีจะหน้าตาแบบไหน จะมีไหม เริ่มกี่โมง? จอห์นนพดล วศินสุนทร  (หมายเลข 5) ผู้สมัครอิสระ ได้ตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนแปลงพรรคของนายกเทศมนตรีที่ลงสมัครกับพรรคเพื่อไทย และตั้งคำถามถึงการแก้ไขปัญหานกพิราบที่ประตูท่าแพ นอกจากนี้ยังถามถึงการรับมือกับนโยบายคาสิโนในเชียงใหม่ และการเพิ่มสถานบันเทิงในเมือง

อัศนี บูรณุปกรณ์  (หมายเลข 3) ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเมืองเชียงใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ และมั่นใจว่าเมืองเชียงใหม่จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืนหากมีการร่วมมือจากทุกฝ่าย

เสียงจากประชาชนท้าทายนโยบาย 5 ผู้สมัคร วัดใจผู้นำเมืองเชียงใหม่ยุคใหม่

ในช่วงสุดท้ายเป็นช่วงที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมฟังเวทีสาธารณะได้ตั้งคำถามถึงผู้สมัครทั้ง 5 หมายเลข โดยมีประเด็นคำถาม ดังนี้

การฟื้นฟูลำเหมืองและลำน้ำทั่วเมืองแม่ข่า แม่ปิง ให้สะอาด ใส เขียว ร่มรื่น จะทำอย่างไรให้ดีขึ้นใน 4 ปี?

ปนันรัตน์ วิริยะกุลศานต์ ผู้สมัครหมายเลข 1  มองว่าการฟื้นฟูลำเหมืองและการจัดการน้ำในเชียงใหม่จะต้องให้ความสำคัญกับระบบนิเวศเป็นหลัก โดยใช้วิธีการที่สอดคล้องกับธรรมชาติ (Nature-Based Solutions) เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว การขุดลอกลำเหมืองเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องคำนึงถึงการจัดการน้ำเสียโดยเฉพาะในคลองแม่ข่า ซึ่งเป็นจุดรับน้ำฝนและน้ำเสีย

การฟื้นฟูคลองแม่ข่าให้มีคุณภาพน้ำที่ดีขึ้นจำเป็นต้องมีการแยกท่อระหว่างน้ำดีและน้ำเสีย และทำการบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือน เช่น การติดตั้งถังดักไขมัน รวมถึงการสร้างศูนย์บำบัดน้ำเสียย่อยในแต่ละตำบลเพื่อช่วยลดภาระงานและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง

ในส่วนของการระบายน้ำจากแม่ปิง จำเป็นต้องมีการวางแผนเพื่อให้ระบายออกไปได้เร็วที่สุด พร้อมกับการออกแบบพุ่มไม้ที่ช่วยในการซึมซับน้ำเสียและชะลอการไหลเวียนของน้ำ การทำงานทั้งหมดต้องควบคู่กันอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

“ในการฟื้นฟูลำเหมืองต่างๆ เราจะต้องคำนึงถึงระบบนิเวศเป็นสำคัญก่อน ทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับ Nature-Based Solutions ทุกอย่างจะต้องทำงานควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมแน่นอน”

นอกจากระบบขนส่งมวลชนอย่างรถแดง หรือรถไฟฟ้า EV แล้ว สำหรับนโยบายของท่าน อยากจะมีระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ อีกไหมสำหรับเมืองเชียงใหม่ หรือเทศบาลนครเชียงใหม่ของเรา?

ธีรวุฒิ แก้วฟอง ผู้สมัครหมายเลข 2 ได้เสนอแนวทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเชียงใหม่โดยเน้นการให้ความสำคัญกับความหลากหลายของทางเลือกในการเดินทาง เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในเมืองและไม่จำกัดแค่การท่องเที่ยวเท่านั้น เขามองว่าระบบขนส่งมวลชนควรมีความหลากหลาย เช่น รถเมล์ขนาดเล็กและฟีเดอร์ที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนต่างๆ เพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน เช่น ไปวัด บ้านศพ หรือไปเรียน โดยไม่จำกัดแค่การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำปิงและการพัฒนาถนนในซอยให้มีขนส่งมวลชนขนาดเล็กเข้าไป ซึ่งจะช่วยในการขนส่งและเศรษฐกิจในชุมชน รวมถึงการออกแบบทางเท้าที่สามารถเดินได้จริงเพื่อให้สอดคล้องกับทุกเพศทุกวัย และลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

“เราต้องออกแบบทางเท้าที่สามารถเดินได้จริง ปัจจุบันทางเท้ามีสิ่งกีดขวางเยอะและไม่ได้ออกแบบให้เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย ทุกวันนี้ เรามีมาตรฐานที่ต่ำเกินไปในการใช้ชีวิตในเทศบาล แต่จริง ๆ แล้วมันสามารถดีขึ้นได้ เทศบาลมีงบประมาณมหาศาลและอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการทำสิ่งเหล่านี้ได้ ถ้ามีเจตจำนงและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน”

การส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างมีส่วนร่วมมีกลไกคณะกรรมการประชาชน ที่มีทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิม วัฒนธรรมร่วมสมัย งานสร้างสรรค์คนรุ่นใหม่ และเชียงใหม่มรดกโลก จะทำได้อย่างไร?

อัศนี บูรณุปกรณ์  ผู้สมัครหมายเลข 3 เน้นย้ำถึงความสำคัญของ การผลักดันให้เชียงใหม่เป็นมรดกโลก (World Heritage) ขององค์การยูเนสโก ซึ่งจะสร้างความภาคภูมิใจให้คนในพื้นที่ และช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมเชียงใหม่สู่สายตาชาวโลก โดยมองว่า ความสำเร็จในการผลักดันนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และชุมชนต่างๆ โดยมีการเน้นพื้นที่สำคัญ เช่น วัด และสี่เหลี่ยมคูเมือง ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่มีหน้าที่ดูแลให้คงความสวยงาม พร้อมทั้งรักษา เอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ของเมือง อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ปรับปรุงให้ดูดีภายนอก

“จุดสำคัญ ที่จะทำให้ยูเนสโกยอมรับ คือการรักษาเอกลักษณ์ของคูเมืองและประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของเชียงใหม่ และไม่ใช่แค่การปรับปรุงให้สวยสะอาด แต่ต้องรักษาความเป็นเอกลักษณ์ไว้”

ระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพหน้าตาเป็นแบบไหน? ที่สามารถเชื่อมสถานที่สำคัญ เช่น สนามบิน โรงเรียน ตลาด และเชื่อมเส้นทางในชุมชนอย่างซอยเล็กซอยน้อยได้

การย์วิชญ์ วงษ์ทอง ผู้สมัครหมายเลข 4 เสนอให้จัดระบบจุดรับ-ส่งผู้โดยสารแบบมีจุดกำหนดชัดเจน พร้อมออกเทศบัญญัติควบคุม เพื่อแก้ปัญหาการจอดรถรับคนกลางถนน ลดความวุ่นวายในการเดินทาง ยกระดับภาพลักษณ์สามล้อเชียงใหม่ด้วยการจัดตั้งชมรมและปรับปรุงรูปลักษณ์ สนับสนุนราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรมสำหรับรถตุ๊กตุ๊กและสองแถวแดง ป้องกันการเอาเปรียบผู้โดยสาร เสนอใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่ซอยแคบเป็นทางเลือกระยะสั้น และมองว่าการพัฒนารถไฟฟ้าต้องศึกษาร่วมกับวิศวกรให้เหมาะสมกับสภาพเมืองเก่าเชียงใหม่

“หากต้องการให้เมืองเชียงใหม่ทันสมัยในเรื่องขนส่งไฟฟ้า ผมมองว่ามีความยากลำบากในการที่จะนำรถไฟฟ้ามาใช้ในเมืองที่ถนนแคบ และมีปัญหาทัศนียภาพ จึงจำเป็นต้องมีการปรึกษากับวิศวกรเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด”

การจัดระเบียบถนน ทางเท้า สายไฟ สายสัญญาณ พื้นที่โซนเมืองและย่านเศรษฐกิจสำคัญ เพื่อให้การเดินทางทั้งทางเท้า, การปั่นจักรยาน, และการขนส่งสาธารณะสะดวกยิ่งขึ้น จะทำอย่างไรให้ดีขึ้น?

จอห์นนพดล วศินสุนทร  ผู้สมัครหมายเลข 5 เน้นการจัดระเบียบโครงสร้างเมือง เช่น ถนน ทางเท้า และสายสื่อสาร โดยต้องมีการบริหารที่เด็ดขาดและไม่ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ สนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันผ่านการจัดพื้นที่เฉพาะ และเสนอให้พัฒนาระบบขนส่งด้วยรถไฟฟ้า EV ขนาดเล็กที่เหมาะกับบริบทของเชียงใหม่ พร้อมเชื่อมโยงกับจักรยานและถนน เพื่อสร้างระบบเดินทางที่สะดวก ปลอดภัย และรักษาอัตลักษณ์ของเมืองอย่างยั่งยืน

“การจัดการในเรื่องถนน, ทางเท้า, และการจัดระเบียบสายสื่อสารต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก แต่ในฐานะนายกเทศมนตรี, การมีผู้บริหารที่จริงจังและพร้อมที่จะลงไปแก้ปัญหาอย่างเข้มงวดเป็นสิ่งสำคัญ อย่าปล่อยให้เป็นปัญหาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ผมเชื่อว่าเราไม่ควรรอให้เกิดปัญหาหรือฟ้องร้องยาวนานถึง 10-20 ปี แต่ควรมีการกำกับดูแลที่เข้มข้น โดยเฉพาะในเรื่องการวางแผนงานให้เสร็จสิ้นเร็ว”

ทั้งนี้วาระเชียงใหม่ ได้ทิ้งท้ายเวทีสาธารณะในครั้งนี้ ด้วยการเชิญชวนประชาชนชาวเชียงใหม่ทุกคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายกนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ที่กำลังจะมาถึง และร่วมกันจับตาดูว่า ผู้สมัครแต่ละคนจะสามารถสานต่อข้อเสนอในแต่ละวาระที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้จริงหรือไม่ ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญของการร่วมกันกำหนดอนาคตเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้นจากพลังของประชาชนทุกคน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง