เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
30 มิถุนายน 2568 ที่โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน จังหวัดเชียงใหม่ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ร่วมกันจัดกระบวนการพูดคุยและสร้างข้อเสนอจากชาวบ้านอย่างมีส่วนร่วม เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะเปิดเวทีใหญ่ในวันถัดมา
การรวมตัวครั้งนี้เป็นมากกว่าการประชุมเตรียมความพร้อม เพราะคือวาระสำคัญที่พี่น้องคนอยู่กับป่าจากหลายพื้นที่จะได้ร่วมกันทบทวนเส้นทางการต่อสู้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ผลกระทบที่พวกเขาเผชิญจากนโยบายและกฎหมายของรัฐ ไปจนถึงการตั้งคำถามสำคัญว่า เป้าหมายสูงสุดในเรื่องสิทธิในที่ดินและป่าไม้คืออะไรและจะก้าวเดินต่ออย่างไร
ทั้งหมดนี้เป็นการเตรียมบทสรุปและข้อเสนอจากเสียงของชาวบ้าน เพื่อส่งต่อสู่เวที ‘วิพากษ์ 27 ปี เงื่อนไขการพิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่า’ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ซึ่งถือเป็นเวทีสำคัญในการทบทวนบทเรียนและทวงถามความเป็นธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง
มติ ครม. 30 มิ.ย. 41 จุดเริ่มต้นการจัดการปัญหาคนกับป่า ที่ยังไม่ตอบโจทย์สิทธิชุมชน
ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ป่า เป็นเรื่องที่ประเทศไทยเผชิญมายาวนาน และหากพิจารณาลึกลงไป ก็ยิ่งเห็นความซับซ้อนที่ฝังรากอยู่ในระบบกฎหมายและนโยบายของรัฐ เพราะพื้นที่ป่าสงวน เขตอนุรักษ์ และที่ดินทำกินของชาวบ้าน มักทับซ้อนกันอยู่
รัฐพยายามหาทางออกจนกระทั่งมี มติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ซึ่งเปลี่ยนแนวทางจากยุคที่เน้น ‘จับกุม-ไล่รื้อ’ มาสู่การสำรวจ จำแนก และจัดระเบียบพื้นที่ เพื่อให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ มตินี้ดูเหมือนจะเป็นก้าวสำคัญในการลดความตึงเครียด และสร้างความชัดเจนให้กับชาวบ้านที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ป่า แต่เมื่อมองไปที่การปฏิบัติจริง กลับพบว่า ทุกอย่างไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังต้องเผชิญกับขั้นตอนพิสูจน์สิทธิที่ยุ่งยากและล่าช้า หลักฐานที่รัฐใช้ เช่น ภาพถ่ายทางอากาศปี 2545 แม้จะถูกนำมาเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมหรือสะท้อนความจริงในทุกกรณีได้ หลายครั้งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของข้อโต้แย้งระหว่างรัฐกับชุมชน
แม้จะได้รับอนุญาตให้อยู่และทำกิน แต่ชาวบ้านกลับไม่ได้เอกสารสิทธิ์ที่ชัดเจน ไม่มีหลักประกันในที่ดินของตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติของรัฐบางส่วนยังมองชุมชนเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่หลายคนอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าด้วยซ้ำ เมื่อกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องยังทับซ้อนกัน การจัดการจึงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และสำหรับชาวบ้าน สิ่งที่ต้องเผชิญในชีวิตจริง ก็คือ ความกังวลว่าจะถูกไล่รื้อเมื่อไหร่ หรือจะต้องต่อสู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเองไปอีกนานแค่ไหน
ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนชัดว่าแม้ในตอนต้น มติ ครม. 30 มิ.ย. 41 จะดูเหมือนเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่กลับไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้จริง และกลายเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชุมชนและภาคประชาชนยังคงต้องลุกขึ้นทวงถาม และผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมายสิทธิชุมชนอย่างจริงจังต่อไป เพื่อให้กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ไม่ได้ถูกออกแบบจากมุมมองของรัฐฝ่ายเดียว แต่ต้องมีเสียงของชาวบ้าน และยึดหลัก ‘สิทธิชุมชน’ ที่ให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
เสียงจากชุมชนบ้านสบแม่คะ ชีวิตจริงของคนอยู่กับป่า ที่รัฐไม่เคยมองเห็น
“เราอยู่ตรงนี้มาก่อนประกาศเขตป่าสงวน แต่รัฐกลับมองเราว่าบุกรุก”
มัลลิกา ศิริโสภาวัฒนา ชาวบ้านจากชุมชนบ้านสบแม่คะ ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าถึงปัญหาที่ชุมชนของเธอต้องเผชิญมาตลอดหลายสิบปีว่า หมู่บ้านของเธออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และยังอยู่ในเขตพื้นที่ที่กำลังจะถูกประกาศเป็นอุทยานแม่เงาทั้งที่ชาวบ้านอยู่มาก่อน ใช้ชีวิตพึ่งพาป่าด้วยภูมิปัญญาไร่หมุนเวียนอย่างยั่งยืน
“พอพื้นที่ของเราอยู่ในเขตป่าสงวน เจ้าหน้าที่เขามองเราว่าบุกรุกป่า ทั้งที่จริงๆ เราไม่ได้ไปทำอะไรเกินเลยเลย เราอยู่ของเราแบบที่เคยอยู่ แต่เขามองจากมุมของเขา มองด้วยแผนที่ มองด้วยกฎหมาย ไม่ได้มองจากชีวิตจริงของคนในพื้นที่”
การที่รัฐใช้แผนที่และกฎหมายมาตัดสิน โดยไม่มองจากวิถีชีวิตจริง ทำให้ชาวบ้านถูกตีตราว่าเป็นผู้บุกรุก ยิ่งมีนโยบาย ‘คทช.’ หรือ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลประกาศขึ้นตั้งแต่ปี 2557 หลังรัฐประหาร แนวคิดหลักของ คทช. คือ การจัดสรรที่ดินในพื้นที่ของรัฐ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ หรือที่ดินของหน่วยงานรัฐต่างๆ ให้กับชาวบ้านหรือเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน พร้อมทั้งกำหนดให้มีการดูแล ใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด เช่น ห้ามบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติม ต้องทำกินอยู่ในแปลงเดิม ห้ามเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินโดยพลการ และต้องเข้าร่วมโครงการตามที่รัฐวางไว้
ในทางทฤษฎี นโยบายนี้ฟังดูเหมือนเป็นทางออกสำหรับปัญหาที่ดินของชาวบ้านในพื้นที่ป่าแต่เมื่อมองจากประสบการณ์จริงของชุมชนต่างๆ กลับพบว่าความจริงไม่เป็นอย่างนั้น ที่หนักกว่านั้นคือ นโยบาย คทช. ถูกใช้ควบคู่กับนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง หลายคนถูกบังคับให้เซ็นเอกสารโดยไม่เข้าใจ ถูกจำกัดสิทธิ ถูกขับไล่ หรือถูกดำเนินคดี แม้จะอยู่ในพื้นที่มาก่อน
มัลลิกาเล่าว่า หลังเข้าร่วม คทช. ชาวบ้านต้องเปลี่ยนจากไร่หมุนเวียนเป็นไร่ถาวร ปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง ใช้สารเคมี ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น หนี้สินตามมา วิถีชีวิตดั้งเดิมพังทลาย โดยไม่มีใครเคยถามความคิดเห็นชาวบ้านเลย
“พอเราได้รวมตัวกันในวันนี้ ก็ได้เห็นว่ามีอีกหลายหมู่บ้าน หลายจังหวัดเจอเหมือนเรา มันทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้สู้คนเดียว”
แม้จะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและแรงกดดันจากนโยบายของรัฐ แต่มัลลิกาและชาวบ้านในชุมชนก็ไม่นิ่งเฉยและลุกขึ้นมารวมตัวกันผ่านการเข้าร่วม สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และร่วมกันสะท้อนเสียงของชุมชนไปถึงรัฐบาล มัลลิกาเล่าว่า การรวมตัวทำให้เห็นว่าปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายชุมชนทั่วประเทศ และเธอไม่ได้สู้เพียงลำพัง ชาวบ้านไม่ได้ต้องการแค่เอกสารสิทธิหรือกฎหมายที่รัฐเขียนเอง แต่ต้องการกระบวนการที่เปิดให้มีส่วนร่วม ฟังเสียงคนในพื้นที่ และเข้าใจว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ หากมีการบริหารจัดการที่เป็นธรรมและเปิดใจ
“ถ้าเราไม่เดือดร้อน เราจะออกมาเรียกร้องทำไม เราอยากอยู่ของเราอย่างสงบ แต่สุดท้ายเรากลับถูกบังคับให้ออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ควรเป็นของเราอยู่แล้ว มันไม่ยุติธรรมเลย”
มัลลิกายังสะท้อนอีกว่า การออกมาเรียกร้องของคนอยู่กับป่าไม่ใช่เพราะต้องการสร้างปัญหา หากแต่เป็นเพราะเธอไม่มีทางเลือก เมื่อสิทธิและวิถีชีวิตที่เคยสงบสุขถูกบั่นทอนลงเรื่อยๆ พี่น้องจึงต้องลุกขึ้นยืนยันสิทธิของตัวเอง สิทธิที่จะอยู่กับป่าอย่างที่บรรพบุรุษทำมาตลอด โดยไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้บุกรุกในบ้านของตัวเอง
“สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่แค่กฎหมายหรือเอกสาร แต่คือการยอมรับวิถีชีวิตของเรา ว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้จริง ถ้าเขาเปิดใจและรับฟัง”
เสียงจากห้วยหินลาดใน เยาวชนกับความหวังในการจัดการที่ดินโดยชุมชน
นิรพร จะพอ เยาวชนชาติพันธุ์ปากาเกอะญอจากชุมชนห้วยหินลาดใน ตำบลบ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เล่าถึงปัญหาที่หมู่บ้านของเธอต้องเผชิญจากข้อจำกัดของกฎหมายป่าไม้ ซึ่งกระทบต่อวิถีชีวิตและความปลอดภัยของคนในชุมชนนอกจากปัญหาเรื่องการพัฒนา หมู่บ้านยังเจออุปสรรคจากการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมของชาวบ้าน เพราะที่ดินที่ปล่อยให้ฟื้นตัวในช่วงพัก 7 ปี มักถูกมองว่าเป็นป่าตามภาพถ่ายดาวเทียม และเมื่อชาวบ้านกลับไปทำไร่ในปีที่ 7 ก็ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าบุกรุก
“ที่ผ่านมา พิธีกรรมหรือสิ่งของในไร่หมุนเวียนของเราถูกทำลาย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจ คิดว่าเราบุกรุกป่า ทั้งที่มันคือที่ดินของเราที่พักไว้ตามวิถีชีวิต”
นิรพรเล่าต่อว่า ปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่เปลี่ยนชุดใหม่ที่ไม่เข้าใจบริบทของพื้นที่ นโยบายควบคุมจากรัฐก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และทุกครั้ง ชุมชนต้องเริ่มอธิบายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นโยบายที่เข้ามากระทบคือ คทช. ซึ่งถูกนำเสนอให้เป็นทางออกเรื่องที่ดินในป่าสงวน แต่สำหรับชุมชนห้วยหินลาดใน ชาวบ้านต่างเห็นว่านโยบายนี้ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และอาจทำลายระบบไร่หมุนเวียนที่สืบทอดกันมานานแม้ คทช. ยังไม่ถูกนำมาใช้ในหมู่บ้าน แต่รัฐก็มีแนวทางใหม่ เช่น เรื่อง ‘ป่าชุมชน’ ซึ่งวิธีการจัดการของรัฐก็ยังห่างไกลจากความเข้าใจในวิถีของคนในพื้นที่
“ข้อเสนอที่เราผลักดันตอนนี้ มาจากชุมชนจริงๆ เราไปรวบรวมความเห็นจากหลายพื้นที่ ทั้งในป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน หรือนอกเขตป่า เพื่อให้ข้อเสนอของเราใช้ได้กับทุกที่จริงๆ ไม่ใช่เหมือนเสื้อตัวเดียวที่รัฐตัดมา แล้วให้ทุกคนต้องใส่เหมือนกัน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”
ข้อเสนอสำคัญที่นิรพรและคนในชุมชนห้วยหินลาดในพยายามผลักดัน คือ ‘โฉนดชุมชน’ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือให้ชุมชนมีสิทธิ์ดูแล จัดการ และใช้ประโยชน์ที่ดินของตัวเองได้อย่างถูกกฎหมาย และสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
“ตอนนี้เราจัดการกันเองอยู่แล้ว แต่รัฐยังไม่ยอมรับ ถ้าโฉนดชุมชนเกิดขึ้นจริง เราจะสามารถดูแลป่า และวิถีชีวิตของเราได้เต็มที่”
ท้ายที่สุด นิรพรหวังว่ารัฐจะเปลี่ยนมุมมอง เห็นความสำคัญของเสียงประชาชน และสร้างนโยบายที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่นโยบายจากส่วนกลางที่กดทับชีวิตของคนอยู่กับป่าอย่างทุกวันนี้
เชื่อมพลังเครือข่าย สู่การเปลี่ยนแปลงที่ลึกกว่าเรื่องป่าและที่ดิน
ท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่นของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหลายชุมชน เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) ได้รวมตัวกันครั้งแรกเพื่อออกแบบอนาคตของตนเอง เวทีนี้ไม่ใช่แค่การประชุม หากคือการรวมพลังของผู้ที่เจ็บจริง เดือดร้อนจริง และต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
กิตติชัย งามชัยพิสิษฐ์ จากโครงการห้องทดลองของนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย (Activist Laboratory Thailand: ActLab) ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก เปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมได้คิด ออกแบบ และร่วมกำหนดอนาคตของตนเองอย่างมีส่วนร่วม จุดร่วมของทั้งสองเครือข่ายคือการเผชิญกับความไม่เป็นธรรมด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากร โดยเวทีนี้มีเป้าหมายหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ การติดตามข้อเรียกร้องเดิม การวางแผนอนาคตร่วมกัน และการเตรียมทบทวนนโยบายและมติ ครม. ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
“หลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่า คทช. คืออะไร โฉนดชุมชนต้องทำยังไง หรือกระบวนการพิสูจน์สิทธิเป็นแบบไหน วันนี้ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับข้อมูล ทำความเข้าใจร่วมกัน”
การพูดคุยขยายจากเรื่องป่า ที่ดิน และสถานะบุคคล ไปสู่รากของปัญหา เช่น รัฐธรรมนูญ และการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร ผู้เข้าร่วมหลายคนเพิ่งเข้าใจคำศัพท์ เช่น คทช. โฉนดชุมชน หรือกระบวนการพิสูจน์สิทธิอย่างลึกซึ้งเป็นครั้งแรก บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ น้ำตา และการระบายความอัดอั้นที่สั่งสมมานาน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากเวทีนี้ คือการเริ่มก่อตัวของ ‘เป้าหมายร่วม’ จากเดิมที่ต่างคนต่างมีปัญหาของตัวเอง เริ่มมองเห็นว่าทุกปัญหาล้วนเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจัดการที่ดิน ทรัพยากร สิทธิในสถานะบุคคล หรือการคุกคามจากรัฐ ล้วนมีต้นตอมาจากโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
พลังของเวทีนี้ไม่ได้อยู่แค่ในเนื้อหาที่แลกเปลี่ยนกัน แต่ยังสะท้อนออกมาในตัวผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ที่แม้จะถูกกดทับ ถูกทำให้รู้สึกด้อยค่ามาโดยตลอด แต่ในเวทีนี้ กลับไม่มีคำพูดที่บอกถึงความน่าสงสารหรือยอมจำนน มีแต่ถ้อยคำของการลุกขึ้นสู้ ความเข้าใจในสิทธิของตัวเอง และความเชื่อมั่นว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้
“ที่น่าสนใจคือเราเห็นเยาวชนมาเยอะมาก และเขาพร้อมจะหาวิธีการใหม่ๆ ที่ล้ำกว่ารุ่นพ่อแม่ พวกเขากำลังรวมตัวกับผู้ใหญ่ แลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน นี่คือพลังของการเปลี่ยนแปลงจริงๆ”
บทสนทนาในเวทีนี้สะท้อนว่าการรวมพลังไม่ได้จบแค่กิจกรรมเฉพาะกิจ แต่กำลังก่อตัวเป็นระบบทำงานที่เป็นรูปธรรม ทั้งด้านการประสานงาน พัฒนาศักยภาพ การจัดทำข้อมูล และการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในระดับโครงสร้าง
“พวกเขาเห็นแล้วว่าถ้ารัฐธรรมนูญยังเป็นแบบนี้ ถ้าทหารยังมีอำนาจมากขนาดนี้ ปัญหาที่ดินหรือสถานะบุคคลก็ไม่มีทางแก้ได้ เขารู้แล้ว และพร้อมจะรวมพลังกันขับเคลื่อนไปถึงตรงนั้นจริงๆ”
ผู้คนที่เคยเห็นปัญหาเป็นเรื่องส่วนตัว วันนี้เข้าใจแล้วว่าปัญหาทั้งหมดเชื่อมโยงกัน และต้องอาศัยพลังร่วมในการเปลี่ยนแปลง แม้เส้นทางจะยาก แต่พลังความหวังและความตื่นรู้ที่ก่อตัวขึ้นจากเวทีนี้ กำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากรากฐานของสังคมไทยอย่างแท้จริง
รวมพลังคนอยู่กับป่า เดินหน้าทวงสิทธิชุมชน
การพูดคุยและรวบรวมข้อเสนอของเครือข่ายในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการทบทวนอดีต แต่คือการตอกย้ำให้เห็นว่า เงื่อนไขและกฎเกณฑ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 ยังคงกดทับวิถีชีวิตของชุมชนคนอยู่กับป่า และเป็นต้นตอของความขัดแย้งยืดเยื้อต่อเนื่องมากว่า 27 ปี
แม้รัฐเคยให้คำมั่นว่าจะไม่คุกคามชุมชนและเร่งแก้ปัญหา แต่ในความจริง หลายพื้นที่ยังถูกยึดที่ทำกิน ถูกบังคับให้รับนโยบายจัดสรรที่ดินที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่ปรากฏความคืบหน้าใดที่สะท้อนถึงความจริงใจของรัฐ ปัญหานี้ไม่ใช่ความผิดของชาวบ้าน หากแต่เป็นผลจากโครงสร้างรัฐรวมศูนย์ และกฎหมายที่มองชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก ทั้งที่ในความเป็นจริง พวกเขาคือผู้ดูแลป่ามาตลอด จึงถึงเวลาที่สังคมไทยต้องทบทวนแนวทางการจัดการที่ดินและป่าไม้อย่างจริงจัง
ก่อนปิดเวที ตัวแทนเครือข่ายร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ประกาศเจตนารมณ์ว่า สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จะเดินหน้าเรียกร้องให้ยกเลิกหลักเกณฑ์พิสูจน์สิทธิที่ไม่เป็นธรรม และผลักดันให้ “สิทธิชุมชน” กลายเป็นหลักการสำคัญของการจัดการทรัพยากร
ข้อเสนอหลักจากเวที คือ
1.ชุมชนมีสิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชน เช่น มีโฉนดชุมชน พรบ.สิทธิชุมชน ยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดสิทธิชุมชน มีรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิและอำนาจของชุมชน
2.ชุมชนมีสิทธิในการพัฒนาชุมชน ไม่ว่าจะเป็น สาธารณูปโภค การศึกษา สาธารณสุข
3.ชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองมีสิทธิในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพกันยอมรับกันแและกันไม่ว่าจะมีสถานะบุคคลหรือไม่ก็ตาม ผ่านการมีกฎหมายรองรับ
หนึ่งในแผนงานสำคัญคือการผลักดันพื้นที่ต้นแบบการจัดการที่ดินและวัฒนธรรม โดยยึดเป้าหมายข้างต้นเป็นหลัก เสียงเรียกร้องที่ดังก้องจากเวทีนี้ จึงไม่ใช่แค่เสียงสะท้อนของความเดือดร้อน แต่คือคำประกาศที่ชัดเจน ถึงความหวังและความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้มีที่ทาง มีอนาคต และมีสิทธิเสมอภาคอย่างแท้จริงในสังคมไทย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...