‘เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ’ เรียกร้องตั้ง ‘กองทุนสนับสนุนการรวมกลุ่มแรงงาน’ ผลักดันสิทธิแรงงาน–ประชาธิปไตยในที่ทำงาน

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 คณะผู้แทนจากเครือข่ายแรงงานภาคเหนือได้เข้าพบผู้แทนเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจำนวน 15 ข้อ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้เทศบาลในฐานะรัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทเชิงรุกในการส่งเสริมสิทธิแรงงาน พัฒนาสวัสดิการพื้นฐาน และออกแบบเมืองที่เป็นธรรมสำหรับทุกกลุ่มประชากร ไม่เว้นแม้แต่แรงงานข้ามชาติ แรงงานหญิง และผู้ทำงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมักถูกละเลยจากกระบวนการนโยบายสาธารณะ

หนึ่งในข้อเสนอหลักของเครือข่ายคือการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการรวมกลุ่มของแรงงานในทุกรูปแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน และส่งเสริมประชาธิปไตยในสถานประกอบการ พร้อมเรียกร้องให้เทศบาลมีบทบาทในการกำกับติดตามบริษัทเอกชน โดยเฉพาะบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ ให้ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

ข้อเสนอของเครือข่ายยังครอบคลุมประเด็นสำคัญอื่น ๆ เช่น การจัดตั้งงบประมาณประจำเพื่อสนับสนุนกิจกรรมรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงาน การออกแบบพื้นที่เมืองตามหลักความเสมอภาคทางเพศ (Gender Equality Design) และการจัดเตรียมล่ามหลายภาษาเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพและงานราชการได้อย่างสะดวกและเท่าเทียม

เทศบาลยอมรับขีดจำกัดอำนาจตรวจสอบเอกชน

แม้ข้อเสนอหลายประการจะได้รับการตอบรับในหลักการจากหน่วยงานท้องถิ่น แต่เทศบาลระบุว่ายังไม่มีอำนาจโดยตรงในการตรวจสอบบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทาน เว้นแต่จะมีการร้องเรียนจากประชาชน ขณะเดียวกัน หน้าที่หลักในการตรวจสอบสถานประกอบการที่อาจใช้แรงงานผิดกฎหมาย ยังคงเป็นของอำเภอและกระทรวงแรงงาน

เทศบาลยังยอมรับว่ายังไม่มีงบประมาณประจำที่มุ่งเน้นด้านสิทธิแรงงานโดยตรง และที่ผ่านมาการดำเนินงานด้านนี้ต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากองค์กรระหว่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้การทำงานขาดความต่อเนื่องและไม่สามารถขยายผลในระยะยาวได้

เสนอออกแบบเมืองโดยคำนึงถึงเพศและความปลอดภัย

นอกจากประเด็นสิทธิแรงงาน เครือข่ายยังเสนอให้เทศบาลออกแบบพื้นที่สาธารณะโดยใช้หลัก Gender Equality Design เช่น การจัดทางเท้าที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ผู้สูงอายุ และคนเปราะบาง การจัดพื้นที่พักผ่อนที่เข้าถึงได้จริง รวมถึงติดตั้งแสงสว่างอย่างเพียงพอในพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ เครือข่ายเสนอให้มีการจัดเก็บข้อมูลเชิงแยกตามเพศ (gender-segregated data) เพื่อให้การวางนโยบายสามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของประชากรแต่ละกลุ่มได้อย่างแม่นยำ ซึ่งเทศบาลยังไม่มีระบบข้อมูลในลักษณะดังกล่าว

แรงงานข้ามชาติยังเข้าไม่ถึงบริการ–เสนอจัดล่ามภาษาท้องถิ่น

อีกหนึ่งข้อเสนอสำคัญคือการจัดเตรียมล่ามภาษาต่าง ๆ เช่น เมียนมา จีน กะเหรี่ยง และลาว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่แรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและงานราชการ เนื่องจากปัจจุบันเทศบาลมีเพียงล่ามภาษาอังกฤษ ขณะที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษาอื่น ๆ

เทศบาลแสดงความยินดีที่จะร่วมมือกับเครือข่ายแรงงานในการพัฒนาแนวทางนี้ต่อไป โดยย้ำว่า “พร้อมรับฟังและประสานงานหากมีเครือข่ายที่ต้องการร่วมดำเนินการ”

“ไม่ใช่สวัสดิการ แต่คือสิทธิขั้นพื้นฐาน”

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือเน้นย้ำว่า ข้อเสนอทั้งหมดไม่ใช่เพียงการเรียกร้องสวัสดิการหรือสิ่งจูงใจจากรัฐ แต่เป็นหลักประกันพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ และเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

“การที่เมืองจะเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างสมดุลและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต้องยอมรับเสียงของแรงงาน และเปิดพื้นที่ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาอย่างแท้จริง” ตัวแทนเครือข่ายแรงงานกล่าว

สถานการณ์นี้สะท้อนความท้าทายของเทศบาลในการสร้างระบบที่รองรับแรงงานในทุกมิติ ทั้งด้านสิทธิ ความปลอดภัย และการมีส่วนร่วม ขณะที่แรงงานยังคงต้องรอการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อให้เสียงของพวกเขามีที่ยืนในระบบการเมืองท้องถิ่น

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง