ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตโรคไตเรื้อรังที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ทั้งจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูง อัตราการเสียชีวิตที่ยังอยู่ในระดับน่ากังวล และภาระหนักต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเมื่อประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ปัญหาโรคไตเรื้อรังจึงไม่ใช่เพียงปัญหาสุขภาพส่วนบุคคลอีกต่อไป แต่เป็นความท้าทายเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวพันกับพฤติกรรมการบริโภค กeารเข้าถึงบริการรักษา และการวางแผนระบบสาธารณสุขในระยะยาว
จากข้อมูลสถานการณ์โรคไตในประเทศไทยปี 2567 โดย Rocket Media Lab ไม่เพียงสะท้อนภาพรวมของวิกฤตสุขภาพที่กำลังขยายตัวเท่านั้น แต่ยังเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรเปราะบาง แนวโน้มดังกล่าวเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ภาครัฐพิจารณาใช้นโยบายภาษีความเค็ม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2568 เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงของโรคเรื้อรังจากต้นทาง
Lanner ได้ทำการสรุปผลการสำรวจในพื้นที่ภาคเหนือครอบคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ พบว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกระยะรวมกันกว่า 349,000 ราย ขณะเดียวกันยังพบจำนวนผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในระดับที่น่าห่วงในหลายจังหวัด โดยมีศูนย์ฟอกไตใน 17 จังหวัดภาคเหนือเพียง 168 แห่ง กระจายตัวอย่างไม่เท่าเทียม ส่งผลให้ประชาชนบางพื้นที่ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีภูมิประเทศห่างไกล ยังเข้าไม่ถึงการรักษาอย่างทั่วถึง

ภาคเหนือวิกฤต ผู้ป่วยโรคไตทะลุ 3.4 แสนคน 5 ปี เสียชีวิต 1.6 หมื่นคน
ผู้ป่วยโรคไตทุกระยะรวมกันจำนวนทั้งสิ้น 349,314 ราย โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยระยะที่ 1 จำนวน 40,067 ระยะที่ 2 จำนวน 84,899 ราย ระยะที่ 3 จำนวน 155,557 ราย ระยะที่ 4 จำนวน 41,598 ราย ระยะที่ 5 จำนวน 27,193 ราย สำหรับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ป่วยทุกระดับสูงที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ จังหวัดเชียงราย มีผู้ป่วย 49,023 ราย รองลงมาคือจังหวัดเชียงใหม่ 36,442 ราย และจังหวัดลำปาง 25,161 ราย
จังหวัด | จำนวนผู้ป่วยทุกระยะ | ระยะที่ 1 | ระยะที่ 2 | ระยะที่ 3 | ระยะที่ 4 | ระยะที่ 5 |
เชียงราย | 49,023 | 8,146 | 12,615 | 19,563 | 5,737 | 2,962 |
เชียงใหม่ | 36,442 | 3,875 | 7,640 | 16,786 | 5,289 | 2,852 |
ลำปาง | 25,161 | 3,009 | 6,095 | 11,157 | 3,371 | 1,529 |
นครสวรรค์ | 25,068 | 1,844 | 5,586 | 13,232 | 3,161 | 1,245 |
ลำพูน | 23,799 | 4,567 | 8,191 | 6,914 | 1,878 | 2,249 |
พิษณุโลก | 22,548 | 2,100 | 6,147 | 9,916 | 2,640 | 1,745 |
สุโขทัย | 21,762 | 1,985 | 5,190 | 11,142 | 2,531 | 914 |
เพชรบูรณ์ | 19,279 | 1,688 | 4,625 | 9,632 | 2,185 | 1,149 |
น่าน | 18,981 | 1,704 | 3,548 | 5,803 | 1,464 | 6,462 |
พะเยา | 18,134 | 2,246 | 5,189 | 7,457 | 2,167 | 1,075 |
กำแพงเพชร | 17,548 | 1,075 | 4,387 | 9,037 | 2,099 | 950 |
แพร่ | 17,079 | 2,012 | 3,847 | 7,821 | 2,307 | 1,092 |
พิจิตร | 15,401 | 1,314 | 3,705 | 7,674 | 1,999 | 709 |
ตาก | 13,844 | 2,130 | 3,298 | 6,297 | 1,582 | 537 |
อุตรดิตถ์ | 13,570 | 835 | 2,498 | 7,621 | 1,638 | 978 |
อุทัยธานี | 7,393 | 610 | 1,299 | 3,921 | 1,094 | 469 |
แม่ฮ่องสอน | 4,282 | 927 | 1,039 | 1,584 | 456 | 276 |
รวม | 349,314 | 40,067 | 84,899 | 155,557 | 41,598 | 27,193 |
นอกจากนี้อัตราการเสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังตั้งแต่ปี 2561 – 2566 จำนวนทั้งสิ้น 16,619 ราย โดยจังหวัดที่มีจำนวนอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ จังหวัดลำปาง ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 1,983, ราย ตามมาด้วยจังหวัดน่าน 1,233 ราย และจังหวัดนครสวรรค์ 1,037 ราย ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหาที่ไม่ใช่เพียงเรื่องจำนวนผู้ป่วยเท่านั้นแต่อัตราการเสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังก็อยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยเฉพาะในบางจังหวัดของภาคเหนือ เช่น จังหวัดน่าน ซึ่งมีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 45.78 ต่อแสนประชากร ลำปาง 41.7 ต่อแสนประชากร และ พะเยา 40.45 ต่อแสนประชากร โดย อัตราการเสียชีวิตของ 17 จังหวัดภาคเหนือคือ 24.1 ต่อแสนประชากร
จังหวัด | อัตราเสียชีวิต (ต่อแสนประชากร) 2561-2566 | จำนวนเสียชีวิต (คน) 2561-2566 |
ลำปาง | 45.42 | 1,983 |
น่าน | 43.26 | 1,233 |
พะเยา | 37.11 | 1,037 |
แพร่ | 31.95 | 838 |
อุตรดิตถ์ | 28.83 | 775 |
ลำพูน | 25.6 | 614 |
เชียงราย | 25.34 | 1,778 |
สุโขทัย | 22.45 | 793 |
เชียงใหม่ | 21.13 | 2,064 |
นครสวรรค์ | 20.67 | 1,294 |
กำแพงเพชร | 20.09 | 863 |
พิษณุโลก | 19.17 | 981 |
เพชรบูรณ์ | 18.81 | 1,108 |
อุทัยธานี | 15.03 | 294 |
พิจิตร | 14.82 | 473 |
ตาก | 11.1 | 362 |
แม่ฮ่องสอน | 8.93 | 129 |
รวม | 24.10058824 | 16,619 |
ความ (ไม่) พร้อมของศูนย์ฟอกไต 17 จังหวัดภาคเหนือ
ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ปัจจุบันมีศูนย์ฟอกไตรวมทั้งสิ้น 168 แห่ง โดยจังหวัดเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่มีศูนย์ฟอกไตมากที่สุดถึง 41 แห่ง รองลงมาคือ จังหวัดลำปางที่มี 12 แห่ง ตามด้วย นครสวรรค์ 11 แห่ง และอีกสามจังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ลำพูน และเชียงราย ซึ่งต่างมีศูนย์ฟอกไตจัดหวัดละ 10 แห่ง กลุ่มจังหวัดที่มีศูนย์ฟอกไตอยู่ในระดับใกล้คเียงกันคือ ตาก พะเยา เพชรบูรณ์ และแพร่ ซึ่งแต่ละจังหวัดมีอยู่ 9 แห่ง ขณะที่จังหวัดน่านและสุโขทัยมีจังหวัดละ 7 แห่ง ส่วนอุตรดิตถ์มีอยู่ 6 แห่ง สำหรับจังหวัดที่มีศูนย์ฟอกไตจำนวนน้อย ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี ซึ่งมีจังหวัดละ 5 แห่ง และแม่ฮ่องสอนมีจำนวนศูนย์ฟอกไตน้อยที่สุดในภาคเหนือ คือ 3 แห่ง
การกระจายตัวของศูนย์ฟอกไตภาคเหนือดังกล่าว สะท้อนถึงความแตกต่างในการเข้าถึงบริการสาธารณะสุขของแต่ละพื้นที่ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับจำนวนประชากร ลักษณะภูมิประเทศ โครงสร้างพื้นฐานและศักยภาพของระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่นั้นๆ โดยรวมกัน การมีศูนย์ฟอกไตจำนวน 168 แห่ง ในภาคเหนือเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพและจัดสรรทรัพยากรด้านสาธารณะสุขอย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อพิจารณาความพร้อมของระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่ พบว่าศูนย์บริการฟอกไตในหลายจังหวัดยังมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีพื้นที่ห่างไกล เช่น แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีผู้ป่วยโรคไตรวม 4,282 ราย แต่อัตราการเข้าถึงบริการยังต่ำ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในเชิงโครงสร้าง
อันดับ | จังหวัด | จำนวนศูนย์ฟอกไต |
1 | เชียงใหม่ | 41 |
2 | ลำปาง | 12 |
3 | นครสวรรค์ | 11 |
4 | พิษณุโลก | 10 |
5 | ลำพูน | 10 |
6 | เชียงราย | 10 |
7 | ตาก | 9 |
8 | พะเยา | 9 |
9 | เพชรบูรณ์ | 9 |
10 | แพร่ | 9 |
11 | น่าน | 7 |
12 | สุโขทัย | 7 |
13 | อุตรดิตถ์ | 6 |
14 | กำแพงเพชร | 5 |
15 | พิจิตร | 5 |
16 | อุทัยธานี | 5 |
17 | แม่ฮ่องสอน | 3 |
เก็บภาษีความ “เค็ม” แก้ไขปัญหาโรคไต
Rocket Media Lab และ สสส. ระบุว่า หากไม่มีการดำเนินมาตรการป้องกันอย่างเป็นระบบ สถานการณ์โรคไตในประเทศไทยจะยิ่งเลวร้ายลง โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ” ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในกลุ่มสูงวัยและประชากรวัยทำงาน
รายงานจึงเสนอให้รัฐเร่งดำเนินมาตรการหลายด้านควบคู่กัน ทั้งการเก็บภาษีความเค็ม การส่งเสริมพฤติกรรมบริโภคที่ดี การให้ความรู้แก่ประชาชน และการลงทุนในระบบบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุมและเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ ซึ่งข้อมูลล่าสุดสะท้อนชัดถึงภาวะวิกฤตและความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเพียงพอ
สถานการณ์โรคไตในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ อยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด การดำเนินนโยบายภาษีความเค็มในปี 2568 จึงเป็นก้าวสำคัญในการป้องกันโรคเชิงรุก ควบคู่กับการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้ทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสร้างสังคมไทยที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...