ภายหลังการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อุตสาหกรรมทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ แร่หายาก หรือไม้สัก ไม่ได้หยุดนิ่งตามความวุ่นวายทางการเมือง แต่กลายเป็นรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงอำนาจของรัฐบาลทหาร และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นแหล่งทุนให้กับกลุ่มกองกำลังที่อำนาจรัฐบาลเมียนมาเข้าไม่ถึง
รายงาน “Break the Ground” โดย Natural Resource Justice – Myanmar ได้ถอดภาพรวมของอุตสาหกรรมเหล่านี้อย่างละเอียดในช่วง 3 ปีหลังรัฐประหาร โดยชี้ให้เห็นถึง ความเปราะบางของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ท่ามกลางความขัดแย้ง ความไม่โปร่งใส และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น นับตั้งแต่การที่เมียนมาถูกถอดจากเวทีความโปร่งใสนานาชาติ (EITI) ไปจนถึงบทบาทของบริษัทข้ามชาติที่ยังดำเนินกิจการในพื้นที่ความขัดแย้ง
The Mekong BUTTERFLY ได้สรุปรายงาน “Break the Ground” ซึ่งจัดทำโดย Natural Resource Justice – Myanmar เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่เผยว่าภายหลังรัฐประหารในเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมสกัดทรัพยากร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสาหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยก่อนหน้านั้น อุตสาหกรรมดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 30% ของมูลค่าการส่งออก และคิดเป็น 4.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
ภายหลังรัฐประหาร เมียนมาถูกถอดถอนจากโครงการความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากร (Extractive Industries Transparency Initiative – EITI) พร้อมทั้งเผชิญมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศในตะวันตก ทำให้บริษัทต่างชาติหลายแห่งทยอยถอนตัวออกจากประเทศ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลทหาร แม้การผลิตจะลดลงและประเทศประสบวิกฤตพลังงานภายใน ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ โดยเฉพาะการขุดหยกและแร่แรร์เอิร์ธ (rare earth) กลับขยายตัวอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ ซึ่งทำให้การส่งออกแร่ไปยังจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) พยายามเข้าควบคุมอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากร ด้วยการจัดตั้งกรอบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติชั่วคราว พร้อมทั้งเรียกร้องให้บริษัทต่างชาติยุติการจ่ายเงินให้กับรัฐบาลทหาร
อย่างไรก็ตาม กองทัพยังคงครองอิทธิพลเหนือนโยบายพลังงาน โดยเฉพาะโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงเดินหน้าออกใบอนุญาตเหมืองแร่ในพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมของตน สถานการณ์นี้สะท้อนถึงพลวัตอันซับซ้อนและความไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรในเมียนมาภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร
อุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรเสาหลักทางเศรษฐกิจของเมียนมา
อุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรถือเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจเมียนมา โดยในปีงบประมาณ 2560–2561 ภาคส่วนนี้มีสัดส่วนสูงถึง 30% ของการส่งออกทั้งหมด และคิดเป็น 4.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สร้างรายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติราว 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายได้จากแร่และอัญมณีอีกกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบเศรษฐกิจเมียนมา โดยมีบริษัทข้ามชาติรายใหญ่จากทั้งเอเชียและยุโรปเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากไทย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ส่วนภาคเหมืองแร่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การลงทุนจากจีน ทั้งในรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการ ขณะเดียวกันยังมีการทำเหมืองขนาดเล็กอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ
รัฐวิสาหกิจมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรในทุกมิติ ตั้งแต่การออกใบอนุญาต การจัดเก็บภาษี ไปจนถึงการกำหนดนโยบาย ภาคส่วนนี้ดำเนินการผ่านรัฐวิสาหกิจหลัก ได้แก่ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) – วิสาหกิจด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ Myanmar Gems Enterprise (MGE) – วิสาหกิจด้านอัญมณี Mining Enterprise No. 1 (ME-1) และ No. 2 (ME-2) – วิสาหกิจด้านเหมืองแร่ Myanmar Pearl Enterprise (MPE) – วิสาหกิจด้านไข่มุก Myanmar Timber Enterprise (MTE) – วิสาหกิจด้านการค้าไม้

ผลกระทบของรัฐประหารต่ออุตสาหกรรมสกัดทรัพยากร
การตอบสนองของนานาชาติ
หนึ่งในสัญญาณสำคัญคือการที่เมียนมาถูกถอดถอนอย่างเป็นทางการจากโครงการความความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัด (Extractive Industries Transparency Initiative – EITI) เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 การถอนตัวครั้งนี้ย้ำถึงการปิดกั้นบทบาทของภาคประชาสังคม และความล้มเหลวในการกำกับดูแลทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม
ในเวทีระหว่างประเทศ รัฐบาลตะวันตกหลายประเทศได้ออกมาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง บุคคลใกล้ชิดกองทัพ และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากร ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของกองทัพเมียนมา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหภาพยุโรป ได้ดำเนินการคว่ำบาตรหน่วยงานหลักอย่าง Myanmar Gems Enterprise (MGE) , Myanmar Timber Enterprise (MTE) , Myanmar Pearl Enterprise (MPE) , Mining Enterprise No. 1 (ME-1) , Mining Enterprise No. 2 (ME-2) , Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE)

บทบาทของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government – NUG) ได้จัดตั้งกรอบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติชั่วคราว เพื่อควบคุมดูแลภาคป่าไม้และเหมืองแร่ โดยมีมาตรการสำคัญคือ การระงับการอนุญาตเหมืองแร่รายใหม่ทั้งหมด พร้อมออกแนวทางการจัดการเกี่ยวกับเหมืองแร่ ป่าไม้ และการขนส่งหยกและอัญมณี เพื่อป้องกันไม่ให้ทรัพยากรเหล่านี้กลายเป็นแหล่งรายได้ของรัฐบาลทหาร
นอกจากนี้ NUG ยังได้ประกาศยุบสมาคมผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับเมียนมา (Myanmar Gems and Jewellery Entrepreneurs Association – MGJEA) และขึ้นบัญชีดำสมาชิกของสมาคม เนื่องจากตรวจพบว่าบางรายยังคงทำธุรกรรมทางการเงินกับรัฐบาลทหาร ผ่านการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอัญมณีที่จัดโดยรัฐ
ในภาคพลังงาน NUG พยายามตัดเส้นทางรายได้ของกองทัพจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยเรียกร้องให้บริษัทน้ำมันข้ามชาติยุติการจ่ายเงินให้กับรัฐบาลทหาร รวมถึงออกจดหมายถึงบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เพื่อขอให้รายงานกิจกรรมทางการเงินและการดำเนินงานทั้งหมดต่อ NUG พร้อมทั้งเรียกร้องให้ระงับการจ่ายเงินปันผลให้กับคณะเผด็จการทหารผ่านทางบริษัทวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซของรัฐเมียนมา (Myanma Oil and Gas Enterprise – MOGE)
การดำเนินการของรัฐบาลทหาร
แม้จะสูญเสียการควบคุมพื้นที่เหมืองแร่สำคัญหลายแห่งให้แก่กองกำลังชาติพันธุ์และกลุ่มต่อต้าน รัฐบาลทหารเมียนมายังคงเดินหน้าดำเนินกิจกรรมด้านเหมืองแร่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการออกใบอนุญาตให้กับเหมืองทองคำขนาดกลางในพื้นที่ที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างมั่นคง นอกจากนี้ ยังมีการจัดประมูลสัมปทานแร่ทองแดง นิกเกิล ดีบุก และพลวง รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 16 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการผลิตอย่างเป็นทางการกลับสะท้อนภาพที่ตรงกันข้าม โดยพบว่าการดำเนินงานของเหมืองแร่ขนาดใหญ่หลายแห่งประสบปัญหาจนต้องลดการผลิตหรือหยุดชะงักไปโดยสิ้นเชิง
ในอีกด้านหนึ่ง คณะเผด็จการทหารยังคงมีอิทธิพลเหนียวแน่นเหนืออุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐ โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลทหารได้ถึงปีละประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมนี้จึงกลายเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่ยังคงหล่อเลี้ยงการดำรงอยู่ของระบอบเผด็จการในเมียนมา
น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
หลังการรัฐประหารในปี 2564 ภาคน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลทหารเมียนมา โดยสร้างรายได้จากการส่งออกถึง 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 และอยู่ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023
แม้ว่าการผลิตจากแหล่งก๊าซยาดานา ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จะเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2022 แต่ปริมาณการส่งออกโดยรวมยังคงทรงตัว อย่างไรก็ตาม การจัดสรรก๊าซสำหรับใช้ภายในประเทศกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้งและก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่องหลังรัฐประหาร ทำให้บริษัทน้ำมันข้ามชาติหลายแห่ง เช่น TotalEnergies, Chevron, Petronas และ Woodside ตัดสินใจถอนการลงทุนออกจากเมียนมา ขณะที่บางบริษัท เช่น POSCO จากเกาหลีใต้ และ China National Petroleum Corporation (CNPC) ของจีน ยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปในประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น
เหมืองแร่
หยกและอัญมณี อุตสาหกรรมหยกของเมียนมามีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นแหล่งรายได้สำคัญของทั้งกองทัพและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยเฉพาะในรัฐคะฉิ่น หลังรัฐประหาร กลุ่มองค์กรอิสระคะฉิ่น (Kachin Independence Organization – KIO) ได้กลายเป็นผู้มีอิทธิพลหลักในอุตสาหกรรมเหมืองหยกในพื้นที่ ส่งผลให้การส่งออกหยกไปยังจีนพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยมีมูลค่าส่งออกถึง 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 , 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 และ 736 ล้านดอลลาร์ในปี 2566
แร่หายาก (Rare Earth Elements) เมียนมาเป็นหนึ่งในผู้ผลิตแร่หายากรายสำคัญของโลก โดยเฉพาะดิสโพรเซียม (Dysprosium) และเทอร์เบียม (Terbium) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง การทำเหมืองแร่หายากในรัฐคะฉิ่นขยายตัวอย่างรวดเร็วหลังรัฐประหาร แต่ขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนในพื้นที่อย่างรุนแรง มูลค่าการส่งออกแร่หายากไปยังจีนเพิ่มขึ้นจาก 811 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 เป็น 1.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565
ทองแดง การส่งออกทองแดงของเมียนมาลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังความไม่มั่นคงทางการเมืองและการหยุดชะงักของการดำเนินงานในเหมืองขนาดใหญ่ โดยมูลค่าการส่งออกทองแดงไปยังจีนลดลงจาก 430 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 เหลือเพียง 0.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2566
นิกเกิล แม้เหมืองนิกเกิลตะกั่วตอง (Taguang Taung) จะยังคงดำเนินการอยู่ แต่การส่งออกนิกเกิลไปยังจีนก็ลดลงจาก 340 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 เหลือ 93 ล้านดอลลาร์ในปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนในประเทศ
ดีบุก การทำเหมืองดีบุกในเมียนมากระจุกตัวอยู่ในสามพื้นที่หลัก ได้แก่ รัฐว้า ภูมิภาคตะนาวศรี และรัฐกะเหรี่ยง โดยมีตลาดส่งออกหลักคือจีน ไทย และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รูปแบบการส่งออกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยการส่งออกไปมาเลเซียลดลงเป็นศูนย์ในปี 2566 ขณะที่การส่งออกไปไทยกลับเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านดอลลาร์
ป่าไม้
อุตสาหกรรมไม้ของเมียนมาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักจากการตัดไม้อย่างผิดกฎหมายและขาดความยั่งยืน ส่งผลให้เกิดการทำลายป่าและความเสียหายต่อระบบนิเวศในวงกว้าง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2564 รัฐบาลทหารได้เร่งการตัดไม้สักที่ยังเหลืออยู่ เพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมต่อเรือยอชต์ พื้นไม้ และเฟอร์นิเจอร์หรูในต่างประเทศ
แม้จะเผชิญเสียงประณามจากนานาประเทศ บริษัทวิสาหกิจค้าไม้แห่งเมียนมา (Myanmar Timber Enterprise – MTE) ยังคงเดินหน้าจัดการประมูลไม้ โดยในช่วงปี 2565–2566 มีการจัดประมูลรวมทั้งสิ้น 11 ครั้ง ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศชี้ว่า ในปี 2566 มีการนำเข้าไม้สักจากเมียนมาเป็นมูลค่าสูงถึง 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผู้นำเข้าหลัก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เยอรมนี กรีซ อิตาลี โปแลนด์ อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน กลุ่มปฏิวัติในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงกองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defense Force – PDF) ได้เริ่มจัดเก็บภาษีจากกิจกรรมทำไม้ในเขตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของตน เพื่อใช้เป็นแหล่งรายได้สนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหาร

ภาพรวมสถานการณ์
ภาพรวมของอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรในเมียนมาตลอด 3 ปีหลังรัฐประหาร สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของพลวัตทางการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รัฐบาลทหารยังคงพยายามรักษาการควบคุมเหนือทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ แม้ว่าจะสูญเสียพื้นที่บางส่วนให้กับกองกำลังปฏิวัติ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านก็หันมาใช้ทรัพยากรเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้หลักเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของตนเอง
ทั้งสองฝ่ายต่างพึ่งพาการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการระดมทุน ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ท่ามกลางความต้องการของตลาดโลกที่ยังคงมีต่อผลิตภัณฑ์จากแร่ หยก ไม้ และพลังงานของเมียนมา แม้จะมีข้อกังวลด้านจริยธรรมและความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การมีส่วนร่วมของบริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรของเมียนมา จึงควรได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นมากขึ้น พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และยกระดับความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติดำเนินไปอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน นำไปสู่เส้นทางของการพัฒนาที่ครอบคลุม และวางรากฐานสู่สันติภาพที่แท้จริงของเมียนมาในอนาคต
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...