ชาวแม่สายผวา ‘หายนะเงียบ’ แม่น้ำปนเปื้อนโลหะหนัก ยื่น AICHR ดันปัญหาข้ามพรมแดน รัฐเตรียมเจรจาเมียนมาสิงหาคมนี้

“หายนะของคนอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงที่กำลังลุกลามอย่างเงียบงัน” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

ชาวบ้านริมฝั่งน้ำแม่สาย จังหวัดเชียงราย เริ่มพูดถึงคำว่า ‘หายนะ’ ไม่ใช่ในรูปของน้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยธรรมชาติที่มองเห็นได้ชัด แต่คือ ‘ภัยเงียบ’ ที่ไหลมากับสายน้ำ โลหะหนักจากฝั่งเมียนมาที่ไม่มีใครรู้ว่าซึมลึกมานานแค่ไหน

หลังผลตรวจพบการปนเปื้อนของโลหะหนักในแม่น้ำสาย รวก กก และโขง เสียงสะท้อนจากชุมชนท้องถิ่นก็ดังขึ้นเรื่อยๆ พร้อมคำถามถึงการรับมือของรัฐในสถานการณ์ที่อาจลุกลามเกินควบคุม บางครอบครัวเริ่มมีคนป่วย ผิวหนังลอก ผื่นคัน ไปจนถึงภาวะเครียดสะสมจนต้องพบจิตแพทย์

16 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา เวทีรับฟังความคิดเห็น ณ เทศบาลตำบลแม่สาย มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม พร้อมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AICHR) ผ่าน ภาณุภัทร จิตเที่ยง ผู้แทนไทย เพื่อผลักดันให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน อันเป็นผลมาจากการทำเหมืองแร่ในฝั่งรัฐฉาน ประเทศเมียนมา

“เครียดกันทั้งบ้าน” ผลกระทบไม่ใช่แค่กาย แต่ลามถึงใจ

สุสนี วรศรีโสทร จากชุมชนไม้ลุงขน เล่าว่า ช่วงฝนตกคราใด ชาวบ้านแทบอยู่ไม่เป็นสุข “กลัวว่าน้ำจะท่วมแล้วสารพิษจะเข้าบ้าน” หลายคนเริ่มมีอาการผิดปกติที่ไม่เคยพบ เช่น ผื่นคัน มือเท้าลอก และภาวะเครียดที่กระทบทั้งครอบครัว

แม้ภาครัฐโดยประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าฯ เชียงราย จะยืนยันว่าคุณภาพน้ำประปาและผลผลิตทางการเกษตรยังไม่เกินมาตรฐาน แต่ก็ยอมรับว่ามีการพบสารหนูเกินค่าปกติในแม่น้ำสายหลัก พร้อมขอให้ประชาชน “ไม่ตระหนก แต่ตระหนัก”

ช่องว่างข้ามพรมแดน โลหะหนักจากใคร? และใครได้ประโยชน์?

ขณะที่ชาวบ้านเฝ้าระวังแม่น้ำ นักวิชาการกลับจ้องมองไปยังภูเขาฝั่งตรงข้าม ดร.สืบสกุล กิจนุกร จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ชี้ว่าการนำเข้าแร่จากเมียนมาผ่านด่านแม่สายควรถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวด “ใครได้ประโยชน์จากแร่เหล่านี้? และจะเป็นไปได้ไหมว่านี่คือต้นเหตุของสารพิษในไทย?”

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุว่าเหมืองแรร์เอิร์ธฝั่งเมียนมาอยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 2 กิโลเมตร ซึ่งอาจเป็นต้นทางของการปล่อยสารพิษสู่แม่น้ำ “นี่คือหายนะของคนทั้งลุ่มน้ำโขง ไม่ใช่แค่แม่สาย”

เจรจาเมียนมา สิงหาคมนี้ รัฐบาลขยับ แต่ประชาชนขอมากกว่านั้น

รัฐบาลไทยเตรียมส่งคณะเจรจา นำโดยรองนายกรัฐมนตรีประเสริฐ จันทรรวงทอง เดินทางเยือนกรุงเนปิดอว์ ระหว่างวันที่ 4–8 สิงหาคมนี้ เพื่อหารือกับทางการเมียนมา โดย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ระบุว่าได้รับการตอบรับแล้ว และอยู่ระหว่างการขอเข้าตรวจสอบพื้นที่เหมือง

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือระยะยาวระหว่างประเทศ รวมถึงการให้ข้อมูลที่โปร่งใสต่อสาธารณะ และการสนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบคุณภาพน้ำด้วยตนเอง

สมพร เพ็งค่ำ จากสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบสุขภาพโดยชุมชน เสนอให้รัฐเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ควบคุม” มาเป็น “ผู้สนับสนุน” ให้ชุมชนสามารถบันทึกข้อมูลคุณภาพน้ำได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถใช้ผลักดันเชิงนโยบาย

“หายนะครั้งนี้จะลากยาวแน่ๆ ถ้าไม่ยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นวาระใหญ่ เราจะไม่มีวันจัดการมันได้ทัน” นิวัฒน์ ร้อยแก้

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง