ภาคประชาสังคมชายแดนยื่น กมธ.สภาฯ ขอรัฐเปิดทางผู้หนีภัยสงครามทำงานในไทย หลังงบช่วยเหลือถูกตัด

17 กรกฎาคม 2568 กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมชายแดนไทย–เมียนมา 11 องค์กร เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร 5 คณะ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งเปิดช่องทางให้ผู้หนีภัยจากการสู้รบในค่ายพักพิงตามแนวชายแดน สามารถออกไปทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่องค์กรระหว่างประเทศเตรียมยุติการสนับสนุนด้านอาหารและบริการสุขภาพในค่ายทั้ง 9 แห่ง หลังวันที่ 31 กรกฎาคมนี้

กลุ่มผู้จัดทำหนังสือประกอบด้วยองค์กรผู้ลี้ภัยและสิทธิมนุษยชน อาทิ คณะกรรมการผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง (KRC), องค์การสตรีชาวกะเหรี่ยง (KWO), มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (FWB), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF), และเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) โดยเน้นย้ำว่า ผู้หนีภัยกว่า 107,000 คนที่อาศัยในค่ายพักพิงมาเป็นเวลานาน (บางรายนานกว่า 30 ปี) กำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงในชีวิต ทั้งที่ราว 80,813 คนมีรายชื่อในระบบฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยและ UNHCR

ภาคประชาสังคมเสนอให้รัฐพิจารณาโครงการนำร่องเพื่อจัดระเบียบการออกไปทำงานของผู้หนีภัย โดยมีข้อเสนอหลัก 5 ประการ ได้แก่

1.อนุญาตผู้ลี้ภัยที่มีทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ออกไปทำงานแบบไป-กลับในพื้นที่ใกล้ค่าย โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนซับซ้อน

2.พัฒนารูปแบบการจัดการโดยอิงบริบทท้องถิ่น ผ่านความร่วมมือกับนายจ้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม

3.ยกเว้นค่าธรรมเนียมบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงานแก่ผู้ลี้ภัยที่ไม่มีศักยภาพในการแบกรับภาระทางเศรษฐกิจ

4.ส่งเสริมการเรียนภาษาไทย ทั้งในรูปแบบเร่งรัด การศึกษานอกระบบ และหลักสูตรในค่าย

5.สำรวจและจัดทำทะเบียนผู้ลี้ภัยที่ยังไม่อยู่ในระบบ เพื่อป้องกันการตกหล่นและเสริมสร้างความมั่นคงในการบริหารจัดการ

    เครือข่ายฯ ยังอ้างอิงผลสำรวจซึ่งระบุว่า ร้อยละ 57.4 ของผู้หนีภัยต้องการสถานะทางกฎหมายเพื่อสามารถทำงานในประเทศไทย และถึงร้อยละ 80 เห็นว่า “ประเทศไทยคือบ้านของพวกเขา”

    ทางด้าน รังสิมันต์ โรม ประธานคณะกรรมาธิการการความมั่นคงแห่งรัฐ ความมั่นคงภายในประเทศ รับหนังสือข้อเสนอจากภาคประชาสังคม พร้อมให้คำมั่นว่าจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงต่างประเทศ และผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางปฏิบัติที่นำไปใช้ได้จริง โดยกล่าวว่า “หากได้รับโอกาส ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย”

    ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

    ข่าวที่เกี่ยวข้อง