‘จังหวัดแพร่’ เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวเล่าขาน หลากหลายของดี และแหล่งท่องเที่ยวอายุนับพันปีอันเลื่องชื่อ ตั้งแต่ตำนานพระลอ พระธาตุช่อแฮ แพะเมืองผี หม้อห้อม ไม้สัก และที่ขาดไม่ได้คือ ‘เหล้ากลั่นพื้นบ้าน’ ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้
และถ้าหากกล่าวถึง “จังหวัดที่มีการดื่มเหล้ามากที่สุดในไทย” อาจปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แพร่ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องการดื่มเหล้าเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยข้อมูลล่าสุดจากรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด พ.ศ. 2564 ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2564 แพร่ครองสถิติการดื่มเหล้าต้มหรือเหล้าชุมชนเป็นอันดับสูงสุดของประเทศ ด้วยสัดส่วนถึง 43.2% รองลงมาคือ น่าน 35.5% สุโขทัย 34.9% ลำปาง 34.3% และเชียงราย 28.2% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ สถิติเหล่านี้ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ปริมาณการบริโภคเท่านั้น แต่ยังบ่งบอกถึงวิถีชีวิตและความผูกพันของชาวแพร่กับเหล้าต้ม ซึ่งสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน การผลิตเหล้าต้มหรือเหล้ากลั่นจึงไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ชุมชน
จังหวัดแพร่ขึ้นชื่อด้านภูมิปัญญาการผลิตเหล้าพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน และถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างพื้นที่ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน อีกทั้งยังมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2557-2566) พื้นที่แพร่จัดเก็บภาษีสุราชุมชนเฉลี่ย 443 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของการจัดเก็บภาษีสุราชุมชนทั่วประเทศ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “มหานครแห่งสุราพื้นบ้าน” การเติบโตนี้ไม่เพียงแต่สร้างรายได้มหาศาล แต่ยังสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ผู้สูงอายุที่ทำหน้าที่ล้างขวด ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ที่นำความรู้กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อยอดทางธุรกิจ ซึ่งเป็นทั้งการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาชาวบ้านให้คงอยู่สืบไป
ปัจจุบันจังหวัดแพร่มีกลุ่มผู้ผลิตสุราพื้นบ้านกว่า 200 ราย อาทิ วิสาหกิจชุมชนสุราตะวันรอน วิสาหกิจชุมชนสุราพรทิพย์ วิสาหกิจชุมชนแก่งเสือเต้น และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสุราสักทองแพร่ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์สุราชุมชนมากมาย โดยเฉพาะ ‘สุราสักทองแพร่’ และ ‘สุราแก่งเสือเต้น’ ที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI (Geographical Indication) ในปี 2567
10 เดือนที่ผ่านมาแพร่เสียภาษีสุราชุมชนไปเท่าไหร่?
การผลิตเหล้าแพร่ไม่เพียงแต่สร้างรายได้ให้กับชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัด โดยข้อมูลผลการจัดเก็บภาษีสุราชุมชน จากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่แพร่ ปีงบประมาณ 2567 ของสาขาเมืองแพร่ (ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมือง หนองม่วงไข่ ร้องกวาง สอง) และสาขาเด่นชัย (ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเด่นชัย สูงเม่น ลอง วังชิ้น) เผยให้เห็นว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 – เดือนกรกฎาคม 2567 จังหวัดแพร่สามารถจัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนในพื้นที่ 8 อำเภอได้สูงถึง 297,893,624.29 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เดือนตุลาคม 2566 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 29,054,078.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 28,119,162.00 บาท และสาขาเด่นชัย 934,916.00 บาท
เดือนพฤศจิกายน 2566 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 27,442,057.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 26,548,228.00 บาท และสาขาเด่นชัย 893,829.00 บาท
เดือนธันวาคม 2566 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 32,203,110.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 31,224,765.00 บาท และสาขาเด่นชัย 978,345.00 บาท
เดือนมกราคม 2567 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 32,720,174.29 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 31,800,303.29 บาท และสาขาเด่นชัย 919,871.00 บาท
เดือนกุมภาพันธ์ 2567 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 32,449,266.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 31,355,399.00 บาท และสาขาเด่นชัย 1,093,867.00 บาท
เดือนมีนาคม 2567 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 32,095,587.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 30,902,392.00 บาท และสาขาเด่นชัย 1,193,195.00 บาท
เดือนเมษยน 2567 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 27,236,024.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 26,299,836.00 บาท และสาขาเด่นชัย 936,188.00 บาท
เดือนพฤษภาคม 2567 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 22,586,641.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 21,618,075.00 บาท และสาขาเด่นชัย 968,566.00 บาท
เดือนมิถุนายน 2567 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 28,391,550.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 27,441,205.00 บาท และสาขาเด่นชัย 950,345.00 บาท
เดือนกรกฎาคม 2567 จังหวัดแพร่จัดเก็บภาษีสุรากลั่นชุมชนได้ทั้งหมด 33,715,137.00 บาท โดยแบ่งเป็น สาขาเมืองแพร่ 32,709,861.00 บาท และสาขาเด่นชัย 1,005,276.00 บาท
ปลดล็อคการผลิต แต่ไปไม่ถึงการสร้างโอกาส: ปัจจุบันกฎหมายเกี่ยวกับสุราปลดล็อกอะไรไปแล้วบ้าง?
ปัจจุบันมีการแก้ไข ‘กฎกระทรวงการคลัง มาตรา 153 เพื่อปลดล็อกการผลิตสุรา’ ซึ่งถูกประกาศเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน ทั้งนี้ ผู้ผลิตสุราชุมชนที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้ ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
2. ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนสำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี กรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียน ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง
3. เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี สถานที่ผลิตสุราต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี แม้จะมีการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าว แต่ทางออกของปัญหาสุราพื้นบ้านจังหวัดแพร่ไม่ได้สิ้นสุดที่การปลดล็อกการผลิต แต่ควรไปจบที่การสร้างโอกาส การสร้างการรับรู้และความเข้าใจภาพลักษณ์ใหม่ของสุราพื้นบ้านจังหวัดแพร่ และนี่คือโจทย์สำคัญที่ภาคประชาชนสุราก้าวหน้าจังหวัดแพร่ที่ประกอบด้วยผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้นำท้องถิ่น รวมไปถึงประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นตรงกันว่า ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การจัดกิจกรรมสุราก้าวหน้า สร้างการรับรู้ใหม่ให้แก่จังหวัดแพร่
อ้างอิง
- ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดแพร่
- ของดีแพร่ (Assets Phrae)
- เหล้าขาวที่ดีที่สุดอยู่ที่สะเอียบ
- ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน GI
- ‘สุราสักทองแพร่’ ซอฟพาวเวอร์ไทย ใช่ GI หรือไม่
- “เหล้าพื้นบ้าน” ของดีเมืองแพร่ ผลักขึ้นแท่นสินค้า GI
- กรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมดัน“สุราสักทองแพร่”เป็นสินค้าจีไอ
- รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายจังหวัด พ.ศ. 2564
- “กิน-เล่า-บนดอย” คุยกับภาคประชาชนจังหวัดแพร่ ร่วมหาทิศทางออกแบบงานสุราก้าวหน้า
- ข้อมูลผลการจัดเก็บภาษีสุราชุมชน จากสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่แพร่ ปีงบประมาณ 2567
- ศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน “สุราสักทองแพร่” ต่อยอดสร้างงานสร้างรายได้อย่างยั่งยืนและเข้มแข็ง
- สรรพสามิตขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนชู “แพร่โมเดล ต้นแบบโครงการ 1 ชุมชน 1 สรรพสามิตแชมเปี้ยน” ส่งเสริม ESG สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
- BEDO ลงพื้นที่สำรวจ เก็บรวบรวมข้อมูลประเมินศักยภาพความเป็นไปได้ของสินค้าที่มีความสนใจขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จังหวัดแพร่
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...