เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
เสียงวิพากษ์ที่แฝงด้วยความหวาดกลัวและอคติต่อแรงงานข้ามชาติที่ปะทุขึ้นอีกครั้งกลางเมืองเชียงใหม่ เมื่อเพจข่าวเพจหนึ่งเผยแพร่โพสต์ที่ระบุว่าตลาดในโครงการ Memories of Chiang Mai เป็น ‘ตลาดพม่า’ ที่กำลังเข้ามาแทนที่วัฒนธรรมไทย พร้อมกล่าวหาแรงงานเมียนมาว่า ‘ชุบมือเปิบ’ และ ‘แสวงหาผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวไทย’ ข้อความนี้กระตุ้นกระแสวิพากษ์บนโลกออนไลน์อย่างรุนแรง และไม่นานหลังจากนั้น ในเย็นวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการ พร้อมจับกุมแรงงานผิดกฎหมาย 6 ราย ประกอบด้วยผู้ว่าจ้างชาวไทย 3 ราย และแรงงานชาวเมียนมา 3 ราย เพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอน
แม้ผู้ประกอบการจะรีบออกมาชี้แจงว่า โครงการนี้มีเป้าหมายสร้างพื้นที่หลากหลายทางวัฒนธรรมที่เปิดกว้างให้คนต่างเชื้อชาติศาสนาได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบ พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ในการสร้างพื้นที่เปิดกว้างสำหรับผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ที่อยากใช้ชีวิต แบ่งปันอาหาร เรื่องราว และวัฒนธรรมร่วมกันอย่างสันติ
ทว่าเสียงสังคมกลับแยกออกเป็นสองทาง ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้ ‘กวาดล้าง’ แรงงานข้ามชาติ เพราะมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชุมชน ขณะที่อีกฝ่ายเห็นว่านี่คือโอกาสของเชียงใหม่ในการพัฒนา ‘การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่’ ที่มีชีวิตชีวาและเปิดกว้างในช่วงที่เศรษฐกิจเชียงใหม่ยังซบเซาอย่างหนัก
Lanner สนทนากับ ผศ.ดร.พิสิษฏ์ นาสี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสำรวจเบื้องหลังอารมณ์ ความกลัว และอคติที่ซ่อนอยู่ในกรณีนี้ พร้อมตั้งคำถามว่า หากเรามองแรงงานข้ามชาติเป็น ‘เพื่อนมนุษย์’ มากกว่าภัยคุกคาม เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและสร้างสรรค์ได้อย่างไร?
จาก ‘แรงขับเคลื่อน’ สู่ ‘ผู้ร้าย’ ความย้อนแย้งในระบบแรงงานแบบไทยๆ
“แรงงานข้ามชาติคือกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย”
พิสิษฏ์กล่าวอย่างชัดเจน จากข้อมูลกรมการจัดหางาน ณ เดือนมิถุนายน 2568 ระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานทั่วประเทศมากกว่า 4 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ทำงานในภาคเกษตร ก่อสร้าง และบริการ ซึ่งเป็นงาน 3D นั่นคือ งานอันตราย (Dangerous) งานสกปรก (Dirty) และงานยากลำบาก (Difficult) ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการทำ
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เกษตรกรรม ก่อสร้าง และบริการ ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำจำนวนมาก ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร การเป็นสังคมสูงวัย และอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้แรงงานข้ามชาติ จึงกลายเป็นกลไกสำคัญที่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้
ขณะที่ตัวเลขจากกรมจัดหางานไม่เพียงสะท้อนถึงบทบาทของแรงงานข้ามชาติในภาคการผลิตและบริการเท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงการพึ่งพิงเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึกในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่เข้ามาทำงานในไทยด้วยค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งสูงกว่าประเทศต้นทางหลายเท่า ส่งผลให้ไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานข้ามชาติและเศรษฐกิจไทยจึงไม่ได้เป็นเพียงการรองรับแรงงาน แต่เป็นการพึ่งพากันอย่างลึกซึ้ง แรงงานได้รับโอกาสในการมีรายได้ ส่วนภาคธุรกิจไทยก็ได้รับแรงขับเคลื่อนจากแรงงานราคาถูกเหล่านี้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านต้นทุนที่ถูกกว่า ไปจนถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น
“เป็นเรื่องปกติที่คนจะเคลื่อนย้ายไปในที่ที่มีโอกาสมากขึ้น เพื่อให้ได้มีชีวิตที่ดีขึ้น แรงงานข้ามชาติก็คิดเหมือนกัน เขาเข้ามาเพราะเห็นโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต่างจากที่แรงงานไทยที่ไปขายแรงงานในต่างประเทศ นี่เป็นธรรมชาติของโลกาภิวัตน์ในภาคแรงงาน”
พิสิษฏ์ เปรียบเทียบให้เห็นว่า หากแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงานและการมีชีวิตที่ดีขึ้น แรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทยก็ต้องการชีวิตแบบนั้นเช่นกัน เขามองว่าปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่ตัวแรงงาน แต่คือ ‘กฎหมาย’ และ ‘ท่าทีของรัฐ’ ที่ยังยึดติดกับแนวคิดควบคุม มากกว่าการบริหารจัดการ เช่น การจำกัดอาชีพที่แรงงานสามารถทำได้เฉพาะงานที่ไม่มีใครอยากทำ หรือระบบที่ซับซ้อนจนเจ้าหน้าที่รัฐบางคนยังไม่เข้าใจ และส่งผลให้แรงงานกลายเป็นผู้กระทำผิดโดยไม่ตั้งใจ
“ไม่มีใครอยากเป็นกรรมกรไปตลอดชีวิต ไม่มีใครอยากล้างจานไปจนตาย หรือเป็นแรงงานในไร่ในสวนตลอดไป เขาก็เป็นมนุษย์เหมือนเรา มีครอบครัว มีลูก อยากมีชีวิตมั่นคง อยากมีรายได้มากขึ้น อยากพัฒนาทักษะ พัฒนาอาชีพ แต่กฎหมายกลับไม่เปิดช่องให้เลย ไม่เคยมองเห็น ‘มิติความเป็นมนุษย์’ ของแรงงานเลย”
‘แรงงานข้ามชาติแย่งงานคนไทย’ วาทกรรมเก่าที่ควรถูกตั้งคำถามใหม่ว่าคนไทยถูกแย่งงานจริงหรือ?
แม้วาทกรรมว่าแรงงานข้ามชาติแย่งงานคนไทยจะยังฝังแน่นอยู่ในความคิดของสังคมไทย แต่หากเราลองถอดแว่นอคตินั้นแล้วมองที่ข้อเท็จจริงจะเห็นว่า แรงงานข้ามชาติไม่ได้เข้ามาแย่งงานในตำแหน่งที่คนไทยต้องการ หากแต่เข้ามาทำงานในตำแหน่งที่คนไทยไม่เลือกทำแล้ว เช่น งานล้างจาน งานก่อสร้าง งานในไร่สวน และงานบริการบางประเภท
พิสิษฏ์อธิบายว่า แรงงานข้ามชาติไม่ได้เพียงแค่เข้ามาทำงาน แต่ยังร่วมจ่ายภาษีทุกบาททุกสตางค์ ไม่ว่าจะเป็น VAT 7% ค่าต่อวีซ่า ค่าขอใบอนุญาตแรงงาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง แต่กลับถูกจับตาอยู่เสมอ แถมยังถูกผลักให้เป็นต้นเหตุของปัญหาในระบบแรงงาน ทั้งที่ในความเป็นจริง ปัญหาใหญ่กลับอยู่ที่กฎหมายและระบบราชการที่ล้าหลัง ซับซ้อน และไม่สะท้อนความเป็นจริงของชีวิตแรงงานเลยแม้แต่น้อย
“พอมีข่าว รัฐก็ออกคำสั่งให้กวาดล้าง เจ้าหน้าที่ก็วิ่งลงพื้นที่ไปจับแรงงาน โชว์ผลงาน แต่ไม่มีใครถามเลยว่า กฎหมายมันเวิร์กไหม?”
พิสิษฏ์ตั้งคำถามพร้อมเสนอว่า แทนที่จะปิดกั้นโอกาสของแรงงานเหล่านี้ทั้งหมด รัฐควรออกแบบระบบควบคุมที่ยืดหยุ่นและเป็นธรรมมากขึ้น เช่น การเก็บภาษีเฉพาะกลุ่ม การสอบวัดฝีมือ หรือระบบใบอนุญาตเฉพาะด้าน ที่สามารถเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติทำอาชีพได้หลากหลายมากขึ้น โดยไม่กระทบโอกาสของแรงงานไทย
“กฎหมายไทยในปัจจุบันมันพัฒนามาจากมุมมองที่ล้าหลัง มองแรงงานเป็นแค่แรงงาน ไม่ใช่มนุษย์ที่มีความใฝ่ฝัน มีครอบครัว มีชีวิตที่ต้องเดินหน้า เพราะฉะนั้น ผมว่าถ้าจะพูดถึงการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ต้องเริ่มจาก ‘เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์’ ก่อน”
เขายังชวนให้คิดอีกว่า การยืนมองแรงงานข้ามชาติจากมุมสูงด้วยอคติ ไม่ได้ช่วยให้สังคมดีขึ้น แต่หากเราเลือกจะมองเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวพวกเขา เปิดพื้นที่ให้พวกเขาเติบโต และมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม นั่นต่างหากคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
วัฒนธรรมต่างชาติในเชียงใหม่ ความหลากหลายที่ควรเข้าใจและเปิดรับ
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา เชียงใหม่ขยายตัวสู่ชานเมืองตามแนวถนนหลัก พื้นที่ใหม่เหล่านี้กลายเป็นจุดดึงดูดแรงงานจากต่างจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติที่มาตั้งถิ่นฐาน ทำงาน และสร้างครอบครัว ทำให้เกิดชุมชนหลากหลายชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่นี่จึงไม่ใช่แค่เมืองท่องเที่ยวหรือเศรษฐกิจ แต่เป็นพื้นที่ผสมผสานความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่อย่างแท้จริง
วัฒนธรรมจีน เป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่เห็นได้ชัดตามย่านกาดหลวง มีศาลเจ้า ตรุษจีน และเทศกาลกินเจ คนเชียงใหม่ก็อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ แต่ในกรณีของวัฒนธรรมเมียนมา ร้านอาหารของชาติพันธุ์เพื่อนบ้านอย่างรัฐฉาน รัฐมอญ หรือรัฐกะเหรี่ยง กลับถูกตั้งคำถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งที่พวกเขาแค่ขายอาหารประจำชาติของเขาเท่านั้น
“ถ้าคุณไปต่างประเทศ คุณก็อยากมี Thai Town เหมือนกันใช่มั้ย? คุณอยู่เมืองนอกคุณก็คิดถึงบ้าน คุณก็อยากกินอาหารของบ้านคุณ มันคือธรรมดาของมนุษย์ แรงงานเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาก็อยากแต่งกายตามประเพณี อยากทำบุญตามศาสนาเหมือนกัน เราควรมองด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความกลัว”
พิสิษฏ์ตั้งคำถามว่า หากคนไทยมีพื้นที่ในต่างประเทศอย่าง Thai Town ได้ แล้วทำไมแรงงานเมียนมาหรือชาติพันธุ์อื่นจะมี ชุมชนของตัวเองในไทยไม่ได้ แรงงานเขายังย้ำอีกว่า โลกยุคนี้ไม่มีคำว่า ‘ไทยแท้’ อีกต่อไป แต่ความหลากหลายต่างหากคือความจริง และลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่เติบโตขึ้นในระบบการศึกษา กำลังเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ แม้ยังเจออคติและปัญหากฎหมายเรื่องสถานะบุคคล
“เราควรเปิดใจว่าโลกนี้ไม่ใช่ของคนไทยอย่างเดียว เราผสมปนเปกันมานานแล้ว ไม่มีใครบริสุทธิ์ ไทยแท้ แล้วเราจะอยู่ร่วมกันยังไงให้เป็นธรรม นั่นคือโจทย์”
เขายังมองอีกว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ ‘แก่ก่อนรวย’ และอัตราการเกิดลดต่ำลง การเปิดใจรับคนที่พร้อมช่วยพัฒนาประเทศคือทางรอด พิสิษฏ์ยังยกตัวอย่างญี่ปุ่นที่แม้จะชาตินิยมสูง แต่ก็เริ่มเปิดรับนักศึกษาต่างชาติและเตรียมรับมือสังคมหลากหลาย เขาตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า
“ถ้าญี่ปุ่นยังปรับตัว แล้วเราล่ะครับ เราจะเปิดใจแค่ไหน เพราะคนที่เราเปิดรับวันนี้ อาจเป็นคนที่ดูแลประเทศเราในวันหน้าก็ได้”
เมื่ออคติต่อแรงงานข้ามชาติยังคงปะทุ ความหวาดกลัวที่บดบังความเป็นมนุษย์และโอกาสของเชียงใหม่
กรณี ‘ตลาดพม่า’ ในเชียงใหม่กลายเป็นภาพสะท้อนของความหวาดกลัวและอคติที่ฝังลึกในสังคมไทยต่อแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่แรงงานเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ในงานที่คนไทยไม่อยากทำ เช่น งานก่อสร้าง งานไร่สวน และงานบริการหลายประเภท ด้วยจำนวนแรงงานข้ามชาติกว่า 4 ล้านคนที่ได้รับอนุญาตทำงานและร่วมจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง เขาไม่ได้แย่งงานคนไทยตามวาทกรรมเก่า แต่เข้ามาเติมเต็มช่องว่างที่ระบบแรงงานไทยไม่สามารถตอบโจทย์ได้เอง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายและระบบราชการไทยยังคงยึดติดกับการควบคุมแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวดและล้าหลัง ไม่เปิดโอกาสให้แรงงานได้เติบโตหรือเปลี่ยนแปลงอาชีพตามศักยภาพ พวกเขาจึงถูกมองเป็น ‘ผู้ร้าย’ หรือภัยคุกคามต่อความมั่นคง ทั้งที่ความจริงแล้วปัญหาหลักอยู่ที่การจัดการที่ไม่เหมาะสมและขาดความเข้าใจในความเป็นมนุษย์
ในขณะเดียวกัน เชียงใหม่ก็เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากการขยายตัวของเมืองและการตั้งถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติที่นำพาวัฒนธรรมเมียนมา จีน และชาติพันธุ์อื่นๆ มาผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คนเหล่านี้ก็แค่ต้องการพื้นที่ทางวัฒนธรรมและสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกับคนไทย เช่นเดียวกับที่คนไทยในต่างประเทศมี ‘Thai Town’ ให้หวนคิดถึงบ้าน
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสังคมสูงวัยและอัตราการเกิดลดต่ำลง การยอมรับความหลากหลายและเปิดพื้นที่ให้แรงงานข้ามชาติมีบทบาทอย่างเท่าเทียม เป็นอีกทางรอดของเชียงใหม่และประเทศไทยในภาพรวม เหมือนตัวอย่างญี่ปุ่นที่แม้ชาตินิยมสูงแต่ก็เริ่มเปิดรับและเตรียมพร้อมสู่สังคมหลากหลาย
ท้ายที่สุด คำถามสำคัญที่เราต้องถามกับตัวเองคือ เราจะปล่อยให้อคติและความหวาดกลัวเหล่านี้ทำงานในสังคมต่อไปหรือไม่? แล้วจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะมองแรงงานข้ามชาติเป็นเพื่อนมนุษย์ที่มีความฝันและศักยภาพ เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน เพราะคนที่เราเปิดรับในวันนี้ อาจเป็นกำลังสำคัญในการดูแลและพัฒนาประเทศของเราในวันหน้าได้เช่นกัน
รายการอ้างอิง
- สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว. (มิถุนายน 2568). สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วราชอาณาจักร. กลุ่มงานพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของคนต่างด้าว ฝ่ายทะเบียนและสารสนเทศ กกจ. ที่ 16/2568 สบต.13. https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/c9b9dded69538324b212c16301f2d347.pdf
- กลุ่มงานนโยบายเศรษฐกิจการแรงงานระหว่างประเทศ กองเศรษฐกิจการแรงงาน. ตลาดแรงงานไทยและการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน. https://warning.mol.go.th/uploadFile/pdf/pdf-2022-08-29-1661761146.pdf

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร