การทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำกก กลายเป็นประเด็นที่สังคมไทยเริ่มให้ความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังมีรายงานพบสารโลหะหนัก เช่น สารหนูและตะกั่ว ปนเปื้อนในแม่น้ำที่ไหลข้ามพรมแดนเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย เหมืองแร่เหล่านี้ตั้งอยู่ในรัฐฉานของเมียนมา ห่างจากชายแดนไทยเพียงไม่กี่สิบกิโลเมตร โดยมีข้อมูลระบุว่าบางแห่งไม่มีมาตรการควบคุมมลพิษที่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ รัฐบาลไทยยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุของการปนเปื้อน และยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นผลมาจากกิจกรรมเหมืองฝั่งเมียนมา ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่ปรากฏว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการเจรจากับฝ่ายเมียนมาโดยตรง มีเพียงคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำ ติดตามสิ่งแวดล้อม และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น
หน่วยงานรัฐเผยผลตรวจคุณภาพน้ำภาคเหนือ ยังไม่พบสารพิษเกินมาตรฐาน
จากกรณีความกังวลเรื่องสารโลหะหนักปนเปื้อนในแม่น้ำกกที่ไหลข้ามพรมแดนจากเมียนมา เข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำและผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
กรมอนามัยรายงานผลการตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านและเก็บตัวอย่างปัสสาวะของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เมื่อเดือนเมษายน 2568 พบว่าไม่มีการปนเปื้อนของสารหนู และค่าตะกั่วอยู่ในระดับไม่เกินมาตรฐาน รวมถึงผลตรวจปัสสาวะประชาชนก็อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
ด้านการประปาส่วนภูมิภาค ได้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาในพื้นที่เสี่ยง โดยยืนยันว่าคุณภาพน้ำยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำบาดาลในอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 10 จุด ไม่พบสารหนูและตะกั่วเกินค่ามาตรฐานเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำว่าการติดตามผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่จะดำเนินต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากมลพิษข้ามแดนอย่างรอบด้าน
พบสารปนเปื้อนในน้ำผิวดินก่อนลงแม่น้ำโขง–แม่น้ำสาย 5 จุด กรมควบคุมมลพิษเพิ่มความถี่เฝ้าระวังถึงกันยายนนี้
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (สคพ.1) จังหวัดเชียงใหม่ รายงานผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำผิวดินจากแม่น้ำสายหลักในภาคเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำกก แม่น้ำโขง และแม่น้ำสาย พบค่าปนเปื้อนเกินมาตรฐานในหลายจุด โดยเฉพาะจุดตรวจน้ำผิวดินก่อนที่แม่น้ำกกจะไหลลงแม่น้ำโขง พบการปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน 2 จุด ขณะที่แม่น้ำสายมีจุดที่ค่าปนเปื้อนเกินมาตรฐานอีก 3 จุด ซึ่งตอกย้ำความกังวลเรื่องมลพิษข้ามแดนจากกิจกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว กรมควบคุมมลพิษเตรียมเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง เป็นเดือนละ 2 ครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2568 ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำก็จะตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำกกและแม่น้ำโขง (ที่สถานีเชียงแสน) ในความถี่เดียวกัน พร้อมรายงานผลให้จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายอย่างต่อเนื่อง
ถึงจะเกินค่ามาตรฐาน แต่ราชการท้องถิ่นยังอนุโลม
บีบีซีไทยรายงานว่า ประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ยืนยันว่าภาครัฐดูแลประชาชนตั้งแต่วันแรกที่ทราบปัญหาการปนเปื้อนในลุ่มน้ำสายและลุ่มน้ำกก โดยปัจจุบันมีคณะกรรมการ 2 ชุดที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งกรรมการชุดแรกเป็นคณะทำงานระดับจังหวัด ส่วนอีกชุดเป็นระดับนโยบาย และมีการสั่งตรวจสารโลหะหนักในพืชผลทางการเกษตร สัตว์น้ำ ตะกอนดิน รวมถึงตรวจคุณภาพน้ำจากการประปาส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ก็พบว่าค่าสารโลหะหนักยังไม่เกินค่ามาตรฐาน สามารถใช้ได้ตามปกติ จึงต้องการสื่อสารไปยังประชาชนว่าไม่มีความจำเป็นต้องตื่นตระหนกกับปัญหานี้
“ผมขอเรียนว่า ถ้าสารหนูที่มันเกินค่ามาตรฐาน ถึงแม้มันจะเกินจริงๆ แต่มันก็ยังไม่เกินค่ามาตรฐานที่ทางกรมอนามัย อนุโลมได้ถึง 0.05 [มก./ลิตร] ซึ่งค่านี้เป็นค่ามาตรฐานที่กรมอนามัย อนุโลมให้กับน้ำดื่มบรรจุขวด ผมจึงคิดว่ามันยังไม่น่าจะเป็นอันตรายได้” ประเสริฐ กล่าว
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายยังกล่าวว่า ทางการได้ตรวจสอบแล้วว่าภาพรอยโรคบนผิวหนังของควาญช้างในหมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ไม่ได้เกิดจากสารหนูในแม่น้ำ รวมถึงภาพปลาที่มีตุ่มผิดปกติ ก็ไม่พบว่าเป็นผลจากสารโลหะหนักที่เกินค่ามาตรฐานแต่อย่างใด
“ทั้งหมดเป็นวิทยาศาสตร์ ปลาเกิดจากเชื้อโรคชนิดหนึ่ง แม้เขาจะพยายามอธิบายว่าสารหนูทำให้ปลาอ่อนแอจนเกิดโรค มันก็อธิบายแบบนั้นได้ แต่มันก็เป็นไปได้ทั้งสองอย่าง มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ มันอาจไม่ได้ป่วยจากสารหนู มันอาจป่วยจากธรรมชาติ”
ขณะเดียวกัน ศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่าทางจังหวัดมอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำและตะกอนดิน นับตั้งแต่รับทราบปัญหานี้เมื่อช่วง มี.ค. ที่ผ่านมา และยังดำเนินการมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำรอบเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) พบว่าคุณภาพน้ำผิวดินแม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำกกไม่มีสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน แต่เกณฑ์คุณภาพบางแห่งมีปัญหาเสื่อมโทรม
สิ่งที่น่าสนใจในขณะนี้คือ แม้ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลว่าพบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน แต่กลับมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลรับรู้ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และยังไม่กล้าสรุปอย่างชัดเจนว่า สาเหตุของปัญหามาจากการทำเหมืองแร่ในเมียนมา
นายกสั่งการเมื่อนานมาแล้ว ตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนเดิม
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามและรายงานการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา เจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อการหยุดหรือปรับปรุงวิธีการทำเหมือง เพื่อป้องกันการระบายสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ อีกทั้งยังได้สั่งติดตามและแก้ไขปัญหา โดยกรมกิจการชายแดนทหารจะหารือกับเมียนมาในการประชุม RBC และกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญทูตเมียนมาหารือ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
หากย้อนกลับไปวันที่ 1 ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เคยสั่งการแก้ปัญหาเหมืองแร่ ต้นแม่น้ำกกในเมียนมามาแล้ว โดยกล่าวว่า “นํ้าไม่ว่ามาจากประเทศไหนก็ไหลไปทางประเทศเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องมีความร่วมมือกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว คุยแล้ว” นับเป็นเวลานานกว่า 5 เดือนแล้วที่มีการสั่งการ แต่กลับยังไม่เกิดการเจรจาและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ล่าสุด 21 พฤษภาคม 2568 ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เราตรวจพบครั้งแรกตอนอยู่ต้นทาง พบว่ามีสารพิษปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานอยู่หลายจุดที่จะเป็นอันตรายได้ในระยะสั้น แต่สิ่งที่ห่วงคือ การตกตะกอนและจะเป็นอันตรายในระยะยาว จึงต้องดำเนินการแก้ไขในหลายวิธี ทั้งการเจรจาโดยเจ้ากรมกิจการชายแดนทหาร ได้เจรจากับทางเมียนมา เพื่อไม่ให้สารเคมีเจือปนเข้ามาเป็นอันตราย ซึ่งผลการพูดคุยทราบว่าไม่ใช่เป็นการดำเนินการของรัฐบาลเมียนมาโดยตรง แต่เป็นของชนกลุ่มน้อย ทำให้การเจรจาค่อนข้างยาก เพราะไม่ใช่ระหว่างรัฐโดยตรง
โดยภูมิธรรม เสนอว่าเราต้องหาทางป้องกัน และประสานกรมอนามัย เพื่อดูภาพรวม เนื่องจากแม่น้ำที่มีปัญหาเป็นแม่น้ำที่กว้าง โดยให้มีการบินสำรวจดู เพื่อให้กรมทรัพยากรน้ำ ออกแบบเพื่อทำการก่อสร้างลักษณะเขื่อน เพื่อกรองสารเคมีและดูดตะกอนที่ตกค้าง เพื่อเป็นการเตรียมการแก้ปัญหาในระยะยาว ให้เริ่มตั้งแต่ตอนนี้เพื่อเป็นการป้องกัน เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนว่าการเจรจาจะเป็นอย่างไร อีกทั้งสาเหตุไม่ได้เกิดในดินแดนของไทย ดังนั้นการป้องกันเพื่อเตรียมการจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลไทยขาดความกระตือรือร้นในการเจรจาแก้ไขปัญหาร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ขณะเดียวกันยังหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงบทบาทของประเทศจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าว แม้ประเด็นนี้อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่สิ่งที่โหดร้ายที่สุดคือความทุกข์ยากของประชาชนที่ต้องเผชิญผลกระทบโดยตรงริมแม่น้ำกกในทุกวัน
ภาคประชาชนชี้ต้องเร่งเจราและใช้กลไกระดับประเทศ
ทั้งนี้ สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้ให้ความเห็นกับ วชิรวิทย์ เลิศบำรุงชัย นักข่าวสาธารณสุข Thai PBS ต่อกรณีการออกข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำกกว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกปกติ นายกไม่ได้ริเริ่มอะไรใหม่ ข้อสั่งการทั้งหมดคือสิ่งที่หน่วยงานราชการประจำทำอยู่แล้วครับ”
สืบสกุลระบุว่า แผนการทั้งหมดของหน่วยงานรัฐที่เปิดเผยออกมา เป็นผลจากการประชุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ซึ่งมี ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมถึง 17 หน่วยงาน และได้กำหนดแนวทางรับมือปัญหาการปนเปื้อนในแม่น้ำกกไว้ 6 แนวทาง ได้แก่
1.ใช้กลไกความร่วมมือทางการทูตและการทหาร กับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดภายนอกประเทศ
2.ใช้กลไกลุ่มน้ำโขงเหนือบริหารจัดการน้ำ เพื่อรักษาระบบนิเวศและเพิ่มน้ำต้นทุนสู่แม่น้ำกก
3.ใช้นวัตกรรมดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ติดตามและระบุแหล่งต้นเหตุของปัญหา
4.สื่อสารสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อลดความตื่นตระหนก
5.ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ สัตว์น้ำ และการสะสมในมนุษย์อย่างต่อเนื่อง
6.จัดทำแนวทางลดผลกระทบจากเหมือง และประสานงานกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ
สืบสกุลยังเสนอว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีควรดำเนินการเพิ่มเติมในขณะนี้ คือ ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังต้องเชิญผู้แทนประเทศเมียนมาและจีนที่ประจำอยู่ในประเทศไทย เพื่อรับทราบปัญหา ผลกระทบ และร่วมกันหาทางออก
ขณะที่ ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน ให้ความเห็นว่าในประเทศเรามีกฎหมาย กับต่างประเทศเราก็มีสนธิสัญญา มีข้อตกลงระหว่างประเทศ และก็มีข้อกฎหมายของประเทศคู่กรณีที่เราสามารถใช้ในการต่อรองด้วยเช่นกัน เริ่มที่ไทย-เมียนมา สิ่งที่หยิบมาเจรจาได้เลย คือ ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่เป็นพันธกรณีที่ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติตาม
ภัทรพงษ์อธิบายว่า นิยามคำว่า disaster ในข้อตกลงดังกล่าวครอบคลุมถึงความสูญเสียด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถนำมาปรับใช้ได้ นอกจากนี้ ข้อตกลงยังระบุถึงการวางแผนร่วมกันเพื่อจัดการปัญหา ตรวจสอบต้นตอ ป้องกันและลดความเสี่ยง รวมถึงการวางมาตรการจัดการปัญหาในแต่ละประเทศตามกฎหมายของตน ซึ่งเมียนมามีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ The Environmental Conservation Law 2012, The Environmental Conservation Rules 2014 ซึ่งเป็นกฎหมายลูก และ the Law Amending the Myanmar Mines Law 2015
ภัทรพงษ์ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการเพียงแค่ระดับไทย-เมียนมายังไม่เพียงพอ แต่ต้องขยายผลไปถึงต้นตอ คือการเจรจาสามฝ่าย ไทย-เมียนมา-จีน เขาเสนอว่า กรอบความร่วมมือแรกที่สามารถนำมาใช้ได้คือกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งมีไทย จีน และเมียนมาเป็นสมาชิก และมีการจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม คือ Lancang-Mekong Environmental Cooperation Center ซึ่งมีแผนปฏิบัติการ 5 ปี และกำหนดให้มีการประชุม Roundtable ปีละครั้ง แต่การประชุมล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2021 สะท้อนให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อปัญหามาเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อประชาชน นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกลไกความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอาเซียน-จีน (ASEAN-China Environmental Cooperation) ที่มีแผนปฏิบัติการปี 2021-2025 รวมถึงอนุสัญญาบาเซล (Basel Convention) ที่สามารถนำมาใช้ในการเจรจาต่อรองได้เช่นกัน
พระมหานิคม มหาภินิกฺขมโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ กล่าวในเวทีหารือ “ปกป้องแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย/ปิดเหมืองต้นน้ำ-ฟื้นฟูลุ่มน้ำ” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย จ.เชียงราย ระบุว่า กิจกรรมที่จัดเชื่อว่าจะสำเร็จแต่กระตุ้นเตือนให้กับรัฐบาลรีบแก้ไขหรือไม่ เป็นหน้าที่เพราะเป็นความมั่นคงของชาวบ้าน ความมั่นคงของชุมชน และความมั่นคงของชาติ และเป็นความมั่นคงของรัฐบาลที่ต้องรีบแก้ไข ดังนั้นควรมีการรณรงค์เผยแพร่ให้ทุกสังคม รวมถึงทั่วโลกให้ได้รับรู้และเห็นความทุกข์ของเราให้ได้
“เราส่งข่าวให้รัฐบาลทำงาน เขาเป็นพ่อ เราเป็นลูก เมื่อพ่อทำงานไม่ได้ เราก็ต้องส่งเสียงให้ไกลกว่านั้น ไปไกลถึงอาเซียน ไปไกลถึงสหประชาชาติ เราต้องทำให้ถึงที่สุด เราอาจต้องมีการออกแถลงการณ์ร่วมกัน ดังนั้นการที่ทุกกลุ่มมาแสดงพลังร่วมกันจึงเป็นที่น่ายินดี” พระมหานิคม กล่าว
ทางด้าน สมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแสดงศักยภาพในการปกป้องคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของประชาชนอย่างจริงจัง โดยระบุว่าปัญหาแม่น้ำกก และลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงเวลานี้เกินความสามารถของหน่วยงานรัฐในพื้นที่จังหวัดเชียงรายแล้ว รัฐบาลไทยจำเป็นต้องยกระดับการเจรจาเรื่องนี้กับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึงจีนและรัสเซียด้วย เนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ และการทำเหมืองแร่ที่มีผลกระทบข้ามพรมแดนเช่นนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตามอนุสัญญาสากลที่ทุกประเทศได้ตกลงกันไว้
สมเกียรติยังเตือนว่า “หากรัฐบาลไทยไม่สามารถปกป้องคุ้มครองชีวิตประชาชนไทยได้ ก็ถือว่าล้มเหลว” และเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ภาคประชาชนในจังหวัดเชียงรายจะเตรียมรวมตัวรณรงค์ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดการทำเหมืองแร่ที่เป็นต้นตอของปัญหานี้ต่อไป
จะเห็นได้ชัดว่า แม้รัฐบาลจะมีท่าทีตอบสนองต่อปัญหามลพิษในแม่น้ำกก ทั้งการสั่งการระดับสูง การมอบหมายหน่วยงานติดตาม แต่การดำเนินการที่เกิดขึ้นยังวนเวียนอยู่ในกรอบคำสั่งเดิม และไม่ได้นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกลับเลือกใช้ท่าทีลดความกังวลของประชาชน แทนที่จะเร่งสื่อสารข้อมูลอย่างโปร่งใสและรอบด้าน ส่วนภาคประชาชนต่างเสนอให้รัฐบาลยกระดับปัญหาสู่เวทีความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างจริงจัง
วิกฤตสารพิษในแม่น้ำกกครั้งนี้ อาจสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่กล้ายอมรับว่าปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างร้ายแรง ความเงียบและความลังเลของรัฐ ทำให้ชาวบ้านต้องอยู่กับความเสี่ยงโดยไม่มีคำตอบที่ชัดเจน หากยังไม่รีบแก้ไขอย่างจริงจัง สถานการณ์นี้อาจลุกลามจนกลายเป็นปัญหาที่สายเกินจะแก้ และทำให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อการทำงานของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...