ในหลายพื้นที่ในภาคเหนือกำลังเผชิญความเสี่ยงจากพายุโซนร้อน ‘วิภา’ ที่มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้ามาส่งผลให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ในช่วงวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป หลายจังหวัดเร่งเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างเข้มข้น ทั้งตั้งศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน ลอกลำรางระบายน้ำ ซ่อมพนังกั้นน้ำ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยหลายจังหวัด เช่น เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน ต่างประกาศเตือนภัยและระดมเจ้าหน้าที่ตามแผนเผชิญเหตุเพื่อป้องกันผลกระทบจากฝนตกหนัก ที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมความพร้อมอพยพหากจำเป็น และระมัดระวังการเดินทางในช่วงที่มีฝนตกหนักหรือระดับน้ำเพิ่มสูงอย่างรวดเร็ว
‘เชียงใหม่’ ตั้ง 4 ศูนย์บัญชาการรับมือพายุ ‘วิภา’
21 กรกฎาคม 2568 นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งตั้งศูนย์บัญชาการรับมือพายุวิภาที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ ดังนี้ 1.ศูนย์บัญชาการหลักที่สำนักชลประทาน ที่ 1 เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ประชาสัมพันธ์ร่วม 2.ศูนย์บัญชาการส่วนหน้าที่อำเภอฝาง โดยรับมือพื้นที่เสี่ยงรัศมีพายุ 5 อำเภอตอนบน 3.ศูนย์สนับสนุนการแก้ไขสถานการณ์ และศูนย์สนับสนุนการดูแลชีวิต ความเป็นอยู่ และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ 4.ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ประชาสัมพันธ์ร่วม บริเวณสะพานนวรัฐเป็นพื้นที่ปฏิบัติการภาคสนาม โดยศูนย์ทั้งหมดจะเปิดในวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลง สามารถโทรสายด่วน 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการชลประทานเชียงใหม่ สั่งเตรียมพร้อมรับมือพายุ ‘วิภา’ ระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เพื่อรองรับฝนที่จะตกลงมา โดย เกื้อกูล มานะสัมพันธ์สกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ ระบุว่า โครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง พิจารณาดำเนินการเร่งระบายพร่องน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาในวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2568 จากอิทธิพลพายุโซนร้อน ‘วิภา’ โดยปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำ มากกว่า 70% แต่ไม่เกิน 80% จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.อ่างเก็บน้ำบ้านแม่ตะไคร้ 2.อ่างเก็บน้ำแม่โก๋น 3.อ่างเก็บน้ำสันหนอง 4.อ่างเก็บน้ำห้วยมะนาว และ 5.อ่างเก็บน้ำแม่ตูบ ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีความจุมากกว่า 80% จำนวน 2 แห่งได้แก่ 1. อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง และ 2. อ่างเก็บน้ำแม่ข้อน ซึ่งให้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง รูปแบบ OnePage ทั้งนี้ได้กำชับเจ้าหน้าที่ติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และให้รายงานสถานการณ์กรณีเกิดเหตุการณ์อุทกภัยอย่างทันท่วงที
ด้าน ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำทีม ปภ.ส่วนหน้า ตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการเตรียมความพร้อมในขณะนี้ ปภ.ได้ระดมทรัพยากรเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากศูนย์ ปภ.เขต ขึ้นมาสนับสนุนการปฏิบัติการเชิญเหตุในจังหวัดโซนภาคเหนือติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้าแล้ว และยังได้ร่วมกับกองทัพบกส่งทีมนักบินและเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 ทีมกู้ภัยบนอากาศยาน มาประจำการที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรองรับภารกิจในการให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนัก
ท่าอากาศยานเชียงใหม่ อนุญาตให้ประชาชนที่บ้านเรือนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง นำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดภายในพื้นที่สนามบินได้ฟรี ระหว่างวันที่ ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว วันที่ 21–26 กรกฎาคม 2568 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย บริเวณลานจอดรถด้านทิศใต้อาคารผู้โดยสาร (ลานช้าง) จำนวน 50 คัน และบริเวณสนามฟุตบอลตรงข้ามอาคารคลังสินค้า จำนวน 200 คัน โดยต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อรับบัตรอนุญาตก่อนนำรถเข้าจอด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขอจอดรถ โทร. 06 5502 6866
รวมจุดจอดรถฟรี หากเกิดน้ำท่วมเชียงใหม่
1.Big C ดอนจั่น
ลานจอดรถโซนต้นไม้
โทร. 053-262355
2.Big C ศาลเด็ก
อาคารจอดรถ โซน 1A – 4A
โทร. 053-240084 #170
3.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศาลาอ่างแก้ว (ประชาชน)
โทร. 053-942680 #27
4.Lotus’s รวมโชค
ลานจอดหน้าห้าง โซน A1-A4
โทร. 053-853263
5.Lotus’s หางดง
อาคารจอดรถ โซน B3
โทร. 053-807478
6.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
จุดจอดรถ S1 (บุคลากร)
โทร. 053-924680 #27
7.ท่าช้างเชียงใหม่
ลานจอดรถร้าน
โทร. 082-0283736
8.The Plaza ช้างคลาน
อาคารจอดรถห้าง
โทร. 053-288383
9.Wasabi Park
ลานจอดรถโครงการ
โทร. 084-9492844
10.เชียงใหม่ไนท์ ซาฟารี
ลานจอดรถ 3-4
โทร. 053-999000
11.สนามบินเชียงใหม่
อาคารจอดรถ 10 ชั้น (5B)
โทร. 052-009503
12.ร้าน After School
โทร. 098-8369969
ลานจอดรถร้าน
13.เซ็นทรัล เชียงใหม่
อาคารจอดรถ ชั้น 3M
โทร. 053-998999
14.เซ็นทรัล แอร์พอร์ต
อาคารจอดรถ ชั้น 2A และ ชั้น 3 โทร. 053-999199
15.ศูนย์ประชุมนานาชาติ
ลานจอดรถ เข้าประตู 5
โทร. 053-010572
16.Premium Outlet
ลานจอดรถโครงการ
โทร. 053-336789
17.Travelodge Nimman
ลานจอดรถโรงแรม
โทร. 052-090111
18.ร้าน KanVela
สาขากองบิน
โทร. 096-6741229
19.ABlock Park
ลานจอดรถโครงการ
ถนนทุ่งโฮเต็ล
20.จริงใจวิลเลจ
จุดจอดรถ A B C
โทร. 053-231520
21.จริงใจมาร์เก็ต
จุดจอดรถ D
โทร. 053-231520
ศูนย์พักพิงชั่วคราวหากเกิดน้ำท่วมเชียงใหม่
‘เชียงราย’ ขุดลอกลำน้ำสาย ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย
20 กรกฎาคม 2568 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกลำน้ำสาย และตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีคืบหน้า 65% ทางเจ้าหน้าที่เร่งการก่อสร้างอย่างเต็มที่เพื่อรองรับพายุโซนร้อน ‘วิภา’ อีกทั้งทางทหารช่างได้วาง big bag ต้องการหลังแนวก่อสร้างไว้อีก 1 ชั้น เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำในช่วงที่จะถึงนี้
21 กรกฎาคม 2568 บุญส่ง ตินารี นายอำเภอเมืองเชียงราย ได้ประสานและตรวจสอบการดำเนินงานเตรียมการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย โดยดำเนินการขุดลอกและกำจัดวัชพืชตามลำน้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ในเขตตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย เพื่อเพิ่มการระบายน้ำและลดผลกระทบน้ำท่วมขังในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรกลจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และได้รับการสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากเทศบาลตำบลบ้านดู่ และดำเนินการขุดลอกกำจัดวัชพืชในคลองขัวแคร่ หมู่ที่ 1 , 14 , 17 เพื่อเป็นพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) อีกทั้งยังเตรียมจัดหากระสอบทรายและทราย หากเกิดอุทกภัย สามารถนำมาแจกจ่ายให้ประชาชนได้ในทันที
22 กรกฎาคม 2568 ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดเชียงรายแห่งที่ 1 (Down Town) วันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงราย ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ฝนตกและระดับน้ำในพื้นที่ ขณะนี้ เทศบาลนครเชียงรายได้แจกจ่ายกระสอบทรายแล้วจำนวน 63,880 กระสอบ และมีการเตรียมพื้นที่สำหรับตั้งศูนย์อพยพ/พักพิงรองรับผู้ประสบภัยไว้แล้ว ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำกก ยังถือว่าอยู่เกณฑ์ปกติ
ในส่วนของศูนย์พักพิงหลักในเขตเทศบาลนครเชียงราย มีดังนี้
-โรงเรียนเทศบาล 1 ศรีเกิด
-โรงเรียนเทศบาล 4 สันป่าก่อ
-โรงเรียนเทศบาล 5 เด่นห้า
-โรงเรียนเทศบาล 8 บ้านใหม่
-ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครเชียงราย 3 แห่ง (ยกเว้นศูนย์ฯ สันตาลเหลือง)
และเตรียมตั้งพื้นที่พักพิงเพิ่มเติม หากสถานการณ์รุนแรง ได้แก่ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม 1 โรงเรียนบ้านสันโค้ง (เชียงรายจรูญราษฎร์) วัดเชตุพน ศาลาชุมชนสันโค้งน้อย วัดเม็งรายมหาราช และโรงเรียนอนุบาลฮ่องลี่
นอกจากนี้ เทศบาลนครเชียงราย ได้เตรียมชุดยาสามัญประจำบ้าน ชุดทำแผล และสำรวจรายชื่อกลุ่มเปราะบาง เพื่อเตรียมการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ขณะเดียวกันยังดำเนินงานร่วมกับโครงการวิจัยระบบเตือนภัย (สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ – วช.) เพื่อพัฒนาแนวทางลดความเสียหายจากน้ำท่วมในเขตเมืองอย่างเป็นระบบ ประชาชนสามารถติดต่อเทศบาลนครเชียงรายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านสายด่วน โทร. 053-712111, 053-712222, 053-715952 หรือ 199
ด้านเทศบาลตำบลแม่สาย ตั้งศูนย์อพยพ 4 แห่ง รองรับประชาชนหากเกิดน้ำท่วม ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย กล่าวว่า ปีนี้เทศบาลตำบลแม่สายได้เตรียมตั้งศูนย์อพยพไว้จำนวน 4 แห่ง เพื่อรองรับประชาชนหากเกิดน้ำท่วม โดยได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เอาไว้แล้ว สำหรับ ผู้ป่วยติดเตียง หากเกิดน้ำท่วมจะโยกย้ายไปไว้ที่โรงพยาบาลทันที โดยได้ขอความร่วมมือกับโรงพยาบาลไว้แล้ว อย่างไรก็ตามคาดว่าในปีนี้จะสามารถรับมือกับน้ำท่วมได้ หากไม่มีน้ำหนุนจากภายนอกเข้ามา สำหรับในพื้นที่ ตนยังกังวลในบางจุดที่ยังทำการขุดลอกท่อระบายน้ำไม่แล้วเสร็จ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ขุดลอกต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 ตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว หากมีน้ำฝนมาในปริมาณมากก็จะมีน้ำท่วมเป็นบางจุดแต่ก็ไม่เป็นห่วงมาก และสามารถรับมือได้
สมาคมศิริกรณ์เชียงรายบรรเทาสาธารณภัย ประชาสัมพันธ์สำหรับประชาชนที่ต้องการรับกระสอบทรายป้องกันนํ้าท่วม โดยกรณีนำกระสอบมาตักทรายเองจะจำกัด 15 กระสอบ / หลังคาเรือน ในกรณีไม่มีถุงกระสอบสามารถติดต่อรับกระสอบจากเจ้าหน้าที่ จำกัด 13 กระสอบ / หลังคาเรือน อีกทั้งยังขอความร่วมมือให้ตัวแทนจากแต่ละบ้านมาติดต่อรับด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถฝากผู้อื่นมารับแทนได้เพื่อให้การกระจายทรายและกระสอบเป็นไปอย่างทั่วถึง โดยสามารถรับทราย ได้ที่สมาคมศิริกรณ์เชียงรายฯ ข้างเชียงรายคอนโดเทล หรือสามแยกประตูผี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 053-711-776, 089-700-0068, 063-796-0077
‘น่าน’ ตั้ง War Room และซ่อมแซมพนังกั้นนํ้ารับมือพายุ
20 กรกฎาคม 2568 ชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ยืนยันความพร้อมในการจัดตั้งศูนย์บัญชาการสถานการณ์ (War Room) ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ตามข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย เพื่อรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั่วประเทศระหว่างวันที่ 21-26 กรกฎาคม 68 เป็นเวลา 7 วัน โดย War Room ของจังหวัดจะบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ฝน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมด้านกำลังพล อุปกรณ์ และแผนเผชิญเหตุ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านยังได้เน้นย้ำและขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ โปรดติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นทางการของจังหวัด เพื่อป้องกันความสับสนจากข่าวลือหรือข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการรับมือสถานการณ์ได้
21 ก.ค. 2568 เทศบาลเมืองน่านนำโดย สุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ลงพื้นที่ริมแม่น้ำน่าน ด้านหลังจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ แยกต้นโพธิ์ ร.ร.สตรีศรีน่าน เขตติดต่อบ้านดอนศรีเสริมกับบ้านสวนตาล ติดตามการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นโดยนำถุง BIGBAG ปิดรูรั่ว พร้อมสำรวจแนวพนังกั้นน้ำทั้งระบบหากพบปัญหาสั่งเจ้าหน้าที่แก้ไขทันที ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบน้ำท่วมเมือง ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการป้องกันน้ำท่วมจากอิทธิพายุโซนร้อน ‘วิภา’ (WIPHA) ที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้
‘ลำพูน’ เร่งระบายนํ้าลงนํ้าปิง เตรียมรับมือพายุวิภา
21 กรกฎาคม 2568 ปรีชา สมชัย ปลัดจังหวัดลำพูน นำทีมตรวจสอบเส้นทางน้ำในพื้นที่ตำบลอุโมงค์ และตำบลเหมืองง่า ประกอบด้วย ร่องแขม ร่องขุ่น ร่องเชี่ยว และประตูระบายน้ำปิงห่าง และให้คำแนะนำดำเนินการใช้กำลังคนและเครื่องจักรขุดลอกทำความสะอาดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ ป้องกันการเกิดอุทกภัยในพื้นที่
ขณะเดียวกัน จรัล มณีจันสุข นายอำเภอบ้านโฮ่ง ได้สั่งการให้นายสวัสดิ์ ลือยศ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง พร้อมด้วยปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยหละ หมู่ที่ 3 ผู้ใหญ่บ้านใหม่พัฒนา หมู่ที่ 13 ผู้ใหญ่บ้านใหม่ศรีบุญเรือง หมู่ที่ 14 และสมาชิก อส.อ.บ้านโฮ่ง ที่ 4 ลงพื้นที่ฝายบ้านห้วยหละ เพื่อสำรวจความพร้อมของประตูระบายน้ำ และได้เปิดประตูระบายน้ำเพิ่มอีก 1 บาน เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่น้ำปิง ทั้งนี้อำเภอบ้านโฮ่งได้แจ้งผู้ดูแลฝายในพื้นที่อำเภอทุกฝาย เร่งเปิดประตูระบายน้ำ 1 ใน 3 เพื่อรองรับมวลน้ำที่จะมากับพายุฝนต่อไป
สปป. ลาว เร่งระบายนํ้าออกเขื่อนผลิตไฟฟ้ารับมือพายุ
เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2568 บริษัทผลิตไฟฟ้าลาว (EDL‑Gen) ได้เริ่มเปิดประตูทางน้ำล้น (Spillway) ระบายออกจากอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำคาน 2 และ น้ำคาน 3 เพื่อบริหารปริมาณน้ำเหนือเขื่อนให้อยู่ในระดับสมดุล โดยเขื่อนน้ำคาน 2 เริ่มระบายน้ำผ่าน Spillway ในปริมาณ 153.75 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อรวมกับน้ำที่ระบายผ่านกังหันผลิตไฟฟ้าตามปกติอีก 46.35 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะมีน้ำไหลออกจากเขื่อนน้ำคาน 2 ลงไปในลำน้ำท้ายเขื่อน 200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนเขื่อนน้ำคาน 3 เริ่มระบายน้ำผ่าน Spillway 135 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเมื่อรวมกับน้ำที่ระบายผ่านกังหันผลิตไฟฟ้าแล้ว จะมีน้ำไหลออกจากเขื่อนน้ำคาน 3 ลงไปยังท้ายเขื่อน 220 ลูกบาศก์เมตร/วินาที น้ำที่ระบายออกจากเขื่อนน้ำคาน 2 และ 3 จะไหลไปตามแม่น้ำคาน และไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่ด้านข้างวัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง อย่างไรก็ตาม ในประกาศของบริษัทผลิต-ไฟฟ้าลาว มหาชน ยืนยันว่า การระบายน้ำผ่าน Spillway ของเขื่อนทั้ง 2 แห่ง จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน
รวมเบอร์ช่วยเหลือฉุกเฉิน รับมืออุทกภัยภาคเหนือ
เบอร์ติดต่อฉุกเฉิน (ใช้ได้ทุกจังหวัด)
ปภ. สายด่วนแห่งชาติ: 1784
Green call (หน่วยงานทั่วไปเร่งด่วน): 1310
จังหวัดเชียงราย
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัด: 053‑150‑163
ศูนย์กองอำนวยการ แม่สาย: 095‑540‑7938
สสอ. แม่สาย: 053‑731‑503
รพ. แม่สาย: 086‑428‑5890
มูลนิธิกระจกเงา เชียงราย: 053‑737‑616
สมาคมกู้ภัยสยามแม่สาย: 084‑226‑1669
สมาคมกู้ภัยพรหมวิหาร: 053‑733‑422
สมาคมกู้ภัยปิยะมิตร: 090‑096‑2255
สมาคมกู้ภัยแม่โจ้: 061‑790‑3337, 096‑980‑5082
จังหวัดลำปาง
เทศบาลนครลำปาง (ศูนย์ฯ ปภ.): 054‑237227
สายด่วน ปภ. (24 ชม.): 1784
กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครลำปาง: 095‑323‑9040
วิทยุกระจายเสียงจังหวัดลำปาง: 054‑422‑4561
จังหวัดพะเยา
เทศบาลเมืองพะเยา (แจ้งเหตุ / ขอช่วย): 054‑431123 หรือ สายด่วน 199 (24 ชม.)
ปภ. พะเยา ‑ สำนักป้องกันสาธารณภัยฯ: 054‑449644‑9
สำนักงานไฟฟ้า: 1129 หรือ 054‑449‑526
กรมทางหลวง: 1586 หรือ 054‑431‑076
มณฑลทหารบกที่ 34: 054‑431‑230
จังหวัดแพร่
การไฟฟ้า: 1129 หรือ 054‑653‑202
กรมทางหลวง: 1586 หรือ 054‑511‑579
เจ็บป่วยฉุกเฉิน: 1169
มณฑลทหารบกที่ 35: 055‑428‑135
ปภ. แพร่: 1784 หรือ 054‑533‑680
สมาคมกู้ภัยสองรวมใจแพร่: 080‑673‑9864
กู้ภัยแพร่: 054‑521‑929
จังหวัดน่าน
การไฟฟ้า: 1129 หรือ 054‑718‑116‑7
กรมทางหลวง: 1586
ทางหลวง แขวง 1: 054‑741‑379
ทางหลวง แขวง 2: 054‑718‑040
เจ็บป่วยฉุกเฉิน: 1169
มณฑลทหารบกที่ 38: 054‑774‑083 ต่อ 71213
ปภ. น่าน: 1784 หรือ 054‑716‑174
จังหวัดเชียงใหม่
เทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง: 083‑710‑6842, 083‑704‑3675
ปภ. เชียงใหม่: 1784 หรือ 053‑21‑5720
มณฑลทหารบกที่ 33: 053‑24‑1644
ศูนย์ฯ ปภ./อุทกภัย: 053‑221‑470
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่: 065‑472‑4300 (24 ชม.)
ศูนย์บัญชาการฯ จ.เชียงใหม่ 053‑221‑470
จังหวัดลำพูน
สำนักงานเทศบาล 0‑5351‑1013
สำนักงาน ปภ. ลำพูน: 053‑562‑963
จังหวัดตาก
ปภ. จังหวัดตาก 0-5551-5975 , 0-5551-5609
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน 053 614 313
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...