21 กรกฎาคม 2568 เครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำกก-สาย-รวก-โขง ออกหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC) และหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานเลขาธิการฯ เรียกร้องให้ดำเนินการตรวจสอบ กำกับ และเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมเหมืองในพื้นที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง พร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 7 ข้อ เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค
เนื้อหาในจดหมายระบุว่า ปัจจุบันประชาชนในจังหวัดเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำกก-สาย-รวก-โขง กำลังเผชิญกับผลกระทบจากมลพิษที่ไหลมาจากเหมืองในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปี 2567 เป็นต้นมา โดยมีรายงานจากกรมควบคุมมลพิษของไทยยืนยันว่า พบสารโลหะหนักปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งสี่สาย และในหลายจุดมีค่าสารปนเปื้อนเกินเกณฑ์มาตรฐานตามกฎหมาย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าเหมืองดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัทหรือบุคคลใด และยังไม่มีมาตรการหรือแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อยืนยันและสะท้อนความรุนแรงของสถานการณ์ เครือข่ายฯ ได้อ้างอิงรายงานล่าสุดของสำนักงานเลขาธิการ MRC ฉบับเดือนกรกฎาคม 2568 เรื่อง “Brief report on the water quality assessment in Lao PDR for the extent of heavy metal contamination from Kok and Sai Rivers, Chiang Rai, Thailand” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ปัญหามลพิษจากกิจกรรมเหมืองในเมียนมาไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในประเทศไทย แต่ยังมีแนวโน้มลุกลามและส่งผลกระทบข้ามพรมแดนไปยัง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งล้วนเป็นประเทศสมาชิกของ MRC เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในฐานะองค์กรระหว่างรัฐบาลที่มีภารกิจในการบริหารจัดการและปกป้องทรัพยากรน้ำของแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน จึงมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่กระทบข้ามพรมแดน และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อคุ้มครองประชาชนในภูมิภาค
เครือข่ายจึงเรียกร้องให้ MRC ดำเนินการใน 7 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
1.อยากทราบถึงฐานข้อมูลที่นำไปสู่การจัดทำรายงาน Brief report on the water quality assessment in Lao PDR for the extent of heavy metal contamination from Kok and Sai Rivers, Chiang Rai, Thailand ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ฉบับเดือนกรกฎาคม 2568 ตลอดถึงที่มาของข้อมูลเพื่อทางเครือข่ายจะได้นำไปศึกษาต่อไป
2.อยากทราบรายละเอียดและความคืบหน้าการดำเนินงาน แนวทางและแผนงาน Joint Water Quality Monitoring initiative between Myanmar and Thailand ที่สำนักงานเลขาธิการแม่น้ำโขง ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2568
3.อยากทราบถึงข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการเหมืองแร่ดังกล่าวที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้รับไม่ว่าจากทางรัฐและเอกชน
4.อยากทราบถึงบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงต่อกรณีผลกระทบจากเหมืองแร่ประเทศเมียนมาในกรณีนี้ ว่า มีแผนในการดำเนินการอย่างไรที่จะป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง และจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร
5.อยากทราบถึงแนวทางการประสานความร่วมมือกับสปป.จีนในกรอบความร่วมมือแม่น้ำโขง-ลานช้าง(Lancang-Mekong Cooperation) ในการแก้ไปปัญหากรณีดังกล่าว
6.ขอเรียนให้ทราบว่ากรณีโครงการเขื่อนปากแบง กั้นแม่น้ำโขงสายประธาน ที่กำลังจะดำเนินการก่อสร้าง ขณะนี้ผู้พัฒนาโครงการได้ทำรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน(Transboundary Environmental Impact Assessment) ต่อประเทศไทยซึ่งเป็นเงื่อนไขของสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทฯ ได้มาจัดเวทีชี้แจงกับชาวบ้านใน 8 หมู่บ้าน 2 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ซึ่งรายงานดังกล่าวระบุว่าจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากภาวะน้ำเท้อในช่วงฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่ประชาชนในพื้นที่ยังมีคำถามถึงความน่าเชื่อถือของการจัดทำรายงานดังกล่าว และขณะนี้แม่น้ำโขงในเขตพรมแดนไทย-ลาว ซึ่งเป็นท้ายอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบง พบการปนเปื้อนของสารโหะหนักเกินค่ามาตรฐานตามรายงานการตรวจของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เราขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบการจัดทำรายงานผลกระทบข้ามพรมแดน(TbEIA) ดังกล่าว ก่อนที่จะมีการดำเนินการโครงการ
7.ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้เป็นบทบาทสำคัญหนึ่งในการเจรจากับประเทศสมาชิกและต่อรัฐบาลพม่าและรัฐบาลจีน เพื่อให้เกิดการการแก้ไขปัญหาผลกระทบนี้โดยเร่งด่วน และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นผลกระทบต่อเนื่องอีก
เครือข่ายฯ ยังระบุอีกว่า ผลกระทบจากเหมืองในรัฐฉานไม่ใช่เพียงปัญหาเฉพาะถิ่น แต่เป็น “อาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม” (Environmental Crime) ซึ่งเป็นเรื่องของ “ประโยชน์สาธารณะ” (Public Interest) ที่ประชาชน ภาคเอกชน และรัฐต้องร่วมกันปกป้องอย่างจริงจัง
ในตอนท้ายของจดหมาย เครือข่ายได้ขอให้ MRC ตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 15 วัน พร้อมแนบข้อมูลและติดต่อมายังตัวแทนเครือข่าย ได้แก่ เพียรพร ดีเทศน์ และ ดร.สืบสกุล กิจนุกร เพื่อร่วมกันหาทางออกในประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในลุ่มน้ำโขงอย่างเป็นรูปธรรม
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...