เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 เกิดเหตุน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงราว 06.00 น. ระดับน้ำยังคงท่วมสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุสำคัญมาจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำฝั่งประเทศเมียนมา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายเพิ่มสูงจนล้นแนวพนังป้องกันน้ำ
น้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนในวงกว้าง โดยเฉพาะจุดที่เคยได้รับผลกระทบรุนแรงจากน้ำท่วมเมื่อปีก่อน อาทิ ชุมชนบ้านถ้ำผาจม ตลาดสายลมจอย ตลาดน้อยเหมืองแดง ชุมชนเหมืองแดง ชุมชนไม้ลุงขน และชุมชนเกาะทราย ขณะนี้น้ำได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนหลายหลัง บางจุดระดับน้ำสูงถึง 0.5–1.0 เมตร สร้างความเสียหายและความวิตกกังวลในหมู่ชาวบ้านอย่างมาก
กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยควรเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยเฉพาะบริเวณลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มต่ำ ขอให้ติดตามข้อมูลพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า แสดงความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊ค Kidnukorn Suebsakun ระบุว่า น้ำท่วมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 และ น้ำท่วมครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อกลางดึกของวันที่ 23 พฤษภาคม 2568 น้ำท่วมทั้ง 2 ครั้งให้บทเรียนอะไรเราบ้าง
1. ภาครัฐยังคงล้มเหลวในการประกาศเตือนล่วงหน้า น้ำท่วมทั้งสองครั้งไม่มีคำเตือนใดๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ถึงแม้จะมีเครื่องโทรมาตรวัดน้ำทั้งในเขตเมียนมาและฝั่งไทย แต่สุดท้ายก็ไม่มีหน่วยงานภาครัฐประมวลผลข้อมูลและออกประกาศเตือนล่วงหน้า ส่งผลให้ประชาชนต้องเตือนกันเองผ่านช่องทาง social media ที่หลากหลายของคนในพื้นที่
2.ภาครัฐไม่มีแผนการรับมือน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่แม่สายและเชียงราย ทั้งที่รู้กันอยู่แล้วว่าน้ำจะท่วมอีกแน่ๆ แต่ภาครัฐก็ล้มเหลวในการรับมือน้ำท่วมอีกเช่นเคย
3. ภาครัฐไม่มีแนวปฏิบัติให้ประชาชนรับทราบ เข้าใจ และนำไปปฎิบัติในกรณีน้ำท่วมปนเปื้อนสารพิษ เรารู้กันถ้วนหน้าและว่าน้ำสายปนเปิ้อนสารหนู ผลตรวจของมฟล.โดยชุดตรวจภาคสนาม และผลตรวจของสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ยืนยันตรงกันว่าน้ำสายมีสารหนูเกินค่ามาตรฐาน แต่ภาครัฐก็ไม่มีแนวปฏิบัติอันใดให้ประชาชนทีต้องเชิญกับน้ำท่วมที่มาพร้อมกับสารพิษ
สืบสกุลยังแนะว่าประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมลุ่มน้ำกก น้ำสายต้องเตรียมพร้อมอย่างไร
1. เราต้องการชุดตรวจสารโลหะหนักภาคสนามที่รู้ผลตรวจภายใน 5 – 30 นาที สำหรับทุกชุมชน อย่างน้อยชุมชนละ 10 ชุด สำหรับใช้ตรวจหาสารโลหะหนักที่จะมาพร้อมกับน้ำท่วม เพื่อให้ชุมชนมีข้อมูลที่สามรถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที
2. เราต้องการชุดแต่งกายสำหรับหน่วยกู้ภัยและอาสาสมัครในจังหวัดเชียงรายที่ปลอดภัยจากการรสัมผัสสารโลหะหนักในระหว่างที่ชุดกู้ภัยออกให้ควมช่วยเหลือประชาชนในระหว่างน้ำท่วม
3. เราต้องการให้รัฐบาลออกแผนงานการรับมือน้ำท่วมที่มาพร้อมกับสารพิษ นี่คือสถานกรณ์น้ำท่วมที่มาพร้อมกับสารพิษข้ามพรมแดน ไม่ใช่น้ำท่วมแบบปกติอีกต่อไปแล้ว
4. เราต้องการให้รัฐบาลออกแนวปฏิบัติให้ประชาชนได้เข้าใจว่าต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่มาพร้อมกับสารพิษ เพื่อให้ประชาชนได้เข้ใจและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง
5. เราต้องการให้รัฐบาลเจรจากดดันใหัรัฐบาลเมียนมา จีน และว้า ยุติการทำเหมืองอย่างถาวรในต้นน้ำกก น้ำสาย และน้ำรวก เนื่องจากสร้างความเดือดร้อยให้ประชาชนทั้งในในประเทศเมียนมและไทยอย่างแสนสาหัส
ทั้งนี้ยังขอความเห็นใจจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย เพื่อช่วยเหลือประชาชนในจังหวัดเชียงราย โดยขอความช่วยเหลือจากบริษัทผู้ผลิตชุดตรวจสารโลหะหนักภาคสนาม ศูนย์วิจัยภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย สนับสนุนชุดตรวจสารโลหะหนักให้กับชาวเชียงรายได้มีไว้ใช้ตรวจสารโลหะหนักที่มากับน้ำ อีกทั้งยังขอรับการสนับสนุนชุดแต่งกายที่มีคุณสมบัติปกป้องสารโลหะหนักในขณะลุยน้ำ สำหรับส่งมอบต่อให้ชุมชน อาสาสมัคร และหน่วยกู้ภัย เพื่อใช้ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์น้ำท่วม
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...