สชป.-สกน. จับตาทบทวนกฎหมายป่า-โฉนดชุมชน หลังครม.รับ 6 หลักการแก้ปัญหาป่าไม้ที่ดิน

จากการเคลื่อนไหวของ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เพื่อผลักดัน 6 ข้อเรียกร้องหลักที่ครอบคลุมประเด็นด้านที่ดิน ป่าไม้ คดีความ และสิทธิในสัญชาติของประชาชนในพื้นที่ชนบทและแนวป่า ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม ถึง 1 เมษายน 2568 นำไปสู่ บันทึกข้อตกลงแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐบาล โดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ สชป. และ สกน. ลงวันที่ 29 มีนาคม 2568 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามบันทึกดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการฯ ตามข้อที่ 3 ของบันทึกข้อตกลง โดยถือเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นการขับเคลื่อน ‘โฉนดชุมชน’ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2553 ให้เป็นหนึ่งในแนวทางจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติที่สอดคล้องกับหลักสิทธิชุมชน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การเร่งรัดให้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานฯ ครั้งแรกในปี 2568 เพื่อกำหนดแนวทางการส่งเสริมและยกระดับโฉนดชุมชน รวมถึงเสนอให้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พิจารณารับรองให้โฉนดชุมชนเป็นหนึ่งในรูปแบบการจัดที่ดินตามมาตรา 10 (4) แห่ง พ.ร.บ. คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญตามบันทึกข้อตกลง คือการทบทวนกฎหมายป่าอนุรักษ์ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 ประเสริฐ จันทรรวงทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายป่าอนุรักษ์” เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรกในปี 2568 ว่าจะสามารถวางกรอบการทำงานที่ครอบคลุมการปรับปรุงกฎหมายทั้งฉบับได้หรือไม่ ไม่เพียงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงการอนุรักษ์ แต่รวมถึงมาตรการการจัดการที่ดินตามนโยบายรัฐ และกระบวนการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของราษฎร โดยอาศัยอำนาจข้อที่ 7 ของคำสั่งที่เปิดทางให้ประธานสามารถมอบหมายภารกิจเพิ่มเติม

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง