Lanner Joy: ‘ผึ้ง-กุหลาบ-โซเมีย’ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตและอำนาจ ใน Open Studio RhizomiaAIR 2025

เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว

ผึ้ง ดอกกุหลาบ และโซเมีย สามสิ่งที่ดูหาจุดร่วมใดๆ แทบไม่เจอ หากแต่เมื่อมองลึกลงไป ผ่านเลนส์ของศิลปะ นิเวศวิทยา และวัฒนธรรม กลับพบว่าพัวพันในโครงสร้างความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของการอยู่ร่วม การต่อต้าน และการถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่า

นิทรรศการ Open Studio RhizomiaAIR 2025 เกิดขึ้นภายใต้เครือข่ายศิลปิน Rhizomia การเชื่อมโยงอันละเอียดอ่อนระหว่างสิ่งมีชีวิต พื้นที่ และอำนาจ ถูกนำมาสำรวจผ่านผลงานของสองศิลปินรุ่นใหม่ ดุลยพินิจ หมื่นพรม จากจังหวัดขอนแก่น และ ธนบดี วัฒนารักษ์ จากจังหวัดนครสวรรค์ แต่ละคนหยิบจับประเด็นที่แตกต่างกันออกไป แต่กลับพาเราย้อนมองโครงสร้างเดียวกัน โครงสร้างที่ควบคุม บงการ และบางครั้งก็หล่อเลี้ยง

โซเมีย: พื้นที่ที่ผึ้งและมนุษย์ถามหาซึ่งกันและกัน

‘โซเมีย’ (Zomia) ไม่ได้เป็นเพียงชื่อเรียกพื้นที่ภูเขากว้างใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบน แต่เป็นคำอธิบายเชิงแนวคิดที่นักประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาอย่าง James C. Scott ใช้เรียกภูมิภาคที่ผู้คนพยายามปลีกตนจากรัฐส่วนกลาง เพื่อรักษาอิสรภาพทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองของตนเอง

ดุล-ดุลยพินิจ หมื่นพรม ใช้แนวคิดเรื่องโซเมียมาเป็นจุดตั้งต้นของการทำงานใต้หัวข้อ โซเมีย: พื้นที่ที่ผึ้งและมนุษย์ถามหาซึ่งกันและกัน โดยมองว่าโซเมียไม่ใช่แค่พื้นที่ของผู้คน แต่เป็นระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มักถูกละเลย

จากการเริ่มต้นสำรวจเชียงใหม่ ดุลพบข่าวการค้นพบ ผึ้งหลวงหิมาลัย บนดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกระตุ้นคำถามถึงเส้นทางการอพยพของผึ้งชนิดนี้ และความสอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ในโซเมีย จุดเชื่อมโยงดังกล่าวนำเขาไปสู่การศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกับผึ้งอย่างไม่รบกวนกัน เขาจึงทดลองสร้างสรรค์งานร่วมกับ ผึ้งโพรงอิตาเลียน ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดของผึ้งหลวง ในฟาร์มเลี้ยงผึ้งที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมองว่าผึ้งคือผู้ร่วมงาน ไม่ใช่เพียงวัตถุศึกษา

“ผมไม่อยากเป็นแค่นักสังเกตการณ์ ผมอยากเป็นผู้ร่วมงานของผึ้งจริงๆ เราให้น้ำหวานกับเขา แล้วเขาก็วาดภาพให้เรา เป็นภาพวาดที่ไม่มีแปรง แต่เต็มไปด้วยร่องรอยของการมีอยู่”

ดุลแบ่งงานออกเป็นสองฝั่งด้านหนึ่งคือภาพวาดจากผึ้ง อีกด้านคือเรื่องสั้นที่เขาเขียนขึ้น โดยมีผึ้งเป็นตัวละครหลักทั้งสามเรื่อง ได้แก่ นายพญา, เหล็กใน และ เสียงหึ่ง

“เรื่องที่ผมชอบที่สุดคือ เหล็กใน ผมลองตั้งสมมติฐานว่า ถ้ามนุษย์มี ‘เหล็กใน’ แบบผึ้ง ที่ใช้เมื่อไหร่ก็ตายตอนนั้น มันจะเปลี่ยนวิธีที่มนุษย์ใช้ความรุนแรงไหม?”

ในพื้นที่จัดแสดง ดุลยพินิจนำเสนอวิดีโอเรียบง่ายชุดหนึ่ง ฉายอยู่ภายในกล่องเลี้ยงผึ้งที่ตั้งอยู่มุมห้อง ในจอปรากฏภาพของเขาที่กำลังนั่งอ่านหนังสือให้ผึ้งโพรงอิตาเลียนฟัง ฝูงผึ้งบินวนรอบตัวอย่างสงบ เป็นภาพที่สะท้อนความร่วมมือเงียบระหว่างสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์

“การอ่านให้ผึ้งฟังเป็นเหมือนสิ่งเล็กๆ ที่เราอยากตอบแทนเขา เหมือนบอกว่า ขอบคุณนะ ที่ช่วยเราสร้างงานนี้”

ถัดจากวิดีโอ มีหนังสือหลายเล่มวางอยู่ ทั้งหมดคือหนังสือที่เขาเคยอ่านให้ผึ้งฟังจริง ดุลหยิบยก 3 เล่มสำคัญที่หล่อหลอมแนวคิดเบื้องหลังงานศิลปะครั้งนี้มาอธิบายให้ฟัง

เริ่มจากเล่มแรก A WORLD WITHOUT BEES : โลกไร้ผึ้ง โดย อลิสัน เบนจามิน และไบรอัน แมกคัลลัม ว่าด้วยความสำคัญของผึ้งต่อระบบนิเวศและอารยธรรมมนุษย์ ตั้งแต่ตำนานโบราณไปจนถึงวิกฤตสิ่งแวดล้อมร่วมสมัย เช่น พื้นที่บางแห่งในจีนที่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ผสมเกสรแทนผึ้ง

เล่มถัดมา รวมข้อมูลวรรณกรรมวิชาการ โซเมีย, ไท-ไต โดย “นิธิ เอียวศรีวงศ์”  นักประวัติศาสตร์และนักมานุษยวิทยาผู้ล่วงลับ ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนอกศูนย์กลางอำนาจ โดยเฉพาะการมองโซเมียในฐานะแหล่งรวมของความรู้ ความหลากหลาย และการต่อต้านอำนาจรวมศูนย์

เล่มสุดท้าย 20 ชั่วโมง How to be an Artist โดย คามิน เลิศชัยประเสริฐ ที่เสนอแนวคิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องมีรูปทรงชัดเจน แต่อาจเป็นเพียงการกระทำร่วมกันเล็กๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ หรือแม้แต่กับผึ้ง

เมื่อดุลยพินิจย้อนกลับไปพิจารณาความหมายของพื้นที่โซเมียอีกครั้งหลังการทดลอง เขาพบว่าผึ้งและผู้คนในภูมิภาคนี้มีความคล้ายคลึงกันในหลายมิติ แม้จะแตกต่างทั้งสายพันธุ์และระบบการสื่อสาร

ประเด็นแรกที่เขาสังเกตคือ โครงสร้างการปกครอง ของผึ้งและผู้คนมีความคล้ายคลึงกัน ในประวัติศาสตร์ล้านนา ผู้หญิงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางของชุมชน เช่น เจ้าดารารัศมี ซึ่งแม้จะไม่ใช่ผู้มีอำนาจสั่งการในระบบชายเป็นใหญ่ แต่กลับได้รับการยอมรับอย่างสูงในฐานะผู้นำและที่พึ่งพิงของผู้คน ลักษณะเช่นนี้สะท้อนโครงสร้างของรังผึ้ง ที่มี ‘นางพญา’ เป็นศูนย์รวมของชีวิตโดยไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจบังคับบัญชา

อีกประเด็นคือ การอพยพ ทั้งผึ้งและผู้คนในโซเมียต่างมีพฤติกรรมเคลื่อนย้ายเพื่อแสวงหาพื้นที่ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต มนุษย์อาจโยกย้ายเพราะภัยธรรมชาติ สงคราม หรือแรงกดดันจากรัฐ ส่วนผึ้งอพยพตามฤดูกาลและทรัพยากรธรรมชาติ แม้เหตุผลต่างกัน แต่พฤติกรรมการโยกย้ายอย่างต่อเนื่องกลับสะท้อนความสอดคล้องทางนิเวศวัฒนธรรม โดยเฉพาะเมื่อเส้นทางของผึ้งหลวงหิมาลัยซ้อนทับกับแผนที่ของชุมชนชาติพันธุ์ในโซเมียอย่างแม่นยำ

จากประสบการณ์ลงพื้นที่ ดุลยังได้เรียนรู้วิธีการอยู่ร่วมกับผึ้งอย่างไม่รบกวนธรรมชาติ เช่น วิธีของชาวกะเหรี่ยงที่เก็บน้ำผึ้งโดยไม่ทำลายรัง และรอจนผึ้งเก็บน้ำหวานเต็มก่อนจะเก็บเพียงปีละครั้ง

“ผมว่ามันคือความเข้าใจธรรมชาติที่ลึกมาก แบบไม่เร่ง ไม่แย่ง แล้วก็อยู่ร่วมกันได้จริงๆ ซึ่งมนุษย์ยุคใหม่อาจต้องกลับมาเรียนรู้จากผึ้งในแบบนี้บ้าง”

ท้ายที่สุด เขาเชื่อว่า หากมนุษย์เปิดใจเรียนรู้จากสิ่งมีชีวิตอื่น เช่นผึ้ง ที่แม้ไม่ได้ตั้งใจจะช่วยโลก แต่กลับมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศไม่แพ้สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น

Hēgemonia: ดอกกุหลาบ การควบรวม และการต่อต้าน

อีกฟากหนึ่งของนิทรรศการ ธนบดี วัฒนารักษ์ พาผู้ชมดำดิ่งสู่พื้นที่ล้านนา ไม่ใช่ในฐานะเพียงวัฒนธรรมพื้นถิ่น แต่ในฐานะสนามทดลองของอำนาจ ผ่านผลงาน Hēgemonia ที่ตั้งคำถามกับกระบวนการจัดระเบียบวัฒนธรรมโดยรัฐสยาม โดยมี ‘ดอกกุหลาบ’ เป็นตัวกลางในการเล่าเรื่อง

ธนบดีนำ ‘กุหลาบจุฬาลงกรณ์’ ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่ถูกปรับปรุงพันธุกรรมจนมีลักษณะกลีบแน่น ไม่แหลมคม กลิ่นแรงชัดเจน ลักษณะที่เปรียบได้กับความ ‘ประณีตแบบศูนย์กลาง’ หรืออารยธรรมที่ถูกผลิตซ้ำในนามของความงาม มาผสมกับ ‘กุหลาบเวียงพิงค์’ พันธุ์ป่าพื้นถิ่นล้านนา ที่มีกลีบบาง กลิ่นละมุน และหนามแหลม ซึ่งบ่งบอกถึงธรรมชาติที่ไม่ถูกขัดเกลา แต่กลับมีความงามเฉพาะตัวจากรากเหง้าท้องถิ่น

การผสมพันธุ์ไม่ได้ทำผ่านวิธีธรรมชาติ แต่ใช้เทคนิคเกษตรกรรมที่เรียกว่า ‘การเสียบยอด’ กระบวนการที่ต้อง ผ่ากิ่งหรือยอดของพืชทั้งสอง แล้วเชื่อมให้ติดกัน เพื่อให้กลายเป็นต้นเดียวกัน ซึ่งในมิติของงานศิลปะ ธนบดีแปลงเทคนิคนี้ให้เป็น สัญลักษณ์ของกระบวนการ ‘ควบรวมทางอัตลักษณ์’ ที่รัฐศูนย์กลางมีต่อภูมิภาค เช่น การกลืนวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เข้ากับภาพใหญ่ของชาติ ผ่านระบบการศึกษา สัญลักษณ์ วาทกรรม และความงามแบบกลาง

แม้ผลลัพธ์อาจฟังดูสวยงามแต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเสียบยอดนั้นเกิดขึ้นจาก การผ่า และ การควบคุม ซึ่งฝากรอยแผลไว้ในเนื้อไม้ ลักษณะนี้สะท้อนถึง โครงสร้างอำนาจแบบ Hegemony ที่มองผิวเผินอาจดูเป็นการ รวมกันเพื่อความมั่นคง หรือพัฒนาให้ดีขึ้น แต่แท้จริงแล้ว เป็นการกดทับอัตลักษณ์ท้องถิ่น ด้วยการครอบงำทางความคิด วัฒนธรรม และอำนาจสัญลักษณ์อย่างแนบเนียน

“การเสียบยอดมันคือการผ่า คือการสอดแทรกสิ่งใหม่เข้าไปในต้นตอเดิม ดูเผินๆ อาจเป็นกระบวนการงอกงาม แต่ลึกลงไปคือการบังคับให้ยอมรับบางอย่างโดยไม่มีสิทธิเลือก”

ภายในพื้นที่จัดแสดงของธนบดีถูกออกแบบให้คล้ายกับสมุดบันทึกความทรงจำที่ผสานเข้ากับห้องทดลองทางพฤกษศาสตร์ มีทั้งต้นกุหลาบจริง ที่บางต้นยังคงยืนต้นงดงาม บางต้นก็ร่วงโรยเหี่ยวเฉา เสมือนสะท้อนความแตกต่างของอัตลักษณ์ บนผนังมีการจัดแสดงภาพพิมพ์จากกระบวนการ ‘ไซยาโนไทป์’ (Cyanotype) หรือ  การใช้แสงแดดในการสร้างภาพลงบนกระดาษเคลือบสารไวแสง โดยภาพที่ปรากฏออกมามีสีฟ้าเข้ม 

งานจัดวางยังเสริมด้วยวิดีโอที่บันทึกกระบวนการเสียบยอด การผ่าไม้ ตัดกิ่ง เชื่อมต่อสายพันธุ์ ที่ทำโดยธนบดี ตัดสลับกับฟุตเทจจากการบันทึกของร.7 ที่บันทึกภาพเมืองเชียงใหม่ในห้วงเวลาหลังถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภาพเหล่านี้ไม่ได้เพียงบอกเล่าประวัติศาสตร์ แต่กลายเป็นการสำรวจว่าอำนาจเข้ามาปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ท้องถิ่นอย่างไร

“ผมรู้สึกว่าภาพการเล็มกิ่ง ตัดดอก ล้างราก มันคือภาพของรัฐที่ ‘เตรียมพื้นที่’ สำหรับการปกครอง ทำให้ต้นไม้ไม่เปลืองพลังงาน เหมือนกับที่รัฐทำให้ท้องถิ่นไม่เปลืองพลังของตัวเอง”

ธนบดีเล่าว่า หนึ่งในฉากที่ทรงพลังที่สุด คือฟุตเทจการประชุมของเจ้าเมืองล้านนาในกรุงเทพฯ ทุกคนสวมเครื่องแบบราชการกลาง ยืนเรียงแถวอย่างมีระเบียบดุจไพ่ที่ถูกจัดวางอย่างแม่นยำ ภาพนี้อาจถูกจารึกไว้ในฐานะสัญลักษณ์ของ ‘ความสำเร็จ’ แห่งรัฐรวมศูนย์ แต่ในสายตาของศิลปิน กลับสะท้อนถึง การลบเลือนอัตลักษณ์ ที่เกิดขึ้นใต้ระเบียบอำนาจซึ่งดูเรียบร้อยเกินจริง

“สำหรับผม มันไม่ใช่แค่เรื่องความรักของเจ้าดารารัศมีที่มีต่อ ร.5 อย่างที่ประวัติศาสตร์ทางการชอบเล่า แต่คือเรื่องของการรักษาอัตลักษณ์ผ่านความดื้อเงียบ เช่น การไม่ตัดผม การนุ่งซิ่น การกินเมี่ยง ล้วนคือการยืนยันว่า ‘ฉันยังเป็นล้านนา’ อยู่”

Hēgemonia จึงไม่ใช่เพียงผลงานศิลปะ หากแต่เป็นการขุดสำรวจชั้นของความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และความเจ็บปวดจากการอยู่ร่วมในโครงสร้างอำนาจที่ไม่สมดุล ดอกกุหลาบในงานนี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อชื่นชมความงาม แต่ทำหน้าที่เสมือน ตัวแทนของการต่อรอง การกลืนกิน และการตั้งคำถามต่อสิ่งที่รัฐพยายามทำให้เชื่อว่าเป็นหนึ่งเดียวโดยไร้รอยต่อต้าน

“บางต้นอาจออกดอก บางต้นอาจไม่รอด เหมือนกับวัฒนธรรมบางอย่างที่อาจอยู่รอดได้ภายใต้เงื่อนไขใหม่ หรืออาจไม่รอดเลยก็ได้ แต่นี่แหละคือชีวิตของมัน ของล้านนา และของดอกไม้ที่ถูกเสียบยอด”

ถักทอเส้นใยแห่งการต่อต้าน ความร่วมมือ และอนาคตไร้ศูนย์กลาง

แม้ว่าทั้งดุลยพินิจและธนบดีจะหยิบจับประเด็นต่างกัน แต่เมื่อมองในโครงสร้างลึก ทั้ง ‘ผึ้ง’ และ ‘ต้นกุหลาบ’ ต่างต้องต่อรองกับอำนาจ ผึ้งต้องมีเงื่อนไขของการอยู่ร่วม กุหลาบต้องมีเงื่อนไขของการงอกงามภายใต้การควบคุม เช่นเดียวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ต้องดิ้นรนอยู่ในเงื่อนไขของรัฐรวมศูนย์

RhizomiaAIR 2025 เปิดพื้นที่ให้ศิลปินรุ่นใหม่นอกศูนย์กลางได้ทดลอง ตั้งคำถาม เป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องมี ‘ศูนย์กลาง’ นี่จึงไม่ใช่แค่เพียงงานศิลปะ แต่เป็นพื้นที่ที่สะท้อนภาพความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตต่างสายพันธุ์ ในโลกที่กำลังต้องการรูปแบบใหม่ของการอยู่ร่วมอย่างเท่าเทียม ยืดหยุ่น และยอมรับความหลากหลายอย่างแท้จริง

ร่วมสำรวจและตั้งคำถามไปด้วยกันได้ที่ Open Studio RhizomiaAIR 2025 ณ The Afterlife Poshtel & Art Space เชียงใหม่ ตั้งแต่วันนี้ถึง 15 สิงหาคม 2568 เวลา 10:30–16:00 น.  ติดตามรายละเอียดได้ที่ เพจ Rhizomia art network

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง