เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
ภาพ: เปรม เต็งสวัสดิกุล
“ตอนโควิดก็ทำให้ธุรกิจเราชะงักแล้ว ต้องปิดกิจการกันไปเยอะ พอปี 2565 เหมือนจะเริ่มฟื้นตัวได้ก็มาเจอน้ำท่วมอีก ข้าวของที่เตรียมไว้ก็หายไปกับน้ำหมด ยังไม่ทันจะฟื้นตัวกันก็ยังต้องมาเจอน้ำขุ่นเปื้อนสารพิษอีก”
เสียงของ จิรภัทร์ กันธิยาใย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านร่มไทย ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าถึงภาวะวิกฤตลุ่มน้ำกกที่ชาวแม่อายกำลังเผชิญ
‘ท่าตอน’ อำเภอแม่อาย ถือเป็นจุดแรกที่ ‘แม่น้ำกก’ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ไหลเข้ามายังประเทศไทย ก่อนจะไหลผ่านตัวเมืองเชียงรายไปบรรจบกับแม่น้ำโขงที่บ้านสบกก อำเภอเชียงแสน
“ตั้งแต่ก่อนปี 2567 ย้อนหลังไป แม่น้ำกกจะใสสะอาดมาก โดยเฉพาะในช่วงมกราคม-มีนาคม น้ำจะใสจนมองเห็นเท้าตัวเองได้เลย เด็กๆ ผู้ใหญ่ ก็จะมาเล่นน้ำกันช่วงเย็น ใช้พักผ่อน ซักผ้า บางบ้านที่ไม่มีน้ำใช้ก็สูบน้ำจากแม่น้ำมาใช้กันได้สบายๆ”
แม่น้ำกกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นด้วยทัศนียภาพงดงามของสายน้ำและเทือกเขา โดยเฉพาะบริเวณท่าตอนซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำไปยังจังหวัดเชียงราย ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการที่พัก นั่งรับประทานอาหารชมวิวริมน้ำ ไปจนถึงการทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์อย่างการ ล่องแพ เล่นน้ำ กันอย่างคับคั่ง ทำให้ ‘ธุรกิจการท่องเที่ยวริมน้ำกก’ จึงเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูอย่างมากในช่วงหนึ่ง
“ตอนน้ำท่วมครั้งใหญ่ น้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้านแบบไม่ทันตั้งตัว ทั้งไม้ซุง รถ ควาย ม้า ไหลมากับน้ำ บ้านเรือนริมน้ำพังเสียหาย หลายคนเสียของใช้ ของมีค่า บางคนเหลือแค่เสื้อผ้าติดตัวชุดเดียว แล้วหลังจากนั้น น้ำก็ไม่ใสอีกเลย”




จิรภัทร์ เล่าว่า แม้ในอดีตธุรกิจการท่องเที่ยวในท่าตอนจะคับคั่ง แต่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจท่องเที่ยวในท่าตอนก็ได้รับผลกระทบไปมาก จนชาวบ้านที่เป็นผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดกิจการไป พอสถานการณ์คลี่คลายลงจนเริ่มฟื้นตัวกันได้ ก็ยังต้องมาเจอกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อปี 2567 แม้ว่าจะพยายามกัดฟันตั้งหลักใหม่อีกครั้ง ก็ต้องพบกับสารพิษในแม่น้ำกกที่เข้ามาซ้ำเติมอีกอยู่ดี เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2568 ที่ผ่านมา
หลังจากที่ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เปิดผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ โดยระบุว่า แม่น้ำกกมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ ‘เสื่อมโทรม’ ทั้งยังตรวจพบการปนเปื้อนของโลหะหนักที่เกินค่ามาตรฐาน ประกอบด้วย ‘ตะกั่ว’ และ ‘สารหนู’ พร้อมทั้งเตือนประชาชนลุ่มน้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และหลายอำเภอในจังหวัดเชียงราย งดใช้น้ำอุปโภคบริโภคที่ทำให้เสี่ยงเกิดมะเร็งในระยะยาว กระแสข่าวการปนเปื้อนของโลหะหนักในน้ำกก และคำเตือนเรื่องการใช้น้ำ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ จนในตอนนี้ธุรกิจการท่องเที่ยวในท่าตอนยิ่งซบเซาลงจนเหมือนใกล้ถึงจุดจบ
จากท่องเที่ยวริมน้ำที่เคยคึกคัก สู่รีสอร์ทเงียบงัน เมื่อข่าวสายน้ำติดเชื้อเปลี่ยนท่าตอนให้ซบเซา
“เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว มีนักท่องเที่ยวประมาณ 2,000 คน ต่อวัน แต่ช่วง 10 กว่าปีหลังมานี้คนมาเที่ยวแค่วันละ 50 60 คน ลดลงมาหลายเท่าเลยนะ โควิดยังมีคนอยากมาใช้เงินอยู่ แต่ตอนนี้คนหายไปเลย”
ใหญ่ เจ้าของอารียา ภูรี รีสอร์ท เล่าว่า เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วท่าตอนเคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการล่องเรือในแม่น้ำกกสูงสุดถึงวันละ 2,000 คน แต่ช่วง 10 ปีหลังมานี้ จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเหลือเพียงวันละประมาณ 50 – 100 คนเท่านั้น เป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจโลก แต่หลังจากที่มีข่าวเรื่องแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษออกมา นักท่องเที่ยวก็หายไปเกือบหมด ร้านอาหารที่เคยมีลูกค้าคับคั่ง ตอนนี้เหลือลูกค้าเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
“เราได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเรามีค่าใช้จ่ายสูง ไหนจะค่าไฟ ค่าพนักงาน ซึ่งเราจะไปลดก็ไม่ได้”
ใหญ่เล่าว่าการที่นักท่องเที่ยวลดลงส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่พักในท่าตอนเป็นอย่างมาก เพราะการเปิดให้บริการที่พัก จะมีค่าใช้จ่ายประจำค่อนข้างสูง แต่รายได้ที่ได้กลับลดลงไปหลายเท่าตัว
“พอมีข่าวน้ำกกมีสารปนเปื้อน ทุกคนก็มีความกังวลว่าเมื่อกินแล้วเนี่ยจะมีสารปนเปื้อนเข้ามาในร่างกาย แต่จริงๆ แล้วในการอุปโภคบริโภค พวกเราใช้น้ำบาดาลกันครับ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ได้มีการปนเปื้อนของสารพิษ ยังปลอดภัยอยู่”
ใหญ่มองว่าสิ่งที่ทำให้คนไม่กล้ามาเที่ยวที่ท่าตอนเหมือนเดิม คือความเข้าใจว่าทุกอย่างในพื้นที่ต้องปนเปื้อนสารพิษไปหมด แต่ความจริงแล้ว ในส่วนของร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงที่พัก ไม่ได้ใช้น้ำจากแม่น้ำกก แต่เป็นการใช้น้ำจากน้ำบาดาลซึ่งไม่ได้ปนเปื้อนสารพิษ และในส่วนของวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหาร ส่วนใหญ่ก็จะซื้อจากตลาดหรือร้านค้าขนาดใหญ่ ไม่ได้ใช้วัตถุดิบที่มาจากพื้นที่เสี่ยงอย่างที่หลายคนเข้าใจ
แม่น้ำหมดเสน่ห์ แพริมกกก็ไปไม่รอด
“ช่วงหน้าหนาวบางทีคนมาเป็นพัน บางปีทำซุ้มอาหารถึง 40 กว่าซุ้มเลย แต่ปีนี้สถานการณ์ไม่ดี น้ำท่วม เลยทำได้แค่ 22 ซุ้ม แต่พอมีข่าวตรวจคุณภาพน้ำออกมา คนก็หายหมดเลย ไม่มีใครกล้ามาอีก”
นี่คือคำบอกเล่าจาก บัวลอย พูลเกตุ หนึ่งในผู้ประกอบการร้านอาหารริมน้ำในชุมชนท่าตอน ซึ่งกำลังเผชิญกับความเงียบเหงาและการสูญเสียรายได้อย่างรุนแรงจากวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งน้ำท่วมและวิกฤตสารพิษในน้ำกก
“จริงๆ ปกติแล้วที่นี่รายได้รวมๆ แล้วเยอะกว่าที่ฝางอีกนะ ถ้าเป็นช่วงที่ทำแพขายอาหาร รายได้ต่อวันก็หลายหมื่น อย่างวันที่ 13-15 เมษายน เคยได้ถึงแสนบาทต่อวัน แต่ยังไม่ได้หักต้นทุนนะ แต่พอเกิดสถานการณ์มันก็ปิดตัวกันไปเยอะ”
บัวลอยเล่าว่า ธุรกิจการท่องเที่ยวในท่าตอนสามารถสร้างเม็ดเงินให้กับแม่อายอย่างมหาศาล โดยในช่วงเวลาปกติ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม แม้จะเป็นช่วง Low season ธุรกิจร้านอาหารริมแม่น้ำกกยังพอมีลูกค้า แต่หลังจากเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวโดยเฉพาะเดือนตุลาคมเป็นต้นไป นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลเข้ามาอย่างคึกคัก กลายเป็นช่วงทำรายได้หลัก บางวันยอดขายแตะหลักหมื่นถึงแสนบาท ทว่าเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีนี้ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก ธุรกิจที่เคยคึกคักกลายเป็นซบเซา
“แม่น้ำเป็นจุดดึงดูดหลัก แต่พอแม่น้ำมันแย่ ก็ไม่มีอะไรจะดึงคนมาได้อีกแล้ว ตอนแรกเราก็ยังทำใจสู้ว่า เออไม่เป็นไร เขามาไม่ได้เล่นน้ำแต่อย่างน้อยก็คงยังได้มานั่งชมวิว แต่ในความจริงมันไม่เป็นแบบนั้น เพราะบรรยากาศมันก็ไม่ได้ดีแบบเดิม เลยกลายเป็นว่าคนเขามาก็ไม่มีอะไรแล้ว เขาเลยไม่มากัน”
บัวลอยเล่าอย่างท้อใจ พร้อมเสริมว่า กิจกรรมทางน้ำที่เคยเป็นจุดขาย เช่น การเล่นน้ำ พายเรือ หรือฝึกกู้ภัยต่างๆ ถูกยกเลิกหมดเพราะคุณภาพน้ำที่เสื่อมลง
“แต่ก่อนนี้ปีนึงก็กำไร 7-8 หมื่น เป็นแสนกะมี แต่ตอนนี้คือเหลือศูนย์เลย มันบ่าได้อะหยังเลย ยังขาดทุนไป 4-5 หมื่นบาทแหมซ้ำ”
เช่นเดียวกับ พร ลุงเฮง ชาวบ้านที่ทำธุรกิจร้านแพริมน้ำในชุมชนบ้านแก่งทรายมูล ที่ประสบปัญหาเดียวกันนั่นคือมีรายได้ลดลงเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ พรเล่าว่า ตอนนี้รายได้หลักของเธอลดลงไปเยอะมาก จากที่ลงทุนไป 4-5 หมื่นบาท ก็ไม่ได้กำไรคืนมาเลย ค่าแรง ค่าจ้างคนงาน ข้าวของที่ซื้อเก็บไว้ก็เน่าเสียหมด
“ตอนนี้จะหื้อไปยะอะหยัง เฮากะยังบ่ฮู้เลย คงต้องเซาะทำมาหากิ๋นตางอื่นไปก่อน ทุกปีเฮาอาศัยน้ำกกหากิ๋น แต่ปีนี้น้ำมันเป๋นจะอี้ก็จะยะใดมันได้เนาะ” พรกล่าวด้วยน้ำเสียงสิ้นหวัง
ธุรกิจแพริมน้ำในท่าตอนเคยสร้างรายได้ให้ชุมชนมากถึงปีละหลักแสนบาท แต่วันนี้ต้องเผชิญทางตัน หลายคนเริ่มหันไปทำสวนผลไม้ ลูกหลานก็ต้องทยอยเข้าไปหางานทำในเมืองใหญ่ เพราะไม่สามารถหารายได้จากธุรกิจนี้ได้เหมือนเดิมอีกแล้ว เพราะ “แม่น้ำ” ซึ่งเป็นหัวใจของการท่องเที่ยวในพื้นที่ กลับกลายเป็นภาพแทนของมลพิษและความเสื่อมโทรม ขาดการดูแล ฟื้นฟู หรือการสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา
เสียงจากชาวบ้านท่าตอนไม่เพียงแต่สะท้อนปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังบ่งบอกถึงความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจฐานรากที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีทางเลือก และกำลังเรียกร้องการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าการรอให้ธรรมชาติเยียวยาตัวเอง
น้ำเสียทำลายพืชผล ชีวิตเกษตรกรริมกกสั่นคลอน
วิกฤตแม่น้ำกกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น ในภาคเกษตรกรรมเองก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ที่ยังต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำเพื่อทำการเกษตรมายาวนาน
สายฟ้า ลุงหงษ์ เกษตรกรในชุมชนแก่งทรายมูลเล่าว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาใช้น้ำจากแม่น้ำกกในการรดน้ำพืชผลและผลไม้ในสวนอย่างต่อเนื่อง แต่ในปีนี้กลับต้องเผชิญกับปัญหาน้ำเสียที่รุนแรง น้ำที่สูบขึ้นมาใช้กลับทำให้พืชพรรณในสวนเน่าเสีย โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” ซึ่งเป็นพืชหลักของชุมชน
“ใบไม่ขึ้นเลยครับ น้ำมันเน่า ผลผลิตลดลงจากเดิมเหลือแค่ครึ่งเดียว บางแปลงไม่ขึ้นเลย รายได้ก็ลดลงเหลือเพียง 30-40%”
สถานการณ์บีบบังคับให้เกษตรกรต้องหันมาใช้น้ำจากแหล่งอื่นแทน โดยเฉพาะน้ำจากภูเขา ซึ่งแม้จะสะอาดกว่า แต่ก็ไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง และยังสร้างภาระในการขนส่งน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรที่ทำไร่ทำสวนอยู่ในพื้นที่ต่ำได้รับผลกระทบซ้ำซ้อน
ไม่เพียงแต่ภาคเกษตรกรรมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ชีวิตของผู้คนในชุมชนที่ผูกพันกับแม่น้ำกกมาตั้งแต่เด็กก็เปลี่ยนไป วิถีของชาวประมงพื้นบ้านและผู้ที่เคยใช้เวลาว่างในการตกปลาถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะไม่มีใครกล้าเสี่ยงกับน้ำที่อาจปนเปื้อนสารพิษ
“ไม่มีใครกล้าลงจับปลาอีกแล้ว ไม่กล้าลงน้ำกันเลยเพราะกลัวว่าน้ำจะมีสารพิษ”
สายฟ้ากล่าวอย่างหนักใจ พร้อมย้ำว่าแม่น้ำที่เคยเป็นแหล่งชีวิตของชุมชนบัดนี้กลับกลายเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อน
สายฟ้าย้ำว่า เกษตรกรรมไม่ใช่แค่อาชีพของชุมชนเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่อื่นๆ โดยเฉพาะในเขตปลายน้ำที่ทอดยาวไปถึงจังหวัดเชียงราย ปัญหาน้ำเสียจากแม่น้ำกกจึงไม่ใช่เพียงปัญหาของหมู่บ้านหนึ่ง แต่กำลังกลายเป็นวิกฤตที่อาจลุกลามและส่งผลกระทบในวงกว้าง หากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง
น้ำกกเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน เมื่อความอุดมสมบูรณ์กลายเป็นเพียงอดีต
ชาวบ้านในชุมชนท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่ มีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำกกมาอย่างยาวนาน แม่น้ำสายนี้ไม่ใช่เพียงแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงทั้งชีวิต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของผู้คน
“ตั้งแต่ผมเกิดมาก็อยู่กับน้ำกกมาตลอด อาชีพของผมก็เกี่ยวกับแพริมน้ำ จับปลาขายภายในหมู่บ้าน ถ้าจับได้น้อยก็เอามากินเองครับ เมื่อก่อนน้ำใสมาก เราลงเล่นน้ำ อาบน้ำ ดื่มน้ำได้เลยด้วยซ้ำ”
ก๊อบ โกฏคำ ชาวบ้านที่ทำธุรกิจร้านอาหารริมน้ำในชุมชนบ้านแก่งทรายมูล แต่วิถีชีวิตแบบเดิมกำลังหายไป เมื่อแม่น้ำกกที่เคยใสสะอาด กลับกลายเป็นแหล่งน้ำที่ชาวบ้านต้องระวังในการสัมผัส จากข่าวการปนเปื้อนของน้ำและคำเตือนไม่ให้ลงเล่นน้ำหรือจับสัตว์น้ำ ชาวบ้านจำนวนมากเลือกที่จะเลี่ยงแม่น้ำ ทั้งที่แม่น้ำเคยเป็นแหล่งดำรงชีวิตหลัก
“ผมตื่นเช้ามาก็ต้องพึ่งน้ำกกตลอด แต่ตั้งแต่มีข่าวห้ามลงน้ำ ห้ามจับปลา คนก็ไม่กล้าลงเลย อย่างผมเองก็ยังต้องลงไปทำแพ จับปลา แต่ก็ต้องระวัง เพราะลงน้ำทีไร ผื่นแดงขึ้นตลอด”
แม้จะยังมีบางบ้านที่พยายามรักษาวิถีเดิม เช่น การจับปลา กุ้ง หรือเก็บผักพื้นบ้านอย่างผักกูดและผักแขยง แต่ธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มลดน้อยลง “ของพวกนี้หายไปเกือบหมดแล้วครับ” เขากล่าว
ความเคลื่อนไหวจากรัฐ ตั้งศูนย์บัญชาการฯ แก้ปัญหาสารพิษแม่น้ำกก
ข้อมูลจาก มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) รายงานว่า เหมืองทองคำในรัฐฉานตอนใต้ของเมืองสาด เมียนมา ซึ่งอยู่ห่างชายแดนไทย (อ.แม่สาย) ประมาณ 30 กม. มีบริษัทจีน 7 แห่งดำเนินการทำเหมืองใกล้แม่น้ำกกตั้งแต่ปี 2566 และได้ปล่อยสารพิษจากการสกัดทองคำลงแม่น้ำโดยตรง ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนของสารหนูและโลหะหนักในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังให้สัมปทานเหมืองทองคำในเมืองเลน จังหวัดท่าขี้เหล็ก แก่บริษัทจีนอีกจำนวนมาก จากผลตรวจของกรมควบคุมมลพิษพบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน
นอกจากนั้นยังได้ อธิบายถึงการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธ (แร่หายาก) ในเมืองยอน ว่ามีลักษณะคล้ายกับโครงการขุดแร่แรร์เอิร์ธในรัฐคะฉิ่นโดยบริษัทจีน ซึ่งใช้ “วิธีการทำเหมืองละลายแร่ (in-situ leaching) ดังนั้นเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในเมืองเมืองยอน อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของต้นกำเนิดของสารพิษที่ถูกปล่อยลงในแม่น้ำกก ทำให้การปนเปื้อนจากเหมืองทองคำที่มีอยู่เดิมเลวร้ายลง
สอดคล้องกับผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำของกรมควบคุมมลพิษ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา พบสารหนูเกินกว่าค่ามาตรฐาน ปนเปื้อนในแม่น้ำกก และยังพบโลหะหนักปนเปื้อนในแม่น้ำสาย-แม่น้ำโขง จนต้องออกประกาศของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย งดการใช้น้ำจากแม่น้ำเป็นการชั่วคราว
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย ปนเปื้อนมลพิษสารหนูที่เกิดจากการทำเหมืองทองคำในรัฐฉานว่า ทางรัฐบาลเมียนมาได้ “ยอมรับ” ว่า เกิดปัญหานี้ขึ้นจริง และพยายามที่จะแก้ปัญหาอยู่ แต่พื้นที่ทำเหมืองอยู่ฝั่งเมียนมา เป็นเรื่องภายในประเทศ ที่รัฐบาลไทยไม่สามารถก้าวก่ายได้ ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมกันสำรวจแนวทางการสร้างเขื่อน หรืออาจจะสร้างเป็นฝายเพื่อกรองสารพิษให้ตกตะกอน
การเคลื่อนไหวของภาครัฐเมื่อ 27 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน ได้มีคำสั่งจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า” เพื่อเร่งแก้ไขสถานการณ์การปนเปื้อนในแม่น้ำกกอย่างเร่งด่วน โดยศูนย์ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารกับประชาชน โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์ ทั้งข้อมูลจากส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้สถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ขณะเดียวกัน ได้มีการกำหนดมาตรการ เฝ้าระวังเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบสารพิษในสัตว์น้ำ พืชผัก ดิน และสุขภาพของประชาชนในชุมชนริมแม่น้ำกกอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการป้องกันผลกระทบในระยะยาว
ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มและน้ำประปาในพื้นที่ภาคเหนือ ยังไม่พบสารปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ในช่วงนี้ ยังคงมีคำแนะนำให้ประชาชน หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งธรรมชาติโดยตรง เพื่อความปลอดภัย
แก้ปัญหาต้องเริ่มจากต้นเหตุ เสียงเรียกร้องจากชาวท่าตอน
แม้จะมีเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมจากจังหวัดเชียงใหม่เข้ามาเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ แต่จนถึงปัจจุบัน ชาวบ้านยังไม่เห็นมาตรการช่วยเหลือหรือฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบซ้ำซ้อนจากโควิด-19 น้ำท่วม และปัญหาน้ำเน่าเสีย
ชาวบ้านในชุมชนท่าตอน จ.เชียงใหม่ ต่างส่งเสียงสะท้อนถึงปัญหาที่กำลังกระทบต่อวิถีชีวิตอย่างรุนแรงจากวิกฤตสารพิษที่ปนเปื้อนในแม่น้ำกก ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของเหมืองในพื้นที่ต้นน้ำ
“ผมไม่อยากให้มีการทำเหมืองเลยครับ ถ้าจะทำก็ควรมีมาตรการป้องกันที่ปลอดภัยกว่านี้ เพราะมันส่งผลกระทบไปหมด ไม่ใช่แค่จุดเดียว แต่ตลอดลำน้ำเลยครับ ถึงเชียงรายก็ยังเดือดร้อน” ก๊อบ โกฏคำ กล่าว
“สิ่งสำคัญที่สุดคือแก้ที่ต้นเหตุเลย ไม่ใช่แค่เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะการเยียวยาก็ยากอยู่ดี เอาเงินตรงนั้นไปจัดการต้นเหตุดีกว่า ทำให้น้ำกลับมาใส คนจะได้ลงเล่นน้ำได้ ชีวิตก็จะกลับมาเป็นปกติ เป็นอาชีพที่ยั่งยืนสำหรับลูกหลานต่อไป” บัวลอย พูลเกตุ กล่าว
“ถ้าน้ำกลับมาปกติได้ การท่องเที่ยวก็จะกลับมา คนมาเที่ยว ชาวบ้านก็มีรายได้ เกษตรกรก็ดีใจครับ” สายฟ้า ลุงหงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ชาวท่าตอนยังคงหวังว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมองเห็นความสำคัญของแม่น้ำกกในฐานะทรัพยากรธรรมชาติที่มีชีวิต และเป็นรากฐานของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของชุมชนท่าตอนและพื้นที่ปลายน้ำอื่นๆ เสียงเรียกร้องจากชาวบ้านสะท้อนถึงความต้องการที่ชัดเจนว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่เพียงการเยียวยาชั่วคราว แต่คือการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อให้แม่น้ำกลับคืนสู่สภาพเดิม และชีวิตของชาวบ้านจะสามารถฟื้นกลับมาได้อย่างยั่งยืน
“อยากให้แก้ไขจริงๆ เพราะถ้ายังเป็นแบบนี้อีกหลายปี น้ำกกมันก็จะกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าไป คนก็จะรู้จักแค่ว่าเคยมีแบบนั้นแบบนี้ แต่พอถึงเวลาจริงก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว” บัวลอย กล่าวทิ้งท้าย

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร