พฤษภาคม 9, 2024

    ศาลอาญานัดสืบพยานนัดที่สอง คดีอุ้มฆ่านักสิทธิมนุษยชนใจแผ่นดิน ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ

    Share

    ศาลอาญานัดสืบพยานนัดที่สอง คดีอุ้มฆ่านักสิทธิมนุษยชนบางกลอย-ใจแผ่นดิน ‘บิลลี่’ พอละจี รักจงเจริญ ไต่สวนพยาน 3 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2 ปาก และนักศึกษาฝึกงานในขณะเกิดเหตุ 1 ปาก ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น.

    วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม หรือ Cross Cultural Foundation (CrCF) รายงานว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กำหนดสืบพยานนัดที่สอง ในคดีหมายเลขดำที่ อท.166/2565 ซึ่งเป็นคดีที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร กับพวกรวม 4 คน ตกเป็นจำเลยในข้อหาร่วมกันฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และข้อหาอื่น ๆ  ในนัดนี้ศาลนัดไต่สวนพยานจำนวน 3 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2 ปาก และนักศึกษาฝึกงานในขณะเกิดเหตุ 1 ปาก ซึ่งเป็นพยานที่อยู่ในช่วงเวลาของการจับกุมโดยกลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จำเลยทั้งสี่ ในคดีนี้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00 น.

    คดีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง “บางกลอย-ใจแผ่นดิน” ได้ถูกจับกุมและถูกเอาตัวไปโดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในขณะนั้น กับพวก หลังจากนั้นไม่มีใครทราบชะตากรรมของบิลลี่อีกเลย จนกระทั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และอัยการ ได้ร่วมกันติดตามสอบสวนคดีดังกล่าวจนได้พยานหลักฐานเพิ่มเติมอันควรเชื่อได้ว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ ที่จับกุมบิลลี่ไปนั้น ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อบิลลี่

    โดย CrCF ยังรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 เครือข่ายภาคประชาสังคมพร้อมด้วยพี่น้องชาวบางกลอย ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีคำสั่งให้อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยาน ฯ อีก 3 นาย จำเลยในคดีนี้ ออกจากราชการชั่วคราวไว้ก่อน เนื่องจากขณะนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ฐานะผู้บังคับบัญชา ยังคงไม่มีคำสั่งหรือดำเนินการเพื่อให้มีคำสั่งใด อาจถือว่า เป็นการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจ ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลทำให้เกิดความความเสื่อมเสียต่อทางราชการ ก่อผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ความไม่ปลอดภัยต่อครอบครัวผู้เสียหายและพยาน และส่งผลต่อการดำเนินคดี ในวันดังกล่าวตัวแทนปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ออกมารับหนังสือ และออกหมายเลขรับหนังสือ ทส. ที่ 9349 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2566 มอบให้แก่ผู้ร้องไว้เป็นหลักฐานในการติดตามความคืบหน้า โดยในส่วนนี้ยังคงต้องติดตามความคืบหน้าในการตอบกลับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวและจับตาการดำเนินการของกระทรวงทรัพยากรฯ ต่อไป

    สามารถติดตามนัดไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยในคดีทั้งหมด 10 นัด แบ่งเป็นนัดไต่สวนพยานโจทก์ 23 ปาก ในวันที่ 24 เม.ย. 2566, 22 พ.ค. 2566, 17 และ 24-27 ก.ค. 2566 รวม 7 นัด และนัดไต่สวนพยานจำเลย 9 ปาก ในวันที่ 28 และ 30-31 ส.ค. 2566 รวม 3 นัด ทั้งนี้ หากต่อมาศาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องสืบพยานเพิ่มเติมจะก็จะเรียกให้มาเป็นพยานภายหลัง

    มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอเชิญชวนสื่อมวลชนและผู้สนใจร่วมติดตามและเข้าร่วมสังเกตการณ์การสืบพยานนัดที่สองนี้ตามวันและเวลาข้างต้น เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการยุติธรรมจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของนายบิลลี่ และชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินอย่างเต็มที่และเป็นธรรม นำเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด ทั้งยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้อย่างเป็นจริง

    Related

    ไม่ได้ร้องขอ หากแต่มาเพื่อบอกกล่าว ‘บุญร่มไทร’ คนจนเมืองริมทางรถไฟ ความเจริญที่ข้ามผ่านคนริมขอบ   

    เรื่อง : ปภาวิน พุทธวรรณะ ช่วงสายของวันธรรมดาทั่วไปในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลองอย่างที่มันควรจะเป็น รถไฟขบวนมหาชน หมายที่ 371 ได้ชะลอความเร็วเพื่อหยุดรับผู้คนเดินทางกลับบ้านสู่ภาคตะวันออก...

    ร้อยเรียงเรื่องเชียงแสน พลวัตการพลัดถิ่นฐานของผู้คนบนสายธารประวัติศาสตร์ สงครามและสนามรบ

    เรื่อง : นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง “เชียงแสน” เป็นชื่อบ้านนามเมืองแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ปัจจุบันเป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้คนทั่วไปว่าคือชื่อของอำเภอชายแดนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ สปป....

    ก้าวไปข้างหน้า กับความไม่แน่นอนของปัญหาไฟป่า-หมอกควันจังหวัดเชียงใหม่

    เรื่อง : ชยา วรรธนะภูติ ไฟ ฝุ่นและมลพิษใน “อุตสาหกรรมนิยมยุคปลาย” นับตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่แล้ว ด้วยอิทธิพลของการล่าอาณานิคม การปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติการเกษตรในทวีปต่างๆ...