5 บาทต่อกิโลฯ ถอนพริกทิ้งกลางไร่ ชาวสวนอมก๋อยขาดทุนหนัก ราคาต่ำสุดรอบ 10 ปี ไร้รัฐหนุน

เกษตรกรไร่พริกในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ กำลังเผชิญภาวะราคาพริกตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี พริกยำขาวที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 20-30 บาท ร่วงเหลือเพียง 5-6 บาทในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2568 ทำให้หลายครัวเรือนไม่คุ้มทุนเก็บเกี่ยว ต้องปล่อยผลผลิตเน่าคาแปลง หรือถอนต้นพริกทิ้งกลางไร่ ส่งผลให้เกิดหนี้สินซ้ำซ้อน โดยยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดเข้ามาช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม

“รายได้หายไปเกือบหมด ปีนี้แย่ที่สุดในรอบสิบปี” พรเพ็ญ สิงห์พัฒนาเมือง  เกษตรกรไร่พริกจากบ้านแม่อ่างขาง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนปลูกพริกยำขาวและพริกชี้ฟ้า บนพื้นที่ประมาณ 8 ไร่ แต่ปีนี้ต้องเผชิญราคาพริกที่ตกต่ำหนักกว่าทุกปี

“ปีนี้หนักจริง หนักสุดในรอบ 10 ปี ราคาพริกยำขาวปีนี้เหลือแค่ 5-6 บาทต่อกิโล จากที่เคยได้ 20-30 บาท ตกมาตั้งแต่เดือนเมษายน ตอนนี้พฤษภาคมแล้วก็ยังไม่ฟื้น หลายคนถอนพริกทิ้งหมด เพราะอยู่ไปก็ไม่มีทางได้ทุนคืน” พรเพ็ญ กล่าว

พรเพ็ญ เผยว่านอกจากที่ตนปลูกพริกขายเอง เธอยังรับซื้อพริกจากเพื่อนๆ เพื่อนำไปขายที่ตลาดสี่มุมเมือง จังหวัดปทุมธานี เธอกล่าวว่าการขายแต่ละครั้งในปีนี้ได้เงินไม่กี่พันบาท ขาดทุนหนักเมื่อเทียบกับต้นทุนเฉลี่ยไร่ละ 40,000-50,000 บาท ซึ่งบางรายได้เงินคืนมาเพียงไร่ละ 10,000 บาทเท่านั้น ซึ่งปกติรายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่ไร่ละ 100,000 บาท

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรอำเภออมก๋อย ระบุว่า อำเภออมก๋อยมีพื้นที่การเกษตรรวมทั้งสิ้น 117,374 ไร่ โดยมีครัวเรือนเกษตรกรกว่า 35,000 ครัวเรือน และพริกถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักปลูกมากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของพื้นที่ทั้งหมด มีพื้นที่ปลูกพริก 11,024 ไร่ โดยเฉพาะในหมู่บ้านอย่างแม่อ่างขางและยางเปียงใต้ ที่มีการปลูกพริกยำขาว พริกชี้ฟ้า พริกหยวก และพริกหนุ่มขาวกระจายอยู่ทั่วไป ครัวเรือนส่วนใหญ่มีพื้นที่เพาะปลูกราว 4-8 ไร่ต่อราย ซึ่งต้องแบกรับต้นทุนการผลิตเต็มจำนวน หากตลาดไม่สามารถรองรับได้อย่างเพียงพอ

“ไม่มีใครช่วย ไม่มีหน่วยงานไหนมาเลย” เมื่อถามถึงความช่วยเหลือจากรัฐ พี่แอนตอบสั้น ๆ ว่า “ไม่มีเลยจริงๆ” ทั้งในช่วงที่พืชราคาตกต่ำ หรือแม้แต่หลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่เคยมีการหาเสียงว่าจะสนับสนุนเกษตรกร

“ตอนหาเสียงเลือกตั้ง ก็บอกว่าจะช่วยเกษตรกร แต่หลังเลือกตั้งก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น” เธอกล่าว

พรเพ็ญ เล่าว่าภาวะราคาพริกตกต่ำนั้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้ามาของสินค้าเกษตรจากประเทศอื่นๆ อาทิ จีนและเมียนมา ที่มีราคาถูก สวยงาม และไม่เน่าง่าย ส่งผลให้แม่ค้าเลือกซื้อพริกนำเข้าแทนพริกของเกษตรกรไทย

“ไม่มีหวัง ไม่มีทุนทำต่อ” ผลกระทบจากวิกฤตราคานี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องรายได้เท่านั้น พรเพ็ญสะท้อนว่า “ทุกอย่างกระทบหมด ไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกิน ไม่มีทุนทำต่อ ไม่รู้อนาคตรุ่นต่อไปจะยังไหวหรือเปล่า”

“ตอนนี้ขอขับรถไปเก็บพริกก่อน ถึงแม้จะราคาตก แต่ก็ต้องทำ อย่างน้อยได้คืนมาซัก พันสองพันก็ยังดี” พรเพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน คณพศ บุ้ยโป๊ะ หรือ “รองเป็ด” รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอมก๋อย ระบุว่า วิกฤตราคาพริกที่เกิดขึ้นในพื้นที่อมก๋อยครั้งนี้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ไม่เพียงเกษตรกรเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่เศรษฐกิจในระดับชุมชนก็กระทบตามไปด้วย ตั้งแต่ร้านขายของชำที่ขายของได้น้อยลง ไปจนถึงกิจกรรมหมุนเวียนในครัวเรือนที่หยุดชะงักเพราะขาดรายได้จากพืชผลหลัก

แม้ตนจะไม่ได้ปลูกพริกเอง แต่ก็ช่วยรวบรวมพริกจากเพื่อนที่ขายไม่ออกเพื่อนำไปบริจาคตามวัดในเชียงใหม่ เพราะพริกที่เหลือจำนวนมากถูกขายในราคาต่ำสุดเพียงโลละ 1-2 บาท หรือบางครั้งถึงขั้นต้องแถมไปกับสินค้าอื่น เพราะไม่มีตลาดรับซื้อ

ในระดับโกดังรับซื้อก็ไม่ต่างกัน พื้นที่เต็มไปด้วยพริกที่ไม่มีคนรับไปต่อ ทำให้ผู้ประกอบการรับซื้อต้องจำใจรับไว้ในราคาต่ำกว่าทุน บางครั้งถึงขั้นยกให้ฟรีเพียงเพื่อเคลียร์พื้นที่

สถานการณ์เช่นนี้ยังไม่มีหน่วยงานรัฐใดเข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง หรือมีมาตรการรองรับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดกับชุมชน รองเป็ดมองว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากความล้มเหลวฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่สะท้อนโครงสร้างของระบบการผลิตที่ไม่เชื่อมโยงกับตลาด และความเหลื่อมล้ำของข้อมูลราคาที่อยู่ในมือของพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก

“เราปลูกเองโดยไม่รู้ว่าราคาข้างล่างเป็นยังไง ส่วนพ่อค้าคนกลางเขาฉลาด เขาซื้อถูกไปขายแพง หรือถ้าเห็นล้นก็ไม่ซื้อเลย”

สุดท้าย ผู้ที่ได้ประโยชน์ในระบบเกษตรที่เปราะบางกลับกลายเป็นกลุ่มจำหน่ายปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยและยา ซึ่งยังขายของได้เสมอ แม้ผลผลิตของชาวบ้านจะไม่มีตลาดรองรับก็ตาม

“ต่อให้รู้ว่าปลูกไปอาจขายไม่ออก ชาวบ้านก็ยังต้องซื้อปุ๋ยเพราะอยากให้ผลผลิตดี แต่พอผลผลิตดีจริง ราคาก็ตกทั้งประเทศ” รองเป็ดกล่าว

ในภาวะที่พริกขายไม่ออก รายได้หดหาย และต้นทุนยังเดินหน้า เกษตรกรไร่พริกในอมก๋อยจำนวนมากกำลังรับภาระนี้ตามลำพัง โดยไม่มีมาตรการรองรับจากภาครัฐ ขณะที่พ่อค้าคนกลางยังควบคุมกลไกตลาด และผู้ค้าปัจจัยการผลิตยังคงได้ประโยชน์ ระบบเกษตรที่เป็นอยู่จึงไม่เพียงเปราะบาง แต่ยังทิ้งคนปลูกไว้ท้ายสุดของห่วงโซ่ โดยไม่มีหลักประกันว่าในฤดูกาลหน้าทุกอย่างจะดีขึ้น

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง