“มันเป็นวิกฤตที่ยาวมาก และเราไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่” คำกล่าวของธารวารินทร์ ทองผาภูมิประภาส เยาวชนหญิงวัย 29 ปี จากหมู่บ้านคลิตี้ล่าง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ผู้เติบโตมาในหมู่บ้านที่กลายเป็นพื้นที่พิสูจน์ความล้มเหลวของระบบเยียวยารัฐ

ธารวารินทร์เกิดและเติบโตท่ามกลางวิกฤตมลพิษสารตะกั่วที่รั่วไหลลงลำห้วยคลิตี้ตั้งแต่ปี 2518 โดยมีโรงแต่งแร่ตะกั่วตั้งอยู่ที่คลิตี้บน ก่อนที่สารพิษจะไหลลงมายังคลิตี้ล่าง ช่วงเวลานั้นรัฐไม่ได้ออกมาตรการรับมือใดๆ จนกระทั่งผลกระทบเริ่มปรากฏในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน
“เราเคยถูกห้ามไม่ให้ลงไปเล่นน้ำ พ่อแม่จะเตือนเสมอว่า น้ำตรงนั้นมีสารตะกั่ว อย่าไปแตะมัน”
เธอเล่าว่า ในหมู่บ้านมีวัวควายล้มตาย หญิงท้องแท้งลูก เด็กหลายคนป่วยเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ จนในปี 2545 กระทรวงสาธารณสุขเข้ามาตรวจเลือดชาวบ้าน และพบว่าทุกคนในชุมชนมีค่าตะกั่วในเลือดสูงเกินมาตรฐาน บางรายมีผลกระทบต่อสมอง กระดูก และระบบประสาทอย่างรุนแรง

จากข้อมูลของวิกิชุมชน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า ช่วงปี 2537–2544 ชาวบ้าน โดยเฉพาะผู้หญิงในคลิตี้ล่างจำนวนมากเกิดอาการทางจิตโดยไม่ทราบสาเหตุ ความสัมพันธ์ระหว่างคลิตี้ล่างและคลิตี้บนขาดสะบั้นเมื่อฝ่ายหนึ่งถูกกล่าวโทษว่าเป็นคนฟ้องปิดเหมือง ทำให้อีกฝ่ายต้องสูญเสียรายได้
แม้โรงแต่งแร่จะถูกสั่งปิดและจ่ายค่าปรับเพียง 2,000 บาทในปี 2541 แต่การปนเปื้อนยังดำเนินต่อเนื่อง แม้น้ำจะใสขึ้นในบางฤดู กลิ่นจะลดลง แต่สารพิษยังตกค้างในดิน สัตว์น้ำ และแหล่งอาหารของชุมชน
ปี 2558 ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ล่างยื่นฟ้องโรงแต่งแร่ และกรมควบคุมมลพิษในข้อหาละเลยไม่ดำเนินการอย่างทันท่วงที ก่อนจะชนะคดีในปี 2560 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษต้องเยียวยาและฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนกว่าจะไม่มีคราบตะกั่วตกค้างเกินค่ามาตรฐาน
หนึ่งวันถัดมา 11 กันยายน 2560 ศาลจังหวัดกาญจนบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทฯ ชดใช้ค่าเสียหายรวม 36 ล้านบาท
กระบวนการฟื้นฟูเริ่มต้นขึ้นโดยกรมควบคุมมลพิษว่าจ้างบริษัทเอกชนใช้งบประมาณกว่า 454 ล้านบาท เพื่อดูดตะกอนหางแร่ ติดตั้งสายดักตะกอน และขุดตะกรริมห้วย แต่ในสายตาของธารวารินทร์ซึ่งติดตามกระบวนการในฐานะประชาชนในพื้นที่ กลับพบว่า หลายครั้งบริษัทไม่ได้จัดหาอุปกรณ์เซฟตี้ให้กับแรงงานชาวบ้านที่ลงไปทำงานในพื้นที่เสี่ยง

เธอเล่าว่าเคยต้องแย้งอย่างหนักในที่ประชุม เพราะไม่อาจยอมรับได้กับการที่ชาวบ้านต้องกลับไปเสี่ยงกับพิษในน้ำอีกครั้งเพียงเพราะเกิดการจ้างงานในชุมชน
จากข้อมูลของวิกิชุมชนยังระบุว่า แม้จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่การฟื้นฟูในระยะแรกไม่ได้ใช้ข้อมูลจากชุมชนหรือสะท้อนวิถีชีวิตของชาวบ้าน ส่งผลให้พวกเขายังคงต้องใช้น้ำปนเปื้อนเพื่อความอยู่รอด
บทเรียนจากคลิตี้คือ รัฐต้องยอมรับว่า “การฟื้นฟู” ไม่ใช่แค่การดูดตะกอนหรือติดป้ายเตือน แต่ต้องหมายถึงการคืนความมั่นคงให้กับชุมชนในทุกมิติ ทั้งน้ำสะอาด ความปลอดภัย และความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกระบวนการรัฐ
ในมุมมองของธารวารินทร์ ปัญหาหลักคือการขาดการจัดการที่ทันท่วงที และการไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส “ข้อมูลการตรวจวัด การดำเนินการต่างๆ เราต้องขอผ่านทนายความเท่านั้น” เธอกล่าว
เธอยังตั้งข้อสังเกตว่า โรงแต่งแร่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงอุตสาหกรรม แต่เมื่อเกิดปัญหากลับกลายเป็นหน้าที่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องเข้ามาฟื้นฟูและรับผิดชอบ โดยไม่มีระบบบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
ในฐานะผู้มีประสบการณ์ตรง ธารวารินทร์กล่าวว่า ปัญหาน้ำกกในปัจจุบันมีความซับซ้อนยิ่งกว่า เพราะเป็นกรณี “ข้ามพรมแดน” ที่รัฐไทยไม่สามารถเข้าไปแก้ไขต้นเหตุได้โดยตรง แต่ยิ่งเป็นเช่นนั้น รัฐยิ่งควรทำงานเชิงรุก เพื่อจำกัดผลกระทบให้เร็วที่สุด
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 1 (เชียงใหม่) ออกประกาศแจ้งเตือนการปนเปื้อนของแม่น้ำกก หลังผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำจากพื้นที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อกลางเดือนมีนาคม พบสารเคมีและโลหะหนักหลายชนิด ได้แก่ สารหนู แคดเมียม และแมงกานีส สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งต่อเนื่องมานานจนถึงปัจจุบัน กระตุ้นให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่หายากในพื้นที่รัฐฉานตอนใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 25 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำกกเพียง 2–3 กิโลเมตร
แม่น้ำกกหล่อเลี้ยงผู้คนนับแสนในภาคเหนือ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีแผนรับมือมลพิษข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม นักวิชาการเสนอให้ตั้งศูนย์ติดตามคุณภาพน้ำระยะยาว และภาคประชาสังคมเสนอให้รัฐไทยเร่งเจรจากับรัฐบาลเมียนมาอย่างเร่งด่วน
“คลิตี้ล่างยังไม่จบ แม่น้ำกกเพิ่งเริ่มต้น แต่เราควรเรียนรู้จากกัน ไม่ใช่รอให้ทุกอย่างสายไป”

กรณีคลิตี้ล่างจึงไม่ใช่แค่เรื่องในอดีต แต่คือคำเตือนถึงอนาคต หากรัฐไม่เรียนรู้ ความสูญเสียในลุ่มน้ำกกอาจขยายวงกว้างเกินกว่าจะควบคุมได้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ได้ออกแถลงการณ์เตือนถึงความเสี่ยงจากการทำเหมืองแรร์เอิร์ธในเมืองยอน รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยเพียง 25 กิโลเมตร และตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำกกเพียง 2–3 กิโลเมตร โดยภาพถ่ายดาวเทียมเผยให้เห็นบ่อสกัดแร่สองจุดที่ใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการละลายแร่ ซึ่งอาจปล่อยสารพิษลงสู่แหล่งน้ำท้ายน้ำที่หล่อเลี้ยงประชาชนกว่า 1 ล้านคนทั้งในเมียนมาและภาคเหนือของไทย มูลนิธิฯ เรียกร้องให้ทั้งไทยและเมียนมาร่วมกันตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส
ท้ายที่สุด ธารวารินทร์กล่าวว่า “เราอาจต้องดูแลตัวเองก่อน ถ้ารัฐยังเป็นเช่นนี้ เราต้องอยู่ให้ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะนี่คือการยืนหยัดที่ยาวนานมาก”
“แม่น้ำกกใหญ่กว่าคลิตี้หลายเท่า และเป็นปัญหาที่เกินกว่าชุมชนหนึ่งจะรับมือไหว เราจึงต้องเข้มแข็ง และเตรียมใจว่าเราจะต้องอยู่กับสิ่งนี้ไปอีกนาน ไม่ใช่ด้วยความสิ้นหวัง แต่ด้วยความเข้าใจว่า เราควรมีสิทธิอยู่ในโลกที่ปลอดภัยกว่านี้” ธารวารินทร์ กล่าวส่งท้าย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...