แม่น้ำเปลี่ยนสีแต่รัฐไม่เปลี่ยนท่าที เวทีคนเชียงรายจี้หยุดเหมืองรัฐฉาน – จีนควรฟังเสียงประชาชน

ประชาชนเชียงรายนัดรวมตัวอีกครั้งในวันเสาร์นี้ (21 มิถุนายน 2568) จัดกิจกรรม “ปอยหลวง เพื่อแม่น้ำกก สาย รวก โขง” ที่ขัวศิลปะ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย เพื่อตอกย้ำข้อเรียกร้องให้รัฐเร่งจัดการปัญหามลพิษจากเหมืองแร่ต้นน้ำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ที่ยังไม่มีความคืบหน้า ขณะเครือข่ายภาคประชาชนเตรียมเปิดเวทีฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมเชิญกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสถานทูตจีนร่วมรับฟังด้วย

รักษ์ดาว พริชาร์ด ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำกก สาย รวก โขง เปิดเผยว่า กิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 14.00 น. โดยมีการแสดงดนตรีจากเยาวชนเชียงราย ตามด้วยเวทีวิชาการเพื่อเสนอแนวทางจัดการปัญหาที่ต้นเหตุ ซึ่งคือเหมืองแร่ที่ไม่มีมาตรฐานในรัฐฉาน ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ พระอาจารย์มหานิคม มหาภินิกขมฺโน วัดท่าตอน, บัณฑิตย์ พันธ์พลากร ประธานสภาเทศบาลตำบลเวียงพางคำ, เวสารัช โสภณดิเรกรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ, ผศ.ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม, และตัวแทนจากชุมชนคลิตี้

ช่วงเย็นจะมีเวที “ฟังเสียงประชาชน” นำโดย เตือนใจ ดีเทศน์ อดีต ส.ว. และศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยเชิญตัวแทนสถานทูตจีนเข้าร่วมรับฟังข้อกังวลของประชาชนในพื้นที่ด้วย

“เราหวังว่าจะมีผู้แทนจีนมา เพราะเหมืองที่รัฐฉานจำนวนมากเป็นการลงทุนของชาวจีนที่หนีข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศตัวเอง เราต้องการให้ยุติและฟื้นฟูทันที” รักษ์ดาวกล่าว พร้อมระบุว่าภายหลังการเสวนาจะมีการเปิดนิทรรศการศิลปะ “เมื่อธาราเปลี่ยนสี” และตลาดกาดศิลปินเพื่อแม่น้ำ

“ฝายดักตะกอน” ไม่ใช่คำตอบ – เสนอรัฐชดเชยชาวนาแทน

ด้าน ดร.สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในเวทีประชาชน กล่าวว่า ปัญหายังไร้แผนจัดการชัดเจนจากหลายหน่วยงาน เขาเสนอให้ตั้ง “ศูนย์ตรวจสอบสารโลหะหนักประจำจังหวัดเชียงราย” เพื่อเก็บข้อมูลระยะยาว เพราะเชื่อว่าสารปนเปื้อนจะยังคงอยู่ในระบบนิเวศอีกหลายปี

“ยังไม่มีแผนจากกระทรวงเกษตรว่าจะทำอย่างไรกับพื้นที่เกษตรแสนกว่าไร่ที่ใช้น้ำจากแม่น้ำกก สาย และรวก แม้ผู้ว่าฯ จะบอกให้ใส่ปูนขาวเพื่อลดความเป็นกรดด่าง แต่นั่นไม่ใช่ทางออกสำหรับชาวบ้าน ถ้าจะให้ทำ รัฐต้องจัดหาปูนให้ และหากต้องหยุดทำนาปี รัฐต้องชดเชย”

สืบสกุลยังระบุว่า นักโทษกว่า 4,000 คนในเรือนจำดอยฮางควรได้รับน้ำดื่มที่ปลอดภัยโดยเร็ว แม้จะมีการสุ่มตรวจเลือดโดยไม่พบค่าผิดปกติ แต่เขาย้ำว่า “คนในเรือนจำก็คือมนุษย์เหมือนกับคนอื่นๆ”

เขายังเรียกร้องให้รัฐเลิกแผนสร้างฝายดักตะกอนสารพิษ โดยชี้ว่า “ไม่มีงานวิจัยรองรับว่าช่วยลดโลหะหนักได้ และอาจทำลายระบบนิเวศเหมือนที่เคยเกิดขึ้นที่ลำห้วยคลิตี้” พร้อมเสนอให้นำงบประมาณไปชดเชยผู้ได้รับผลกระทบแทน

เสนอรัฐเปลี่ยนวิธีเจรจากับเมียนมา

ข้อเสนอสำคัญที่สุดที่สืบสกุลเน้นย้ำคือ การหยุดแหล่งปล่อยสารพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยระบุว่ารัฐต้อง “เปลี่ยนแนวทางการเจรจากับรัฐบาลเมียนมา” เนื่องจากปัจจุบันยังใช้กลไกตามช่องทางราชการปกติ ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ

“รัฐบาลเมียนมาบอกว่า รัฐมนตรีไม่ว่างคุย สุดท้ายก็เลื่อนออกไปอีก เราต้องมีมาตรการที่ชัดเจนกว่านี้ เช่นเดียวกับกรณีชายแดนไทย-กัมพูชา เราเห็นว่าผู้นำยังโทรคุยกันได้ แต่กรณีแม่น้ำกกกลับไม่มีท่าทีจริงจัง”

เขาตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มทุนเหมืองแร่จำนวนมากเป็นชาวจีนที่หลบหนีกฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศตนเองเข้ามาทำเหมืองในรัฐฉานซึ่งไร้การควบคุม

“ถ้าไทยมุ่งมั่นจริง เราทำได้มากกว่านี้” สืบสกุลกล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง