ขบวนการของประชาชนกับปัญหาการพิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่า ท่ามกลางความท้าทายของเสรีนิยมใหม่

เรื่อง : ศรีนิธิรินทร์ ชื่นวณิช

ภาพ : ปรัชญา  ไชยแก้ว

ในเวที 27 ปีเงื่อนไขการพิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่า ภายใต้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิ.ย. 2541 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน จังหวัดเชียงใหม่ โดย ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้ร่วมกันคลี่ให้เห็นบริบทที่ขบวนการประชาชน โดยเฉพาะขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนคนอยู่กับป่า ต้องเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญจากนโยบายและโครงสร้างอำนาจของรัฐ ภายใต้กระแสเสรีนิยมใหม่ที่เน้นประสิทธิภาพ การจัดการเชิงระบบ และกลไกพิสูจน์สิทธิที่ไม่ยืดหยุ่นต่อความเป็นจริงของชุมชน

ไชยณรงค์ วิเคราะห์ว่า รัฐไทยมีแนวโน้มใช้แนวคิดการจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์โดยอาศัยความรู้ทางเทคนิคและแผนที่จากส่วนกลาง โดยไม่คำนึงถึงระบบการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นที่มีมาแต่เดิม ส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่ป่ากลายเป็น ‘ผู้บุกรุก’ ทั้งที่อยู่มาก่อนอย่างชอบธรรม ทั้งยังถูกจำกัดสิทธิผ่านระบบพิสูจน์สิทธิที่รัฐกำหนดให้ต้องมีเอกสารยืนยัน ทั้งที่เอกสารเหล่านั้นไม่สะท้อนความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชุมชนกับผืนป่า

โดยไชยณรงค์ กล่าวว่า “โลกใบนี้ใหญ่ เท่ากับความ พยายามที่เราจะ เปลี่ยนแปลงมัน ผมเชื่อว่าชาวนาตัวเล็กๆ ชาวบ้าน คนตัวเล็กตัวน้อย คนรุ่นใหม่ที่จะเปลี่ยนโลกใบนี้ได้”

โดย สุมิตรชัย ยังเสริมอีกว่าระบบพิสูจน์สิทธิเหล่านี้ไม่ใช่การฟื้นฟูสิทธิที่มีอยู่เดิม แต่เป็นการสร้างกระบวนการขึ้นมาใหม่เพื่อให้รัฐเป็นผู้อนุญาตและควบคุม โดยกำหนดเกณฑ์ว่าประชาชนต้องพิสูจน์ให้ได้ตามมาตรฐานที่รัฐกำหนด เช่น ระยะเวลาเริ่มเข้าอยู่ การใช้พื้นที่ ความต่อเนื่อง ฯลฯ ซึ่งกลับกลายเป็นการจำกัดสิทธิและความเป็นเจ้าของของชุมชนมากกว่าจะรับรองหรือปกป้อง

ทั้งสองชี้ว่า ภายใต้กรอบของเสรีนิยมใหม่ การเคลื่อนไหวของประชาชนต้องเผชิญกับแรงกดดันที่ไม่เพียงเป็นด้านกฎหมาย แต่ยังรวมถึงการจัดการที่มุ่งให้ชุมชนต้องปรับตัวเข้ากับภาษาและกลไกของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโฉนดชุมชน หรือการจัดที่ดินแบบรวมกลุ่ม ซึ่งหากไม่มีการปักธงเรื่องสิทธิชุมชนอย่างชัดเจน ก็อาจกลายเป็นเพียงเครื่องมือใหม่ในการควบคุม

แม้สถานการณ์จะซับซ้อนและมีแรงกดดันรอบด้าน แต่ขบวนการของประชาชนก็พยายามตอบโต้ด้วยการสร้างความรู้ของตนเอง เช่น การทำแผนที่ชุมชน ประวัติศาสตร์ชุมชน และเวทีต่อรองที่ตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมและสิทธิร่วมกับป่าอย่างแท้จริง เพื่อยืนยันว่าการอยู่กับป่าไม่ใช่การบุกรุก แต่คือการดำรงชีวิตอย่างมีระบบและสมดุล

การเคลื่อนไหวของประชาชนภายใต้บริบทเสรีนิยมใหม่จึงไม่ใช่เพียงการเรียกร้อง สิทธิในที่ดิน แต่เป็นการต่อสู้เพื่อรักษาความหมายของคำว่า ‘สิทธิ’ ให้ยังคงสอดคล้องกับวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชน ท่ามกลางการจัดระเบียบจากบนลงล่างที่มุ่งควบคุมมากกว่ารับฟัง

โลกาภิวัฒน์ออกแบบโดยกลุ่มทุน

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ บรรยายในหัวข้อ “ทิศทางขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่” กล่าวถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ที่เป็นผลจากการเกิดโลกาภิวัฒน์

การเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษ 1980 ทำให้เส้นแบ่งเขตแดนรัฐและภูมิภาคไม่เป็นอุปสรรคในการส่งต่อสินค้า ความรู้ และผู้คนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการค้าข้ามพรมแดนที่ดำเนินขึ้นอย่างต่อเนื่องและเสรี การเกิดโลกาภิวัฒน์นั้นถูกออกแบบโดย ‘กลุ่มทุน’ เหตุมาจากการสะสมทุนเป็นไปได้อย่างจำกัด ดังนั้น กลุ่มทุนจำเป็นต้องคิดค้นวิธีการใหม่ๆ เพื่อให้การสะสมทุนสามารถทำได้มากขึ้นภายใต้ยุคเสรีนิยมใหม่

เครื่องมือและวิธีการของกลุ่มทุนในยุคเสรีนิยมใหม่เป็นไปอย่างหลากหลาย ได้แก่ โครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งในประเทศ และการลงทุนข้ามพรมแดนในประเทศที่ต้นทุนการใช้ทรัพยากรต่ำลง เช่น ประเทศไทยข้ามประเทศไปลงทุนสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว การสร้างระบบการค้าที่ผูกขาดสินค้า ผู้ผลิต และผู้ขาย รวมถึงการที่กลุ่มทุนเข้าไปกำหนดนโยบายรัฐ โดยใช้การเอื้อประโยชน์แก่รัฐเป็นเครื่องมือในการเข้าหารัฐ

ไชยณรงค์ อธิบายว่า กลุ่มทุนมีวิธีสะสมทุน 3 รูปแบบหลัก คือ การจัดการเชิงพื้นที่ เช่น ทุนจีนมาปลูกกล้วยในไทย เพราะที่ดินจีนแพง ไทยจึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ ทุนไทยก็ไปสร้างเขื่อนในลาว เพราะในไทยถูกต่อต้านจากประชาชน เขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน เช่น แม่สอด เชียงราย ก็เกิดจากแนวคิดเดียวกัน การจัดการเชิงเวลา ทุนพยายามเร่งทุกอย่างให้เร็วที่สุด เช่น การขนส่งสินค้าจากจีนที่ใช้เวลาไม่กี่วันแทนที่จะเป็นเดือน การตัดเส้นทางลัด การสร้างรถไฟความเร็วสูง โครงการคลองไทย และการจัดการเชิงทรัพยากรและสถาบัน เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สาธารณูปโภคถูกให้ทุนเอกชนเข้าไปบริหาร การตั้งเงื่อนไขให้รัฐต้องซื้อไฟจากทุนเอกชน แม้ประชาชนจะไม่ใช้ไฟฟ้านั้นก็ตาม

ผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชน   

ไชยณรงค์ พูดถึงเรื่องที่เคยพูดไว้เมื่อกว่า 10 ปีก่อน กับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในช่วงที่มีการแย่งยึดที่ดินชาวบ้านแม่สอด ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ กรณีแม่สอดเป็นหนึ่งในหลายกรณีที่ชาวบ้านภาคเหนือได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่ริมแม่น้ำโขง มีการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือเชิงพาณิชย์ หรือที่พญาเม็งราย มีทุนจีนมาปลูกกล้วยและแย่งน้ำจากชาวนา ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของโลกาภิวัตน์

ทุนยังมีวิธีสะสมทุนอื่นๆ เช่น เกษตรพันธสัญญา ที่เปลี่ยนไร่หมุนเวียนของชาวบ้านให้กลายเป็นไร่ข้าวโพดของบริษัทรับซื้อ การบุกดอยกลายเป็นเหตุให้ชาวบ้านถูกตำหนิ ทั้งที่คนที่ได้ประโยชน์คือทุน กรณีล่าสุดที่น่ากังวลคือ ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ซึ่งดูเผินๆ เหมือนให้ชาวบ้านมีรายได้จากการดูแลป่า แต่แท้จริงคือการเปลี่ยนให้ป่าที่มีคุณค่าทางจิตวิญญาณ กลายเป็น “ป่าคาร์บอน” ชาวบ้านไม่ได้ดูแลป่าด้วยหัวใจ แต่ทำตามเป้าหมายของทุน โลกทัศน์ของชุมชนจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เช่น ป่าศักดิ์สิทธิ์ ป่าสะดือ ป่าเด็ก ป่าผู้ใหญ่ จะถูกแทนที่ด้วย ‘ป่าคาร์บอน’

ในปัจจุบัน บรรษัทไทยกลายเป็นทุนข้ามชาติไปแล้ว บางบริษัทไปลงทุนใน 17 ประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันในไทยก็ผูกขาดสินค้าหลายชนิด โดยไม่เปิดทางเลือกให้ประชาชน ทุนยังฟอกภาพลักษณ์ของตัวเองด้วยการทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม Corporate Social Responsibility หรือ CSR ตั้งมูลนิธิ ใช้ชื่อและโลโก้ที่คล้ายกันกับบริษัทแม่ เพื่อลดภาษีและฟอกความผิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อม NGOs หลายแห่งก็ทำงานร่วมกับทุนเหล่านี้โดยตรง

ท้ายที่สุด ไชยณรงค์ กล่าวว่า “หากองค์กรใดรับทุนจากบรรษัทผูกขาด ควรประกาศให้ชัดว่าเป็น NGOs ในบางเหรียญของทุน เพื่อให้ชุมชนรู้เท่าทัน” รัฐบาลในปัจจุบันก็อยู่ภายใต้การชี้นำของทุน เช่น การผลักดันคาร์บอนเครดิตที่วางแผนไว้หมดแล้ว เศรษฐกิจพิเศษถูกวางแผนไว้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มทุนเท่านั้น ถ้ารัฐเปรียบเป็นม้า ทุนก็คือคนคุมบังเหียน นอกจากนี้ จะมีการปั่นหุ้นคาร์บอน เครดิต ซึ่งเป็นความเสี่ยงมหาศาล โลกจะร้อนขึ้น แต่ป่าจะไม่ใช่ของชาวบ้านอีกต่อไป

ทางออกสำหรับภาคประชาชน

ไชยณรงค์ เสนอว่า ภาคประชาชนจำเป็นต้องต่อต้านโลกาภิวัตน์ในแบบที่ทุนออกแบบ และต้องปฏิเสธการร่วมมือกับทุน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือเป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวของชาวนาอย่างมี จุดยืน ไม่ร่วมมือ ไม่ประนีประนอมกับทุน

ทุกคนมีบทบาท แม้จะเป็นเพียงคนเล็กคนน้อย ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรปลอดสาร เกษตรทางเลือก หรือคนที่แสวงหาโลกใบใหม่ให้แตกต่างจากเดิม ต้องคิดไกลเกินกว่าปัญหาเฉพาะหน้า ต้องคิดถึงอนาคต คิดถึงโลกของลูกหลาน ภาคประชาชนต้องรู้เท่าทัน ต้องไม่ฝากความหวังไว้กับกรมอุทยานหรือกรมป่าไม้ เพราะระบบเหล่านี้คือกลไกของรัฐที่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตนเอง

ต้องต่อสู้เพื่อคืนอำนาจให้ชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติต้องเป็นของประชาชน กำไรที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรต้องคืนกลับมาสู่ชุมชน ไม่ใช่ให้ทุนไปผูกขาดสร้างเขื่อน ปลูกอ้อย หรือซื้อขายคาร์บอน

“การต่อต้านโลกาภิวัฒน์อย่างกล้าหาญเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำหากต้องการต่อต้าน เสรีนิยมใหม่ แม้การปฏิบัติการจะเกิดจากคนตัวเล็กตัวน้อยก็สามารถทรงพลังได้เช่นกัน โลกใบนี้ใหญ่เท่ากับความพยายามที่เราจะเปลี่ยนแปลงมัน ผมเชื่อว่าชาวนา ชาวบ้าน คนตัวเล็กตัวน้อย คนรุ่นใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้”

ข้อจำกัดและปัญหาการพิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่า มีรากฐานมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

สุมิตรชัย หัตถสาร เผยถึงพัฒนาการปัญหาการพิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่าที่มีรากเหง้ามาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น โดยสาเหตุเริ่มต้นจากความกังวลของรัฐไทยต่อการแพร่ขยายของอิทธิพลคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ป่าและพื้นที่ภูเขา

ปัญหาการพิสูจน์สิทธิคนอยู่กับป่าเริ่มต้นในปี 2495 เมื่อรัฐไทยออกกฎหมายเพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามจากการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ กฎหมายที่สำคัญในช่วงเวลานั้นคือ พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในยุคสงครามเย็น ต่อมาในปี 2499 รัฐได้ประกาศให้ที่เขาหรือภูเขาเป็นเขตหวงห้ามตามกฎหมายที่ดิน เนื่องจากมองว่าเขตป่าและภูเขาอาจเป็นที่ตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีเหตุผลส่วนหนึ่งมาจากความกังวลว่าพื้นที่เหล่านี้อาจเป็นที่หลบซ่อนหรือที่ มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงที่มีความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงกังวลว่าคนอยู่กับป่าอาจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์

การห้ามออกโฉนดที่ดินในที่เขา ที่ภูเขา และพื้นที่หวงห้ามในกฎหมายที่ดิน เป็นผลต่อเนื่องจากการประกาศเป็นเขตหวงห้ามในครั้งนั้น ส่งผลให้สิทธิในที่ดินของชุมชนในพื้นที่ป่าถูกลิดรอนไปตั้งแต่ปี 2499

รัฐไทยเรียกกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ว่า ‘ชาวเขา’ และมองว่าเป็นภัยความมั่นคงต่อรัฐ เกรงว่าจะเข้าร่วมการต่อต้านร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงพยายามดึงกลุ่มชาติพันธุ์และคนอยู่กับป่ากลับมาเป็นพรรคพวกเดียวกันกับรัฐ ผ่านรูปแบบนโยบายเชิงสงเคราะห์ในลักษณะต่างๆ

“จากชาวเขาเป็นชาวเรา” นโยบายกลืนกลายชาติพันธุ์ใต้เงาอำนาจรัฐ

รัฐไทยเริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านการสำรวจของหน่วยงานความ มั่นคงและทหาร หลังจากนั้นพยายามทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นพลเมืองไทยผ่านนโยบายการรวมพวกหรือนโยบายการเปลี่ยนชาวเขาให้เป็นชาวเรา เพื่อใช้เป็นแนวกันชนกับพรรคคอมมิวนิสต์

รัฐได้พยายามรวบรวมคนอยู่กับป่าและกลุ่มชาติพันธุ์ให้ย้ายมาอาศัยอยู่ในบริเวณที่รัฐจัดสรรให้ เช่น หมู่บ้านความมั่นคง และสร้างให้เป็นพลเมืองที่มีความจงรักภักดีต่อรัฐไทย โดยการใช้ความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงกลุ่ม ชาติพันธุ์ ผ่านการมอบเหรียญที่ระลึกสำหรับชาวเขา

โครงการอพยพคนออกจากป่าในช่วงปี 2537-2538 แม้จะไม่ใช่โครงการคจก.เหมือนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่มีแนวคิดและรูปแบบวิธีการไม่ต่างกันมากนัก ทั้งการใช้หน่วยงานความมั่นคงอย่างทหารและกอ.รมน.สนธิกำลังกับกรมป่าไม้เพื่อเตรียมประกาศป่าอนุรักษ์ และไล่รื้อและอพยพคนออกจากป่า

การเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกรและมติครม.สำคัญ

การรวมตัวของเครือข่ายประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการอพยพไล่รื้อ หรือกลุ่ม คกน. ได้นำมาสู่การเคลื่อนไหวของเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ และเกิดมติครม. 17 เม.ย. 2540 ที่ได้ข้อยุติแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันในเขตป่าอนุรักษ์ภาคเหนือจำนวน 19 กรณี 107 หมู่บ้าน

มติดังกล่าวได้ตั้งคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิว่าอยู่มาก่อนการประกาศป่าอนุรักษ์หรือไม่ หากพิสูจน์ได้ว่าอยู่มาก่อน รัฐต้องให้การรับรองสิทธิอย่างมั่นคง และระหว่างกระบวนการการพิสูจน์สิทธิต้องชะลอการอพยพคนออกจากป่าไปก่อน

ต่อมารัฐบาลได้ออกมติครม. 22 เม.ย. 2540 หรือที่เรียกว่า มติครม.วังน้ำเขียว ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการในพื้นที่ทั่วประเทศมากกว่า 19 กรณีจากมติครม.ฉบับก่อนหน้า โดยให้กรมป่าไม้กันพื้นที่ที่ไม่มีประชาชนอาศัยอยู่ออกก่อนการส่งมอบให้สปก.ดำเนินการพิสูจน์สิทธิให้ประชาชน

“มติครม.สองฉบับนี้เป็นแนวปฏิบัติทางนโยบายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการมากที่สุดในยุคสมัยนั้น แต่มีระยะเวลาในการใช้เพียงแค่หนึ่งปี ก่อนถูกยกเลิกในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย”

การเปลี่ยนแปลงนโยบายและผลกระทบ

ในปี 2541 รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ออกมติครม. 30 มิ.ย. 2541 หรือมติคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาในการพิสูจน์สิทธิที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ทั้งชุดคิดที่มองว่าชุมชนเป็นผู้บุกรุก และการนำวาทกรรม ‘ชาวเขา เผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย’ กลับมาใช้อีกครั้ง

มติครม.นี้ได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิสูจน์สิทธิครอบครองที่ดินของราษฎร ให้ใช้ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารในการตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์อย่างต่อเนื่องก่อนการประกาศพื้นที่ป่าตามกฎหมายฉบับแรก ซึ่งแตกต่างจากสองมติครม.เดิมที่ให้ใช้หลักฐานการพิสูจน์สิทธิตามพื้นที่จริง

หลักเกณฑ์ในการพิสูจน์สิทธิลักษณะนี้กระทบต่อการทำเกษตรในระบบไร่หมุนเวียน และหากอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมที่จะกระทบต่อระบบนิเวศ หน่วยงานจะมีแผนการเคลื่อนย้ายชุมชนมายังบริเวณรัฐจัดสรรให้ หากไม่สามารถย้ายได้ รัฐจะอนุโลมให้อยู่ได้ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนดไว้ เท่ากับการจำกัดให้ไม่ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ปัจจุบันและความท้าทายใหม่

การชุมนุมสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทยได้นำมาสู่มติครม. 11 พ.ค. 2542 ที่มีแนวปฏิบัติให้หยุดการคุกคามและอพยพคนออกจากพื้นที่ป่า และหากพิสูจน์สิทธิได้ว่าอยู่มาก่อน ให้เพิกถอนพื้นที่ป่าออกจากชุมชน และให้เอกสารการรับรองสิทธิ

ในปี 2562 หรือยุคปัจจุบัน ยังมีการใช้มติครม. 30 มิ.ย. 2541 ในการพิสูจน์สิทธิที่ดินในเขตป่า เช่น โครงการคทช.ที่ใช้หลักเกณฑ์ในการพิสูจน์สิทธิและอนุญาตตามมติครม.ดังกล่าว แทบจะทั้งหมด นอกจากนี้ แนวคิดคาร์บอนเครดิตยังเป็นตัวเร่งในการเพิ่มพื้นที่ป่าอย่างแยบยล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชนในพื้นที่ป่าต่อไป

“ชุดคิดที่มองว่า ชุมชนเป็นผู้บุกรุก หากจะพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ป่าต้องให้กรมป่าไม้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสียก่อนว่า สมควรจะได้รับพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือไม่ หากการพัฒนานั้นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วาทกรรม ‘ชาวเขา เผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย’ ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในมติครม.นี้” สุมิตรชัยกล่าว

ศรีนิธิรินทร์ ชื่นวณิช

นักศึกษาฝึกงาน Lanner จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. ผู้หลงรักซีรีส์วาย สนุกกับการถ่ายติ๊กต็อก และมีความฝันอยากเป็นไอดอลที่ได้เต้นบนเวที แต่ในช่วงเวลานี้ ขอเรียนจบให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง