มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ออกแถลงการณ์ หนุนรัฐเร่งแก้ปัญหาคนไร้สัญชาติ

วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนนโยบายและมาตรการของรัฐบาลที่มุ่งแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้กับกลุ่มประชากรที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานาน รวมถึงบุตรหลานที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ยังไร้สัญชาติไทย

แถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 กำหนดหลักเกณฑ์เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล ต่อเนื่องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม และ 30 มิถุนายน 2568 ว่าด้วยการให้สถานะทางกฎหมายแก่บุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานาน และบุตรที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ยังไม่ได้รับสัญชาติ

มูลนิธิฯ ระบุว่า กลุ่มเป้าหมายตามนโยบายนี้คือผู้ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2510 จนถึงปี 2542 ซึ่งมีจำนวนกว่า 340,000 คน และบุตรหลานที่เกิดในไทยซึ่งมีประมาณ 143,000 คน ทั้งหมดมีเอกสารแสดงตัวและเลขประจำตัวประชาชนครบถ้วน รัฐไทยนิยามคนกลุ่มนี้ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม ซึ่งแม้จะอาศัยและเติบโตในสังคมไทย มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมมาโดยตลอด แต่ยังคงมีสถานะเป็น ‘คนไร้สัญชาติ’

แถลงการณ์ย้ำว่า กระบวนการให้สถานะทางกฎหมายดังกล่าวมีความเข้มงวด โดยผู้ยื่นคำขอพำนักถาวรต้องผ่านการตรวจสอบเอกสาร ประวัติอาชญากรรม และอื่นๆ ส่วนบุตรหลานที่เกิดในไทยต้องมีเอกสารรับรองการเกิด และต้องเป็นบุตรของชนกลุ่มน้อยหรือชาติพันธุ์ตามที่รัฐกำหนด

มูลนิธิฯ เห็นว่านโยบายนี้จะช่วยลดปัญหาการทุจริต การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการตกเป็นเหยื่อของขบวนการอาชญากรรมที่มักเกิดกับคนไร้สัญชาติ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ ลดการขาดแคลนแรงงาน และเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงการศึกษา อาชีพ และมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคมไทย

ในแถลงการณ์ยังระบุว่า การดำเนินนโยบายนี้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 15 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ไทยเป็นภาคี ซึ่งระบุว่าทุกคนมีสิทธิได้รับสัญชาติ

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังแสดงความชื่นชมสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติที่มีบทบาทผลักดันเรื่องนี้จนเกิดมติ ครม. พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทะเบียนอำเภอและเทศบาลทั่วประเทศที่เป็นกำลังหลักในการรับรองสถานะบุคคลของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งล้วนเป็นประชากรที่อยู่ร่วมกับสังคมไทยมานาน

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ยืนยันจุดยืนสนับสนุนการรับรองสถานะทางกฎหมายแก่คนไร้สัญชาติในประเทศไทย เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์และความมั่นคงของสังคมไทยโดยรวม

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง