ในช่วงวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้ปริมาณนํ้าในแม่นํ้าปิง บริเวณพื้นที่อำเภอเชียงดาวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่ามวลนํ้าจะไหลมาสู่แม่นํ้าปิง บริเวณสะพานนวรัฐ อำเภอ จังหวัดเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ 17 กรกฏาคม 2568 จากการประกาศของสำนักงานชลประทานที่ 1 นี้เองที่ทำให้ประชาชนชาวเชียงใหม่บางส่วนตื่นตัว และมาเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำปิงอย่างใกล้ชิด ประจวบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนผลกระทบจาก พายุโซนร้อน ‘วิภา’ ซึ่งจะส่งผลให้ร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคเหนือมีกำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 20 – 24 กรกฎาคม 2568 จากประกาศดังกล่าวยิ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชนที่อาศัยใกล้แม่นํ้าปิง กลัวว่าจะซํ้ารอยเหตุการณ์นํ้าท่วมภาคเหนือเมื่อปลายปี 2567
ระบบท่อที่รอวันพัง กับคลองแม่ข่าที่แบกรับเกินตัว
พายุวิภายังไม่ทันเข้า นํ้าปิงก็ยังไม่ทันท่วม ดันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 18.30 น. ฝนได้ถล่มทั่วอำเภอเมืองเชียงใหม่ ตามมาด้วยนํ้าท่วมขังบริเวณถนนช้างคลานและย่านสันป่าข่อย ส่งผลให้ประชาชนสัญจรลำบาก รถขนาดเล็กหลายคันเกิดดับระหว่างทาง
ต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 หลังจากที่นํ้าขังได้แห้งลงไป ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทยอยทำความสะอาดบริเวณหน้าบ้านหรือร้านค้าของตนเอง แม้ว่านํ้าจะไม่ได้ทะลักท่วมเข้าสู่ตัวอาคาร แต่นํ้าที่ท่วมขังเป็นนํ้าที่มาจากท่อระบายนํ้าทิ้ง ซึ่งเป็นนํ้าเสียและมีกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังมีบางรายที่ขับรถลุยนํ้าขัง ทำให้ป้ายทะเบียนรถหลุดหายและประกาศตามหาในช่วงเช้าวันนี้ โดยคุณ Pachara Jozz Thanasinvoranan โพสต์ระบุว่า “รบกวนพี่ๆน้องๆ ที่อยู่เส้นช้างคลาน เจริญประเทศ หากพบเจอป้ายทะเขียนรถ งน9647 เชียงใหม่ รบกวนแจ้งมาด้วยนะครับ เมื่อคืนรถลุยน้ำ ป้ายทะเบียนหลุดหายครับ ขอบคุณมากครับ”
เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดนํ้าท่วมขังรอการระบาย บริเวณทางลอดแยกศาลเด็ก กาดก้อม กาดหลวง ช้างเผือก นิมมาน และถนนแก้วนวรัฐ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งคำถามถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบขุดลอกท่อระบายนํ้า เพื่อให้สามารถใช้งานในยามที่เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักได้
เมื่อคลองแม่ข่าต้องรับทั้งน้ำดี น้ำเสีย และน้ำที่รัฐไม่จัดการ
ย้อนกลับไปเมื่อราว 700 กว่าปีที่เมืองเชียงใหม่ได้ถือกำเนิดขึ้น ก็ได้มีแม่นํ้าข่า หรือคลองแม่ข่าตั้งอยู่คู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ โดยทำหน้าที่เป็นทั้งคูเมืองชั้นนอกที่โอบล้อมเมือง เป็นแม่นํ้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านที่อาศัยใกล้เคียง กระทั้งปัจจุบันมันได้ทำหน้าที่เป็นทางระบายนํ้าสายหลักที่ลงสู้แม่นํ้าปิง ซึ่งแน่นอนว่าคลองแม่ข่ากับท่อระบายนํ้าในตัวเมืองเชียงใหม่ต้องเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน
แผนภาพจากงานวิจัยระบบระบายน้ำเสียเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าเมื่อฝนตกหรือเกิดการใช้น้ำในเขตเมือง นํ้าจะถูกรวบรวมผ่านท่อระบายน้ำขนาดเล็กและท่อรวมที่วางอยู่ใต้ถนนต่างๆ (ตามเส้นสีแดงในแผนที่) จากนั้นท่อระบายน้ำเหล่านี้จะไหลลงมารวมกันบริเวณเขตเมืองเก่า (รอบคูเมือง) และถนนศรีดอนไชย ซึ่งเป็นย่านการค้าและท่องเที่ยว โดยบางเส้นทางนํ้าจะมีการเปลี่ยนขนาดท่อเพื่อรองรับปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น (เส้นวงรีสีแดง) แล้วน้ำจะถูกรวบรวมผ่านท่อรวมสายหลัก (เส้นสีเขียว)
หลังจากรวมและผ่านระบบท่อขนาดใหญ่ (เส้นสีเขียว) น้ำส่วนใหญ่จะไหลลงสู่ คลองแม่ข่า ซึ่งคลองแม่ข่าเป็นลำคลองธรรมชาติที่ไหลพาดผ่านใจกลางเมือง และเป็นเสมือน ‘เส้นเลือดใหญ่’ ของระบบระบายน้ำเมืองเชียงใหม่ เมื่อคลองแม่ข่าไหลผ่านตัวเมืองและรับน้ำจากท่อ รับทั้งนํ้าดีและเสียจากบ้านเรือนต่างๆ จากนั้นจึงไหลสู่แม่นํ้าปิง เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการระบายนํ้าในเขตเมือง
อย่างไรก็ตามแต่ เมื่อเกิดฝนตกหนักจริงๆ นํ้ากลับไม่ถูกระบายตามที่อธิบายข้างต้น แต่กลับเกิดนํ้าขังรอการระบายขึ้นหลายจุดในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ งานวิจัยเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียและการระบายน้ำยังแสดงให้เห็นปัญหาการดูแลท่อระบายนํ้าตามใต้ท้องถนนที่อาจอุดตันจากขยะหรือเศษดิน อีกทั้งบางจุดยังมีท่อระบายน้ำขนาดเล็กกว่า 0.5 เมตร โดยเฉพาะเขตเมืองเก่า รอบคูเมือง และย่านช้างคลานมีท่อระบายที่ตื้นและคับแคบ รวมถึงการพึ่งพาคลองแม่ข่ามากเกินไปในการระบายนํ้าลงสู่แม่นํ้าปิง เมื่อนํ้าระบายลงสู่คลองแม่ข่าได้ช้าปัญหาที่ตามมาก็คือน้ำจะไหลย้อนกลับไปขังบนถนนซํ้าแล้วซํ้าเล่า
จากปัญหานํ้าท่วมขังซํ้าซากทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเชื่อมโยงไปถึงโครงการขุดลอกแม่นํ้าปิงที่พึ่งเริ่มต้นโครงการในช่วงหน้าฝนเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่ามีความจำเป็นมากกว่าการขุดลอกท่อระบายนํ้าหรือไม่ หากเกิดฝนตกหนักแบบนี้เรื่องไหนเร่งด่วนที่สมควรทำมากกว่ากัน หรือเพียงทำตามงบประมาณที่เพิ่งได้รับการอนุมัติ
รัฐกลางฟื้นฟูหลังนํ้าท่วม ขุดลอกแม่นํ้าปิง ท้องถิ่นมีแผนสร้างอุโมงค์นํ้า
นับตั้งแต่นํ้าท่วมเชียงใหม่เมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติงบกลางแผนฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 39 โครงการ กรอบวงเงินรวม 641,127,300 บาท ในส่วนที่น่าสนใจของจังหวัดเชียงใหม่คือ โครงการปรับปรุงและฟื้นฟูพื้นที่เขตเศรษฐกิจหลังประสบอุทกภัย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยว วงเงิน 20,000,000 บาท ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่ (1) ปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณทางลอด เกาะกลาง และสะพานข้ามทางแยก จำนวน 3 สายทาง และ (2) การดูดโคลนในระบบระบายน้ำ จำนวน 3 สายทาง (ทางหลวงหมายเลข 11 ตอน อุโมงค์ – รินคำ ระหว่าง กม.552+906 – กม.561+231 (เป็นแห่งๆ) ทางหลวงหมายเลข 107 ตอน เชียงใหม่ – ขี้เหล็กหลวง ระหว่าง กม.9+932 – กม.11+213 และทางหลวงหมายเลข 1141 ตอน ดอนจั่น – เชียงใหม่ ระหว่าง กม.0+000 – กม.7+565) สิ่งที่น่าสนใจคือดูเหมือนว่าแผนดังกล่าวไม่ได้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว เป็นเพียงโครงการดำเนินการหลังนํ้าท่วมเท่านั้น อีกทั้งยังดำเนินงานเพียงบางจุดเท่านั้น ไม่ได้มีการแก้ไขทั้งระบบของเมืองเชียงใหม่ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแบบนี้ท้ายที่สุดแล้วก็คงหนีไม่พ้นการเกิดปัญหาซํ้าซากแบบเดิม
ในส่วนของทางเทศบาลนครเชียงใหม่ที่พึ่งจะได้แต่งตั้งนายกฯ หลังการประกาศผลรับรองเลือกตั้ง วันที่ 4 มิถุนายน 2568 ทำให้อัศนี บูรณุปกรณ์ ได้ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่เป็นสมัยที่ 2 โดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2568 มีการประชุมสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ สมัยสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 วาระการประชุมที่สำคัญคือเรื่อง การแถลงนโยบายของนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ต่อสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งภายใต้ทีมบริหารชุดใหม่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการดำรงตำแหน่งสมัยปัจจุบันว่า ‘นครแห่งความสข ภายใต้วิถีใหม่’ สรุปเป็นนโยบายสำคัญได้ 7 ด้าน ได้แก่ นโยบายที่ 1 นครเชียงใหม่ : นครแห่งการบริหารจัดการที่ดี 2. นครแห่งความน่าอยู่อย่างยั่งยืน 3. นครแห่งการท่องเที่ยว เศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น 4 นครแห่งสุขภาวะ 5.นครแแห่งโอกาสสำหรับเด็กและเยาวชน 6. นครแห่งความปลอดภัย 7.นครแห่งศิลปวัฒนธรรมล้านนา
สิ่งที่น่าสนใจอยู่ในด้านที่ 6 นครเชียงใหม่ : นครแห่งความปลอดภัย โดยพบว่าข้อที่ 6.7 มีการระบุว่า เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการระบบระบายนํ้าและป้องกันอุทกภัย ด้วยการจัดทำระบบอุโมงค์ระบายนํ้าในพื้นที่เสี่ยง ดำเนินโครงการพนังกั้นแม่นํ้าปิงในจุดวิกฤต ปรับภูมิทัศน์คลอง ลำเหมือง พร้อมขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายนํ้าและทางนํ้าเป็นประจำ จากวิสัยทัศน์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเทศบาลมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาการอุดตันของท่อระบายนํ้า แต่สิ่งที่ยังสงสัยคือติดปัญหาอะไร ทำไมถึงไม่เริ่มทำทันที หรือต้องรอให้เกิดเหตุการณ์นํ้าท่วมขังเช่นนี้อีกเรื่อยๆ
สิ่งที่ดำเนินการในการรับมือนํ้าท่วมล่าสุดคือโครงการขุดลอกแม่นํ้าปิง โดยเป็นการร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและท้องถิ่น ได้แก่ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ (ปภ.) สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ โครงการชลประทานเชียงใหม่ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคเชียงใหม่ และสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในเขตเมืองเชียงใหม่ ที่มีชุมชนหนาแน่นริมฝั่งแม่น้ำปิง โดยวิธีการที่ใช้คือ ‘การดูดตะกอนดิน’ จากบริเวณกลางลำน้ำเข้าสู่บ่อพักที่จัดเตรียมไว้ ก่อนจะมีการขนย้ายตะกอนไปทิ้งยังพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ
การขุดลอกแม่น้ำปิงในเฟสแรกจะมีระยะทาง 41 กิโลเมตร แบ่งช่วงการขุดออกเป็น 5 ช่วง เบื้องต้นได้เริ่มดำเนินการขุดระยะเร่งด่วนในช่วงเขตพื้นที่ตัวเมืองก่อน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา คือระยะที่ 2 , 3 และ 4 ระยะทางรวมประมาณ 22 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จให้ทันช่วงฤดูฝนในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ล่าสุดได้ดำเนินการไปได้แล้วประมาณ 5.8 เปอร์เซ็นต์ แต่ดูเหมือนว่าจากปริมาณนํ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมาทำให้โครงการดังกล่าวต้องหยุดฉะงักไป
ประชาชนต้องร่วม แต่รัฐอย่าหลบ
หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประชาชนต่างแสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์ โดยเสียงส่วนใหญ่ต่างเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดำเนินการลอกท่อระบายน้ำเพื่อเตรียมรับมือพายุที่กำลังจะมา อีกทั้งยังเห็นว่าการลอกทำความสะอาดท่อระบายนํ้าควรเป็นวาระที่เร่งด่วนกว่าการขุดลอกแม่นํ้าปิง แต่ก็มีอีกส่วนที่มองว่าปัญหาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ประชาชนต้องมีจิตสำนึกในการไม่ทิ้งของเสียและขยะลงทางระบายนํ้า เพราะปัญหาหลักๆ เกิดจากขยะที่อุดตันทางไหลของนํ้า ปัญหานี้จึงเป็นปัญหาที่จะรอภาครัฐแก้ไขอย่างเดียวไม่ได้ แต่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย
อย่างไรก็ตามสถานการณ์นํ้าท่วมและนํ้าขังในจังหวัดเชียงใหม่ยังต้องติดตามกันต่อไป โดยข้อมูลพยากรณ์ล่วงหน้าของพายุวิภา ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่คาดการณ์ว่าจะรุนแรงในช่วงคืนวันพุธที่ 23 ถึงเช้ามืดพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่พื้นที่ต้นน้ำปิงในอำเภอเชียงดาว ประชาชนควรเตรียมพร้อมรับมือและเฝ้าระวังให้มากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สำหรับพื้นที่ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ก็ควรติดตามข่าวสารและพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมรับมือและขนย้ายทรัพย์สินได้ทันท่วงที
รายการอ้างอิง
Sunantana Nuanla-Or. 2016. Creating Sustainable Future of a Degraded Urban Canal: Mae Kha, in Chiang Mai, Thailand in Chiang Mai, Thailand. Louisiana State University and Agricultural and Mechanical College
Benjarus Wattanapichedpong. 2015. Preliminary Study on Sewerage and Drainage System For Pilot Project Area – Huay Kaew Road Chiang Mai, Thailand. Integrated Resource Management in Asian Cities: the Urban Nexus
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...