เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
ก่อนที่ชื่อของ มะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล จะถูกจดจำในฐานะผู้กำกับแถวหน้าของวงการภาพยนตร์ไทย ก่อนที่ รักแห่งสยาม (พ.ศ. 2550) จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของวงการ หรือ Home โฮม ความรัก ความสุข ความทรงจำ (พ.ศ. 2555) จะพาเรากลับบ้านผ่านความสัมพันธ์ที่เปราะบาง มะเดี่ยวเคยมีผลงานนักศึกษาเรื่องหนึ่ง ที่สะท้อนพลังของความกล้าคิดกล้าทำ และการเล่าเรื่องผ่านประเด็นท้องถิ่นอย่างจริงจัง
หนังเรื่องนั้นชื่อว่า ‘ลี้’ (พ.ศ. 2546) หรือ The Passenger to Li เล่าเรื่องวัยรุ่นเจ็ดคนที่เข้าไปพัวพันกับอาชญากรรมและการหักหลัง โดยมีแกนกลางอยู่ที่เด็กคนหนึ่งซึ่งเริ่มต้นจากการติดพนัน ก่อนจะถูกลากเข้าสู่วงจรยาเสพติด ต้องลำเลียงยาจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ แต่แล้วก็ถูกหักหลัง เส้นทางจึงเปลี่ยนไปยังเมืองลี้ อำเภอแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน เมืองเงียบสงบที่ซ่อนความลึกลับไม่ชอบมาพากลเอาไว้
แม้จะเป็นเพียงโปรเจกต์ของนิสิตปี 3 แต่ลี้ กลับกลายเป็นเหมือนหมุดหมายเล็กๆ ในประวัติศาสตร์หนังไทยของช่วงเวลานั้น ด้วยความกล้าในการทดลองรูปแบบ การเล่าเรื่องซับซ้อน และการมองพื้นที่ชายขอบอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เพียงเพื่อความดราม่า แต่สะท้อนให้เห็นว่า ‘ระบบ’ ที่คนตัวเล็กๆ อาศัยอยู่นั้นเป็นอย่างไร
22 ปีผ่านไป ‘ลี้’ ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง ในบรรยากาศอบอุ่น ณ หอกลางเวียง (หลังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์) จังหวัดเชียงใหม่ ในวันปิดเทศกาลภาพยนตร์เชียงใหม่ 2568 (Chiang Mai Film Festival 2025) ภายใต้ธีม ‘จิตวิญญาณท้องถิ่น : Spirit of Local’ มะเดี่ยว ผู้กำกับหนังและนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย จึงได้พูดคุยถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘ลี้’ และสะท้อนมุมมองการทำหนังของเขาอีกครั้ง โดยมี ฉัตรชัย สุขอนันต์ นักการละครและนักกิจกรรมเชียงใหม่ และ บดินทร์ เทพรัตน์ กลุ่มปันยามูฟวี่คลับ เป็นผู้ดำเนินบทสนทนา
จาก ‘หนังคณะ’ ที่กลายเป็นบทพิสูจน์ของคนทำหนังรุ่นใหม่
“ตอนนั้นเรียนอยู่ประมาณปี 3 ปี 4 แล้วเราก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเรามีภาคฟิล์ม แต่กลับไม่มี ‘หนังคณะ’ เหมือนละครคณะของภาคละครบ้าง” มะเดี่ยวเล่าย้อนถึงไอเดียตั้งต้นของเขาในตอนที่ยังเป็นเพียงนิสิต ปี 2 คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์ ว่าเขาได้เริ่มเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง ‘ลี้’ จากจุดเริ่มต้นที่อยากทำหนังคณะ โดยใช้เวลาร่วม 2-3 ปี จึงได้เริ่มลงมือถ่ายทำในช่วงที่เขาอยู่ปี 3
“ตอนนั้นเราก็แบบทะเยอทะยาน ก็มุทะลุนะ ปกติหนังนักเรียนเขาจะทำแนวน่ารักกุ๊กกิ๊ก แต่เราจะทำหนังแอ็กชัน ขนยาจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ ทุกคนก็ตกใจ แต่พออ่านบทแล้วชอบกันหมด”
ในส่วนของแรงบันดาลใจในการเขียนบทและกำกับ มะเดี่ยวเล่าว่าตัวเองเป็นคน ‘ละโมบ’ อยากเล่าไปหมดทุกอย่าง จึงหลงใหลหนังที่มีหลายเส้นเรื่องตัดสลับกันแบบที่ Quentin Tarantino, Robert Altman หรือ Paul Thomas Anderson ถนัด
“ยุคนั้นคือยุคของ multi-character เลย Magnolia กำลังจะเข้า Pulp Fiction นี่เราก็ดูวนไปวนมา เรารู้สึกว่าหนังที่ท้าทายวิธีเล่า มันเท่ดี เราอยากเป็นคนแบบนั้น”
แต่หากจะพูดถึงแรงบันดาลใจที่ลึกลงไปกว่านั้น มะเดี่ยวกลับพาเราหันไปมองนักเขียนไทยอย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร นักกวีและนักเขียนผู้เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณเสรี ที่มีผลงานเด่นอย่าง ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ และหนังสือรวมเรื่องสั้น แรมทางกลางฝุ่น ซึ่งว่าด้วยชีวิตคนขับสิบล้อ ตัวละครที่มีจุดยืนอยู่นอกขอบเขตของเมืองและระบบใหญ่
“ตอนนั้นเราอินกับหนังสือ ‘แรมทางกลางฝุ่น’ ของเขา ที่เล่าเรื่องคนขับสิบล้อ หรือ ‘มนตรักทรานซิสเตอร์’ หลายๆ เรื่องของเขาจะมีความเป็น คนชายขอบ คนที่อยู่นอกขอบเขตของเมืองหรือระบบใหญ่ๆ ก็ได้แรงบันดาลใจจากงานของคุณวัฒน์เยอะเหมือนกัน เพราะเส้นเรื่องของ ลี้ คือเส้นเรื่องของ คนเถื่อน คนที่ไม่มีสัญชาติ คนที่อยู่นอกระบบ”
มะเดี่ยวมองว่าเสน่ห์ในงานเขียนของวัฒน์อยู่ตรงที่ เขาสามารถพูดแทน คนชายขอบ คนที่ไร้สัญชาติ หรือคนที่อยู่นอกระบบ และสิ่งเหล่านั้นก็แทรกซึมเข้ามาในโครงสร้างของ ลี้ อย่างชัดเจน ทั้งในเนื้อเรื่อง ตัวละคร ไปจนถึงบรรยากาศโดยรวมของหนัง
เพราะมีบทที่แข็งแรง และความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มเพื่อน มะเดี่ยวจึงสามารถชวนคนทำหนังฝีมือดีมาร่วมทีมได้ครบครัน เช่น มุก-ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ โปรดิวเซอร์ในตอนนั้น ที่ภายหลังกลายเป็นผู้กำกับภาพยนตร์หลายเรื่องรวมถึง Long Live Love, แจน-ภุชงค์ ตันติสังวรากูร ผู้ช่วยผู้กำกับที่ต่อมากลายเป็นผู้บริหารภาพดีทวีสุข และ ปุ๊กกี้-ปวีณุช แพ่งนคร ที่ในตอนนั้นรับหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้จัดการกอง และเพื่อนพี่น้องอีกเพียบ
“ในกองตลกกันนะ เล่นๆ สนุกกันไป เห็นหนังจริงจังแบบนั้น แต่ถ่ายทำกันแบบบ้านๆ เลย” มะเดี่ยวเล่าว่าแม้จะเป็นการถ่ายทำหนังที่มีเนื้อหาดูเคร่งเครียด แต่บรรยากาศการทำงานในครั้งนั้นกลับเต็มไปด้วยความสนุกเฮฮาของวัยหนุ่มสาวที่กำลังลองผิดลองถูก เขายังอธิบายอีกว่า การทำหนังเรื่องลี้ คือการเก็บเล็กผสมน้อยจากหลายทาง ทั้งทุนส่วนตัว เงินจากพ่อแม่ กองทุนละครนิเทศฯ และสปอนเซอร์เล็กๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้หนังเกิดขึ้นได้จริง
จาก ‘เมืองลี้’ ที่ดูไกลในวัยเด็ก สู่เรื่องราวของ การ ‘ลี้’ จากภัยอาชญากรรม
ก่อนจะกลายเป็นชื่อหนัง ‘ลี้’ คือชื่อเมืองเล็กๆ ในจังหวัดลำพูนที่มะเดี่ยวเคยไปเยือนบ่อยครั้งในวัยเด็ก ทุกครั้งที่เดินทางจากเชียงใหม่ไปยังลี้ เขามักตั้งคำถามระหว่างนั่งรถว่า “เมื่อใดมันจะถึงอ่ะแม่ เฮามายะอะหยังกั๋นเนี่ย” เพราะถนนสายที่มุ่งหน้าไปยังลี้นั้นทั้งไกล เปลี่ยว เงียบงัน
ทัศนียภาพของเมืองลี้แตกต่างจากเชียงใหม่อย่างสิ้นเชิง ไม่มีดอยตั้งตระหง่านอยู่ใกล้ๆ สายตา มีแต่พื้นที่ราบโล่งกว้าง ท้องฟ้าสีส้มยามเย็น และความเวิ้งว้างที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง แม้จะจดจำไม่ได้แน่ชัดว่าทำไมตอนเด็กๆ เขาถึงได้ไปเมืองลี้บ่อยครั้งนัก แต่ลี้ก็ได้ทิ้งร่องรอยบางอย่างไว้ในใจของเขา เป็นความรู้สึกที่มะเดี่ยวมองว่ามันทั้ง “ลึกลับ เถื่อน และอะหยังกะบ่ฮู้” จนกลายเป็นสถานที่ที่เหมาะเจาะที่จะเล่าเรื่องการหลบหนี ความไม่ไว้ใจ และความรุนแรงที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวนิ่งสงบ กอรปกับในช่วงที่เขาและกลุ่มเพื่อนกำลังทำหนังเรื่องนี้ มีนโยบาย ‘ประกาศสงครามต่อต้านยาเสพติด’ ในช่วงเดียวกันพอดิบพอดี
“จริงๆ ก็เพราะชื่ออำเภอนั่นแหละ กับภาพความทรงจำวัยเด็กที่เคยไปเมืองลี้ อีกอย่างคือ มันเคยมีเรื่องแก๊งอาชญากรรมในช่วงยุคสงครามปราบปรามยาเสพติดที่ใช้เส้นทางผ่านลี้ อย่างแก๊งที่เรียกกันว่า ลำพูนดำ ใช้เส้นทางจากบ้านตากผ่านลี้เข้าสู่เชียงใหม่ ดังนั้น ลี้ ในหนังเราก็เลยสื่อถึงการหลบซ่อน การหนีภัย การทำอะไรในเงามืดด้วยเช่นกัน”
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศ ‘สงครามยาเสพติด’ อย่างเป็นทางการ โดยตั้งเป้าจะ ‘กวาดล้าง’ ผู้ค้ายาเสพติดให้หมดไปภายในสามเดือน ผ่านการระดมกำลังจากตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครองในทุกระดับ นโยบายนี้มาพร้อมความเด็ดขาดรุนแรง ปราศจากกระบวนการตรวจสอบที่เป็นธรรม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,800 คนในช่วงเวลาอันสั้น โดยหลายกรณีไม่มีการสอบสวน หรือเป็นเพียงผู้ต้องสงสัยที่ชื่อไปปรากฏในบัญชีดำของรัฐ
พื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนอย่างเชียงใหม่และเชียงราย ถูกมองว่าเป็นเส้นทางหลักในการลำเลียงยาเสพติดจากชายแดนเมียนมา ซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าประมาณร้อยละ 70 ของยาทั้งหมดที่แพร่ระบาดในประเทศ ทำให้กลายเป็นสมรภูมิสำคัญของนโยบายปราบปรามยาเสพติด ผู้คนในชุมชนชายขอบถูกตั้งข้อหา ถูกคุกคาม หรือแม้กระทั่งถูกสังหารโดยไม่มีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์
แม้นโยบายนี้จะมุ่งสร้างผลลัพธ์ที่รวดเร็ว แต่กลับล้มเหลวในการจัดการปัญหายาเสพติดในระยะยาว ระบบบำบัดและการฟื้นฟูที่รัฐจัดให้กลับไม่ได้ผล ขณะเดียวกันเรือนจำก็แออัดล้นเกิน ผู้ที่ถูกจับส่วนใหญ่กลับเป็น แรงงานรายย่อย คนจน หรือเด็กส่งยา ไม่ใช่เจ้าพ่อหรือผู้ค้ายารายใหญ่ตามที่รัฐประกาศจะปราบให้สิ้นซาก
“ตอนนั้นมันมีข่าวคนโดนฆ่าตัดตอนทุกวัน เรารู้สึกว่า ‘คนจะยิงกั๋นข้างบ้านกูเมื่อใดกะบ่าฮู้’ มันน่ากลัว แล้วเราก็รู้สึกว่า สงครามยาเสพติด มันมีคนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตายไปเยอะมาก ในมุมมองของเราตอนนั้น รู้สึกว่า ‘มันเป็นประเด็นที่ควรตั้งคำถามหรือเปล่า?’ ก็เลยอยากพูดถึงผ่านหนัง”
ในขณะที่นโยบายรัฐเลือกใช้ความรุนแรงเป็นคำตอบ หนังเรื่องลี้ ก็เลือกจะเล่าถึงผลกระทบของความรุนแรงนั้นอย่างเงียบงัน แม้ว่าในหนังจะไม่มีการเอ่ยถึงนโยบาย ‘สงครามยาเสพติด’ อย่างตรงไปตรงมา แต่สิ่งที่เราเห็นได้ชัดคือระบบที่ผลักให้เยาวชนเข้าไปอยู่ในวงจรของความผิด และไม่มีใครช่วยพวกเขาออกมาได้
นอกจากภาพจำของเมืองชนบทที่ดูห่างไกล ชื่อ ‘ลี้’ เองก็มีพลังในทางภาษาเพราะยังพ้องกับคำว่า ‘ลี้ภัย’ ซึ่งสะท้อนธีมของเรื่องได้อย่างชัดเจน หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้แค่พาผู้ชมไปยังเมืองลี้ในทางภูมิศาสตร์ แต่พาเข้าสู่โลกของการหลบหนีทั้งทางกายภาพและจิตใจอย่างแท้จริง
เมื่อย้อนกลับไปมอง ‘ลี้’ อีกครั้ง คำถามหนึ่งที่ถูกถามกับมะเดี่ยวในวงสนทนาวันนั้นคือ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เขาอยากแก้อะไรไหม?
เขาตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “ก็คงประมาณนี้แหละ” เพราะในสายตาของเขา ณ เวลานั้น เรื่องราวที่เขาเล่าผ่านหนังเรื่องนี้คือสิ่งที่สะท้อนโลกและสังคมตามมุมมองในช่วงชีวิตตอนนั้นได้อย่างเต็มที่แล้ว
หนึ่งในช่วงเวลาที่เขาประทับใจที่สุด คือวันที่ ลี้ ได้ขึ้นจอฉายที่โรงภาพยนตร์ Vista กาดสวนแก้ว ในเชียงใหม่ กับการสนับสนุนของ ธวัทชัย โรจนะโชติกุล หรือ เสี่ยทอมมี่ เจ้าของโรงหนังผู้เป็นตำนาน
“เสี่ยทอมมี่ชอบมาก ใจดีมาก ถ้าแกยังอยู่ อยากให้เห็นยุครุ่งโรจน์ของหนังจนถึงวันนี้” มะเดี่ยวเล่ายิ้มๆ พร้อมนึกถึงบรรยากาศวันนั้นที่เพื่อนฝูงในเชียงใหม่มากันพร้อมหน้า แม้ผู้ชมบางคนจะยังงงๆ ว่า “นี่มันหนังอะไรกันแน่” แต่ก็เต็มไปด้วยความสนุกและความอบอุ่น
“แต่ในยุคนั้น มันมาก่อนกาลมาก เพราะหนังมันยาว จะเข้าประกวดหนังสั้นก็ไม่ได้ ใช้ประกวดหนังแบบมืออาชีพก็ไม่ได้ Quality ไม่ถึง มันก็เลยเป็นหนังที่คนพูดถึง แล้วก็ไม่ได้ไปประกวดอะไร”
แม้หนังเรื่อง ลี้ จะไม่ได้เข้าประกวดเวทีใดในตอนนั้น เพราะความยาวที่เกินมาตรฐานหนังสั้น และคุณภาพโปรดักชันที่ยังไม่ถึงขั้นหนังอาชีพ แต่มันกลับกลายเป็น ‘หนังที่มาก่อนกาล’ ที่ไม่ลงล็อกกับรูปแบบใด และไม่จำเป็นต้องมีรางวัลใดมายืนยันความหมายของมัน “ก็เป็นความทรงจำดีๆ อย่างหนึ่งในชีวิตแหละ ที่ได้ทำหนังเรื่องนี้” มะเดี่ยวกล่าวทิ้งท้าย
‘ลี้’ กับจิตวิญญาณท้องถิ่นที่มีหนังเป็นผู้เปล่งเสียง
แม้เวลาจะผ่านมาแล้วกว่า 22 ปี แต่ ‘ลี้’ ยังคงเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ดูไม่ตกยุคในวงการหนังไทย เพราะมันไม่ใช่เพียงเรื่องราวของความรุนแรงหรืออาชญากรรม แต่คือภาพสะท้อนของระบบและโครงสร้างสังคมที่กดทับผู้คนในพื้นที่ชายขอบอย่างเงียบงัน และในบางครั้งภาพเหล่านี้ก็ยังไม่ได้เลือนหายไปไหน
‘ลี้’ คือหนึ่งในเสียงเหล่านั้น เสียงที่ไม่ได้ตะโกน แต่ยืนอยู่เงียบๆ อย่างมั่นคง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกภาพยนตร์และโลกภายนอก มันยังยืนยันกับเราว่า บางครั้ง หนังเล็กๆ ที่เกิดจากใจคนกลุ่มหนึ่ง ก็สามารถบันทึกจิตวิญญาณของยุคสมัยไว้ได้ดังกว่าคำประกาศนโยบายใดๆ
และในค่ำคืนหนึ่งของเชียงใหม่ เมื่อหนังเรื่องนี้ถูกฉายขึ้นอีกครั้ง ไม่ใช่แค่เราที่มองไปยังจอภาพยนตร์ แต่คือจิตวิญญาณท้องถิ่น ที่กำลังมองกลับมาที่เรา
รายการอ้างอิง
- กนกกร ปราชญ์นคร. (มปป.). 3 เดือน: การทำสงครามเอาชนะยาเสพติดของกระทรวงมหาดไทย. วารสารคารงราชานุภาพ. สืบค้นจาก http://www.stabundamrong.go.th/base/j9.7.pdf
- ศศิวิมล คำเมือง, สระเกตุ ปานเถื่อน, ธีรดนย์ คงสิทธิ์รัตนตระกูล & ภาสกร ดอกจันทร์. (2565). นโยบายสาธารณะด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของประเทศไทย. มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2546). สงครามยาเสพติด ชัยชนะที่มาพร้อมคำถาม. สืบค้นจาก https://www.thaihealthreport.com/file_book/book2546-10-1.pdf
- Lanner. (2568). FB Live ปิดเทศกาล Chiang Mai Film Festival 2025 [Facebook live video]. Facebook. https://www.facebook.com/lanner2022/videos/1049788077265166/

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร