เรื่องและภาพ: เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2568 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, และสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดงาน ‘ภูมิปัญญาชนเผ่าพื้นเมือง พลังสร้างสรรค์สู่อนาคต’ เพื่อเตรียมพร้อมสู่วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่จะมีการรวมตัวชนเผ่าพื้นเมืองจากทั่วประเทศ ณ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 10-11 สิงหาคม 2568 นี้
ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘อัปเดตสถานการณ์ประเด็นป่าไม้ ที่ดิน และสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก’ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคเหนือ โดยมีประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาของสมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) และแสงระวี สุวีรการย์ ผู้แทนสตรีชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก เป็นผู้บรรยาย
พ.ร.บ. ป่าปลอดคน: กฎหมายเปลี่ยนคนอยู่กับป่าให้กลายเป็นผู้บุกรุก
ประยงค์ได้เริ่มต้นนำเสนอด้วยคำกล่าวที่ว่า ปัจจุบันมีคนกว่า 314,784 ราย ใน 4,042 ชุมชน และพื้นที่กว่า 4.27 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่คือกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในภาคเหนือ กำลังประสบกับสภาวะความไม่มั่นคงทางที่ดิน จากมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
เพื่อทำความเข้าใจที่มาของกฎหมายฉบับนี้ ประยงค์เล่าย้อนไปถึง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นมติที่เกี่ยวกับ ‘การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้’ มติดังกล่าวเปิดโอกาสให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ สามารถสำรวจพื้นที่และอนุโลมให้อาศัยอยู่ได้ชั่วคราว
การอลุ่มอลวยระหว่างรัฐและชุมชนเป็นมาอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนในการให้ชาวบ้านมีเอกสิทธิ์ในที่ดิน จนกระทั่งหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2557 รัฐบาลทหารนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกนโยบายทวงคืนผืนป่า โดยให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ไปลงทะเบียน แต่ก็ตามมาด้วยการดำเนินคดีแก่ชาวบ้านในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 48,000 ราย
“คนเหล่านี้สูญเสียที่ดินอย่างถาวรไปแล้ว” ประยงค์กล่าว
ประยงค์ชี้ว่ากว่าร้อยละ 99 คนที่แพ้คดีในชั้นศาล เป็นเพราะพวกเขาไม่มีเอกสารสิทธิ์ในการยืนยันกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของในการต่อสู้คดี รวมถึงการใช้มติคณะรัฐมนตรีมาเป็นตัวยืนยัน ซึ่งศาลมักมองว่ามติ ครม. ไม่ใช่กฎหมายที่บังคับใช้ จึงทำให้คนเหล่านี้สูญเสียที่ดินอย่างถาวร
เหตุการณ์ความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์เริ่มต้นขึ้นในปี 2557 ก่อนที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามหาทางยุติความขัดแย้งในปี 2562 ได้มีการออกพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยผ่านกลไกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน
กฎหมายดังกล่าวพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้เข้าร่วมโครงการที่มีแนวคิดภายใต้พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 คือการอนุญาตให้คนอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้ชั่วคราวโดยมีกฎหมายรับรอง ซึ่งถูกระบุไว้ใน มาตรา 64 และ 65
“หลายชุมชนไม่ตระหนักถึงข้อนี้ ไปรับการสำรวจตามโครงการ จนตอนนี้เขากำลังออกกฎหมายลำดับรองให้อยู่ได้ไม่เกิน 20 ปี”
ประยงค์อธิบายรายละเอียดของโครงการนี้ต่อว่า การที่ชาวบ้านเซ็นชื่อยอมรับเข้าโครงการ นั่นหมายถึงการยอมรับว่า ‘ข้าพเจ้าอยู่ในที่ดินแปลงนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย’ ตามมาซึ่งเงื่อนไขต่างๆ มากมาย เช่น การใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องไม่กระทบกับดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นคำนิยามที่ค่อนข้างกว้างและตีความได้หลากหลายแบบ
นอกจากนี้ยังมีการตั้งเงื่อนไขให้สิทธิ์ในการครอบครองที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ชั่วคราวไม่เกินครอบครัวละ 20 ไร่ จึงทำให้ชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติกลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่เผชิญความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินทำกินได้ทุกเมื่อ
ในขณะที่ชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทางภาครัฐก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เป็นหน่วยงานที่มากำหนดสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ชุมชนที่อาศัยอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ให้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีการแบ่งกลุ่มชาวบ้านออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่อยู่มาก่อนปี 2545 และไม่ได้มีพื้นที่อยู่ในเขตลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2: คทช. จะออกหนังสืออนุญาตให้อยู่อาศัยได้ชั่วคราว และมีเงื่อนไขในการอยู่ในพื้นที่ทั้งหมด 18 ข้อ
กลุ่มที่อยู่อาศัยมาก่อนปี 2545 แต่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2: กลุ่มนี้จะไม่ได้หนังสืออนุญาตให้อยู่อาศัย แต่ทาง คทช. จะอนุโลมให้อยู่อาศัย แต่ต้องปลูกป่าในที่ดินตัวเองให้ได้มากกว่า 50% ของพื้นที่
กลุ่มที่อยู่อาศัยหลังปี 2545 แต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2: จะต้องปลูกป่าในที่ดินตัวเอง 50% เหมือนกับกลุ่มที่ 2
กลุ่มที่อยู่อาศัยหลังปี 2545 และอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2: จะต้องทำการปลูกป่าให้เต็มพื้นที่ของตนเอง และจะถูกยึดพื้นที่คืนเมื่อป่าอุดมสมบูรณ์
โดยทั้ง 4 กลุ่มต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอนุญาตให้อยู่อาศัยไม่เกิน 25 ปี ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
ประยงค์กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ปัญหาที่ดินในไทยคือการกระจุกตัวของผู้ครอบครองที่ดิน ในขณะที่คนยากจนไม่มีที่ดินครอบครองสำหรับทำมาหากิน คนที่มีที่ดินครอบครองมากที่สุดในประเทศไทยกลับสามารถครอบครองที่ดินถึง 630,000 ไร่ หรือเทียบเท่าจังหวัดสมุทรปราการทั้งจังหวัด
สารพิษในแม่น้ำกก: วิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง
ถัดจากนั้นแสงระวี สุวีรการย์ ผู้แทนสตรีชนเผ่าพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ได้ขึ้นบรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์ของแม่น้ำกกตั้งแต่ปีที่แล้วที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในเดือนกันยายน
แสงระวีในฐานะชาวบ้านท่าตอน หมู่บ้านริมแม่น้ำกก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เธอเล่าว่าแม่น้ำกกมีต้นน้ำมาจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เป็นระยะทางกว่า 285 กิโลเมตร โดยมีระยะทางที่ไหลผ่านประเทศไทย 180 กิโลเมตร วิกฤตแม่น้ำกกที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบต่อพี่น้องชนเผ่า 12 ชาติพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น ไทใหญ่, ไทลื้อ, ไทเขิน, ไทล้านนา, อาข่า, ลาหู่, ลีซู เป็นต้น กว่า 15 หมู่บ้าน 30 ชุมชน มีประชากรจำนวนมากกว่า 2,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแม่น้ำกกครั้งนี้
แสงระวีเริ่มสังเกตเห็นปัญหาของแม่น้ำกก ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ ที่แม้แต่คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านยังบอกว่าตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นน้ำท่วมใหญ่ขนาดนี้มาก่อน โดยน้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาในพื้นที่แม่น้ำกก เธอระบุว่าสร้างความเสียหายแก่ 385 ครัวเรือนกว่า 5,000 คน
ถัดมาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ แสงระวีเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำกกอีกครั้ง เมื่อปกติในฤดูหนาว น้ำในแม่น้ำกกเคยใสกว่านี้ จึงนำมาซึ่งการตรวจพบปริมาณสารหนูและตะกั่วเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยในหลายจุดตลอดสายแม่น้ำกก
“ตอนนี้ไม่มีใครกล้าลงไปในแม่น้ำกก ทั้ง ๆ ที่ที่ท่าตอนมันจะมีหาดทรายให้คนได้ลงไปพักผ่อนในช่วงฤดูแล้ง” แสงระวีกล่าว
สิ่งนี้ส่งผลกระทบแก่ผู้คนในพื้นที่ โดยเฉพาะตลอด 40-50 ปีที่ผ่านมา พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองต่าง ๆ ได้ใช้พื้นที่หาดทรายเป็นพื้นที่ส่วนกลางมาพบปะกัน วัฒนธรรมเหล่านี้ได้จางหายไปจากปัญหามลพิษในแม่น้ำกก รวมถึงอาชีพของการทำแพริมแม่น้ำ ที่นางสาวแสงระวีกล่าวว่าเคยสร้างรายได้ให้แก่ร้านค้าหนึ่ง 2-3 แสนบาทต่อเทศกาล แต่ตอนนี้รายได้สูญหายไปทั้งหมด รวมถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมาเป็นวงกว้างและกระทบต่อชีวิตประจำวัน
“นอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ พื้นที่บ่อบาดาลที่ถูกน้ำท่วม เมื่อพบสารพิษ ทำให้ทุกวันนี้ต้องมีการซื้อน้ำกิน น้ำใช้แทบจะ 100%”
แสงระวีสะท้อนการทำงานของหน่วยงานรัฐว่ามีความย้อนแย้งจนทำให้ชาวบ้านตกอยู่ในความวิตกกังวล เช่น รัฐบอกว่าน้ำมีค่าสารหนูไม่เกินมาตรฐาน แต่ไม่ควรสัมผัส หรือเรื่องปลาก็สื่อสารว่าไม่ตรวจพบสารตกค้าง แต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค
“ภาษาที่ภาครัฐใช้สื่อสาร กลายเป็นปัญหาสำหรับคนในพื้นที่”
นอกจากนี้การที่ภาครัฐเข้ามาเก็บตัวอย่างสารพิษไปตรวจสอบ แต่ไม่เคยแจ้งกลับมายังชาวบ้านในพื้นที่เลยว่าผลเป็นอย่างไร ทำให้เกิดการเหมารวมพืชผักที่มาจากพื้นที่โดยรอบว่ามีสารพิษตกค้างไปด้วย
แสงระวีกล่าวสรุปในตอนท้ายว่า ทุกวันนี้แค่พอฝนตกลงมา ชาวบ้านก็เป็นกังวลแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะต้องรับมืออย่างไร และรัฐไม่ได้มีแผนรองรับ หรือสื่อสารข้อมูลให้กับชาวบ้านในลุ่มน้ำกกอย่างเพียงพอ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...