2 ปีที่เขากะลา: ชาวบ้านนครสวรรค์จัดกิจกรรมรำลึก 2 ปีการคัดค้านเหมืองเขากะลา เมื่อการบวชป่าคือคำประกาศสิทธิ และการเรียกผีคือการยืนยันประชาธิปไตย

ภาพ: KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม 

22 กรกฎาคม 2568 ชาวบ้านจากหลายชุมชนในจังหวัดนครสวรรค์จัดกิจกรรม ‘2 ปีที่เขากะลา: ประชาธิปไตยจากฐานรากกับการปกป้องทรัพยากรและสิทธิชุมชน’ ณ ลานเชิงเขากะลา ตำบลพระนอน อำเภอเมืองนครสวรรค์ เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่

กิจกรรมจัดขึ้นโดยความร่วมมือของเครือข่ายชุมชนปกป้องทรัพยากรนครสวรรค์ ชาวบ้านจากเขากะลา หัวหวาย และหนองโพ ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการขอประทานบัตรเหมืองแร่บริเวณเขากะลา โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีทั้งพิธีกรรมทางความเชื่อ เวทีเสวนา นิทรรศการ และการอ่านแถลงการณ์ร่วม ย้ำจุดยืนของชาวบ้านในการปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น

พื้นที่เขากะลาถูกกำหนดให้เป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมเมื่อปี 2540 ตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 7 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายของรัฐที่เริ่มตั้งแต่ มติคณะรัฐมนตรี 13 มิถุนายน 2538 ที่เห็นชอบให้กิจกรรมระเบิดหินแบบเดิมเข้าสู่ระบบเหมืองแร่ภายใต้ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 นับแต่นั้น กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมทรัพยากรธรณี ได้เร่งรัดการประกาศพื้นที่เหมืองและอนุญาตประทานบัตรอย่างต่อเนื่อง

ก่อนปี 2538 พื้นที่เขานมนางและเขากะลา ในตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เคยเป็นจุดที่มีการระเบิดหินโดยผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ ศิลาเจริญทรัพย์, ศรีสาคร และสุภกิจ ซึ่งดำเนินการในลักษณะการระเบิดย่อยหิน โดยยังไม่มีระบบประทานบัตรตาม พ.ร.บ.แร่รองรับอย่างชัดเจน

ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน 2538 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนระบบจากการระเบิดหินแบบเดิมไปสู่การทำเหมืองหินภายใต้การควบคุมของ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเริ่มกำหนดแผนปฏิบัติการ พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดแหล่งหินเพื่อการทำเหมืองหินอุตสาหกรรม โดยอาศัยข้อมูลจากหลายหน่วยงานรัฐ เช่น กรมที่ดิน กรมป่าไม้ สผ. และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ

ทำให้ต่อมาในช่วงปี 2538–2539 มีการยื่นขอประทานบัตรจากเอกชนหลายรายในพื้นที่เขากะลา ได้แก่ หจก.อุทัยเมืองทอง (นว51/2538), บจก.ชัยพฤกษ์คอนสตรัคชั่น (นว33/2538) และ หจก.ศิลานครสวรรค์ (นว23/2539)

จากนั้นในปี 2539 กฎกระทรวงฉบับที่ 77 ถูกประกาศใช้ กำหนดให้กิจการผลิตหินเพื่อก่อสร้างทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติแร่ ซึ่งกลายเป็นสัญญาณว่า ‘เหมืองหิน’ กำลังจะกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกผลักดันอย่างจริงจังทั่วประเทศ รวมถึงพื้นที่เขากะลา

เอกชนหลายรายเริ่มยื่นขอประทานบัตรเหมืองหินในพื้นที่นี้ และในวันที่ 1 ตุลาคม 2540 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศอย่างเป็นทางการให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นหนึ่งใน 17 จังหวัดแหล่งหินอุตสาหกรรม รวมถึงเขากะลา เขานมนาง และเขาพระไกร พื้นที่ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นป่าชุมชนกำลังถูกเปลี่ยนสภาพเป็นเขตอุตสาหกรรม

ในปี 2543 บริษัทเอกชนทั้งสามรายได้รับอนุญาตประทานบัตรเหมืองหินชนิดหินปูน ระยะเวลา 20 ปี ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมและสิทธิของชุมชนที่อาศัยในพื้นที่

ต่อมาในช่วงปี 2559 ถึง 2565 มีการต่ออายุและยื่นขอประทานบัตรเหมืองหินใหม่หลายครั้ง โดยมีบริษัทและห้างหุ้นส่วนจำกัดหลากหลายรายที่เข้ามาขอใบอนุญาต ทั้งการขออนุญาตใหม่และการต่ออายุที่มีอายุยาวนานสูงสุดถึง 30 ปี การเคลื่อนไหวเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความตึงเครียดและความกังวลของชุมชนที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากเหมืองแร่ในพื้นที่ของตน

เส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านเขากะลา

ในเดือนตุลาคม 2566 หลังพบว่ามีบริษัทเอกชนรายใหม่ยื่นขอประทานบัตรในพื้นที่กว่า 75 ไร่ เพื่อนำไปใช้ทำเหมืองหินปูน ชาวบ้านจึงเริ่มจัดเวทีให้ข้อมูลในเดือนถัดมา และก่อตั้ง “เครือข่ายชุมชนปกป้องทรัพยากรนครสวรรค์” เพื่อรวบรวมข้อมูลผลกระทบและยื่นหนังสือคัดค้านต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จากนั้นกระบวนการเคลื่อนไหวดำเนินต่อเนื่องในหลายมิติ ดังนี้

  • ตุลาคม 2566: ชาวบ้านพบการยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่บริเวณเขากะลา เนื้อที่กว่า 75 ไร่ โดยเป็นกิจการทำเหมืองหินปูนเพื่อใช้ในงานก่อสร้างของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
  • ธันวาคม 2566 – มกราคม 2567: หน่วยงานรัฐจัดเวทีประชาคมเพื่อสอบถามความคิดเห็นประชาชน โดยชาวบ้านส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการเหมืองแร่
  • ต้นปี 2568: เครือข่ายชุมชนประสานงานกับนักกฎหมายและองค์กรสิ่งแวดล้อม เตรียมยื่นคัดค้านในชั้นกระบวนการขอประทานบัตร พร้อมเปิดเผยข้อมูลผลกระทบเชิงระบบ
  • กรกฎาคม 2568: ชาวบ้านยืนยันว่าแม้ประทานบัตรยังไม่ถูกอนุญาต แต่ยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด และจัดกิจกรรมครบรอบ 2 ปีของการเคลื่อนไหวปกป้องพื้นที่

รวมพลังชุมชนเพื่อการยืนยันสิทธิและปกป้องเขากะลา

กิจกรรมในวันที่ 22 กรกฎาคม 2568 เริ่มต้นด้วยพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อ ทั้งพิธีพราหมณ์ พิธีสงฆ์ และพิธีเรียกผีเพื่อประกาศเขตกำหนดพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน ต่อด้วยพิธีบวชป่า เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

ช่วงบ่ายมีการจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนจากผู้นำชุมชนและนักศึกษาที่ร่วมขับเคลื่อน พร้อมเปิดพื้นที่สำหรับกิจกรรมสร้างสรรค์ เช่น การเขียนป้ายผ้า การแบ่งปันอาหารท้องถิ่น และนิทรรศการข้อมูลผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่

ก่อนจบกิจกรรม ตัวแทนชุมชนร่วมกันอ่านแถลงการณ์ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญที่ชุมชนส่งถึงหน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้

1.หน่วยงานรัฐและองค์กรปกครองส่วนทองถิ่น รับรองและสนับสนุนกระบวนการประกาศ “เขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ-ภูมินิเวศวัฒนธรรมเขากะลา” แห่งนี้ 

2. เพิกถอนเขตแหล่งแร่ออกจากแผนแม่บท ยุติการอนุญาตโครงการเหมืองแร่หรือการใช้ประโยชน์ เชิงอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกลาวทุกกรณี 

3. สนับสนุนกลไกการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนเพื่อชุมชน และรับรองความชอบธรรมของ คณะกรรมการเขตอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้อย่างจริงใจ 

4. ผลักดันให้มี “ขอบัญญัติทองถิ่น” หรือมาตรการทางกฎหมาย ที่สอดคลองกับเจตจํานงของ ประชาชน 

5. สร้างกลไกและกระบวนการมีสวนรวมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย คํานึงถึงขีดจํากัดทางนิเวศและคุณภาพชีวิตวัฒนธรรมของชุมชน ได้อยางเป็นธรรมและยั่งยืน

ทั้งนี้ ตัวแทนชุมชนยังได้ยืนยันว่าการปกป้องเขากะลาไม่ใช่เพียงการหยุดโครงการเหมือง แต่คือการเรียกร้องให้รัฐเคารพสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร และฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

รายการอ้างอิง

เครือข่ายชุมชนปกป้องทรัพยากรนครสวรรค์, กลุ่มนิเวศพิทักษ์เขากะลา. (2567). รายงานภาคประชาชน “จับตาการประทานบัตรเหมืองในพื้นที่ป่าเขากะลา”.

เครือข่ายชุมชนปกป้องทรัพยากรนครสวรรค์. (2567). 2 ปี การลุกขึ้นสู้ของชาวบ้านเขากะลา. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/share/p/1728uj9BHG/

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง