จากกรณีเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ข้อมูลจากสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ระบุว่า สถานการณ์ ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2568 เวลา 16.00 น. ปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ อ.แม่ฟ้าหลวง (บ.หัวแม่คำ ต.แม่สลองใน 74 มม.) โดยข้อมูลสะสม ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2568 เวลา 16.00 น. พื้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและดินถล่ม จำนวนรวมทั้งสิ้น 15 อำเภอ 79 ตำบล 454 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับผลกระทบประมาณ 13,036 ครัวเรือน โรงเรียน 8 แห่ง ถนน 19 สาย สะพาน 1 แห่ง คอสะพาน 4 แห่ง วัด 3 แห่ง โค 4,445 ตัว กระบือ 1,987 ตัว สุกร 3,387 ตัว แพะ-แกะ 43 ตัว สัตว์ปีก 230,879 ตัว แปลงหญ้า 699 ไร่ พื้นที่เกษตร และความเสียหายอื่น ๆ อยู่ระหว่างสำรวจและรวบรวมข้อมูล ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
กระทั่งเช้าวันที่ 28 ก.ค. 68 น้ำสายทะลักเข้าท่วม บริเวณชายแดนแม่สาย จังหวัดเชียงราย น้ำได้เอ่อล้นจากแม่น้ำสายเข้าท่วมพื้นที่ตลาดสายลมจอย เขตเทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อร้านค้าและบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่โดยรอบ ทางด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาแม่สาย ทำการดับไฟในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากกระแสไฟฟ้า ในพื้นที่ดังต่อไปนี้ 1.หลังโรงแรมวังทอง ผู้ใช้ไฟได้รับผลกระทบ 76 ราย 2.ถนนเทศบาล ซอย 2โบสถ์คริสต์ ผู้ใช้ไฟได้รับผลกระทบ 44 ราย 3.ชุมชนไม้ลุง เกาะทราย ผาความ ผู้ใช้ไฟได้รับผลกระทบ 1,227 ราย 4.ตลาดสายลมจอย ผู้ใช้ไฟได้รับผลกระทบ 42 ราย
สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ระบุว่า ตลาดสายลมจอย ก่อนหน้าน้ำท่วมร้านก็ถูดขอร้องให้ปิดกิจการ เพื่อหลีกให้ทาหารสร้างพนังกั้นน้ำ ผู้ค้าซึ่งเพิ่งเปิดร้านได้ไม่นานหลังฟื้นฟูน้ำท่วมปีที่ผ่านมาก็ต้องย้ายออกไป แต่วันนี้ทุกอย่างก็ตกในสภาพนี้ น้ำทะลุทะลวงพนังกั้นน้ำและบิ้กแบ็กทั้งหมดเข้ามาท่วมตลาดอีกรอบอยุ่ดี อีกทั้งกิ่งไม้และเศษขยะที่ถูกสายน้ำพัดพามาด้วยคือตัวชี้วัดว่ามวลน้ำก้อนใหม่จากต้นน้ำสายในฝั่งเมียนมากำลังเดินทางมา กิ่งไม้เหล่านี่จะเดินทางไปติดค้างที่สะพานที่ 1 แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก มันคืออีกเงื่อนไขที่ทำให้การจัดการน้ำเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น
ขณะเดียวกันเมื่อเวลา 09.52 น. อำเภอดอยหลวง เกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้เกิดน้ำไหลเข้าท่วมถนน บริเวณสามแยกแม่เลียบแม่บง ซึ่งเป็นเส้นทางจากอำเภอดอยหลวง เชื่อมต่ออำเภอเวียงเชียงรุ้ง และเข้าสู่อำเภอเมือง น้ำท่วมสูงประมาณ 30 ซม. แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว หากสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ทางด้าน สุทัศน์ ลิ้มวณิชย์กุล นายอำเภอดอยหลวง มอบหมายให้ ภูดิส เนตรสุวรรณ์ ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วยสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนที่ 20 ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย จากการลงพื้นที่พบว่า มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินสไลด์ ในหลายหมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ตำบลปงน้อย หมู่ที่ 1-11 ตำบลโชคชัย หมู่ที่ 1-4, 6-12 ตำบลหนองป่าก่อ หมู่ที่ 1-10 ขณะนี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ อำเภอดอยหลวงได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะบริเวณที่ลุ่มต่ำให้เร่งขนของขึ้นที่สูง และติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งเตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้ประสบภัยที่มีความประสงค์จะเข้าพักในศูนย์อพยพวัดพรหมวิหารของเทศบาลตำบลแม่สาย หรือต้องการเคลื่อนย้ายไปยังจุดปลอดภัย มีจำนวน 4 จุด ดังนี้ 1.หมู่ที่ 1 บริเวณวัดถ้ำผาจมและสถานีตำรวจภูธรแม่สาย 2.หมู่ที่ 2 บริเวณวัดเหมืองแดง, สุสานเหมืองแดง 3.หมู่ที่ 7 บริเวณโรงแรมอรษา, ถนนพหลโยธินซอยโรงแรมแม่สาย และศูนย์ ชรบ.เหมืองแดง 4.หมู่ที่ 10 บริเวณถนนพหลโยธิน ซอยเทศบาล 8 น้ำบ่อหลวงและร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ซอยนามน หากพบเหตุผิดปกติ หรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ติดต่อสายด่วน 199
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...