จะรื้อหรือไม่รื้อ ‘ฝายพญาคำ’ คำถามที่ใหญ่กว่าตัวฝาย คือเราเข้าใจน้ำและเมืองแค่ไหน?

เรื่อง: ศรีนิธิรินทร์ ชื่นวณิช

ภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย

น้ำท่วมเชียงใหม่ไม่ได้เป็นเพียงข่าวซ้ำซากในฤดูฝน แต่กำลังสะท้อนความเปราะบางของเมืองที่เติบโตเร็วเกินกว่าระบบจะตามทัน ปีที่ผ่านมา หลายพื้นที่ของเชียงใหม่จมอยู่ใต้น้ำ สร้างผลกระทบทั้งต่อผู้คน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รัฐเดินหน้าแผน “ขุดลอกลำน้ำปิง” ระยะทางรวม 41 กิโลเมตร พร้อมขุดตะกอนกว่า 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตร และวางแผนรื้อฝาย 3 แห่ง ได้แก่ ฝายพญาคำ ฝายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ

ในสายตาของรัฐ “ฝายพญาคำ” อาจถูกมองเป็นหนึ่งในต้นตอของปัญหาน้ำท่วม ทว่าเบื้องหลังก้อนคอนกรีตชิ้นนี้ คือเศษเสี้ยวของภูมิปัญญาล้านนาในการอยู่ร่วมกับสายน้ำ เป็นหลักฐานของการจัดการน้ำที่ไม่เคยแยกขาดจากวิถีชีวิตผู้คน

คำถาม “จะรื้อหรือไม่รื้อฝายพญาคำ” จึงลึกกว่าการเก็บหรือทุบโครงสร้างคอนกรีต แต่นี่คือบททดสอบว่าเราเข้าใจธรรมชาติของน้ำ เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับแม่น้ำดีแค่ไหน และพร้อมหรือยังที่จะจัดการน้ำอย่างสอดคล้องกับภูมิประเทศและวิถีชีวิตคนในเมือง

เพื่อชวนคิดให้ไกลกว่าเรื่องฝาย Lanner ชวนคุยกับ ปวร มณีสถิตย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ทนวินท วิจิตรพร นักสถาปัตยกรรมชุมชนจากสมาคมเพื่อการออกแบบและส่งเสริมพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ที่ร่วมกันพาเราดำน้ำลงไปสำรวจปัญหาการจัดการน้ำในเมืองเชียงใหม่ ไปจนถึงค้นหาความหมายของฝายในฐานะโครงสร้างที่ผูกโยงทั้งอดีต วิถีชีวิต และอนาคตของคนเมือง

รื้อหรือไม่รื้อ ‘ฝาย’ หัวใจของการจัดการน้ำแบบล้านนา

ปวร มณีสถิตย์ และ ทนวินท วิจิตรพร เห็นตรงกันว่า ปัญหาที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ “ตัวฝาย” แต่คือวิธีคิดของคนที่มองฝายแบบตัดขาดจากระบบทั้งหมด เห็นแค่ฝายเป็นสิ่งขวางน้ำ โดยไม่เข้าใจว่าน้ำมีพลวัตที่เคลื่อนไหว มีฤดูกาลและยังผูกพันกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและการเกษตรของผู้คนมาช้านาน สำหรับ ปวร ฝายพญาคำไม่ใช่แค่โครงสร้างไม้หรือปูน แต่คือหัวใจของระบบจัดการน้ำแบบล้านนา ที่เชื่อมโยงลำเหมือง พื้นที่เกษตร และชุมชนเข้าด้วยกัน 

โดยทั้งสองเสนอว่าฝายไม้แบบดั้งเดิมมีข้อดีคือ พังง่าย ซ่อมง่าย และอยู่ภายใต้การดูแลของชุมชน ซึ่งแตกต่างจากฝายคอนกรีตแข็งๆ ที่มักขวางการไหลของน้ำและตะกอน ดังนั้น แทนที่จะมองว่าฝายเป็นอุปสรรค ควรแยกให้ออกระหว่างการ “ปรับปรุง” กับ “รื้อทิ้ง” และการรื้อฝายอย่างเหมารวม คือการลบล้างประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพร้อมกัน 

ทนวินท เสนอว่า ฝายพญาคำไม่ใช่แค่มรดกทางวิศวกรรม แต่ยังเป็นตัวแทนของ “แนวคิดอยู่ร่วมกับน้ำ” ที่เมืองเชียงใหม่เคยใช้ได้อย่างชาญฉลาด  โดยได้กล่าวเตือนว่า ถึงแม้จะรื้อฝายออก การระบายน้ำอาจดีขึ้นเพียง 5 – 10% เท่านั้น แต่สิ่งที่สูญเสีย คือ องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมและสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับภูมิประเทศซึ่งค่อยๆ หายไปหากเราไม่ฟังเสียงของธรรมชาติ โดยย้ำว่า ปัญหาน้ำท่วมจะยังอยู่ หากเราไม่แก้ “จุดคอขวด” ที่แท้จริง อย่างเช่น สะพานหรือสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ 

จากความเห็นของ ปวร มณีสถิตย์ และ ทนวินท เห็นตรงกันว่า คำตอบของปัญหานี้จึงอยู่ที่ “จะรื้อหรือไม่รื้อ” ฝายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเริ่มคิดใหม่ทั้งระบบ ตั้งแต่การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่รับน้ำในเมือง ไปจนถึงการออกแบบผังเมืองที่เข้าใจน้ำ ไม่ใช่แค่ต้านน้ำ โครงสร้างแข็งๆ ไม่ควรเป็นคำตอบเดียวในเมืองที่ต้องอยู่กับน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจทั้งธรรมชาติ ผังเมือง กฎหมายและมีความสามารถในการวางแผนบูรณาการในระยะยาว ที่สำคัญต้องเป็นการวางแผนที่มีความยั่งยืน สุดท้าย การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ไม่ได้หมายถึงแค่การสร้างใหม่หรือถอดของเก่าออก แต่คือการให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่ของมัน และให้คนในพื้นที่มีสิทธิ์ร่วมกำหนดว่าชีวิตของพวกเขาจะอยู่กับน้ำอย่างไร ไม่ใช่แค่เอาตัวรอดจากภัยพิบัติเพียงชั่วคราว

โครงการขุดลอกแม่น้ำปิงเป็นแผนงานขนาดใหญ่ที่รัฐผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเชียงใหม่ โดยครอบคลุมระยะทางรวม 41 กิโลเมตร ตั้งแต่อำเภอแม่แตงถึงอำเภอสารภี โดยเริ่มดำเนินการระยะแรกในเขตเมืองตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2568 และตั้งเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในฤดูฝนปีนี้ เป้าหมายของโครงการคือ เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำในลำน้ำปิงที่ตื้นเขิน โดยการขุดลอกตะกอนออกกว่า 1.7 ล้านลูกบาศก์เมตรในเขตเมืองและป้องกันน้ำท่วมซ้ำอีกในอนาคต โครงการใช้งบประมาณกว่า 180 ล้านบาท ดำเนินการโดยความร่วมมือของกรมเจ้าท่า  หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาและกรมชลประทาน พร้อมมีมาตรการควบคุมผลกระทบต่อชุมชน เช่น การบริการจัดการจุดทิ้งตะกอน ระบบเตือนภัย และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดแนวทางการจัดการน้ำ

ฝายไม่ใช่แค่โครงสร้าง มันคือระบบความสัมพันธ์ของคนกับน้ำ

ในมุมมองของ ปวร มณีสถิตย์  ฝายพญาคำคือผลผลิตจากภูมิปัญญาการจัดการน้ำของอาณาจักรล้านนา ที่ผสานทั้งการควบคุมน้ำ การกระจายน้ำสู่ลำเหมืองเพื่อการเกษตร และการอยู่ร่วมกับน้ำอย่างสมดุล ทว่าเมื่อโครงสร้างเมืองสมัยใหม่ขยายตัวเข้าแทนที่พื้นที่เกษตร โดยไม่คำนึงถึงระบบน้ำดั้งเดิม ลำเหมืองซึ่งเปรียบเสมือน “เส้นเลือดฝอย” ของเมืองจึงรับภาระหนักขึ้น ขณะเดียวกันก็ถูกลุกล้ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขีดความสามารถในการระบายน้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เช่นเดียวกับฝายคอนกรีตสมัยใหม่ที่มักถูกสร้างขึ้นโดยไม่คำนึงถึงพลวัตของน้ำและตะกอนตามธรรมชาติ กลับกลายเป็นตัวดักตะกอนและทำให้แม่น้ำปิงตื้นเขิน อาจารย์ปวร จึงเสนอว่า 

ไม่ควรรื้อฝายทั้งหมด แต่ควรออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับธรรมชาติและชุมชน โดยใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือหาทางออก ไม่ใช่ใช้การรื้อถอนเป็นคำตอบตายตัว

ปวร มณีสถิตย์

ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเชียงใหม่ ฝายพญาคำไม่ใช่เพียงสิ่งปลูกสร้างแต่หัวใจสำคัญของระบบการจัดการน้ำที่ถือกำ เนิดขึ้นพร้อมกับอาณาจักรล้านนา เมื่อเมืองเชียงใหม่ยังอาศัยพื้นที่เกษตรและลำเหมืองเป็นเครือข่ายซับซ้อนในการ ชะลอ ระบายและกระจายน้ำ

โดยลำเหมืองที่ต่อจากฝายพญาคำไหลผ่านพื้นที่ทั้งหมด 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ครอบคลุมพื้นที่ชลประทานประมาณ 32,000 ไร่ น้ำจากฝายพญาคำกระจายเข้าสู่พื้นที่การเกษตรและชุมชนทั้งหมด 8 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองหอย ตำบลหนองผึ้ง ตำบลยางเนิ้ง ตำบลสารภี ตำบลไชยสถาน ตำบลชมภู ตำบลหนองแฝก ในจังหวัดเชียงใหม่ และตำบลอุโมงค์ในจังหวัดลำพูน 

ในยุคหนึ่ง ฝายพญาคำทำหน้าที่กระจายน้ำเข้าสู่ลำเหมืองต่างๆ เพื่อหล่อเลี้ยงนาข้าว พื้นที่เกษตรทำหน้าที่เป็นแอ่งรับน้ำอย่างเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อเมืองขยายตัว โครงสร้างทางกายภาพของเมืองกลับไม่คำนึงถึงระบบดั้งเดิม ถนน อาคาร และหมู่บ้านจัดสรร แผ่ขยายเข้าสู่พื้นที่รับน้ำเดิมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาระของระบบระบายน้ำทั้งหมดตกอยู่กับลำเหมืองและแม่น้ำ ซึ่งขณะนี้มีความสามารถในการรองรับน้ำลดลงอย่างน่าวิตก ลำเหมืองถูกล้ำด้วยรั้วคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างริมขอบ ทำให้พื้นที่ที่ควรเปิดโล่งกลับกลายเป็นสิ่งกีดขวาง ขณะเดียวกัน หน้าตัดของแม่น้ำปิงก็ถูกบีบแคบลงจากการพัฒนาเมืองที่ไม่เหลือพื้นที่ให้แม่น้ำได้หายใจ  

อาจารย์ ปวร ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาน้ำท่วมในเชียงใหม่ไม่ใช่เรื่องของฝายเพียงลำพัง แต่เกิดจากโครงสร้างทั้งระบบที่ถูกแทรกแซงและทำลายอย่างต่อเนื่อง หากจะมองว่าฝายเป็นปัญหา ก็ต้องแยกแยะให้ชัดเจนระหว่าง “ฝายแบบดั้งเดิม” กับ “ฝายคอนกรีตยุคใหม่”  ฝายไม้ไผ่ในอดีตมีความยืดหยุ่น น้ำมากก็พัง ชาวบ้านก็ซ่อม เกิดเป็นวงจรของการดูแลที่ชุมชนมีส่วนร่วมอย่างสม่ำเสมอ แต่ฝายคอนกรีตในปัจจุบันถูกออกแบบมาเพื่อคงทน ขวางน้ำและดักตะกอน กลายเป็นอุปสรรคต่อการระบายและส่งผลให้แม่น้ำปิงตื้นเขินในระยะยาว 

ด้วยเหตุนี้ ปวร จึงเสนอว่า การรื้อฝายพญาคำไม่ใช่คำตอบของปัญหา แต่การปรับปรุงและออกแบบใหม่ต่างหากที่ควรเป็นทางเลือก ฝายควรสามารถเปิดทางให้น้ำและตะกอนเคลื่อนตัวตามฤดูกาล ขณะเดียวกันก็ควรออกแบบให้สัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนริมฝั่งและระบบเหมืองฝายที่ยังคงมีศักยภาพในปัจจุบัน การฟื้นฟูระบบน้ำของเชียงใหม่ต้องเริ่มจากการมองทั้งระบบ ตั้งแต่ป่าต้นน้ำในเชียงดาว แม่แตง แม่งัด ที่ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงพื้นที่ปลายน้ำในเขตเมืองที่เคยทำหน้าที่เป็น buffer zone แต่กลับถูกแทนที่ด้วยถนนและตึกสูง

กฎหมายไทยเว้นรั้วได้ แต่ไม่เว้นน้ำ

ข้อสังเกตเชิงกฎหมายของ อาจารย์ปวร คือ การลุกล้ำพื้นที่ลำน้ำในหลายกรณีอาจไม่ผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายไทยกำหนดเพียงระยะร่นจาก “ขอบอาคาร” ไม่ใช่ “ขอบรั้ว” ทำให้เจ้าของบ้านสามารถสร้างรั้วแนบลำเหมืองได้โดยไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่เปิดทางให้การบุกรุกเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยได้เปรียบเทียบกับต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นหรือเนเธอร์แลนด์ ที่มีการกำหนดระยะร่นจากแม่น้ำชัดเจน บางแห่งมากถึงเป็นกิโลเมตร เพื่อให้แม่น้ำมีพื้นที่สำหรับน้ำหลากอย่างเป็นระบบ

โครงการขุดลอกแม่น้ำปิงในปัจจุบัน แม้จะช่วยให้การระบายดีขึ้นในระยะสั้น แต่ตะกอนจะกลับมาทับถมใหม่ การใช้งบประมาณซ้ำซากในการขุดลอกโดยไม่แก้ต้นเหตุอย่างการใช้พื้นที่และการอนุรักษ์ต้นน้ำจึงเป็นทางออกที่ไม่ยั่งยืน ยิ่งเมื่อพิจารณาว่าหลายพื้นที่ในเมืองมีสิ่งปลูกสร้างขวางทางน้ำ เช่น ตอม่อของสะพานหรือประตูระบายน้ำ ที่จำกัดช่องระบายน้ำเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของความกว้างแม่น้ำ ก็ยิ่งชี้ให้เห็นความไม่สมเหตุสมผลของแผนบริหารจัดการน้ำ

ในทางกลับกัน ปวร เสนอว่า หากพื้นที่ริมฝายพญาคำสามารถเวนคืนได้ อาจกลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ เหมือนกับสวนสาธารณะและพื้นที่ให้น้ำท่วมได้ในฤดูฝนแต่กลับมาใช้ได้ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่หลายเมืองในยุโรปและญี่ปุ่นทำกันมานาน ลำเหมืองพญาคำซึ่งเชื่อมต่อแม่น้ำปิงกับแม่น้ำกวงยังมีศักยภาพสูงในการเป็นแกนกลางของระบบจัดการน้ำเมือง หากพัฒนาเป็นต้นแบบได้สำเร็จ ก็จะเป็นแบบอย่างสำคัญของภาคเหนือ

ท้ายที่สุด ปวร ไม่ได้เสนอเพียงข้อสังเกตเชิงเทคนิค แต่เสนอกรอบคิดที่ว่าการจัดการน้ำไม่ควรเป็นเรื่องของการควบคุมธรรมชาติอย่างแข็งกระด้าง แต่ต้องเป็นการออกแบบเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างมีระบบ เมืองต้องมี การวางแผนระยะยาว คิดเชิงพื้นที่ เชิงวัฒนธรรม และเชิงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยไม่ตัดตอนแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การรื้อฝายหรือขุดลอกเพียงจุดเดียว

“ศักยภาพของพื้นที่ตรงนี้สามารถทำอะไรได้อีกมาก ไม่ใช่แค่เป็นทางระบายน้ำเท่านั้น หากทำได้ เมืองของเราก็จะสามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ มากขึ้น” ปวร กล่าว

อยู่กับน้ำ ไม่ใช่หลบหนีน้ำ มุมมองต่อวิกฤตฝายและน้ำท่วมในเชียงใหม่

ในสายตาของ ทนวินท ปัญหาน้ำท่วมในเชียงใหม่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเดียว หรือโยนความผิดให้กับโครงสร้างใดโครงสร้างหนึ่ง เช่น ฝายพญาคำ หากแต่เป็นผลลัพธ์ของความเปลี่ยนแปลงที่ซ้อนทับกันหลายระดับ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การจัดการพื้นที่ใช้สอยที่ไม่ยั่งยืน และการออกแบบเมืองที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของพื้นที่ลุ่มน้ำ 

ฝนที่ตกหนักขึ้นจากภาวะโลกร้อนไม่ได้ตกในตัวเมืองเชียงใหม่โดยตรง แต่เกิดในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น เชียงดาวและแม่แตง ซึ่งเคยมีป่าไม้และดินที่สามารถซับน้ำได้เป็นจำนวนมาก เมื่อป่าถูกทำลายและดินสูญเสียความสามารถในการดูดซับ ความเร็วของกระแสน้ำที่ไหลลงสู่เมืองจึงเพิ่มสูงขึ้น น้ำฝนที่เคยซึมสู่ใต้ดินกลายเป็นน้ำผิวดินที่ไหลบ่ามายังพื้นที่เมืองอย่างรวดเร็ว ในเวลาเดียวกัน พื้นที่เกษตรที่เคยทำหน้าที่เป็นแอ่งชะลอน้ำก็ถูกแทนที่ด้วยหมู่บ้านจัดสรร ถนน และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เปิดโอกาสให้น้ำซึมลงใต้ดิน ส่งผลให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำปิงทันทีโดยไม่มีการชะลอ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น

ทนวินท วิจิตรพร

ทนวินท มองว่า ความเข้าใจเรื่อง “พื้นที่รับน้ำ” คือสิ่งที่เมืองเชียงใหม่กำลังขาดแคลนอย่างรุนแรง แม่น้ำปิงในเขตเมืองถูกบีบให้แคบลงจากโครงสร้างต่าง ๆ เช่น ฝาย ตอม่อ สะพาน และสิ่งปลูกสร้างริมตลิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ถูกวางโดยไม่มีแผนผังที่คิดถึงพลวัตของน้ำ นอกจากนี้ การพัฒนาเมืองในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เปิดพื้นที่ให้แม่น้ำได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ทั้งที่พื้นที่ลุ่มเชียงใหม่–ลำพูน มีประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนทิศทางน้ำและน้ำหลากมานับพันปี

ทนวินท ยืนยันว่า การออกแบบเมืองที่หวังจะ “เอาชนะ” น้ำ เป็นแนวทางที่ไม่ยั่งยืน และในหลายกรณีกลับสร้างปัญหาใหม่ให้กับเมือง เช่น การสร้างกำแพงกันน้ำขนาดใหญ่เพื่อป้องกันน้ำท่วม อาจดูเหมือนปลอดภัย แต่สุดท้ายกลับขวางทางน้ำ และทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงในจุดอื่น เขายกตัวอย่างเมืองสุโขทัย ที่สร้างกำแพงสูงริมแม่น้ำเพื่อรับมือน้ำหลาก แต่ก็ยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงน้ำท่วมได้ เพราะไม่ได้เข้าใจธรรมชาติของพื้นที่อย่างแท้จริง

ฝายไม่ใช่ศัตรู แต่คือบทเรียนการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

ในทางกลับกัน เขาเสนอว่า เมืองควรเรียนรู้จากประเทศที่เผชิญภัยธรรมชาติรุนแรง เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งไม่ได้กลัวแผ่นดินไหว แต่เลือกอยู่กับมันอย่างเข้าใจ มีการออกแบบโครงสร้างให้ยืดหยุ่น ซ้อมแผนรับมือและสร้างระบบเตือนภัย ในทำนองเดียวกัน เมืองเชียงใหม่ควรเริ่มออกแบบระบบที่ช่วยให้ผู้คนอยู่กับน้ำได้ ไม่ใช่พยายามหลีกเลี่ยงน้ำเสมอไป

สำหรับประเด็น “การรื้อฝาย” โดยเฉพาะฝายพญาคำ ทนวินท เห็นว่า นั่นไม่ใช่คำตอบที่เพียงพอ โดยมองว่าฝายไม่ใช่แค่โครงสร้างทางวิศวกรรม แต่คือ “มรดกทางวัฒนธรรม” และ “ระบบคิดแบบอยู่กับน้ำ” ของชุมชนในอดีต การรื้อฝายอาจช่วยระบายน้ำได้เพียงเล็กน้อย ไม่ถึงร้อยละ 5 – 10 ตามการประเมิน แต่สิ่งที่สูญเสียคือแนวคิด ความรู้และสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ 

แม้ฝายจะถูกถอดออก  น้ำก็ยังท่วมที่เดิมอยู่ดี หากไม่แก้ไขจุดคอขวดในระบบระบายน้ำ เช่น บริเวณสะพานภาค 5 ที่เป็นจุดวิกฤตของเมือง สิ่งที่เขาเสนอจึงไม่ใช่การรื้อถอนหรือคงไว้ แต่เป็นการเข้าใจปัญหาอย่างรอบด้านและวางแผนด้วยข้อมูลเชิงพื้นที่อย่างละเอียด จากนั้นจึงประเมินว่า ทางเลือกใดให้ผลดีหรือผลเสียในระยะยาว เช่น การขุดลอกแม่น้ำ การคืนพื้นที่ริมฝั่งหรือการใช้ลำเหมืองอื่นอย่างคลองแม่ข่า แม่คาว หรือแม่กวง เป็นเส้นทางเสริมในการระบายน้ำออกจากเมือง นอกจากนี้ ยังควรมีแผนรองรับสำหรับประชาชน ทั้งก่อน ระหว่างและหลังเกิดน้ำท่วม เพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมและไม่ตื่นตระหนกเมื่อวิกฤตมาถึง

ทนวินท ยังตั้งคำถามต่อระบบราชการและนโยบายรัฐ ที่ยังขาดกลไกเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืน ทำให้แผนงานไม่ต่อเนื่อง ไม่มีใครรับผิดชอบแผนในระยะยาว และได้มีการเสนอว่า เมืองควรมี ‘สมอง’ ของเมือง คือ หน่วยงานที่มีความรู้ ความเข้าใจในพื้นที่และสามารถบูรณาการด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่ ผังเมือง น้ำ กฎหมาย ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแผนระยะยาวอย่างเป็นระบบ ท้ายที่สุด ได้กลับมาที่คำสำคัญที่สะท้อนวิธีคิดทั้งหมด คือ “อย่ากลัวน้ำแต่จงอยู่กับน้ำ เพราะเชียงใหม่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงน้ำหลากได้อย่างสมบูรณ์ในภูมิประเทศที่เป็นแอ่งน้ำมาแต่โบราณ หนทางเดียวที่จะช่วยทำให้เมืองอยู่รอดได้ในอนาคต คือการเข้าใจธรรมชาติและออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับความจริงนั้น ไม่ใช่พยายามฝืนมันด้วยโครงการที่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า” ทนวินท กล่าวปิดท้าย

ศรีนิธิรินทร์ ชื่นวณิช

นักศึกษาฝึกงาน Lanner จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. ผู้หลงรักซีรีส์วาย สนุกกับการถ่ายติ๊กต็อก และมีความฝันอยากเป็นไอดอลที่ได้เต้นบนเวที แต่ในช่วงเวลานี้ ขอเรียนจบให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง