801 ล้าน แก้ปัญหาฝุ่น – ไฟป่า 17 จังหวัดภาคเหนือปี 68 เชียงใหม่สูงสุด 210 ล้าน พิจิตรยังไม่มีงบ

เรื่องและภาพ : วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง

  • งบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่าภาคเหนือมีทั้งหมด 801 ล้านบาท แบ่งออกเป็นงบประมาณประจำปี 336 ล้านบาท และงบกลาง 464 ล้านบาท
  • จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุดในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ในปี 2568 โดยได้รับงบประมาณทั้งหมด 210 ล้านบาท จำแนกเป็น 1) งบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบคือกรมป่าไม้, กรมอุทยานฯ และ 2) งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบคือ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ 
  • จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักเกี่ยวกับฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 3 หน่วยงานคือ 1) กรมป่าไม้ 2) กรมอุทยานฯ และ 3) หน่วยงานของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (ระดับเทศบาลและ อบต.) ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก คือ หน่วยงานของกรมป่าไม้ และหน่วยงานของกรมอุทยานฯ
  • จังหวัดลำปางได้รับจัดสรรงบประมาณ 139 ล้านบาท โดยงบประมาณกว่า 71 ล้านบาท (คิดเป็น 56% ของงบประมาณทั้งหมด) ถูกนำไปใช้ในการก่อสร้างระบบน้ำ เพื่อสนับสนุนภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่ดอยพระบาทและอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต
  • จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดเดียวในภาคเหนือที่ยังไม่ได้รับงบประมาณในการจัดการฝุ่น – ไฟป่า

ปลายลมหนาวเข้าต้นหน้าร้อน ปรากฏการณ์ที่สังคมให้ความสนใจนอกจากอากาศที่ลดลง ก็คือปัญหาฝุ่น PM 2.5 และปัญหาไฟป่า ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยการเกิดฝุ่น แม้สถานการณ์ฝุ่นทั่วประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว แต่ว่าหรับคนภาคเหนือ ช่วงเวลานี้ยังคงเป็นช่วงเริ่มต้นของทั้ง ‘ฤดูฝุ่น’ และ “ฤดูไฟ”  

ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ถือเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่แต่ละคนภาคเหนือจะต้องเตรียมตัวในการเผชิญหน้ากับฝุ่นและไฟป่า โดยปัญหาดังกล่าวไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นปัญหาที่คนเหนือต้องเผชิญมานานนับทศวรรษ และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มิหนำซ้ำปัญหาดังกล่าวก็ยังคงไม่มีวี่แววว่าจะคลี่คลายลงได้ ยังคงมีผู้คนในภาคเหนืออีกมากที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากทั้งฝุ่นและไฟป่า 

การแก้ไขปัญหาตามมาด้วยใช้งบประมาณในการจัดการ โดยงบประมาณในแต่ละปีมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ฝุ่น – ไฟป่าในปีนั้น ๆ Lanner ชวนสำรวจงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ใน 17 จังหวัดภาคเหนือประจำปี 2568 ว่ามีเท่าไหร่ แต่ละจังหวัดได้รับงบประมาณเท่าใด และถูกใช้ไปกับอะไรบ้าง?

งบประมาณทั้งหมดที่ใช้ใน ‘17 จังหวัดภาคเหนือ’ มาจากหน่วยงานใดบ้าง?

ในส่วนของการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งหมด 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ‘งบประมาณประจำปี’ อันเป็นงบประมาณที่เบิกจ่ายตามแผนงบประจำปีของแต่ละหน่วยงาน 2) ‘งบประมาณกลาง’ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยในปี 2568 นี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้งบประมาณแก้ปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ให้แก่ 1) กรมป่าไม้และกรมอุทยานฯ ผ่านกระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติ และ 2) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ผ่านกระทรวงมหาดไทย รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 801,751,370 บาท

ในส่วนของงบประมาณประจำปี ของ ‘กระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติ’ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการจัดการฝุ่น – ไฟป่าใน 17 จังหวัดภาคเหนือมีทั้งหมด 310,943,800 บาท โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรน้ำ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด

งบประมาณประจำปี ของ ‘กระทรวงมหาดไทย’ ที่เกี่ยวข้องกับมาตรการจัดการฝุ่น – ไฟป่าถูกจัดสรรมาให้ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ ผ่านไปองค์การปกครองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ (ระดับเทศบาลและ อบต.) ที่ได้รับโอนถ่ายภารกิจการจัดการไฟป่าจำนวน 19 แห่ง (อบต. และเทศบาลตำบล) ทั้งสิ้น 24,821,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณของ ‘สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง’ (องค์การมหาชนสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) อีกกว่า 1,095,100 บาท ที่ใช้สำหรับการจัดหาครุภัณฑ์สนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในพื้นที่พัฒนาของโครงการหลวงของจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ตาก, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน และพะเยา

ในส่วนของ ‘งบประมาณกลาง’ จากจำนวนทั้งหมด 684,537,260 บาท งบประมาณกว่า 64% หรือ 464,891,470 บาท ถูกจัดสรรมาเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น – ไฟป่าใน 17 จังหวัดภาคเหนือ แบ่งออกเป็นงบของกระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติที่จัดสรรให้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ 401 ล้านบาท และงบของกระทรวงมหาดไทยที่จัดสรรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่อีก 63 ล้านบาท

งบประมาณที่ถูกจัดสรรนำไปใช้กับอะไรบ้าง?

งบประมาณในการจัดการฝุ่น – ไฟป่า 801 ล้าน ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ หากจำแนกงบประมาณออกเป็นค่าใช้จ่ายรายจังหวัดสามารถจำแนกได้ทั้งหมด 754,782,830 บาท โดยมีงบฯ ส่วนที่ไม่สามารถจำแนกเป็นรายจังหวัดอีก 46,968,540 บาท เป็นผลจาก 2 สาเหตุ คือ 1) เป็นงบประมาณที่ถูกเบิกไว้ใช้ในสำนักงาน เช่น ในส่วนของกรมป่าไม้ 27,123,440 บาท ที่เป็นรายจ่ายประจำของแต่ละสำนักงานในภาคเหนือ โดยแต่ละสำนักมีพื้นที่ดูแลมากกว่าจังหวัดเดียว และ 2) เป็นงบประมาณที่ไว้ใช้ในภูมิภาคโดยไม่ระบุจังหวัด ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการรณรงค์ลดหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ ของกรมควบคุมมลพิษ 4,750,000 บาท ค่าใช้จ่ายในโครงการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 17 จังหวัดภาคเหนือ ของสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด 14,000,000 บาท และงบประมาณจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงอีก 1,095,100 บาท

หากจำแนกรูปแบบการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาฝุ่น – ไฟป่าของแต่ละจังหวัด สามารถจำแนกได้ดังนี้ 

1) ค่าจ้าง 202,977,700 บาท สำหรับจ่ายค่าจ้างเจ้าหน้าที่ประจำ, ค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่, ค่าจ้างอาสาเฝ้าระวังไฟ 1,113 จุด จุดละ 3 คน และบุคลากรดับไฟป่าเพิ่มเติม 800 นาย 

2) ค่าอุปกรณ์ 194,482,810 บาท สำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า ครุภัณฑ์ในสำนักงาน และค่าสาธารูปโภค 

3) ค่าสิ่งก่อสร้าง 96,007,400 บาท สำหรับการก่อสร้างศูนย์บัญชาการควบคุมไฟป่า, สร้างศูนย์ฝึกอบรมไฟป่า, สร้างศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่า, สร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ และสร้างระบบน้ำเพื่อสนับสนุนภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่ดอยพระบาท อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต 

4) ทำแนวกันไฟ 41,701,400 บาท สำหรับจัดทำแนวกันไฟทั้งหมดใน 17 จังหวัดภาคเหนือ 

5) งบรายจ่ายอื่น 219,613,520 บาท โดยเป็นงบฯ ที่รอการจัดสรรในกิจกรรมตามลักษณะข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงเพื่อใช้ในกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟป่า เช่น กิจกรรมจัดฝึกอบรมอาสาสมัครท้องถิ่นควบคุมไฟป่า, การประสานงานและการติดตามผลดำเนินงานของชุดดับไฟป่า

แต่ละจังหวัดได้งบประมาณจัดการฝุ่น – ไฟป่า เท่าไหร่?

เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่ามากสุดในภาคเหนือ รวมแล้วได้รับจัดสรรงบประมาณทั้งหมด 210,050,600 บาท โดยเป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ 

นอกจากนั้น ยังมีงบฯ จากกระทรวงมหาดไทยที่จัดสรรให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อผ่านงบฯ เหล่านี้ไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่อีกทอดหนึ่ง 

งบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ของจังหวัดเชียงใหมจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 71,373,400 บาท และ งบประมาณกลาง 138,677,200 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 39,357,400 บาท (18.7%) ค่าอุปกรณ์ 48,400,910 บาท (23.1%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 6,573,700 บาท (3.1%) ทำแนวกันไฟ 5,590,000 บาท (2.7%) และงบรายจ่ายอื่น 110,088,590 บาท (52.3%)

ลำปาง ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 139,648,370 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้, กรมอุทยานฯ และกรมทรัพยากรน้ำ โดยงบทั้งหมดที่จังหวัดลำปางได้รับ จำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 95,142,300 บาท และ งบประมาณกลาง 44,506,070 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 18,366,000 บาท (13.1%) ค่าอุปกรณ์ 19,945,480 บาท (14.2%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 79,188,800 บาท (56.7%) ทำแนวกันไฟ 4,192,500 บาท (3.0%) และงบรายจ่ายอื่น 17,955,590 บาท (12.8%)

อย่างไรก็ตามงบประมาณแก้ปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ในส่วนที่จัดสรรเป็นค่าสิ่งก่อสร้างกว่า 71,027,900 บาท หรือกว่า 89.6% ของงบฯค่าสิ่งก่อสร้างทั้งหมด  กลับถูกนำไปใช้เพื่อก่อสร้างระบบน้ำ เพื่อสนับสนุนภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่ดอยพระบาทและอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต

เชียงราย ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 69,596,410 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดเชียงรายได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 16,025,400 บาท และ งบประมาณกลาง 53,571,010 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 32,568,000 บาท (46.8%) ค่าอุปกรณ์ 20,989,200 บาท (30.2%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 312,600 บาท (0.4%) ทำแนวกันไฟ 4,472,000 บาท (6.4%) และงบรายจ่ายอื่น 11,254,610 บาท (16.2%)

แม่ฮ่องสอน ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 63,123,730 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 12,015,600 บาท และ งบประมาณกลาง 51,108,130 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 16,386,000 บาท (26.0%) ค่าอุปกรณ์ 20,496,020 บาท (32.5%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 729,400 บาท (1.2%) ทำแนวกันไฟ 2,906,800 บาท (4.6%) และงบรายจ่ายอื่น 22,605,510 บาท (35.8%)

ตาก ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 56,516,110 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดตากได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 25,283,600 บาท และ งบประมาณกลาง 31,232,510 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 13,950,000 บาท (24.7%) ค่าอุปกรณ์ 14,064,320 บาท (24.9%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 8,681,900 บาท (15.4%) ทำแนวกันไฟ 4,192,500 บาท (7.4%) และงบรายจ่ายอื่น 15,627,390 บาท (27.7%)

แพร่ ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 49,123,070 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดแพร่ได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 12,167,000 บาท และ งบประมาณกลาง 36,956,070 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 8,849,700 บาท (18.0%) ค่าอุปกรณ์ 25,014,080 บาท (50.9%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 416,800 บาท (0.8%) ทำแนวกันไฟ 4,192,500 บาท (8.5%) และงบรายจ่ายอื่น 10,649,900 บาท (21.7%)

พิษณุโลก ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 47,504,080 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดพิษณุโลกได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 12,267,700 บาท และ งบประมาณกลาง 35,236,380 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 30,192,000 บาท (63.6%) ค่าอุปกรณ์ 14,850,280 บาท (31.3%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 2,124,200 บาท (4.5%) ทำแนวกันไฟ 2,124,200 บาท (4.5%) และงบรายจ่ายอื่น 233,400 บาท (0.6%)

นครสวรรค์ ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 29,186,120 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดนครสวรรค์ได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 2,958,200 บาท และ งบประมาณกลาง 26,227,920 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 5,172,000 บาท (17.7%) ค่าอุปกรณ์ 23,539,920 บาท (80.7%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ 447,200 บาท (1.5%) และงบรายจ่ายอื่น 27,000 บาท (0.1%)

อุทัยธานี ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 20,469,620 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดอุทัยธานีได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 15,407,100 บาท และ งบประมาณกลาง 5,062,520 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 13,230,000 บาท (64.6%) ค่าอุปกรณ์ 1,184,200 บาท (5.8%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ 950,300 บาท (4.6%) และงบรายจ่ายอื่น 5,105,120 บาท (24.9%)

น่าน ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 16,599,670 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดน่านได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 7,998,500 บาท และ งบประมาณกลาง 8,601,170 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 3,246,000 บาท (19.6%) ค่าอุปกรณ์ 202,600 บาท (1.2%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ 4,472,000 บาท (26.9%) และงบรายจ่ายอื่น 8,679,070 บาท (52.3%)

อุตรดิตถ์ ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 15,661,140 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 5,441,200 บาท และ งบประมาณกลาง 10,219,940 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 3,384,000 บาท (21.6%) ค่าอุปกรณ์ 200,000 บาท (1.3%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ 1,788,800 บาท (11.4%) และงบรายจ่ายอื่น 10,288,340 บาท (65.7%)

ลำพูน ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 9,944,820 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดลำพูนได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 8,658,200 บาท และ งบประมาณกลาง 1,286,620 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 6,978,000 บาท (70.2%) ค่าอุปกรณ์ 402,600 บาท (4.0%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ 1,118,000 บาท (11.2%) และงบรายจ่ายอื่น 1,446,220 บาท (14.5%)

สุโขทัย ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 9,941,470 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดสุโขทัยได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 5,116,200 บาท และ งบประมาณกลาง 4,825,270 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 3,870,000 บาท (38.9%) ค่าอุปกรณ์ 240,000 บาท (2.4%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ 1,006,200 บาท (10.1%) และงบรายจ่ายอื่น 4,825,270 บาท (48.5%)

เพชรบูรณ์ ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 7,572,920 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 6,855,700 บาท และ งบประมาณกลาง 717,220 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 282,600 บาท (3.7%) ค่าอุปกรณ์ 4,428,000 บาท (58.5%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ  2,124,200 บาท (28.0%) และงบรายจ่ายอื่น 738,120 บาท (9.7%)

กำแพงเพชร ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 5,087,900 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดกำแพงได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 5,087,900 บาท และ งบประมาณกลาง 0 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 3,822,000 บาท (75.1%) ค่าอุปกรณ์ 242,600 บาท (4.8%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ 1,006,200 บาท (19.8%) และงบรายจ่ายอื่น 17,100 บาท (0.3%)

พะเยา ได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 4,756,800 บาท เป็นงบประมาณของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ งบทั้งหมดที่จังหวัดพะเยาได้รับจำแนกเป็นงบประมาณประจำปี 4,756,800 บาท และ งบประมาณกลาง 0 บาท จำแนกตามค่าใช้จ่ายออกเป็น ค่าจ้าง 3,324,000 บาท (69.9%) ค่าอุปกรณ์ 242,600 บาท (5.1%) ค่าสิ่งก่อสร้าง 0 บาท (0%) ทำแนวกันไฟ 1,118,000 บาท (23.5%) และงบรายจ่ายอื่น 72,200 บาท (1.5%)

พิจิตร เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่ได้รับงบประมาณในการจัดการฝุ่น – ไฟป่า

งบประมาณแก้ปัญหาฝุ่น – ไฟป่า: ใช้ซ้ำใช้ซ้อน แต่ปัญหายังเหมือนเดิม

เมื่อพิจารณางบประมาณทั้งสองส่วน ได้แก่ งบประมาณประจำปี และงบประมาณกลาง จะพบว่างบประมาณกลางมีสัดส่วนสูงกว่างบประมาณประจำปี โดยคิดเป็น 57.9% ของงบประมาณรวม 801 ล้านบาท ที่ใช้ในการแก้ปัญหาฝุ่น – ไฟป่าใน 17 จังหวัดภาคเหนือ 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่การจัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาฝุ่น – ไฟป่าภาคเหนือมีลักษณะเช่นนี้ หากย้อนกลับไปในปี 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเคยยื่นของบกลาง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งในปีดังกล่าว คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 272 ล้านบาท โดยหากเปรียบเทียบงบประมาณกลางระหว่างปี 2567 และ 2568 พบว่า ในปี 2568 มีการจัดสรรงบประมาณกลางเพิ่มขึ้น 348 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1.28 เท่าจากงบประมาณกลางที่ได้รับการจัดสรรเมื่อปี 2567

ในขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณของแต่ละหน่วยงานมีลักษณะใกล้เคียงกัน จากข้อมูลพบว่า ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น – ไฟป่า ทั้งหมด 8 หน่วยงาน แต่การใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานเหล่านี้กลับมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน อาทิ ค่าจ้าง ที่ใช้สำหรับจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ ค่าจ้างอาสาสมัคร ค่าจ้างชุดดับไฟป่า ค่าอุปกรณ์ ที่ใช้สำหรับซื้อไม้ตบดับไฟ ถังฉีดน้ำ ครอบไฟป่า เครื่องเป่าลม รวมไปถึงซื้อครุภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวซื้อใหม่ในทุกปีงบประมาณ และในส่วนงบประมาณรายจ่ายอื่นที่ใช้ในการจัดอบรมอาสาสมัครดับไฟป่า, ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน, การติดตามผลในภารกิจดับไฟป่า

จากกรณีศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาฝุ่น – ไฟป่า 3 หน่วยงาน คือ 1) กรมป่าไม้ 2) กรมอุทยานฯ และ 3) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทั้ง 3 หน่วยงานต่างได้รับงบประมาณในการจัดการปัญหาฝุ่น – ไฟป่า 

หากพิจารณาจากโครงการต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับภารกิจดับไฟป่า จะพบว่า การใช้งบประมาณของกรมป่าไม้ในส่วนกลาง 620 ล้านบาท มีบางกิจกรรมหรือบางโครงการที่สนับสนุนการควบคุมไฟป่าขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 

ในขณะเดียวกัน งบประมาณกลาง 63 ล้านบาท ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นขอคณะรัฐมนตรีผ่านกระทรวงมหาดไทย เป็นงบประมาณที่ถูกนำมาจัดสรรเพื่อสนับสนุนภารกิจดับไฟป่าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่เช่นกัน ซึ่งการใช้จ่ายงบประมาณของทั้ง 3 หน่วยงานกลับมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมาก กล่าวคือ งบประมาณของทั้ง 3 หน่วยงานถูกนำไปใช้สำหรับการจัดซื้อชุดดับไฟป่า เบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร จัดซื้ออุปกรณ์ไว้ใช้สำหรับภารกิจดับไฟป่า รวมถึงการจัดอบรมและประชาสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ปัญหาฝุ่น – ไฟป่าในภาคเหนือถือเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในช่วงปลายปีจนถึงต้นปี ซึ่งแผนการในการรับมือปัญหาดังกล่าวรวมไปถึงการจัดสรรงบประมาณเป็นสิ่งที่รัฐสามารถประเมินล่วงหน้าได้ แต่กลับกลายเป็นว่าปัญหาดังกล่าวยังคงไม่มีวี่แววจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น นำมาสู่คำถามต่อมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเท่าไหร่

ที่มา

  • ส่วนจัดการงบประมาณ, สำนักแผนฯ
  • กรมอุทยานฯส่วนการคลัง, สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์
  • ส่วนการคลัง, กรมป่าไม้
  • สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่
  • สำนักทรัพยากรน้ำที่ 1
วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง

อดีตนักศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง ผู้ชื่นชอบในการเดินป่า ปรัชญาและดนตรีสากล พบเจอได้ตามร้านขายเครื่องดื่ม ทุกเทศกาลและวันหยุดนักขัตฤกษ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง