เรื่อง: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง
สถานการณ์สารปนเปื้อนในแม่น้ำกก กลายเป็นประเด็นมาแล้วกว่า 4 เดือน แม้จะมีความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่ดูเหมือนปัญหานี้จะยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ผลกระทบยังคงยืดเยื้อต่อไป จนเริ่มเห็นได้ชัดขึ้น ทั้งต่อระบบนิเวศ ประมงพื้นบ้าน การเกษตร และสุขภาพของคนริมน้ำ จนแล้วจนรอดแนวทางแก้ไขปัญหากลับยังสะดุดอยู่กับ ข้อจำกัดด้านกฎหมายและความร่วมมือระหว่างประเทศ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายที่ต้องการเห็นภาครัฐลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
สิทธิรับรู้ข้อมูลที่ขาดหาย จุดเริ่มต้นของความไม่ไว้วางใจ
“เราเห็นวิธีการจัดการของราชการที่ไม่น่าเชื่อถือมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว” เป็นถ้อยคำสะท้อนความรู้สึกของ นายโป๊ะ ชายวัย 36 ปี พ่อค้าชาวจังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์กับ Lanner โดยตั้งคำถามต่อความโปร่งใสของกระบวนการตรวจสอบจากภาครัฐ เขาชี้ว่า การแถลงข่าวเพียงฝ่ายเดียวจากรัฐ ไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเฉพาะปัญหาระดับร้ายแรงอย่างสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตคนในพื้นที่
“ต่อให้ท่านมีเครื่องมือวัดที่ดีเลิศแค่ไหน ประชาชนขาด trust อยู่ดี ต่อให้ท่านแถลงข่าวทุกวัน ประชาชนก็ตั้งคำถามอยู่ดี ต่อให้ท่านเรียกนักข่าวไป ‘ตำหนิ’ พวกเขาก็เงียบและรอท่านย้ายตำแหน่ง…ไม่ช้าก็เร็ว…”
ในมุมของนักวิชาการ สืบสกุล กิจนุกร ก็สะท้อนปัญหานี้โดยชี้ให้เห็นว่า ต้นตอของความไม่เชื่อมั่นต่อภาครัฐ ไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือวัดหรือเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างและวัฒนธรรมระบบราชการไทย ที่ยังยึดแนวคิด ‘อำนาจรวมศูนย์เชิงพื้นที่’ (Spatial Command and Control) ที่ขาดความโปร่งใส และไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 2 ประการ คือ หนึ่ง ต้องเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ไม่ปล่อยให้เป็นอำนาจผูกขาดของรัฐเพียงฝ่ายเดียว และสอง ต้องมีระบบเปิดเผยข้อมูลผลการตรวจสอบให้ประชาชนเข้าถึงได้จริง
ข้อเสนอเหล่านี้สะท้อนจุดอ่อนสำคัญของการทำงานภาครัฐ นั่นคือการที่ประชาชนยังรู้สึกว่าขาด ‘สิทธิในการรับรู้ข้อมูล’ (Right to Know) ที่แม้ในช่วงหลัง รัฐจะเริ่มเปิดเผยข้อมูลบางส่วนมากขึ้น แต่สำหรับประชาชนจำนวนไม่น้อย ความไม่ไว้วางใจต่อข้อมูลจากรัฐยังคงมีอยู่ และจะยังคงมีอยู่ ตราบใดที่กระบวนการตรวจสอบและการเปิดเผยข้อมูลยังไม่โปร่งใส และขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง
อริศรา เหล็กคำ อาจารย์ประจำสำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง อธิบายว่า ปัญหานี้ไม่ได้เกิดจากการปิดกั้นข้อมูลโดยสิ้นเชิง แต่เกิดจากโครงสร้างของกระบวนการที่ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้นทาง
“ตอนนี้รัฐเริ่มเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นก็จริง แต่ประชาชนเองก็เก็บข้อมูลของตัวเองคู่ขนานไปด้วย เพราะข้อมูลจากรัฐอย่างเดียว ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่น”
อริศราระบุว่า สิ่งที่ยังคงขาดหายไปในกระบวนการกระจายข้อมูลของรัฐ คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมออกแบบวิธีเก็บข้อมูล หรือการเปิดให้มีการสังเกตการณ์ควบคู่กับหน่วยงานรัฐ ทำให้ประชาชนยังคงเคลือบแคลงใจต่อข้อมูลอยู่ แม้รัฐจะพยายามเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นแล้วก็ตาม
ความคลุมเครือเรื่องข้อมูลส่งผลโดยตรงต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกรณีการปนเปื้อนสารในน้ำและตะกอน ซึ่งปัจจุบันยังไม่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าการปนเปื้อนในแม่น้ำเป็นผลจากกิจกรรมเหมืองแร่ที่ต้นน้ำเพียงอย่างเดียว หรือเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม และกิจกรรมอื่นๆ ด้วยหรือไม่ ซึ่งจำเป็นมากในทางระหว่างประเทศในการเรียกร้องให้เกิดความรับผิดชอบ อริศรามองว่า สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์นี้ คือ กระบวนการเก็บข้อมูลและเปิดเผยข้อมูลที่ระบุได้ว่าปัจจุบันมีสารเคมีอะไรบ้างที่เกินกว่าค่ามาตรฐานทั้งในแม่น้ำ ตะกอนดิน พืช สัตว์น้ำ แม้กระทั่งผลเลือดของประชาชนที่ใช้น้ำ พร้อมการสื่อสารไปยังประชาชนที่ได้รับผลกระทบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมถึงการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนต่อไป
แรร์เอิร์ธ เหมืองต้นน้ำ และความเงียบของรัฐไทย
ปัจจัยสำคัญในปัญหานี้ คือ ความเชื่อมโยงกับกิจกรรมเหมืองแร่ของฝั่งเมียนมา โดยเฉพาะแหล่งแร่แรร์เอิร์ธ (Rare-Earth Element) หรือแร่ธาตุ 17 ชนิดในกลุ่มแลนทาไนด์ (Lanthanide) ซึ่งยังคงเป็นที่ต้องการสูงในตลาดโลก เพราะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป
ประเทศจีนถือเป็นผู้ควบคุมตลาดแร่แรร์เอิร์ธของโลกถึง 85-90% โดยเฉพาะกระบวนการแปรรูป แม้จีนจะสั่งปิดเหมืองภายในประเทศไปหลายแห่งตั้งแต่ปี 2559 เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความต้องการแร่ยังคงเพิ่มขึ้น ทำให้จีนต้องหาวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะรัฐคะฉิ่นและรัฐฉานของเมียนมา ที่มีการทำเหมืองแร่เหล่านี้เนืองแน่น
รายงานของ Global Witness ปี 2565 เปิดเผยว่า มีคนจีนหลายพันคนข้ามพรมแดนไปตั้งเหมืองในเมียนมา พร้อมนำเงินทุนและเทคโนโลยีไปด้วย แล้วส่งวัตถุดิบกลับจีนอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 มีชาวจีนอพยพจากเมืองกานโจวไปเมียนมาถึง 16,000 คน สะท้อนว่า แม้จีนจะลดการผลิตในประเทศตัวเอง แต่ยังคงควบคุมห่วงโซ่อุปทานของแร่แรร์เอิร์ธทั่วโลก
ข้อมูลล่าสุดจาก มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) ระบุว่า เหมืองแร่ทองคำและแร่แรร์เอิร์ธในรัฐฉาน ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริเวณเมืองยอน เขตเมืองสาด ที่อยู่ห่างจากอำเภอแม่อายเพียง 25 กิโลเมตร นอกจากนี้ เหมืองแร่แรร์เอิร์ธในพื้นที่เมืองป้อก ซึ่งเป็นเขตควบคุมของกองทัพว้า (UWSA) เพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าในรอบ 10 ปี โดยเหมืองเหล่านี้ใช้วิธี ‘ละลายแร่’ (In-situ Leaching) ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อีกทั้งยังมีเหมืองจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลทหารเมียนมา (SAC) แต่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างกองทัพว้าและกลุ่มทุนจีน
อริศรามองว่า สิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่เพียงการขยายตัวของเหมืองต้นน้ำเท่านั้น ข้อเท็จจริงอีกด้านที่ซับซ้อนและยังเป็นอุปสรรคสำคัญ คือท่าทีของหน่วยงานรัฐของไทยที่ยังไม่กล้าระบุชัดเจนว่า สาเหตุของสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำมาจากกิจกรรมเหมืองแร่ต้นน้ำฝั่งเมียนมา แม้จะมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากสื่อต่างๆ หรือแม้กระทั่งการยอมรับจากฝั่งเมียนมาในบางส่วนแล้วก็ตาม ดังนั้น รัฐต้องเก็บหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ได้ว่าแหล่งที่มาของการการปนเปื้อนที่เกินกว่าค่ามาตรฐานนั้นมาจากสาเหตุใด
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการดำเนินมาตรการในหลายระดับ ทั้งการเฝ้าระวัง ตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบ น้ำประปา ตะกอนดิน สัตว์น้ำ รวมถึงการสำรวจระดับสารพิษในร่างกายประชาชนอย่างต่อเนื่อง การแจ้งเตือนประชาชน การติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อตรวจสอบความขุ่นของน้ำ การตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ไปจนถึงมาตรการเชิงรุก เช่น การขุดหลุมดักตะกอน การศึกษาการสร้างฝายหรือแก้มลิง รวมถึงการเตรียมแหล่งน้ำดิบและน้ำสะอาดสำรองไว้รองรับสถานการณ์
ขณะเดียวกันยังใช้กลไกความร่วมมือระดับภูมิภาค อย่างการเจรจากับเมียนมาโดยตรง พร้อมกับใช้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (LMC) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ทว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏผลลัพธ์ที่ชัดเจนหรือสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้เลย
ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากทุกฝ่าย คำถามสำคัญจึงย้อนกลับมาที่ว่า อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้กลไกของรัฐไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และเพราะเหตุใดปัญหานี้จึงยังคงไร้ทางออกที่เป็นรูปธรรม?
รวมกลไกระหว่างประเทศที่ภาคประชาชนเสนอ 3 มิถุนายน 2568 สืบสกุล กิจนุกร เสนอให้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างประเทศ เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำร่วมกัน และพัฒนาศักยภาพบุคลากรของไทยในการตรวจสอบและวิเคราะห์น้ำโดยตรง และเสนอให้ใช้กลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) หรือ กลไกความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) เพื่อแก้ปัญหา 5 มิถุนายน 2568 เครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือถึงนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร และผู้นำจีน-เมียนมา-กองทัพว้า ผ่านผู้ว่าฯ เชียงราย เรียกร้องให้ ใช้อำนาจทุกช่องทางยุติเหมืองแร่ผิดกฎหมายในรัฐฉาน เร่งฟื้นฟูลุ่มน้ำกก สาย รวก โขง และระบบเศรษฐกิจ-สังคมในพื้นที่ ยกระดับปัญหานี้เป็นภัยความมั่นคงของประเทศ อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภาและประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ตั้งคำถามว่า เหตุใดไทยจึงไม่ใช้กลไกอาเซียน หรืออาศัยความสัมพันธ์กับจีน เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เมียนมา เสนอให้รัฐเจรจากับกองทัพว้าโดยตรง แม้จะไม่ใช่รัฐที่ได้รับการยอมรับตามกฎหมายระหว่างประเทศ 10 มิถุนายน 2568 ชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโดยใช้ กลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ที่ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ร่วมลงนามในสนธิสัญญา |
LMC และ MRC กลไกแก้มลพิษข้ามพรมแดนที่ยังไร้ผลชัดเจน
กรอบความร่วมมือล้านช้าง–แม่โขง (Lancang–Mekong Cooperation: LMC) เป็นกลไกที่ภาคประชาชนและนักวิชาการ ต่างเสนอให้ใช้ในการเจรจาระหว่างประเทศ เนื่องจากเป็นกรอบความร่วมมือที่มีสมาชิกทั้ง 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เข้าร่วมครบถ้วน โดยกลไกนี้จะเน้นความร่วมมือด้านน้ำเป็นหนึ่งในประเด็นหลัก และที่ผ่านมา ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างก็เคยใช้เวที LMC เรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนของจีนในช่วงที่แม่น้ำโขงแห้งผิดปกติ ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 2020 จีนได้เปิดเผยข้อมูลอุทศาสตร์ตลอดทั้งปีให้กับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือ
อีกกลไกที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงคือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งเป็นกลไกหลักที่ 4 ประเทศตอนล่างของลุ่มน้ำโขง คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ใช้ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการจัดการและพัฒนาแหล่งน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภูมิภาค
หน้าที่หลักของ MRC คือ การประสานความร่วมมือระหว่างรัฐสมาชิกในการบริหารน้ำในแม่น้ำโขง ที่เรามักจะเห็นบ่อยในการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม การติดตามและวัดระดับน้ำร่วมกัน รวมถึงการปรึกษาหารือล่วงหน้าก่อนการใช้น้ำ เช่น การสร้างเขื่อนไซยะบุรีของลาว หรือเขื่อนปากแบงที่อยู่ระหว่างการเตรียมการ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนและประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสามารถแสดงความคิดเห็นหรือเสนอข้อกังวลร่วมกันได้ผ่านช่องทางของ MRC แต่ปัญหาสำคัญของกลไก MRC คือ จีนและเมียนมายังไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ จึงเป็นกลไกที่นำมาใช้แก้ปัญหาจริงได้ยาก
ในมุมมองของอริศรา การแก้ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ยังคงเต็มไปด้วยข้อจำกัด แม้ไทยจะพยายามเจรจากับเมียนมา ทั้งในระดับท้องถิ่น เช่น เจรจาผ่านคณะกรรมการชายแดนแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน
“สิ่งที่ไทยต้องเร่งทำ คือ ผลักดันให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำร่วมกันภายใต้กรอบ LMC ใช้เวทีนี้เป็นช่องทางสื่อสาร ทั้งทางการและไม่เป็นทางการกับจีน-เมียนมา รัฐควรดึงจีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะมีข้อสันนิษฐานว่านักลงทุนจีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหมืองในฝั่งเมียนมา การแก้ปัญหาน้ำปนเปื้อนในลุ่มน้ำโขงจึงไม่ใช่แค่เรื่องของสองประเทศ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาคอย่างจริงจังและต่อเนื่อง”
กลไก NAP หลักการที่ถูกรับมาใช้จริงแค่บนกระดาษ
อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภาและประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ เคยตั้งคำถามว่า ไทยเป็นชาติแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติ (UNGPs) แต่รัฐบาลกลับแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่มีการเจรจาอย่างจริงจังกับรัฐบาลจีนหรือกองทัพสหรัฐว้าที่ควบคุมพื้นที่ พร้อมยังตั้งคำถามอีกว่า เหตุใดไทยจึงไม่ใช้กลไกอาเซียน หรืออาศัยความสัมพันธ์กับจีน เพื่อผลักดันการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศนำหลักการของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือ UNGPs (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights) มาใช้ ผ่านการจัดทำ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) เพื่อรับมือกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในเชิงนโยบายของรัฐไทย
หลักการสำคัญของ UNGPs มี 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.หน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
2.ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการเคารพสิทธิมนุษยชน
3.การจัดให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เริ่มกระบวนการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ NAP ตั้งแต่ปี 2559 โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ และประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้แผนดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย
แผนปฏิบัติการฯ NAP ที่ประเทศไทยรับมาให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ แรงงาน, ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, นักปกป้องสิทธิมนุษยชน, , และการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ แต่ในทางปฏิบัติ หลักการเหล่านี้ยังไม่ถูกนำไปใช้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
อริศรามองว่าหนึ่งในปัญหาสำคัญของการใช้กลไก NAP เพื่อรับมือกับสถานการณ์สารปนเปื้อนในแม่น้ำกก คือ การขาดระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ในห่วงโซ่อุปทานของภาคธุรกิจ โดยเธอมองว่า หากไม่มีเครื่องมือหรือกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบและบังคับใช้ หลักการของ NAP ก็จะเป็นเพียงแค่นโยบายบนกระดาษ
“กรณีเหมืองแร่ในเมียนมา หากต้องการใช้ NAP มาเชื่อมโยง ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าแร่ที่มาจากเหมืองผิดกฎหมายถูกส่งไปที่ไหน และนำไปเป็นวัตถุดิบอะไร เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หรือโทรศัพท์มือถือของบริษัทไหน จากนั้นจึงกดดันให้ประเทศหรือบริษัทปลายทางตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบเหล่านั้น”
เธออธิบายเพิ่มว่า ข้อจำกัดของไทยอยู่ที่เขตอำนาจศาลในการรับฟ้องคดีที่มีจุดเกาะเกี่ยวในทางระหว่างประเทศ แม้จะมีช่องทางฟ้องร้องนักลงทุนไทยที่ไปละเมิดสิทธิในต่างประเทศผ่านศาลไทย แต่กระบวนการเหล่านี้กลับเต็มไปด้วยอุปสรรค ทั้งด้านค่าใช้จ่าย ความซับซ้อนทางกฎหมาย และการรวมตัวของผู้เสียหาย หากจะไปฟ้องร้องในประเทศเพื่อนบ้านหรือฟ้องบริษัทต่างชาติ ยิ่งเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นคดีแพ่งข้ามพรมแดนที่ต้องพิสูจน์ความเชื่อมโยงจำนวนมาก นอกจากนี้กรณีเหมืองแร่เกิดนอกราชอาณาจักรไทย และผู้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนเรายังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใครที่ชัดเจน
ด้วยเหตุนี้ บางฝ่ายจึงเสนอให้ใช้ กลไกของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice : ICJ) ในกรณีมลพิษข้ามพรมแดน เพราะตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐมีหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอื่น แต่ในทางปฏิบัติ การพิสูจน์ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดจากความล้มเหลวของรัฐ หรือเป็นผลโดยตรงจากกิจกรรมของรัฐ กลับทำได้ยาก คำพิพากษาศาลส่วนใหญ่ยอมรับเพียงว่ารัฐมีพันธกรณีที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐอื่น แต่เมื่อพิจารณาประเด็นการพิสูจน์ว่าความเสียหายนั้นเป็นการกระทำหรือละเว้นการกระทำในนามของรัฐหรือไม่ รัฐส่วนใหญ่ไม่สามารถนำหลักฐานมาพิสูจน์ได้เพียงพอที่จะชี้ชัดให้รัฐต้นทางต้องรับผิดชอบโดยตรง
อริศราจึงมองว่า ทางออกที่เป็นไปได้ในสถานการณ์เช่นนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-เมียนมา ที่มีทั้งนักวิชาการ ประชาชน และหน่วยงานรัฐจากทั้งสองประเทศเข้ามาร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่อาศัยเฉพาะกลไกเดิมของ MRC หรือ RBC เท่านั้น
“ประเทศไทยควรใช้เวทีอาเซียน แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกัน แต่ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถหยิบยกปัญหานี้ขึ้นพูด รวมถึงต้องผลักดันประเด็นนี้ในกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำล้านช้าง-แม่โขง ที่มีทั้งจีนและเมียนมาเข้าร่วม อีกทั้งต้องมีความพยายามเจรจาโดยตรงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง”
กล่าวโดยสรุปคือ หากประเทศไทยต้องการให้หลักการของ NAP ไม่เป็นเพียงคำประกาศ แต่ถูกนำไปปฏิบัติจริง จำเป็นต้องเดินทุกช่องทางควบคู่กัน ทั้งเวทีระดับภูมิภาค กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ และการเจรจาตรงกับประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน ต้องเร่งสร้างระบบตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย
‘สิทธิของแม่น้ำ’ เมื่อธรรมชาติควรมีเสียงในทางกฎหมาย
แนวคิดเรื่อง ‘สิทธิของแม่น้ำ’ (Rights of Nature) เป็นการพลิกกรอบความคิดทางกฎหมายและวัฒนธรรมครั้งสำคัญ จากการมองธรรมชาติเป็นเพียงทรัพยากร มาเป็นการยอมรับว่าแม่น้ำในฐานะองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศ ควรมีสถานะบุคคลทางกฎหมาย มีสิทธิที่จะไหลอย่างอิสระ ปราศจากมลพิษ และได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับมนุษย์ ความคิดนี้เริ่มถูกหยิบยกในหลายประเทศ แม้ยังไม่ฝังรากลึกในระบบกฎหมายของรัฐส่วนใหญ่ แต่กลับสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่สำคัญต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือกรณี แม่น้ำวังกานุย (Whanganui River) ประเทศนิวซีแลนด์ ที่ได้รับการรับรองสิทธิและสถานะบุคคลทางกฎหมาย โดยออกพระราชบัญญัติ Te Awa Tupua (Whanganui River Claims Settlement) Bill ค.ศ. 2017 และตั้งผู้ใช้สิทธิแทนแม่น้ำ (Te Pou Tupua) ดูแลรักษาและกระทำการแทนในนามแม่น้ำวังกานุย ซึ่งรวมถึงการมีสิทธิในการฟ้องร้องผู้กระทำกิจกรรมใดที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิแม่น้ำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแม่น้ำ นับเป็นครั้งแรกของโลกที่ออกกฎหมายให้แม่น้ำได้รับการยอมรับในลักษณะนี้ โดยมีรากฐานจากความเชื่อของชาวเมารีชนพื้นเมืองที่มองว่าแม่น้ำมีชีวิตและอยู่กับแม่น้ำสายนี้ด้วยจิตวิญญาณ
ในบางประเทศ เช่น อินเดีย ศาลประจำรัฐอุตตราขันธ์เคยพิจารณาให้แม่น้ำคงคาและยมุนามีสถานะบุคคลเช่นเดียวกัน แต่ต่อมาถูกศาลฎีกากลับคำวินิจฉัยในเวลาต่อมา เนื่องจากเกิดข้อถกเถียงทางกฎหมาย เช่น ความรับผิดชอบในกรณีน้ำท่วมหรือความเสียหายที่เกิดจากแม่น้ำ การไม่มีกรอบกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ทำให้แนวคิดนี้ยังไม่สามารถฝังตัวในเชิงปฏิบัติได้จริง
อริศราให้ความเห็นเรื่องสิทธิของแม่น้ำในกรณีนี้ว่า สำหรับแม่น้ำข้ามพรมแดนอย่างแม่น้ำโขงหรือแม่น้ำกก แม้ภาครัฐยังไม่ยอมรับแนวคิดสิทธิของแม่น้ำอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีภาคประชาชนที่เริ่มเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ เช่น กลุ่มรักษ์เชียงของที่เคยจัดเสวนาแลกเปลี่ยนกับผู้ใช้น้ำจากต่างประเทศที่รับรองสิทธิของแม่น้ำให้มีสถานะบุคคล รวมถึงการผลักดันให้แม่น้ำได้รับการคุ้มครองในฐานะสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่เพียงแหล่งน้ำที่รอการใช้ประโยชน์หรือจัดการเมื่อเกิดปัญหาเท่านั้น
นอกจากนี้ อริศรายังอธิบายว่า การยอมรับสิทธิของแม่น้ำ ยังเชื่อมโยงกับมิติทางเศรษฐศาสตร์ เช่น แนวคิดการจ่ายค่าตอบแทนระบบนิเวศ (Ecosystem Service Payment) ที่เสนอให้ผู้ได้รับประโยชน์จากแม่น้ำ สนับสนุนชุมชนต้นน้ำที่ดูแลรักษาทรัพยากร หากจะหยุดกิจกรรมทำเหมืองในฝั่งเมียนมาเพื่อลดปัญหาน้ำปนเปื้อน ก็ต้องมีทางเลือกหรือกลไกสนับสนุนรายได้ของชุมชน ไม่ใช่แค่สั่งให้หยุดแล้วจบ
“หากนำแนวคิดสิทธิของแม่น้ำมาใช้กับกรณีปัญหาน้ำปนเปื้อน จะมองได้ชัดขึ้นว่า แม่น้ำคือระบบที่จำเป็นต่อชีวิต และต้องได้รับการคุ้มครองจริงจัง ไม่ใช่แค่รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาจัดการ”
การผลักดันแนวคิดนี้ในบริบทของแม่น้ำกก จะช่วยเปลี่ยนมุมมองจากการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า มาเป็นการยอมรับว่าแม่น้ำคือระบบที่มีคุณค่าในตัวเอง ควรได้รับการปกป้องเชิงรุก ไม่ใช่เพียงรอจนเกิดวิกฤต แล้วจึงหาทางแก้ไข
ท่ามกลางความเปราะบางและไร้เสถียรภาพ บททดสอบครั้งใหญ่ของรัฐบาลไทย
เมื่อสถานการณ์มลพิษข้ามพรมแดนในแม่น้ำกกทวีความรุนแรงขึ้น แม้รัฐบาลไทยพยายามยกระดับการเจรจาไปสู่ระดับสูง (High-level Commission) โดยเฉพาะผ่านช่องทางของฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งสองประเทศร่วมกัน แต่ถึงอย่างนั้นความซับซ้อนที่ยากจะหลีกเลี่ยง คือ พื้นที่ต้นน้ำที่เป็นจุดกำเนิดของปัญหาอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังว้า (UWSA) ซึ่งไม่ได้ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเมียนมา ทำให้การเข้าไปตรวจสอบหรือเจรจาโดยตรงแทบเป็นไปไม่ได้ และยิ่งกว่านั้น ไทยเองก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ต้นน้ำได้ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองว่าแทรกแซงอธิปไตยของเมียนมา
ขณะเดียวกัน ภายในประเทศไทยเอง การรับมือกับปัญหานี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนและขาดเอกภาพของหน่วยงานรัฐ ปัญหาถูกโยนไปมาระหว่างหน่วยงานส่วนกลาง หน่วยงานส่วนภูมิภาค และกระทรวงต่างประเทศ จนถึงวันนี้ แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหามากถึง 35 ชุด แต่ก็ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรม ข้อถกเถียงยังคงวนเวียนอยู่ที่ระดับนโยบาย ในขณะที่ประชาชนยังต้องเผชิญกับผลกระทบโดยตรง
ท่ามกลางความล่าช้าของรัฐ ภาคประชาชนยังคงเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 เครือข่ายประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน นำโดย ETOs Watch และเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำกก สาย รวก โขง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) เพื่อให้เข้ามาแทรกแซงและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเรียกร้องให้มีการเก็บข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติ และผลักดันการเจรจาพหุภาคีเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
แม้ประชาชนจะพยายามเก็บข้อมูลและหลักฐานด้วยตัวเอง แต่ข้อจำกัดสำคัญ คือ ข้อมูลเหล่านั้นมักไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล ทั้งในแง่วิธีเก็บ การตรวจวิเคราะห์ และมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นเร่งด่วน คือ การตั้งมาตรฐานคุณภาพน้ำร่วมกันกับเมียนมา และระบบตรวจสอบร่วม แม้ไทยจะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ต้นน้ำได้โดยตรง แต่ยังสามารถผลักดันให้เมียนมาเปิดเผยข้อมูลและร่วมกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมได้ เช่นเดียวกับกรณีความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และแคนาดา ที่สามารถจัดการปัญหามลพิษข้ามพรมแดนได้อย่างต่อเนื่องและมีระบบ
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า กลไกของรัฐไทยในการแก้ไขปัญหายังเต็มไปด้วยช่องโหว่ ทั้งในเชิงโครงสร้าง อำนาจต่อรอง และเสถียรภาพภายใน ยิ่งเมื่อพิจารณาสถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจากกรณีคลิปเสียงสนทนากับสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยิ่งทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลไทยอยู่ในภาวะสั่นคลอนยิ่งกว่าเดิม
ทั้งนี้ สุรชัย ตรงงาม จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เสนอว่า หากหน่วยงานรัฐยังเพิกเฉยหรือไม่มีมาตรการที่ชัดเจน ประชาชนสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายในการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ฐานละเลยต่อหน้าที่และไม่ปกป้องสิทธิของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด
วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำกก จึงไม่ใช่เพียงบททดสอบด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพและความจริงใจของรัฐไทยในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ท่ามกลางความเปราะบางและไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
รายการอ้างอิง
- The101.world. (2567). แร่เปลี่ยนโลก : โอกาสหรือกับดักของประเทศกำลังพัฒนา. สืบค้นจาก https://www.the101.world/transition-minerals/
- The101.world. (2567). 101 One-on-One Brief: สฤษฎ์เกษม สุบงกช – การเมืองของแร่เปลี่ยนโลก. สืบค้นจาก https://www.the101.world/suebsakun-one-on-one-brief/
- The Reporters. (2568, 3 กรกฎาคม). กมธ.สว. จี้รัฐแก้ปัญหาสารปนเปื้อนแม่น้ำกก-สาย แนะเร่งเจรจาเพื่อนบ้าน [โพสต์บน Facebook]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/TheReportersTH/posts/1068369478818420/
- ETOs Watch Coalition เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน. (2568, 4 กรกฎาคม). [RECAP] สัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลกกับปมเขื่องปัญหามลพิษข้ามในแม่น้ำระหว่างประเทศ – วิกฤตมลพิษข้ามพรมแดนแม่น้ำกก-สาย-รวก-โขง: ประชาชนเรียกร้องการจัดการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและความร่วมมือระดับภูมิภาค [โพสต์บน Facebook]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1107073341459521&id=100064705955545
- ETOs Watch Coalition. (2568). จับมือเครือข่ายประชาชนปกป้องแม่น้ำกก-สาย-รวก-โขง ยื่นจดหมายถึง UN เรียกร้องความรับผิดชอบ [โพสต์บน Facebook]. สืบค้นจาก https://www.facebook.com/ETOWatchCoalition/posts/1126595326173989/
- สำนักนายกรัฐมนตรี. (2567). นายกรัฐมนตรีสั่งหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาน้ำกกปนเปื้อน. สืบค้นจาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/96877
- Global Witness. (2567). Addressing risks in the supply chain for heavy rare earth minerals from illicit mining in Myanmar. สืบค้นจาก https://globalwitness.org/en/campaigns/transition-minerals/addressing-risks-in-the-supply-chain-for-heavy-rare-earth-minerals-from-illicit-mining-in-myanmar/
- Lancang-Mekong Cooperation (LMC). (2567). Lancang-Mekong Cooperation Mechanism: Latest Updates. สืบค้นจาก http://www.lmcchina.org/eng/2024-03/19/content_42728557.html

สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร