Lanner เปิดพื้นที่ในการขยายพื้นที่สื่อสาร โดยความคิดเห็นไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ สามารถส่งมาได้ที่ lanner.editor@gmail.com
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ดร.พอล แชมเบอร์ส เดินทางไปยื่นหนังสือขอให้ทบทวนคำสั่งเลิกการจ้างงาน โดยมอบหนังสือดังกล่าวแก่ ผศ.ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและผู้ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดี ม.นเรศวร ซึ่งเพิ่งลงนามในคำสั่งเลิกจ้าง ดร.พอล เมื่อวันที่ 21 และ 24 เมษายน 2568 โดยอ้างเหตุ ดร.พอล ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองยกเลิกวีซ่า ทั้งที่การยกเลิกวีซ่าก็เพิ่งจะมีผลทางกฎหมายเมื่อวันที่ 9 เมษายน และเป็นการยึดเพื่อป้องกันการหลบหนีเท่านั้นมิใช่การยกเลิกถาวร

ในหนังสือขอให้ทบทวนคำสั่งยกเลิกการจ้าง ดร.พอล ให้เหตุผลว่า กระบวนการเลิกจ้างไม่เป็นไปตามขั้นตอนของข้าราชการ โดยอ้างตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 30 ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า “ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองอาจกระทบถึงสิทธิของคู่กรณีเจ้าหน้าที่ต้องให้คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน”
แต่ในกระบวนการเลิกจ้าง ดร.พอล ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรที่มีสถานะเป็นผู้ออกคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งเลิกจ้าง ดร.พอล) ไม่เปิดโอกาสให้ ดร.พอล ซึ่งถือเป็นบุคคลคู่กรณีตามคำสั่งดังกล่าวได้ขึ้นชี้แจงข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน คดีของ ดร.พอล ก็ยังไม่สิ้นสุด เขายังถือว่าเป็นเพียง “ผู้ต้องสงสัย” เท่านั้น ยังมิได้มีสถานะเป็นผู้มีความผิดหรือนักโทษแต่อย่างใด กระทั่งสถานะจำเลยที่ต้องขึ้นศาล ดร.พอล ยังไม่เคยมีสถานะดังกล่าวเลย เพียงถูกยึดวีซ่าตามกระบวนการ(?) เท่านั้น จึงไม่อาจเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้
ตามสัญญาจ้างระหว่าง ดร.พอล กับ ม.นเรศวร การยึดวีซ่ายังมิอาจเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้างได้ พร้อมกันนี้ สัญญายังระบุว่าหากจะมีการเลิกจ้าง มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องแจ้งแก่ ดร.พอล ล่วงหน้า 3 เดือน แต่ ม.นเรศวร กลับไม่ทำตามสัญญาดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ ดร.พอล ขอให้ทบทวนคำสั่งเลิกจ้าง
นอกจากนี้ หนังสือขอให้ทบทวนการเลิกจ้างยังระบุว่า ผศ.ดร.ภาณุ พุทธวงศ์ รองอธิการบดีไม่มีอำนาจลงนามเลิกจ้าง เนื่องจากตามคำสั่งมหาวิทยาลัยที่ระบุการมอบอำนาจให้รองอธิการบดีปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีมิได้ระบุถึงอำนาจในการ “เลิกจ้าง” บุคลากร
อธิการบดี ม.นเรศวรหายไปไหน?
แต่ตลอดกระบวนการเลิกจ้าง ดร.พอล กลับมีชื่อหนึ่งที่หายไปจากหน้าข่าว คือ รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี อธิการบดี ม.นเรศวร
แล้วชื่อนี้สำคัญอย่างไร?
ประการแรก อธิการบดีควรเป็นหัวโต๊ะในกระบวนการนี้ เนื่องจากเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการธำรงรักษาระเบียบและภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และคดีของ ดร.พอล เป็นคดีที่อยู่ในความสนใจทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ แต่ตลอดกระบวนการเลิกจ้าง ดร.พอล อธิการบดีผู้นี้กลับหายหน้าไปและลงนามมอบอำนาจให้ ดร.ภาณุ เป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่แทน

ประการต่อมา คือ ดร.ศรินทร์ทิพย์ ก็เพิ่งถูกตัดสินโดยศาลปกครองพิษณุโลกให้พ้นจากตำแหน่งอธิการฯ เมื่อเดือนกันยายน 2566 เนื่องจากศาลเห็นว่าการดำรงตำแหน่งของ ดร.ศรินทร์ทิพย์ อาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน จากเหตุที่บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีคู่สมรสของ ดร.ศรินทร์ทิพย์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กำลังมีข้อพิพาทกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ศาลปกครองฯ จึงตัดสินว่า ดร.ศรินทร์ทิพย์ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำรงตำแหน่ง และให้การแต่งตั้ง ดร.ศรินทร์ทิพย์ มิชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม สภามหาวิทยาลัยกลับมีมติให้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว โดยอ้างเหตุว่า ดร.ศรินทร์ทิพย์ ไม่ถือว่าเป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนและเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากตำแหน่งอธิการฯ ม.นเรศวร จึงเป็นผลให้ ดร.ศรินทร์ทิพย์ ยังดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี ม.นเรศวร จวบจนปัจจุบัน ขณะที่กระบวนการทางกฎหมายปกครองยังคงดำเนินต่อไป
กฎหมายย่อมเป็นกฎหมาย?
กรณีที่ ดร.ศรินทร์ทิพย์ ยังสามารถดำรงตำแหน่งรักษาการอธิการบดี ม.นเรศวร ที่ถูกตัดสินว่าการแต่งตั้งมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้จนถึงปัจจุบัน ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่?
คำตอบ คือ ไม่!!! เนื่องจากกระบวนการทางคดียังไม่ถือว่าสิ้นสุด ดร.ศรินทร์ทิพย์ ยังถือว่ามีสถานะเป็น “ผู้บริสุทธิ์ทางกฎหมาย” และมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะดำรงตำแหน่งอธิการบดี ม.นเรศวร ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด การที่สภามหาวิทยาลัยจะออกตัวปกป้องประโยชน์และสิทธิของ ดร.ศรินทร์ทิพย์ จึงมิใช่เรื่องผิดแต่ประการใด
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากรณีของ ดร.พอล ซึ่งยังมีสถานะผู้บริสุทธิ์ทางกฎหมายเช่นกัน มหาวิทยาลัยนเรศวรกลับเร่งประกาศคำสั่งเลิกจ้างในเวลาเพียง 12 วันหลัง ดร.พอล ถูกยกเลิกวีซ่า และยังอ้างการยกเลิกวีซ่าเป็นเหตุแห่งการเลิกจ้าง
จากการเปรียบเทียบ 2 กรณีดังกล่าว หากอ้างว่า คดีของ ดร.ศรินทร์ทิพย์ อธิการบดีเป็นความผิดทางปกครอง ขณะที่คดีของ ดร.พอล เป็นคดีอาญาก็ถือว่าผิดถนัด เนื่องจากหากอ้างอิงตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ดร.พอล ก็ถือว่ามีสถานะเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ต่างจาก ดร.ศรินทร์ทิพย์
หากอ้างว่า เหตุแห่งการเลิกจ้างคือการถูกยกเลิกวีซ่าก็ยังมิอาจยอมรับได้ เนื่องจากการยึดวีซ่าเป็นเพียงการดำเนินการตาม “กระบวนการ” ของกฎหมาย(?) ไม่ใช่ “คำตัดสิน”
แต่มหาวิทยาลัยนเรศวรกลับปกป้องผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายเพียงคนเดียว ขณะที่ผู้บริสุทธิ์อีกคนถูกเลิกจ้างแบบฟ้าฝ่า
ไม่ใช่เพียงการเลิกจ้าง แม้กระทั่งการเปิดโอกาสให้ผู้บริสุทธิ์ (ตามกฎหมาย) อย่าง ดร.พอล ได้มีโอกาสชี้แจงตนเอง มหาวิทยาลัยยังไม่กระทำเลย
ผมคิดว่า คำสั่งเลิกจ้าง ดร.พอล ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวเป็นแน่ เพราะหากอ้างอิงตามหลักกฎหมายแล้ว ดร.พอล ยังไม่ถือว่ามีความผิด และสำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้คำสั่งไม่ฟ้อง ดร.พอล แล้ว การตัดสินใจเลิกจ้างครั้งนี้จึงอาจเป็นการตัดสินในเชิงจริยธรรม (หรือเป็นเหตุผลอื่น?) เสียมากกว่า
“ผมในฐานะศิษย์เก่า ม.นเรศวร จึงขอตั้งคำถามกับมหาวิทยาลัยว่า มหาวิทยาลัยยึดถือมาตรฐานทางจริยธรรมใดกันแน่? หรือเรื่องนี้ไม่ได้มีมาตรฐานมาตั้งแต่แรก?”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...