สารหนูและโลหะหนักที่ปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ไม่เพียงส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือ แต่กำลังกลายเป็นวิกฤตข้ามพรมแดนที่เกี่ยวพันกับภูมิรัฐศาสตร์ระดับภูมิภาค ทั้งไทย เมียนมา และจีน ท่ามกลางคำถามจากภาควิชาการและภาคประชาชนว่า รัฐบาลไทยกำลังจัดการกับปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ ภายใต้สถานการณ์อันเร่งด่วนนี้

สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้สัมภาษณ์กับทาง Lanner แสดงความห่วงกังวลต่อวิกฤตสารปนเปื้อนในลุ่มน้ำกกและแม่น้ำสาย วิกฤตสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่กำลังลุกลามอยู่ในปัจจุบัน พร้อมวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลที่ยังขาดความเร่งด่วนและการบูรณาการในการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
“แม่น้ำกก แม่น้ำสาย สุดท้ายไหลลงแม่น้ำโขง และเกี่ยวข้องกับ 3 ประเทศคือ ไทย เมียนมา และจีน ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ระดับพื้นที่ แต่เป็นระดับภูมิภาค แต่รัฐยังไม่มีคณะทำงานถาวรที่สามารถตัดสินใจในเชิงนโยบายเพื่อจัดการปัญหาอย่างแท้จริง” สืบสกุล ระบุ
สืบสกุลเสนอให้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำถาวรในจังหวัดเชียงราย ที่สามารถตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ตะกอนดิน และตัวอย่างพืชผล สัตว์น้ำ ได้อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการเยียวยา ฟื้นฟู และการเจรจาระหว่างประเทศ นอกจากนี้ เขาเรียกร้องให้คืนสิทธิการเข้าถึงข้อมูลแก่ประชาชน ผ่านหลัก “Right to Know” หรือสิทธิในการรู้ ซึ่งครอบคลุมถึงการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส การเข้าถึงผลการตรวจสารปนเปื้อน และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงในชุมชน
“เหมือนกับช่วงโควิดที่เรามี ATK ตรวจเชื้อไวรัส ประชาชนควรเข้าถึงชุดตรวจสารพิษในน้ำได้เช่นกัน อย่าผูกขาดเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ไว้ที่หน่วยงานรัฐเท่านั้น” เขากล่าว พร้อมวิพากษ์ลักษณะการควบคุมข่าวสารของบางหน่วยงานว่า “ยังคงยึดติดกับแนวคิดควบคุมและสั่งการซึ่งไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องการความโปร่งใสและความร่วมมือจากทุกฝ่าย”
ภาครัฐเริ่มขยับ มท.4 ลงพื้นที่แม่สาย ยืนยันน้ำประปาปลอดภัย
ทางด้านความเคลื่อนไหวจากภาครัฐต่อกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่อำเภอแม่สาย เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์การปนเปื้อนของสารหนูและสารตะกั่วในแม่น้ำสาย โดยยืนยันว่าน้ำประปายังคงปลอดภัยเนื่องจากผ่านกระบวนการกรองมาตรฐาน และกำลังมีความพยายามประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อหาที่มาของสารปนเปื้อน รวมถึงตรวจสอบการก่อสร้างพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำสาย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้
รังสิมันต์ โรม เสนอตั้งคณะทำงานมลพิษข้ามพรมแดน ดันเจรจาระดับภูมิภาค
ต่อเนื่องกันในวันที่ 7–8 พฤษภาคม 2568 คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ นำโดยรังสิมันต์ โรม ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ เพื่อรับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และภาคประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของสารพิษ โดยเฉพาะชุมชนเลี้ยงช้างและการท่องเที่ยวในบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร ที่ประสบผลกระทบทางสุขภาพและเศรษฐกิจอย่างชัดเจน
โดยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 คณะกรรมาธิการฯ ได้จัดประชุมรับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบกรณีสารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย โดยมี ชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมชี้แจง ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ได้ข้อมูลใหม่ระบุว่าระดับสารปนเปื้อนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมีการยืนยันรายชื่อบริษัทเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งน่าจะเป็นต้นตอของปัญหา โดย รังสิมันต์ประกาศ 3 แนวทางเร่งด่วน ได้แก่ (1) แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหามลพิษข้ามพรมแดน โดยมี สส.จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เป็นประธาน (2) ติดตามข้อมูลสำคัญจากส่วนกลางเพื่อสนับสนุนการทำงานในพื้นที่ และ (3) ยกระดับการเจรจาระดับนานาชาติกับเมียนมาและประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมผลักดันให้มีการเอาผิดผู้ละเมิดกฎหมาย
ภาพ: Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม
ในการประชุม ยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น เช่น การทำฝายดักตะกอนบริเวณ อ.แม่อาย เพื่อดักจับตะกอนที่ปนเปื้อนสารพิษ ก่อนเข้าสู่ลำน้ำไทย โดยมีข้อเสนอการจัดสร้าง 3 รูปแบบ ได้แก่ แบบเฉพาะหน้า แบบชั่วคราว และแบบถาวร อย่างไรก็ตามมีความกังวลเกี่ยวกับสถานที่กำจัดตะกอนเหล่านั้น รวมถึงความเสี่ยงการกระจายตัวของมลพิษในฤดูฝน
รังสิมันต์ยังกล่าวในหลายเวทีว่า ต้นตอของปัญหาไม่ได้อยู่ในประเทศไทย และการเจรจากับรัฐบาลกลางเมียนมาเพียงลำพังอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากพื้นที่ต้นน้ำอยู่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มว้า ซึ่งมีลักษณะปกครองตนเอง โดยเสนอให้ไทยใช้ความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ เช่น จีน เพื่อสร้างแรงกดดันทางการทูต และผลักดันการเจรจาระดับพหุภาคีร่วมกับอาเซียน
เชียงราย–ท่าขี้เหล็กหารือข้ามแดน เร่งขุดลอกแม่น้ำสาย–รวก เตรียมแก้สารปนเปื้อนลุ่มน้ำกก
ล่าสุดวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมอบหมายให้ ประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อหารือประเด็นการขุดลอกแม่น้ำสาย–แม่น้ำรวก และการแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนในลุ่มน้ำกก ฝ่ายเมียนมาแจ้งว่าอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการขุดลอกแม่น้ำสาย และจะประสานกับจังหวัดเมืองสากเพื่อหาแนวทางลดผลกระทบจากเหมืองแร่
การหารือยังมีประเด็นความสัมพันธ์ชายแดน เช่น การขอเปลี่ยนเวลาปิดด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 จาก 18.30 น. เป็น 21.00 น. และข้อเสนอให้เปิดจุดผ่อนปรนการค้าเพิ่มที่บ้านปางห้าและบ้านท่าดินดำ อ.แม่สาย ฝ่ายเมียนมาระบุว่าจะนำเสนอให้หน่วยเหนือพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ฝ่ายเมียนมายังแสดงความกังวลต่อมาตรการ “3 ตัด” ของรัฐบาลไทยในการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นและขอให้ทบทวนนโยบายดังกล่าว
ด้าน ThaiPBS ได้เปิดเผยภาพ เหมืองแร่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำสาย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มว้า ทั้งนี้ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้อธิบายกับ ThaiPBS ในกรณีดังกล่าวว่า ภาพเหมืองแร่ที่อยู่บริเวณต้นแม่น้ำสายในพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มว้า รัฐฉาน ประเทศเมียนมา แม้ยังไม่ยืนยันชัดว่าเป็นเหมืองแร่ชนิดใด แต่จากโครงสร้างที่เห็น คาดว่าเป็นโรงแต่งแร่และบ่อกักเก็บกากแร่ซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับกากสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากเป็นเหมืองทองคำ อาจมีการใช้ไซยาไนด์ ซึ่งหากรั่วไหลจะก่ออันตรายต่อชุมชนท้ายน้ำ ส่วนสารหนูซึ่งปกติฝังตัวใต้ดิน เมื่อเปิดหน้าดินจะสัมผัสกับอากาศ เกิดกระบวนการออกซิเดชัน และถูกชะล้างลงสู่ลำน้ำในช่วงฤดูฝน รวมถึงน้ำจากบ่อกากแร่ที่อาจล้นและไหลลงสู่แม่น้ำสายได้เช่นกัน
แม้ความเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่และกลไกรัฐสภาจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว แต่โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลไทยยังคงอยู่ที่การกล้าตัดสินใจและสร้างกลไกบูรณาการที่สามารถรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่ตอบสนองเฉพาะหน้า การตั้งต้นจากการมีข้อมูลที่โปร่งใส การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม และการเจรจาระหว่างประเทศอย่างจริงจัง อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะหยุดยั้งวิกฤตครั้งนี้
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...