ถกวิกฤตสิ่งแวดล้อมภาคเหนือใต้รัฐและทุน ย้ำชุมชนต้องมาก่อนตัวเลข หยุดตัดสิทธิในนามของการพัฒนา

12 พฤษภาคม 2568 สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ภาคเหนือ จัดสัมมนาประเมินสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ โรงแรม ฮอลิเดย์การ์เด้น จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและเชื่อมต่อเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือตอนบน โดยมี  สาคร  สงมา ประธานสมัชชาองคกรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวเปิดงาน

10.00 น. บรรยายพิเศษ “การเมืองเรื่องชีวิต” โดย อรรถจักร สัตยานุรักษ์ อดีตอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อรรถจักรเปิดประเด็นด้วยการชวนตั้งคำถามถึงบทบาทของรัฐที่พยายาม “เปลี่ยนชาวบ้านให้เป็นคนเมือง” ซึ่งแม้จะอ้างว่าเป็นการเข้ามาดูแล แต่กลับเป็นการดูแลในกรอบของ “ความเป็นไทยแบบมีลำดับชั้น” ที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น เขาอธิบายว่า การชุมนุมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้เป็นการปฏิเสธความเป็นไทย แต่เป็นการยืนหยัดเรียกร้องในนามของ “สิทธิ” และ “ชีวิต” ที่พวกเขาควรได้รับโดยชอบธรรม นอกจากนี้ อรรถจักร ยังตั้งข้อสังเกตว่า พลังทางสังคมด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอ่อนแรงลงเมื่อเทียบกับพลังของรัฐและทุน ยิ่งเน้นย้ำว่าการพูดถึงสิ่งแวดล้อมหรือสิทธิมนุษยชน ไม่ได้เป็นเพียงประเด็นเฉพาะ แต่คือ “การเมืองเรื่องชีวิต” ของผู้คนที่เชื่อมโยงกันอย่างไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้

“การรณรงค์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ หากไม่มีพลังทางสังคมร่วมผลักดัน การเมืองเรื่องชีวิตก็ยากจะขยับเขยื้อน” อรรถจักร กล่าวทิ้งท้าย

เวลา 11.00 น. ได้มีการนำเสนอสถานการณ์ปัญหาด้านป่าไม้ ที่ดิน และคาร์บอนเครดิต โดย พชร คำชำนาญ กรรมการสมัชชาองคกรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พชรเปิดประเด็นด้วยการตั้งคำถามต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลภายใต้พรรคเพื่อไทย โดยชี้ว่า แม้รัฐบาลจะมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ได้จริง แต่กลับยังคงเลือกใช้วิธีการเดิมที่ไม่พ้นจากโครงสร้างอำนาจแบบเก่า พร้อมทั้งกล่าวหาและโยนความผิดให้กับผู้คนที่อยู่กับป่า เขาเน้นย้ำถึงนโยบาย “เพิ่มพื้นที่สีเขียว 55% ของพื้นที่ประเทศ” ว่าแม้ดูเหมือนเป็นแนวทางอนุรักษ์ แต่แท้จริงแล้วเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ด้านคาร์บอนเครดิตที่เอื้อให้ภาคเอกชนเข้ามาปลูกป่าแทน ขณะที่วิธีการของรัฐกลับเป็นการยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน หรือกดดันให้ชุมชนต้องเข้าร่วมโครงการปลูกป่าของรัฐโดยไม่มีทางเลือก พชร ตั้งคำถามต่อสังคมว่า “เราจะได้อะไรจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หากมันต้องแลกมาด้วยการละเมิดสิทธิของผู้คน?” พร้อมชี้ทางออกว่า รัฐควรทบทวนกฎหมายที่บีบบังคับชาวบ้าน และให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนมากกว่าตัวเลขบนแผนที่

“การอนุรักษ์ที่ไม่เห็นคน คือการอนุรักษ์ที่ไม่ยั่งยืน”

ขณะที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จากสภาลมหายใจเชียงใหม่ นำเสนอภาพรวมสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยเน้นว่า องค์ความรู้ของชุมชนและท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญต่อการจัดการไฟป่าอย่างยั่งยืน หากแต่กลับถูกขัดขวางด้วยนโยบายแบบรวมศูนย์จากรัฐบาลกลาง

“สิ่งที่เชียงใหม่พยายามทำมาโดยตลอด คือการผลักดันแผนจัดการไฟป่าจากฐานชุมชนให้กลายเป็นนโยบายระดับจังหวัด” ชัชวาลย์กล่าว พร้อมเสนอว่า หน่วยงานรัฐควรยอมรับความจำเป็นของการใช้ไฟในกระบวนการเกษตรของชาวบ้าน แทนที่จะออกมาตรการ “ห้ามเผาโดยเด็ดขาด” ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพภูมิประเทศ

และยังย้ำว่า การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างต้องเริ่มจากการ “กระจายอำนาจ” ให้จังหวัดและชุมชนมีสิทธิกำหนดแนวทางตามบริบทของตนเอง พร้อมกับเรียกร้องให้ปลดล็อกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินทำกิน เพื่อสร้างระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล

ช่วงบ่ายเริ่มต้นโดย เพียรพร ดีเทศน์  ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) ในประเด็นสถานการณ์ด้านการจัดการน้ำ เขื่อน และโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล (โครงการผันน้ำยวม) เพียรพร กล่าวถึงถึงความไม่ชอบธรรมของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ใช้ภาพประกอบและข้อมูลอันเป็นเท็จเพื่อผลักดันโครงการให้ดำเนินต่อไป โดยถือเป็นการกระทำที่ละเมิดจริยธรรมของเจ้าหน้าที่อย่างร้ายแรง ด้วยเหตุนี้เครือข่ายจึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้องของรายงานดังกล่าว และเรียกร้องให้ยุติการดำเนินโครงการผันน้ำยวมในทันที

ต่อด้วย โกวิทย์ บุญธรรม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส นำเสนอสถานการณ์แม่น้ำกก ปนเปื้อนสารพิษ โดยระบุว่าบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำสายและแม่น้ำกกมีการทำเหมืองแร่จำนวนมาก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำฝั่งเหนือ โกวิทย์ชี้ว่า แม่น้ำกกเปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” ของจังหวัดเชียงราย ที่หล่อเลี้ยงทั้งชุมชนเมืองและชนบท เขายังตั้งข้อสังเกตว่าในพื้นที่เหมืองแร่บริเวณแม่น้ำสาย มีการเปิดหน้าดินอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มในพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สาย นอกจากนั้น น้ำที่ปนเปื้อนยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำที่ต้องใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก ทำให้พืชผลเกิดโรคและเสียหายจำนวนมาก โกวิทย์ย้ำว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนอย่างจริงจัง แม่น้ำสายและแม่น้ำกกอาจกลายเป็น “แหล่งสารพิษขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ” ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขในระยะยาว

สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เสนอว่า การแก้ไขปัญหามลพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายควรเปิดพื้นที่ให้มีเสียงจากฝั่งเมียนมาด้วย เพื่อเชื่อมโยงประเด็นนี้ในระดับภูมิภาค ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงในเขตแดนของประเทศไทยเท่านั้น เขาตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าแร่ตะกั่วและแมงกานีสจำนวนมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจมีบริษัทไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายและแม่น้ำกก ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประเทศเมียนมา สืบสกุลเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องติดตามและตรวจสอบว่าบริษัทใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำเหมืองเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่การเจรจาหารือ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามไปมากกว่านี้ เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศไทยเพียงเท่านั้น

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของสัมมนา ศราวุฒิ ปินกันธา ตัวแทนจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น นำเสนอสถานการณ์ ด้านเหมืองแร่ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีข้อเสนอคือไม่เอาเหมืองแร่ทุกกรณีเนื่องจากมีบทเรียนในอดีตที่ชี้ให้เห็นว่าผลกระทบจากเหมืองนั้นรุนแรงและกระทบต่อชีวิตของผู้คนในชุมชนท้องถิ่นอย่างไร และส่งท้ายด้วย ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษากรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร สรุปภาพรวมสถานการณ์ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในภาคเหนือตอนบนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่เชื่อมโยงกับการขยายของทุนนิยมสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบกับชุมชนคนอยู่กับป่า ที่มีรัฐและทุนเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง