กป.อพช.เหนือ เตือนวิกฤตแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษ “กำลังฆ่าประชาชน” ร้องเร่งตั้งศูนย์แก้ไขนํ้าปนเปื้อนสารพิษ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2568  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2568 เตือนภัยสถานการณ์วิกฤตแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษว่า “กำลังฆ่าประชาชน” จากผลกระทบการทำเหมืองแร่ผิดกฎหมายฝั่งประเทศเมียนมา ซึ่งปล่อยสารพิษไหลลงแม่น้ำ ส่งผลรุนแรงต่อคน สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศตลอดลำน้ำ

โดยระบุว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น “ประเมินค่าไม่ได้” และกำลังลุกลามกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่ใช้แม่น้ำกกในการดำรงชีวิต และระบบนิเวศที่พึ่งพาแหล่งน้ำดังกล่าว ตั้งแต่สัตว์น้ำริมฝั่งจนถึงพันธุ์ปลาหลากชนิด

ในแถลงการณ์ กป.อพช.ภาคเหนือเรียกร้องให้รัฐบาลไทย

1.เร่งแต่งตั้ง “ศูนย์แก้ไขปัญหาแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษส่วนหน้า จังหวัดเชียงราย” โดยต้องมีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีหรือมติคณะรัฐมนตรี พร้อมแต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

2.กำหนดให้คณะทำงานทุกชุดมีตัวแทนจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง องค์กรภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ อย่างมีส่วนร่วม

เสียงสะท้อนจากภาคประชาชน นักการเมือง นักสิ่งแวดล้อม

สายัณห์ ข้ามหนึ่ง สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เสนอจัดตั้งศูนย์ประจำการในเชียงราย พร้อมจัดสรรงบจัดซื้อรถห้องแล็บเคลื่อนที่ (Mobile Lab) ตรวจน้ำและสัตว์น้ำแบบรู้ผลทันที และจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการแพเปียกที่ได้รับผลกระทบจนต้องปิดกิจการ

ชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐบาลและกรรมาธิการสภา โดยเสนอผลักดันงบ “Thai Water Plan” เพื่อสร้างฝายดักตะกอน และเจรจากับรัฐบาลเมียนมาเพื่อปิดเหมืองเถื่อนต้นเหตุข้ามพรมแดน

เพียรพร ดีเทศน์ International Rivers ชี้ว่ารัฐไทยละเมิดหลักสากล “Protect – Respect – Remedy” โดยไม่สามารถปกป้องประชาชนจากมลพิษข้ามแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเรียกร้องให้ยุติการทำเหมืองเถื่อนทันที และเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

ผลกระทบหนักรอบด้าน

ในด้านเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการแพอาหารและร้านค้าริมน้ำสูญเสียรายได้ช่วงสงกรานต์ บางรายกู้เงินล่วงหน้าไปแล้วแต่ต้องปิดกิจการ ส่วนด้านสุขภาพ การสะสมของโลหะหนักในร่างกาย เสี่ยงทำลายระบบประสาท โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ และด้านสิ่งแวดล้อม พบปลากดและปลาแคร่รูปร่างผิดปกติใน 4 จุดหลัก และมีแนวโน้มขยายไปสู่ลำน้ำสาขาอีก 28 สาย

แล้วประชาชนควรทำอย่างไร?

1.ติดตามข้อมูลจากศูนย์ส่วนหน้า (หากจัดตั้ง) และแชร์ข้อมูลผลตรวจน้ำ-สัตว์น้ำให้เข้าถึงทุกชุมชน

2.สนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อประคองเศรษฐกิจชุมชนไม่ให้ล่มสลาย

3.ร่วมลงชื่อ/เรียกร้อง ให้รัฐบาลเร่งหยุดเหมืองเถื่อน และจัดตั้ง Mobile Lab ตรวจน้ำ-เลือดประชาชน

4.เฝ้าระวังในชุมชน หากพบปลาผิดปกติ น้ำมีกลิ่น หรือเกิดอาการแพ้จากการสัมผัสน้ำ ควรแจ้ง อบต. หรือเทศบาลโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม 5 มิถุนายนนี้เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยภาคประชาชนเชิญชวนนัดรวมพลัง “ยืนหยัดปกป้องแม่น้ำกก” ที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงราย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง